รสชาติชีวิตที่พอเพียง กับความใฝ่ฝันถึงชุมชน “เป็นสุข”



รสชาติชีวิตที่พอเพียง กับความใฝ่ฝันถึงชุมชน “เป็นสุข”

      บนเส้นทางชีวิตของคนทุกคน ต่างคนต่างมีความใฝ่ฝันถึงอนาคตที่สดใส สวยงาม รออยู่เบื้องหน้า สุดแต่ใครจะคิด จะฝัน อยากเป็น หรืออยากทำอะไร แต่ทว่าน้อยคนนักที่จะมีชีวิตดำเนินไปเป็นเส้นตรง ไร้อุปสรรคกางกั้น หรือไม่ก็มี “จุดเปลี่ยน” ให้ชีวิตพลิกผันไปจากเจตจำนงเดิมที่มีอยู่ ...

      แต่เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะหยิบฉวย “โอกาส” ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้ว “พลิก” ให้เป็น “ต้นทุน” พัฒนาตนเอง ต่อเติมความฝัน และสร้างคุณค่าแก่ผู้คนรอบข้าง ... ได้ “มาก” หรือ “น้อย” แค่ไหน ?

      หากจะมีหนังสือสักเล่มที่รวมรวบเรื่องราวของเยาวชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ หนุ่มน้อยร่างท้วมผิวสีเข้มสำเนียงทองแดง ในวัย 23 ปี จากเมืองตรัง “ปาล์ม – สถาพร พันธุ์ประดิษฐ” คงเป็นหนึ่งในรายชื่อที่ปรากฏอยู่ในสารบัญหนังสือเล่มนั้นด้วย...

ความท้าทายแรก “ประธานสภาเด็กตรัง”

      ก้าวแรกๆ ของปาล์ม เขาเล่าว่า ในฐานะนักเรียน - นักกิจกรรมโรงเรียนห้วยยอด จ.ตรัง ปาล์มได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ To Be Number One โครงการในพระอุปถัมภ์ของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ตั้งแต่อยู่ชั้น ม. 2 และด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเททำให้เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนคนแรกของจังหวัดตรังเมื่ออยู่ชั้น ม.4

      ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นกระบอกเสียงอันบริสุทธิ์ ปราศจากการครอบงำทางการเมือง ให้แก่เด็กและเยาวชนไทย ที่ต้องการส่ง “สาร” สู่สังคมว่า เด็กในเวลานั้นมีความคิดเห็นเป็นอย่างไรต่อเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา และเขาต้องการให้มีการแก้ไขปัญหา หรือต้องการให้มีการพัฒนาอะไร อย่างไรบ้าง



สู่เส้นทางพอเพียง ... แค่ “พอเพียง” ชีวิตก็มีสุข


       ในระหว่างนั้นเอง ทางโรงเรียนห้วยยอด จ.ตรัง ที่ปาล์มเรียนอยู่ ก็ได้เข้าร่วมองคาพยพของการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนสู่สถานศึกษา เพื่อปลูกฝังให้เด็กไทยมีอุปนิสัยพอเพียง “รู้คิด รู้พูด รู้ทำ” ใช้ชีวิตท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสมดุล มีความสุข นำโดย อ.สมจริง อินทรักเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนในขณะนั้น

      ณ เวลานี้เอง ปาล์มก็ได้เข้าร่วมเป็นแนวหน้าเยาวชนแกนนำเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนด้วย ...
 
      โดยมี อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) เป็นครูคนสำคัญ และเป็นบุคคลต้นแบบ (ไอดอล) ของเขาในเวลาต่อมา เป็นผู้ไขความกระจ่างว่า “แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร ?”

