การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย


การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิ
จพอเพียง ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย 

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่  27  พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

 


ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยเริ่มนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ผ่านการทำโครงการ “เงินทองของมีค่า” เพราะเด็กใช้เงินไม่เป็น จึงอยากสอนให้เด็กรู้ค่าของเงิน  โดยตอนนั้นยังไม่รู้นิยามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง เมื่อมีการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา   ก็เริ่มหาความรู้เพิ่มเติม  พบว่าหลักปรัชญาฯ คือ “หลักคิด” การจัดกิจกรรมผ่านเด็กทั้งหมด จึงเน้นไปที่ “การคิด” ที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้เด็กนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยใช้กิจกรรมเป็นตัวตั้ง






โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยมีบริบทต่างจากโรงเรียนอื่นคือ เป็นโรงเรียนในเมือง บริบทจากสังคมแทบไม่มี เพราะเด็กมาจากหลายจังหวัดหลายอำเภอ มีนักเรียน 6,000 กว่าคน ครู 395 คน  บุคลากรอีก 76 คน ไม่รวมนักการ รวมแล้วเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ ได้เลย ตั้งแต่ปี 2547 เราเรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องเงินทองของมีค่าที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้ามาสนับสนุน   ความที่เราเป็นโรงเรียนในเมืองโจทย์ใหญ่ของเราคือเด็กใช้เงินไม่เป็น จึงนำหลักสูตรเงินทองของมีค่าเข้ามาใช้ จนเป็นโรงเรียน “ต้นแบบ” กิจกรรมที่ทำเป็นเรื่องการออม การประหยัด ฯ เราคิดว่าเข้ากับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เราเองทำได้ดีระดับหนึ่งแล้ว  มีการจัดประกวดกิจกรรมตั้งแต่ชั้น ประถมจนถึง ม.6 ทำมาเรื่อยๆ จนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับ ได้พาเด็กไปดูงานที่เซี่ยงไฮ้  

 


จนปี 2549 – 2550 มีเรื่องหลักปรัชญาฯ เข้ามาในโรงเรียน จึงไปดาวน์โหลดดู พอปี 2550 มีการประเมินสถานศึกษาพอเพียงรอบแรกก็สมัคร  ตอนแรกก็คิดคล้ายๆ กับโรงเรียนอื่นคือเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตร แต่โรงเรียนไม่มี  เรามีเรื่องของการออม ประหยัด เรื่องของการบริหารเงิน ซึ่งมีอะไรหลายๆ อย่างที่เราคิดว่าเข้าเกณฑ์  จึงลองส่งเข้ามาประเมิน ด้วยความที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งเดียวที่มี “ต้นทุน” ไม่เหมือนเพื่อน เวลาโรงเรียนอื่นๆ เขาคุยกัน เราก็คุยไม่ค่อยได้ เพราะเราจะไปปลูกอะไรก็ไม่มีที่ให้ปลูก  หลังการประเมินผ่านรอบแรกมีโรงเรียน 135 ที่ผ่านการประเมิน   มูลนิธิสยามกัมมาจลได้จัดทำโครงการวิจัยการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา มีโรงเรียน 47 โรง จาก 135 โรงสมัครเข้าร่วมโครงการ เราจึงได้ทำ วิจัยว่าโรงเรียนขนาดใหญ่จะขับเคลื่อนอย่างไร  โดยตั้งโจทย์ว่า “การพัฒนาการคิดขั้นสูงเพื่อส่งเสริมอุปนิสัยศึกษา”  และในปี  2551 – 2552 นี้เองที่ทำให้เราเข้าใจหลักปรัชญาฯ ว่าเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติ

 


ฉะนั้นกิจกรรมที่เราทำเรื่องของเงินทองของมีค่า ก็เหมือนกิจกรรมหลักปรัชญาฯ อื่นๆ ที่เขาทำกัน แต่เมื่อเราทำแล้วกลับไม่เกิดผลที่ตัวเด็ก มันจบที่กิจกรรม เด็กไม่สามารถนำไปใช้ได้  เมื่อเราทำวิจัยเราจึงพบว่าจริงๆ แล้วต้องลงไปที่ตัวเด็ก แล้วเราจะทำอย่างไรให้เด็ก 6,000 กว่าคนได้รับตรงนี้  เราจึงไปศึกษาหลักปรัชญาฯ พบว่าคือ “หลักคิด” ถ้าเราจัดกิจกรรมผ่านเด็กทั้งหมด โดยสอนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผลน่าจะยั่งยืนเขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่างๆ ได้เยอะมาก เพราะฉะนั้นกิจกรรมจะเป็นตัวตั้ง แต่กระบวนการใช้จะเป็นกระบวนการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ให้นำ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขไปทำ

 


ต่อมาในปี 2553 มูลนิธิสยามกัมมาจลและภาคีเครือข่ายจัดให้มีงานตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียงที่ไบเทค และเริ่มไปประเมินโรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงปลายปี 53 เราเป็นโรงเรียนแรกๆ ที่ผ่านการประเมิน และเมื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ เราจึงเริ่มต่อยอด  เพราะในยุคนั้นเกิดจากช่องว่างความเข้าใจระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักปรัชญาฯ ภาคที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้ดีจะเป็นของสาธารณสุข ซึ่งเขาทำได้ดีมาก เขาทำมาก่อนเรา  ต่อมาก็ขยับไปสู่ภาคเกษตรที่เน้นเรื่องกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ที่เอาไปประยุกต์ใช้ได้ผล แต่ในภาคการศึกษายังไม่ชัดขนาดนั้น  ครั้งแรกที่ไปจึงมักเรียกครูเกษตรไปด้วย เพราะคิดว่าเข้าได้เฉพาะครูเกษตร เพราะกรอบคิดครั้งแรกไม่ชัด ตอนหลังจึงมีการปรับมาเป็น “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาคการศึกษา” ว่าภาคการศึกษาจะทำอย่างไร พอดีกับที่เรามีงานวิจัยในเรื่องความคิด เราเห็นว่าถ้าเด็กคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดถึงผลกระทบว่าผลนั้นกระทบกับตนเองไหม ในการจัดงานตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อปลายที่แล้ว แนวโน้มเรื่องการคิดกับหลักปรัชญาฯ ภาคการศึกษาจะเป็นเรื่องเดียวกัน สามารถลงได้ทุกวิชา

 


โรงเรียนเราโชคดีที่มีท่านองคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัยเป็นศิษย์เก่า ท่านเป็นคนรวบรวมร่วมกับ ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ ทำเรื่องหลักปรัชญาฯ ท่านอธิบายให้เห็นชัดว่าในภาคการศึกษาเราก็ปรับ ภาคเกษตรชุมชนเขาทำได้ดีเพราะเป็นชีวิตประจำวันเขาที่เขาใช้ตามคำชี้แนะ แต่เมื่อนำเข้ามาใช้ในโรงเรียนเกิดเป็นช่องว่างใหญ่ เราจึงปรับโดยเน้นการเรียนการสอนผ่านกระบวนการคิด นำเอาการสอนคิดมาเป็นกระบวนการจัดการคือ เอามาจัดการความคิด เอาวิธีคิดหลักปรัชญาฯ ไปจัดการกิจกรรมให้เกิดผล ถ้าเด็กมีกระบวนการคิดไปจัดการกิจกรรมจะติดตัวเด็กไป ไม่ว่าจะไปอยู่ตรงไหน เขาจะมีกระบวนการคิดไปในการทำกิจกรรม ในปีนี้เราพยามนิยามและขับเคลื่อนว่าต่อไปนี้เวลาเข้าโรงเรียนเราจะใช้คำว่า”หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาคการศึกษา”  

 


