การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองบัวแดง

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองบัวแดง
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี


การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองบัวแดงใช้การสอดแทรกเข้าไปในรายวิชา ครูนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จนชีวิตเปลี่ยนไป ส่วนเด็กพบว่าสามารถเชื่อมโยงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปในครอบครัวได้ เช่น ชุมชนมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เดิมใช้ยาฆ่าแมลง ตอนนี้หันมาใช้สารอินทรีย์ โดยมีเด็กเป็นตัวเชื่อมระหว่างครูกับผู้ปกครอง การเรียนการสอนเน้นให้เด็กมีทักษะก่อน เมื่อเด็กทำเป็นแล้ว จึงใช้คำถามให้เด็กเชื่อมโยงเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน และมีการฝึกถอดบทเรียนโดยนำหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขมาใช้


ครูประสงค์ มาอยู่ที่โรงเรียนนี้ตั้งแต่ปี 2550 ตอนนั้นโรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 80 คน จึงปรึกษากับ ผอ. ว่าทำอย่างไรให้โรงเรียนมีนักเรียนเพิ่มขึ้น จึงคิดทำสถานศึกษาพอเพียง จนวันนี้โรงเรียนมีฐานการเรียนรู้ถึง 26 ฐาน ที่โรงเรียนเลี้ยงสัตว์หลายอย่างทั้ง วัว ควาย หมู ไก่ ปลา จิ้งหรีด กบ ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนจึงไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ไม่มีปิดเทอม ครูที่โรงเรียนส่วนใหญ่อยู่ที่นี่มานานแล้ว เปรียบได้ว่าโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สอง อาหารกลางวันส่วนใหญ่ทำมาจากสิ่งที่นักเรียนปลูกและเลี้ยงในโรงเรียน โรงเรียนบ้านหนองบัวแดงได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ส่งนักศึกษามาฝึกประสบการณ์กับทางโรงเรียนปีละ 10 คน


ครูมีโอกาสได้เป็นวิทยากรให้กับหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงของธนาคาร ธ.ก.ส. โดยเป็นวิทยากรร่วมกับวิทยาลัยเกษตรจังหวัดเชียงราย และมีโอกาสได้ไปขยายเครือข่ายของโรงเรียน เช่น โครงการอาหารกลางวัน โครงการชีววิถี เป็นต้น ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มีหน้าที่รับคณะที่มาเรียนรู้ดูงาน และไปเป็นวิทยากรข้างนอกเป็นส่วนใหญ่ ปีนี้เริ่มกลับเข้าสอนในห้องเรียนแล้วเพราะได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้น ป.4 เนื่องจากปีนี้มีนักศึกษามาฝึกงานคนเดียว


การทำงานของโรงเรียนส่วนใหญ่ใช้วิธีหางบประมาณมาจากข้างนอก นำโรงเรียนเข้าประกวด อะไรที่ส่งประกวดได้ก็ส่งเข้าประกวดหมด เพื่อหางบประมาณมาพัฒนาโรงเรียน แต่หยุดส่งตั้งแต่ ปี 2553 เพราะอยากให้โอกาสโรงเรียนอื่นบ้าง


โรงเรียนบ้านหนองบัวแดงเด่นเรื่อง โครงการอาหารกลางวัน การทำแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ เพราะที่โรงเรียนมีสัตว์เป็นจำนวนมากทั้ง ไก่ หมู วัว ควาย แม้จะนำมูลสัตว์มาทำปุ๋ยชีวภาพแล้วก็ยังมีเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก จึงนำไปทำแก๊สชีวภาพ ให้คณะต่างๆ ได้มาศึกษาดูงาน แล้วขยายผลสู่ชุมชน เดิมโรงเรียนมีควายแค่ 2 ตัว ตอนนี้มีควายเพิ่มเป็น 12 ตัว วัว 4 ตัว หมูแม่พันธุ์ 4 ตัว ไก่ 100 ตัว ส่วนในชุมชนมีควายประมาณ 300 - 400 ตัวจากที่ไม่เคยมีควายเลย คนในชุมชนเริ่มเลี้ยงควายหลังจากโครงการชีววิถีของโรงเรียนได้รับรางวัลที่ 1 ระดับประเทศ เมื่อในชุมชนเริ่มมีควายมากขึ้น โรงเรียนจึงขยายผลการทำแก๊สชีวภาพให้กับคนในชุมชน จนปัจจุบันชุมชนมีบ่อแก๊สมากถึง 25 บ่อ นอกจากนี้ยังขยายผลให้ชาวบ้านในจังหวัดเชียงรายประมาณ 50 บ่อ รวมทั้งเรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย และค่ายทหารด้วย