      “ตรงนั้นมันเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่มองว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มันเป็นเรื่องของวิธีคิดของคน แล้วมันทำให้คนดีขึ้นจากการที่เขาต้องพัฒนาตัวเอง ต้องดูเรื่องนิสัยตัวเอง ต้องดูกระบวนการคิดวิเคราะห์ของตัวเอง” ปาล์มเล่า และย้ำว่า

      เศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตของคนๆ หนึ่ง เพราะไม่ว่าเราจะทำ เราจะต้องครุ่นคิดถึง เหตุผล ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง บนพื้นฐานของการมีความรู้และคุณธรรมกำกับ

      “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือชีวิตของคนๆ หนึ่ง ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นลมหายใจของคน ถ้าใครยึดหลักนี้อยู่ในการใช้ชีวิต เขาจะมีความสุขในทุกวิถี” ปาล์มกล่าวด้วยใจศรัทธามุ่งมั่น

      ปาล์มยังเชื่อด้วยว่า เมล็ดพันธุ์ของความพอเพียงต่างมีอยู่ในตัวคนทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะฉุกคิด หรือ ถูกตั้งคำถามกระตุ้นให้คิด และได้น้อมนำมาใช้หรือไม่ ก็เท่านั้น

      จุดนี้เอง นับเป็นก้าวแรกๆ ของปาล์มบนเส้นทางของความพอเพียง ที่ต่อมาได้นำพาเขาไปลิ้มชิมรสชาติชีวิตที่มีคุณค่า และมีความสุข มากขึ้นๆ



ความใฝ่ฝันของเด็กหนุ่ม “ผมจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด”

       เมื่อผลัดจากกางเกงขาสั้นมาสวมกางเกงสีดำขายาวเมื่อย่างเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ปาล์มเล่าว่าได้เลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาที่สอง ควบคู่กับการเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งปาล์มลงทะเบียนเรียนไว้ตั้งแต่ชั้น ม.ปลาย

      ทั้งหมด มีจุดมุ่งหมายเพื่อกรุยทางสู่ความฝัน การเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ดูแลทุกข์สุขของประชาชน และสร้างสรรค์ชุมชนสังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข

       แต่เพราะไม่มีใครจะได้อะไรสมดังใจปรารถนาไปเสียทุกสิ่ง ปาล์มค้นพบว่าการจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชน ไม่ได้อาศัยเพียงแต่ความตั้งใจทุ่มเท ทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ เท่านั้น หากแต่ยังต้องอาศัย “เส้นสาย” และ “เงินทอง” ร่วมด้วย

      และแม้จะได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจริงสมใจ ปัจจัยแวดล้อมมากมายรอบด้านก็อาจนำพาเขาให้มองข้ามผ่านการทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของผู้คนดังตั้งใจไว้

ย่างก้าวใหม่บนเส้นทาง ... นักพัฒนาชุมชน

       ในท่ามกลางจังหวะชีวิตที่ผิดหวังนี้เอง โชคชะตาได้พาปาล์มให้หวนกลับมาพบ “ครูที่ดีของชีวิต” และเป็น “ไอดอล” ของเขา คือ อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข อีกครั้งหนึ่ง

      ในครั้งนี้ อ.ทรงพล ได้เปิดโอกาสให้ปาล์มได้เรียนรู้ “งานพัฒนาชุมชน” อันเป็นอีกมิติหนึ่งของงานดูแลทุกข์สุขของผู้คน ปาล์มได้มีโอกาสติดสอยห้อยตาม อ.ทรงพล ขึ้นเหนือ - ล่องใต้ ลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนนานกว่าหนึ่งขวบปี

     “ผมเลยคิดว่าการที่เราเรียนมาเป็นนักกฎหมาย เป็นนักรัฐศาสตร์ น่าจะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเราแล้ว มันเป็นงานที่ไม่ท้าทายเท่ากับงานพัฒนาชุมชน งานที่ชวนชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง ชวนคนลุกขึ้นมาทำงาน ทำหน้าที่ดูแลบ้านเกิดของตัวเอง ผมว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”

     รวมทั้งมีโอกาส “ลงมือทำ” กลับไปชักชวน อบต.ท่างิ้ว จ.ตรัง ภูมิลำเนาเดิม ให้พัฒนาแผนงานและกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งผลให้เกิดกิจกรรมเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่อเนื่องหลายครั้ง อาทิ กิจกรรมงานวันเด็ก และกิจกรรมโรงเรียนชีวิต

      จุดนี้เองทำให้ปาล์มละสายตาจากเป้าหมายเดิมที่มิได้จะหอมหวานอย่างเขาเคยคิด มาเป็นการลงไปทำงานกับชุมชนจริงๆ พูดคุยประสานงานกับบุคคลหลากหลายในท้องถิ่น