เราคิดว่าถ้าเราใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเดียวมันจะเข้ากับภาคเกษตร ภาคประหยัดเข้ามาในโรงเรียน ถามว่าถูกไหมก็ถูก แต่กับเด็กนั้นไกลไป ถ้าความคิดนั้นจะไปได้เยอะมากและเป็นประโยชน์ แต่หลักคิดนี้เราใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ ที่เราค้นพบด้วยตัวเองว่า หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขจะลงอย่างไร จุดเริ่มต้นควรทำอย่างไร เพราะมันไม่ใช่ความรู้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด “ ไม่ใช่ความรู้ แต่เป็น“กระบวนการ”  ที่ต้องลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดเป็นอัตลักษณ์หรือเกิดคุณลักษณะ และคุณลักษณะนี้อยู่ในช่องที่ห้าของคุณลักษณะ ผู้บริหารทำไมต้องดู เพราะล่าสุดได้ไปทำเกณฑ์ประเมิน Road Map ของสพฐ.เขามีประเมินคุณลักษณะเป็นข้อสอบ เพื่อวัดเด็กทุกโรงเรียน ฉะนั้นผู้บริหารจึงหนีไม่ได้ มันจะอยู่ในเรื่องของความพอเพียงและจะลงไปในตัวเด็ก

 


เมื่อก่อนถ้าเรานำเศรษฐกิจพอพียงลงไปครูจะหนีหมด  แต่หากลงโดยกระบวนการจัดการในตัว P เพื่อให้เกิด A ทุกคนต้องทำ ซึ่งก็เนียนไปตามปกติ  ทางโรงเรียนก็เป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นใครไปดูงานที่โรงเรียนเมื่อก่อนเราจะมีศูนย์ แต่ตอนนี้เรากำลังจะรื้อศูนย์  เพราะคำว่าศูนย์หมายถึงโรงเรียนทั้งหมด ส่วนฐานคือกิจกรรมส่วนหนึ่งของศูนย์ เราจึงต้องขยายฐาน ทำอย่างไรให้เป็นศูนย์ก่อน เวลาไปดูงานต้องดูที่ฐาน ดูเรื่องการจัดการทั้งหมดของหลักปรัชญาฯ เราเคยทำครูแกนนำ นักเรียนแกนนำเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน อาจารย์ย้ายเข้ามาแล้วออกไป แต่ถ้าใช้ระบบนี้เพื่อให้อยู่ในหน่วยการเรียนรู้ ใครเข้ามาก็ต้องทำในรูปแบบนี้จะยั่งยืน

 


ผมมองว่าหลักปรัชญาฯ เป็นเจตคติอยู่ในตัวเด็ก เด็กเดินผ่านเราดูไม่รู้ ต้องให้เด็กแสดงออกเองถึงจะรู้ ฉะนั้นเราไม่ต้องกังวลเรื่องฐาน แต่กังวลเรื่องการบริหารจัดการศูนย์  ตอนที่ทำระหว่างปี  2550 - 2553 เราทำเกมตารางอิสรภาพ โดยในตารางจะมีเกมผู้บริหารเป็นอย่างไร ชุมชนนักเรียนเป็นอย่างไร ถ้าเอาตัวนี้มาทำเป็นเกณฑ์และจัดที่โรงเรียน น่าจะตอบงาน สพฐ. ได้ เพราะมันเกี่ยวกับชุมชนและการเรียนการสอน เราพยายามหาเครือข่าย หาความรู้ไปทำใหม่หลายปี เมื่อปี 2553 - 2554 เราพบว่ารากฐานสำคัญของหลักปรัชญาฯ คือฐานของการคิด และเรายังพบอีกว่าแท้ที่จริงแล้วเราต้องมีเป้าหมายหลักปรัชญาฯ ก่อนเหมือนกัน  เช่น “ถ้าเด็กหรือครูประพฤติตามหลักปรัชญาฯ เพื่อการศึกษา เป้าหมายสูงสุดเขาได้อะไร ตั้งเป้าหมายให้ได้ก่อน” จริงๆแล้วหลักปรัชญาฯ ของพระเจ้าอยู่หัวฯ สูงสุดของท่านก็คือ อยากให้เด็กพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงคือ ถ้าเขาอดออม เขาประหยัด เมื่อเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมา เด็กก็พร้อมรับกับสิ่งนั้นได้ เช่น เปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หลักปรัชญาฯ นอกจากพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ต้องไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน เราจะมีการจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เด็กคิดเป็น และเด็กสามารถลดภาวะเสี่ยงจาก 4 มิติ จากเศรษฐกิจ จากสังคม จากวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ถ้าเด็กพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน คนอื่นเดือนร้อน เด็กจะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เราใช้กิจกรรมที่หลากหลาย นำหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขมาใช้เพื่อให้เกิด 4 มิติ ซึ่งจะถูกเชื่อมโดยความพอประมาณและมีเหตุผล เมื่อเด็กคิดว่าหากเราทำแบบนี้ ผลที่เกิดจะเป็นอย่างไรนั่นคือภูมิคุ้มกัน ครูทุกกลุ่มสาระต้องช่วยกันทำ ไม่จำเป็นต้องทำฐานใหญ่ๆ แต่ให้เด็กเขาได้คิดแบบนี้ ให้เขาตอบได้ว่าเหตุผลที่เขาคิดแบบนี้เพราะอะไร เราอาจจะตั้งคำถามต่อว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นบวกก็คือภูมิคุ้มกัน แต่ถ้าผลกระทบเป็นลบ เราก็หาวิธีป้องกันความเสี่ยง