ในส่วนของอันตรายจากการระเบิดของแก๊สนั้น ไม่มีโอกาสเกิดได้ เพราะมีท่อระบายที่ใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพและแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์นี้ทำให้โรงเรียนหมดปัญหาเรื่องกลิ่นและแมลงวันรบกวน


จากระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ได้ทำมา คิดว่าเด็กได้เรียนรู้มากจากการสอนในลักษณะนี้ เพราะโรงเรียนให้เด็ก ปฏิบัติจริงทุกฐานกิจกรรม จึงตั้งเป้าว่าเด็กที่เรียนตั้งแต่ ป.1- ป.6 จะต้องเรียนรู้ฐานกิจกรรมให้ครบ 26 ฐาน เพื่อให้เป็นพื้นฐานชีวิตของเขาต่อไป เพราะเด็กบางคนสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปทำที่บ้านได้


ส่วนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องให้เด็กค่อยๆ ซึมซับ จะทำให้เห็นผลทันทีไม่ได้ บางทีมาเห็นตอนเด็กขึ้นมัธยมไปแล้ว เมื่อเขาสามารถสอบเข้าแข่งขันได้ ยกตัวอย่าง เด็กไทยใหญ่หรือพม่าคนหนึ่งเขาอยู่ ป.2 ครูให้เด็กคนนี้มาร่วมกิจกรรม ปัจจุบันเด็กคนนี้เรียนอยู่ ป.5 แล้ว และ 3 ปีที่ผ่านมาเขาได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทั้ง 3 ปี โดยครูมอบหมายให้เขารับผิดชอบเรื่องไก่ไข่ เขาจะดูแลจัดการเอง เช่น เวลาเปิดเทอมไก่ 100 ตัว สามารถนำไข่มาทำเป็นอาหารกลางวันได้ แต่ช่วงปิดเทอมกลับลืมคิดไปว่าเราจะนำไข่ไปไว้ที่ไหน ปรากฏว่าเด็กคนนี้มาคุยกับครูว่า “อาจารย์ลืมไปหรือไม่ว่าโรงเรียนปิดเราจะเอาไข่ไปขายที่ไหน แต่หนูไปติดต่อแม่ค้าไว้แล้ว เดี๋ยววันนี้แม่ค้าจะมาตกลงราคา” ครูลืมไป แต่เมื่อเด็กเขาได้ลงมือทำ เขาจะรู้จักการวางแผน รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร


อีกเหตุการณ์คือ ครูนำปุ๋ยมาจัดนิทรรศการที่กรุงเทพฯ บังเอิญว่าฝนตก มูลสัตว์เปียกแต่มีความจำเป็นต้องทำ ครูจึงให้เด็ก ป.4 - 6 มาทำ มีเด็ก ป.6 มาเห็นก็บอกครูว่า “ครูทำผิดแล้ว มูลสัตว์ที่ใช้ ต้องเป็นมูลสัตว์แห้ง มูลสัตว์เปียกไม่ได้ผลหรอก เพราะพ่อไปอบรมที่โรงเรียนชาวนามาแล้วเอามาทำที่บ้าน” เมื่อถามเด็กว่าเขารู้ได้อย่างไรว่าเกิดผลหรือไม่ เด็กบอกว่า พรุ่งนี้ถ้ามาจับแล้วไม่มีความร้อนเกิดขึ้น ครูแพ้แน่ ครูคิดว่าใช่ เพราะการหมักปุ๋ย เมื่อเราเอารำหมูใส่แล้วไม่มีความร้อน แสดงว่าผิด ปรากฏว่าเกิดความร้อนแสดงว่าได้ผล เราจึงสอนเด็กว่า ถ้ามูลสัตว์เปียกให้ใส่น้ำให้น้อยลง สามารถเกิดปุ๋ยได้