      ในความใฝ่ฝันครั้งใหม่ของปาล์ม เขาฝันอยากเห็นชุมชนแห่งหนึ่ง ที่มีความเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน

      ชุมชนที่ว่าเป็นชุมชนที่สมาชิกในครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ลูกเด็กเล็กแดงอยู่กับพ่อแม่ที่ไม่ละทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำในตัวเมือง ลูกหลานไปร่ำเรียนต่างถิ่นแล้วกลับมาพัฒนาชุมชน ไม่ใช่เรียนแล้วก็เข้าไปหางานทำในตัวเมืองและกลับมาเยี่ยมเยียนปู่ย่าตายายปีละครั้ง – สองครั้งตามแต่โอกาสอำนวยในช่วงเทศกาล...

      ในชุมชนแห่งนั้น ปาล์มยังฝันเห็นนักการเมืองท้องถิ่นร่วมคิดร่วมพัฒนาชุมชน ไม่ใช่กอบโกยผลประโยชน์เข้าหาตัว ส่วนผู้ใหญ่ใจดีก็ไม่ทำตัวเกกมะเหรกเกเร เป็นนักเลงหัวไม้ ยุยงส่งเสริมให้เยาวชนมั่วสุมอบายมุข แต่เป็นหน่วยระวังหลัง มิให้เยาวชนออกนอกลู่นอกทาง

      ปาล์มบอกว่าเขาไม่คาดหวังถึงชุมชนทุกชุมชนในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างนั้นได้ในทันที แต่หากมีชุมชนเข้มแข็งแห่งที่หนึ่งเกิดขึ้น ก็ย่อมจะมีชุมชนเข้มแข็งแห่งที่สอง สาม สี่ ติดตามมาแน่นอน

สิ่งเหล่านี้บ่มเพาะให้ปาล์มมีมุมมองการใช้ชีวิตและการทำงานเปลี่ยนแปลงไป และนอกจากมีความรู้ความสามารถในทาง วิชาการ เขายังได้เรียนรู้ วิชาชีวิต วิชาชุมชน รวมไปถึง วิชาชีพ

      “สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ คือ งานด้านการพัฒนาอย่ารีบ ถ้ารีบเมื่อไหร่มันพัง ต้องค่อยๆ ปล่อยให้มันเป็นไปตามบริบทของมัน อย่ายกที่นี่ไปเหมือนกับที่นั่น แล้วเอาบริบทของที่นั่นมาใช้เลย ต้องดูคน ดูพฤติกรรม ดูการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ” ปาล์มเล่าออกรส

      พร้อมหวนความหลังให้ฟังว่าเมื่อก่อนเขาไม่ได้เข้าใจงานชุมชนเช่นนี้ เพราะมักเป็นการออกคำสั่งแบบ Top – Down ที่ต่อมาจึงเรียนรู้ว่าวิธีการนี้จะนำมาซึ่งความล้มเหลวมากกว่าผลสำเร็จ

      “เมื่อก่อน ผมจะประมาณว่าฉันต้องการให้มันได้อย่างนี้ ถ้าอาทิตย์นี้ได้เท่านี้ กลับไปอีกทีก็ต้องทำให้ได้มากขึ้น แต่พอเรามาถึงจุดนี้เราถึงรู้ว่า ต้องค่อยๆ ทำไปนะ ค่อยๆ ให้เวลามันพาไป อย่าไปรีบ ถ้ายิ่งรีบ ของแบบนี้มันยิ่งไม่เกิด” ปาล์มเล่าด้วยน้ำเสียงนุ่มเนิบ แต่เปี่ยมล้นไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ

      ปาล์มยังบอกอีกว่า หัวใจของงานพัฒนาชุมชนคือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” อาศัยความศรัทธาของชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน มี “คน” เป็นปัจจัยชี้ขาด “คน” ต้องมาก่อนเรื่องงาน และ “คน” ต้องมาก่อนเรื่องความร่วมมือ ทำอะไรก็ตามต้องซื้อใจให้ได้ ทำอะไรก็ตาม หากทำให้คนเชื่อใจ คนเห็นด้วยกับเรา เขาก็จะไปกับเรา