 


การขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ ในโรงเรียนขนาดใหญ่ เราควรลงแบบนี้ เพื่อที่ว่าในวันที่เด็กจบออกไปแล้วเขาสามารถค้นพบตัวเองได้ว่า เขามีวิธีคิดอย่างไร เมื่อเด็กมีวิธีคิดเขาจะสามารถไปทำกิจกรรมอะไรก็ได้ โรงเรียนพยายามทำตรงนี้  แต่ยังไม่ถึงจุดที่ต้องการ  ต้องหากิจกรรม หาความรู้วิธีการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และคอยกระตุ้นเพราะโรงเรียนทำมา4 - 5 ปีแล้ว เราต้องหาอะไรใหม่ๆ ให้เด็กนักเรียนเกิดการจัดการความรู้ ความคิด  ที่สำคัญคือต้องดูความทั่วถึงของโรงเรียนด้วย  เพราะหัวรถจักรไม่สามารถเคลื่อนได้ด้วยคนเพียงหนึ่งคน เราต้องช่วยกันดูและดึงพร้อมกันถึงจะสามารถเคลื่อนที่ได้ และที่เราอยากได้คือ เพื่อนโรงเรียนที่มีบริบทที่คล้ายกัน เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนวิธีการทำงาน

 


ส่วนการขับเคลื่อนสู่ชุมชน ต้องคิดด้วยว่า เราจะลงชุมชนอย่างไรให้เกิดประโยชน์ แต่เพราะบริบทของเราส่วนใหญ่เป็นเด็กจากต่างอำเภอ จึงเป็นโจทย์ที่เราต้องทำ สำหรับตัวเองใช้หลักการคือ “เรียนรู้ แล้วเอ๊ะ หาคำตอบ สร้างนวัตกรรม และพัฒนา” ทำแบบนี้เรื่อยๆ ก็จะได้อะไรใหม่ๆ มา ถ้ามันเก่า มันซ้ำซากก็ต้องหาอะไรใหม่ๆ บนรากฐานขององค์ความรู้ที่มีอยู่ “คนมาแล้วไป แต่องค์ความรู้ยังอยู่ โรงเรียนยังอยู่ ทำไมเราไม่ถอดความรู้ไว้ที่โรงเรียน” เด็กนักเรียนเขาทำกิจกรรมเป็นเรื่องดี เพราะเขามีใจที่จะทำ เราเพียงไปเติมเต็มเขา คอยให้คำแนะนำเขา นี่คือแนวทางของ “ครูแกนนำ”  ครูคิดได้ ครูทำได้ เด็กจะเป็นตาม เพราะเด็กถูกกระทำ ครูเป็นคนกระทำ  ดังนั้นเราต้องไปทำกับครูเรื่องการสอนคิดเศรษฐกิจพอเพียงต้องให้กระจ่าง โดยที่ตัวผมเองจะคอยให้ความรู้แก่ครูตลอด เหตุผลคือข้อเท็จจริง แต่จริงๆ แล้วคือต้องสมเหตุสมผลว่า มันเหมาะสมกับเราหรือไม่ ซึ่งก็คือหลักปรัชญาฯ สมเหตุสมผลจะบวกเหตุผลกับสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น เพราะฉะนั้นสมเหตุสมผลคือความพอประมาณ ถ้าเด็กมีสิ่งเหล่านี้ เด็กจะมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาครู  ให้เด็กเปิดใจกว้าง สิ่งเหล่านี้เป็นฐานสำคัญของครูนักคิด