จากจุดเริ่มต้นหลายๆ อย่างในโรงเรียน เชื่อมโยงไปสู่หมู่บ้าน จนหมู่บ้านนี้กลายเป็นหมู่บ้านแรกที่ได้รับรางวัลจากประกวดโครงการชีววิถี เมื่อก่อนตอนมีวัวควาย 2 - 3 ตัว ถ่ายเรี่ยราดเด็กก็เดินข้ามไป เดี๋ยวนี้ไม่มีปัญหาแล้ว


ตอนเริ่มทำกิจกรรมตรงนี้เหนื่อยมาก แต่ตอนนี้เริ่มหนักใจว่าถ้าเราเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอย่างไร เป็นห่วงเด็ก เพราะที่โรงเรียนมีครูแค่ 10 คน เวลาครูมาประชุมอย่างนี้ ก็ไม่มีคนดูแลเด็ก


สำหรับการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองบัวแดงจะใช้การสอดแทรกเข้าไปในรายวิชา ครูมีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จนชีวิตเปลี่ยนไป เรียกว่ามีวิธีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องหนี้สิน คิดฆ่าตัวตายมา 2 ครั้ง แต่เมื่อได้มาเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงปี 2548 - 2549 แต่ไม่ได้ศึกษาละเอียด คิดว่าตัวเองมีหนี้ขนาดนี้มันพอเพียงไม่ได้ เมื่อมาดูแล้ว พบว่าไม่ใช่


ผมเริ่มต้นจากไปอยู่กับปราชญ์ชาวบ้าน 10 วัน จนเกิดการซึมซับ คิดได้ว่าแม้เราจะมีหนี้ เราจะบริหารหนี้สินให้ดีขึ้นได้อย่างไร จะบริหารครอบครัวเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร จากที่เคยซื้อของเยอะ บางอย่างซื้อแล้วก็ไม่ได้ใช้ ไม่คิดก่อนว่าอยากได้จริงหรือไม่ ใช้สิ่งอื่นทดแทนได้หรือไม่ ซ่อมได้หรือไม่ ไปเที่ยวมีเงินเท่าไรก็ใช้หมด บางทีเสื้อผ้าที่ซื้อไปไม่เคยใส่ก็มี แค่ตอนนั้นอยากได้ก็ซื้อ ไม่มีการวางแผน แต่วันนี้เราวางแผนมากขึ้น เช่น วันนี้เราอยากได้เสื้อตัวเดียว เราก็ต้องซื้อแค่ตัวเดียว ไม่ใช่พอเห็นแล้วก็ซื้อหมด ถือว่าเป็นการบริหารที่ทำให้หนี้สินลดลง จากที่มีความเครียด ก็เครียดน้อยลง มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น เมื่อก่อนนักเรียนเคยบอกว่า ครู ทำไมไม่ยิ้มเลย เพราะว่าเราเครียดเรื่องปัญหา แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้


ส่วนเด็กพบว่าสามารถเชื่อมโยงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปในครอบครัวของของเขาได้ เช่น ชุมชนมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เดิมเขาใช้ยาฆ่าแมลง ตอนนี้หันมาใช้สารอินทรีย์ โดยมีเด็กเป็นตัวเชื่อมระหว่างครูกับผู้ปกครอง แล้วครูก็ไปรุกที่ผู้ปกครองอีกครั้งหนึ่ง มีการจัดอบรมให้ผู้ปกครอง เพราะคนในหมู่บ้านใช้ชีวิตเหมือนในโรงเรียน อันดับแรกต้องมีบ่อปลาขนาดเล็ก ปลูกพืชผักสวนครัว ใช้ EM หรือทำปุ๋ยใช้เอง ทำในลักษณะเดียวกันทั้งหมด เกิดทั้งเด็กที่ทำที่โรงเรียน และผู้ปกครองที่บ้าน