สู่วิชาชีพ “ครู” ผู้สร้าง

      เมื่อได้ลองลิ้มรสงานพัฒนาชุมชน ที่มีแนวคิดพื้นฐานอยู่ที่ การพัฒนา “คน” ในชุมชน กับ อ.ทรงพล มาระยะหนึ่งแล้ว โอกาสครั้งใหม่ก็สะกิดเตือนให้ปาล์มก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ถึงเวลาที่ปาล์มจะได้นำสิ่งที่เรียนรู้จาก อ.ทรงพล ไปขยายผลสู่งานพัฒนา “นักเรียน” ในโรงเรียนบ้าง

      โดยครั้งนี้ปาล์มได้รับการชักชวนให้กลับมาร่วมงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียนห้วยยอด และ โรงเรียนรัษฎา จ.ตรัง โดยนำเอาประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นลูกหม้อในโรงเรียน และประสบการณ์การทำงานกับชุมชนมาปรับใช้

      เริ่มจากเป็นวิทยากรพิเศษของโรงเรียนเป็นอย่างแรก ต่อมาจึงได้รับการทาบทามให้เป็นครูอัตราจ้าง สอนวิชา “รัษฎาศึกษา” ชั้น ม.1 ซึ่งเป็นวิชาเปิดใหม่ของโรงเรียนรัษฎา เป็นหน่วยวิชาบูรณาการกับชุมชน ที่มีจุดมุ่งหมายปลูกฝังหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียนเข้าใหม่ พร้อมปรับพื้นฐานความคิดจิตใจของนักเรียนเข้าใหม่ให้เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ในโรงเรียน

      วิชารัษฎาศึกษาจะแบ่งออกเป็น 6 หน่วยการเรียนรู้ โดยมี “พ่อพิมพ์” คนใหม่ไฟแรงนาม “ครูปาล์ม” ทำหน้าที่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในลักษณะ coaching สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนค้นพบตัวเอง ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้เด็กเกิดความกระหายใคร่เรียนรู้ มากกว่าจะเป็นการสอนตามตำราเรียนแบบ teaching ครอบคลุมระยะเวลาสอน 1 ภาคเรียน ไล่ตั้งแต่



      หน่วยที่ 1 รู้จักตนเอง: ครูปาล์มให้นักเรียนสำรวจตัวเองผ่านการวาดภาพตัวฉัน ว่าในอนาคตตนเองอยากประกอบอาชีพอะไร ตอนนี้ตัวเองเป็นคนอย่างไร ผู้ที่จะประกอบอาชีพในฝันต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง คุณสมบัติของเขาและของเราเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และเราต้องพัฒนาตนเองในด้านใดต่อไปเพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ

      หน่วยที่ 2 เสริมสร้างแรงบันดาลใจ: ครูปาล์มเปิดคลิปวิดีโอบุคคลที่มีจิตอาสา อาทิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้นักเรียนชม รวมถึงการเล่นเกมต่างๆ อาทิ เกมพับกระดาษหนังสือพิมพ์ เกมหอคอยไข่ เมื่อเล่นเกมเสร็จก็ร่วมกันถอดบทเรียนการเรียนรู้ ว่าเล่นเกมแล้วรู้สึกอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเปิดใจ มองการเรียนรู้ในความหมายอย่างกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะการท่องจำตำราในห้องเรียน เกิดเป็นความรู้สึกอยากเล่น อยากเรียน อยากรู้

      หน่วยที่ 3 เรียนรู้โรงเรียน: ครูปาล์มมอบหมายให้นักเรียนสืบค้น สำรวจ ทำความรู้จักโรงเรียนตัวเอง ทั้งประวัติความเป็นมา อาคารสถานที่ และบุคลากรคนสำคัญ เพื่อให้เด็กรู้จักโรงเรียนตัวเองมากขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อให้ทราบว่าหากต้องการติดต่อธุระเรื่องใด ควรจะไปที่ไหน และติดต่อกับใคร ในหน่วยนี้ ครูปาล์มยังได้ชวนวาดภาพโรงเรียนของฉัน พลางตั้งคำถามกับนักเรียนว่าปัจจุบันโรงเรียนของเราเป็นอย่างไร และเราต้องการให้โรงเรียนของเราเป็นอย่างไร จากนั้นจึงแบ่งกลุ่มนักเรียนร่วมดูแลความสะอาดและพัฒนาบริเวณที่ได้รับมอบหมาย

      หน่วยที่ 4 เรียนรู้ชุมชน: ครูปาล์มให้นักเรียนที่มีบ้านอยู่ละแวกเดียวกันรวมกลุ่มกันลงไปทำความรู้จักชุมชนที่อยู่ของตนเอง เพื่อสืบค้นของดีของท้องถิ่น ว่ามีอยู่ไหม หากมี สิ่งนั้นคืออะไร หน่วยนี้ นักเรียนสามารถถ่ายภาพนิ่ง หรือภาพวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือนำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นการปลูกฝังความรู้สึกรัก ผูกพัน เห็นคุณค่าและหวงแหนชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง ในระหว่างที่ลงชุมชน เด็กๆ ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับลุงป้าน้าอา ถักทอเป็นความรู้สึกผูกพันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชนด้วย

      หน่วยที่ 5 สร้างสรรค์ชิ้นงาน: ครูปาล์มให้นักเรียนคัดเลือกของดีในชุมชนจากหน่วยที่ 4 แล้วกลับไปสำรวจ ค้นคว้า อย่างลงลึก จากนั้นจึงนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มานำเสนอในห้องเรียน ใครถนัดนำเสนอด้วยสื่อแบบไหน ครูปาล์มก็เปิดกว้างไม่ขัดข้อง บางคนจึงนำเสนอด้วยโปรแกรมพาวเวอร์พอยต์ บ้างด้วยกระดาษฟลิบชาร์ต และบางส่วนก็ถ่ายคลิปวิดีโอเป็นตอนๆ มาเล่าสู่กัน เช่น คลิปวิดีโอสอนการทำดอกไม้จากเชือกฟางพลาสติก ที่นักเรียนทำมาส่งถึง 3 ตอนด้วยกัน

      สุดท้ายที่หน่วยที่ 6 นำเสนอสู่สังคมอย่างมีจิตอาสา: ครูปาล์มจัดให้มีการนำเสนอผลงานของนักเรียนที่เขาสอนทั้งหมด 8 ห้องพร้อมๆ กันในรูปของ “ตลาดนัดความรู้” ที่ห้องพอเพียงของโรงเรียน เพราะต้องการให้นักเรียนจากห้องอื่นๆ ได้มาเรียนรู้กับเพื่อนต่างห้องบ้าง โอกาสนี้ไม่พลาดที่จะเชิญคุณครูท่านอื่นๆ มาร่วมรับชมผลงานและความสามารถของนักเรียนด้วย

สรุปสุดท้ายในปลายภาคเรียน ครูปาล์มจะสรุปสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ตลอดภาคเรียนด้วยกัน โดยใช้ชุดคำถามชวนนักเรียนถอดบทเรียนการเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจคุณค่า ความหมาย และมองเห็นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดแทรกอยู่ทุกขั้นตอนการเรียนรู้ตลอดภาคเรียนที่ผ่านมา ... เป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และย้อนกลับมาจับตัวหลักทฤษฎี

“เพราะถ้าเราฉายภาพทฤษฎีขึ้นก่อน เด็กก็จะผูกขาดความคิดของตัวเองเลยว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นห่วงนี้ เงื่อนไขนี้ สี่มิติเท่านั้น แต่ถ้าเราเริ่มจากการให้ลงมือทำกันก่อน เมื่อเรากลับมาสรุป เด็กจะเข้าใจได้ทันที”

สัมผัสผลความสำเร็จในฐานะแม่พิมพ์

      แม้ว่าวิชานี้จะเพิ่งเปิดการเรียนการสอนจบไปเพียงเทอมแรก แต่ก็มีเรื่องราวให้หัวใจครูหนุ่มพองโตและชุ่มชื่น จากพัฒนาการของลูกศิษย์ที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