ถามเรื่องของความพอเพียงที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก มองที่การออมทรัพย์ เด็กโรงเรียนเราออมทรัพย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ครูออมทรัพย์ 100 เปอร์เซ็นต์ บางครั้งครูประจำชั้นอาจจะถามเด็กว่าวันนี้ได้เงินเท่าไร ให้เขาคิดเอง ครูไม่บอกว่าอันนี้เป็นเหตุเป็นผล แต่ถามประมาณว่า เมื่อวานทำไมฝาก 20 บาท วันนี้ทำไมฝากเท่านี้ ถ้าทำตรงนี้ไม่ดีจริง คุณธรรมของเด็กก็ไม่เกิด และคงไม่ได้รางวัลโรงเรียนคุณธรรมซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ


ที่โรงเรียนบ้านหนองบัวแดง ก่อนเปิดภาคเรียนทุกครั้งจะมีการเข้าค่ายเด็ก เด็ก ป.1 – 3 เข้าค่ายแบบ ไปกลับ 2 วัน ส่วนเด็ก ป.4 - 6 เข้าค่าย 3 วัน 2 คืน เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโรงเรียน ทำข้อตกลงร่วมกันทุกอย่าง จัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดที่วัดบ้าง โรงเรียนบ้าง บางครั้งก็ให้เด็กไปนอนกับปราชญ์ชาวบ้านด้วย พยายามหารูปแบบที่หลากหลาย


การบูรณาการสู่การเรียนการสอน : การเรียนการสอนของโรงเรียนหนองบัวแดงเน้นให้เด็กมีทักษะก่อน ชวนเด็กลงมือทำก่อน เมื่อเด็กทำเป็นแล้วเราก็ถามว่าได้อะไรจากการทำ เช่น การทำน้ำยาอเนกประสงค์ใช้ในโครงการอาหารกลางวัน ถามเด็กว่าดีอย่างไร เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่เคยมีมาใครมาคุยกับเขาว่าสิ่งเหล่านี้คือความพอเพียง มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน เพียงแต่ทำเท่านั้น แต่วันนี้ครูเริ่มถามเด็กๆ บ้างแล้ว บางครั้งเด็กเล็กๆ เขาอาจจะตอบไม่ได้ แต่เขาปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เช่น วิชางานบ้าน ที่โรงเรียนมีฐานการเรียนรู้ ทำน้ำยาเอนกประสงค์ ครูชวนเด็กพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานบ้านต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง ส่วนใหญ่เด็กมักบอกว่าเป็นน้ำยาที่ซื้อจากตลาด จึงใช้คำถามชวนคุยว่า เราสามารถทำเองได้หรือไม่ เพราะที่โรงเรียนเรามีอุปกรณ์อยู่ เอากิจกรรมทำน้ำยาเอนกประสงค์มาให้เด็กได้ทดลองทำก่อน อาจจะให้เปรียบเทียบระหว่างน้ำยาที่ซื้อมากับน้ำยาที่เราทำเอง ให้เขาได้รู้ว่ามีต้นทุนในการทำ แล้วถามว่าที่เราทำเองมันได้อะไร อย่างที่บอกว่าเรามีมะนาวที่เราปลูกเองอยู่แล้ว ในช่วงฤดูฝนจะมีมะนาวหล่นมากมาย เราเอามาทำ มันก็เกิดคุณค่าขึ้นมา แล้วใช้คำถามให้เด็กเชื่อมโยงเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือบางครั้งถ้าเป็นเด็กโตอย่างเด็ก ป.5 หรือ ป.6 จะฝึกการถอดบทเรียน โดยนำหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขมาให้เขาหัดเขียน