      เมื่อเด็กนักเรียนชายกลุ่มหนึ่งที่ทำตัวเป็นเด็กหลังห้อง ห่วงเล่น ไม่ชอบเรียน ยอมรับเพื่อนนักเรียนหญิงคนหนึ่งให้เข้าร่วมกลุ่มทำงานด้วย เมื่อสืบทราบทีหลังจึงพบว่านักเรียนหญิงคนนี้มีปัญหาพ่อแม่แยกทาง อยู่กับยายที่ติดการพนัน ส่งผลให้เด็กผู้หญิงรายนี้เป็นเด็กเก็บตัว ไม่สุงสิงหรือพูดคุยกับใคร แม้แต่เพื่อนผู้หญิงในห้องก็ปฏิเสธ ไม่ให้ร่วมทำกิจกรรมกลุ่มด้วย

      จากทีแรกเป็นความจำยอมให้เข้าร่วมกลุ่มด้วยอย่างเสียไม่ได้ และไม่มีใครยอมทำงานส่ง ส่งผลให้งานกลุ่มชิ้นแรกติดศูนย์ ครูปาล์มจึงให้โอกาสเด็กกลุ่มนี้แก้ตัวอีกครั้ง มิฉะนั้นแล้วจะไม่ได้คะแนนจริงๆ

   คราวนี้กลับได้ผลเกินคาด ... ทั้งเด็กนักเรียนชายและนักเรียนหญิงต่างขวนขวายช่วยกันทำงานกลุ่มจนสำเร็จ มิหนำซ้ำยังเป็นผลงานที่ดีกว่าเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ในห้องอีกด้วย

      เมื่อสอบถามจึงพบว่าที่ช่วยกันทำงานเพราะสงสารเพื่อน ไม่อยากให้เพื่อนถูกลงโทษอีก ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากงานชิ้นแรกผ่านไป ครูปาล์มก็พบว่านักเรียนชาย – หญิงกลุ่มนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นช่วยกันคิด ช่วยกันทำงานในชิ้นต่อๆ ไป มีปัญหาอะไรก็พูดคุยรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เฉกเช่นนักเรียนกลุ่มอื่นๆ

     “มันเป็นความภูมิใจเล็กๆ นะว่าเราช่วยให้เด็กเขาเกิดการเปลี่ยนแปลง และเด็กๆ ก็ช่วยเหลือกัน เป็นการที่เด็กมองก้าวข้ามตัวเองแล้วมองไปยังการทำเพื่อผู้อื่น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเรื่องที่เราต้องใช้ความอดทน และให้เวลากับเขาด้วย"

จากครูของศิษย์ ... สู่ “ครูวิทยากร”

      นอกจากนี้ ในฐานะที่โรงเรียนรัษฎาได้รับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทช่วยกระทรวงขับเคลื่อนขยายผลเศรษฐกิจพอเพียงสู่โรงเรียนอื่นๆ เด็กหนุ่มที่มีความสามารถรอบด้านคนนี้ยังได้รับบทบาทใหม่ เป็นวิทยากรพิเศษในเรื่องการออกแบบและเขียนแผนการสอนสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีครูหลากวัยเข้าร่วมเรียนรู้ ทั้งครูหนุ่มสาว และครูอาวุโส บางคนก็ใกล้เกษียณอายุ
ทว่าทั้งหมดต่างได้เครื่องมือใหม่ๆ กลับไปพัฒนางานของตน รวมถึงได้แง่คิด และกำลังใจให้กลับไปทำหน้าที่ครูอย่างเต็มภาคภูมิ



       “นอกจากทักษะการสอนที่มหาวิทยาลัยสอนมาแล้ว ผมว่าครูต้องมีลูกล่อลูกชน ทันกับเด็กในยุคดิจิตอล ครูจะสอนเหมือนยุคไดอะลอกไม่ได้แล้ว เด็กดูหนัง ครูก็ต้องดูหนัง เด็กเล่นเฟสบุ๊ค ครูก็ต้องเล่นเฟสบุ๊คให้เป็น แต่ไม่ใช่ไปเล่นแข่งกับเด็ก แต่เราต้องรู้ว่าเทคโนโลยีมันเข้ามามีผลกับเด็กอย่างไร เราต้องสอนให้เขารู้เท่าทันเทคโนโลยี เห็นประโยชน์ในทางที่ถูก ผ่านวิชาที่เราสอน”
มากไปกว่านั้น ครูยังต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง ให้เป็นครูยุคใหม่ตลอดเวลา เพราะคำว่าครูยุคใหม่ไม่ได้หมายถึงครูที่บรรจุใหม่ แม้แต่ครูที่กำลังจะเกษียณก็เป็นครูยุคใหม่ได้ ทั้งหมดอยู่ที่การปรับตัวของครูต่อการเปลี่ยนแปลงรอบตัว

      การที่ตัวครูปรับตัวไม่ทันอาจฟังดูว่าเป็นเรื่องของครู ไม่กระทบกับใคร แต่ทว่า เมื่อมารับหน้าที่ครูแล้ว ครูจำเป็นต้องรู้ให้เท่าทันเด็ก

     “เพราะไม่ได้หมายความว่าครูคนนั้นเขาจะมีลูกศิษย์อย่างเดียวนะครับ ถึงจะเกษียณอายุไปแล้ว แต่เขาก็ยังมีลูกหลานให้กลับไปดูแลด้วย การรู้เท่าทันจะทำให้เด็กกับเราไปพร้อมกัน ไม่ใช่สอนแต่เนื้อหาในห้องเรียนแล้วเราไม่ทันเด็กในเรื่องอื่นๆ เลย ความรู้ที่เราสอนไปก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์เลยก็ได้” ครูปาล์มฝากแง่คิด

โอกาสใหม่ “นักวิชาการศึกษา กทม.”

      “โอกาส” เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก และไม่เข้าใครออกใคร หลังจากรับบทบาท “ครู” ที่โรงเรียนรัษฎาได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา โอกาสก็มาเคาะประตูการเรียนรู้ของครูปาล์มอีกครั้ง ซึ่งครูปาล์มก็ไม่พลาดที่จะหยิบฉวยโอกาสที่มาถึงนั้น เพื่อพัฒนาตนเอง และมีส่วนช่วยในการพัฒนา “คนรุ่นใหม่” ให้เป็นกำลังของสังคม ร่วมสร้างสรรค์ให้เกิดชุมชน “ร่มเย็นเป็นสุข” อย่างที่วาดฝันไว้ ทว่าครั้งนี้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นและท้าทายมากขึ้น ... ในเมืองหลวง

      กับบทบาท “นักวิชาการศึกษา ปฏิบัติการ กรุงเทพเทพมหานคร” ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางการศึกษา ประสานงานกับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ทำวิจัยทางการศึกษา ค้นหา และผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการศึกษา ซึ่งครูปาล์มจะต้องเปิดใจเรียนรู้และพัฒนาตนเองกับบทบาทใหม่

      พร้อมกันนี้ ก็หมายมั่นปั้นมือว่า จะได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปชักชวนโรงเรียนที่เข้าไปทำงานด้วย ได้น้อมนำไปสู่การปลูกฝังแก่นักเรียนได้นำไปใช้เป็น “หลักคิด - หลักการใช้ชีวิต” และเป็นใบเบิกทางไปสู่ความสุข ความสำเร็จ และลุกขึ้นมาพัฒนาชุมชนสังคมรอบตัว เหมือนอย่างที่ตัวครูปาล์มเองก็เคยได้รับโอกาสเรียนรู้และเติบโตมาจากโรงเรียนห้วยยอด จ.ตรัง

    “โอกาส” เป็นที่สิ่งที่ไม่ได้มาง่ายๆ แต่ก็คงไร้ประโยชน์หากเราละทิ้งเมื่อมันเข้ามาถึง การไม่นิ่งดูดายกับโอกาส จึงหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะแปรเปลี่ยนโอกาสนั้นไปเป็นความสุข ความสำเร็จ เหมือนกรณีของครูปาล์มที่พยายามขวนขวายไขว่คว้า และทุ่มเทอย่างเต็มที่กับทุกโอกาสที่เข้ามาถึง และมันจะทวีคุณค่ามากยิ่งขึ้น หากเราจะใช้โอกาสที่เข้ามานั้นทำประโยชน์ให้กับผู้คนรอบข้างด้วย ... เรื่องของครูปาล์มบอกกับเราเช่นนั้น