เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำ รีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล

 

โรงเรียนไทรงามนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน เนื่องจากพบว่านักเรียนขาดกระบวนการคิด ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่สนใจใฝ่เรียนรู้  จึงกลับมาดูว่าเป็นเพราะเหตุใด ทำไมอุปนิสัยที่พึงประสงค์ของนักเรียนก็ไม่เกิด ในฐานะผู้บริหารต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราบริหารจัดการไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้น และไม่ปลุกจิตวิญญาณความเป็นครู จึงคิดนำ “กระบวนการวิจัย” ให้ครูนำวิธีการสอนใหม่ๆ โดยทำความเข้าใจกับครู  ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 2 ปี กว่าครูจะยอมรับกระบวนการวิจัย

โรงเรียนไทรงามเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่สุดในอำเภอเมือง มีนักเรียน 97 คน ครู 6 คน (ไม่ครบชั้น) มีครูจ้างสอนชั้นอนุบาล 1 คน โรงเรียนขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์  จึงต้องขนเด็กไปเรียนคอมพิวเตอร์ที่วิทยาลัยสารพัดช่าง คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ส่วนใหญ่มีไว้ให้ครูใช้ในการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการร่วมกันบริจาคของคุณครู เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ 2 เครื่อง

จุดเด่น : โรงเรียนไทรงาม ใช้กระบวนการวิจัยมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบันอยู่ในช่วงโครงการที่ 2   โดยช่วงแรกมีโครงการแม่  1 โครงการ และโครงการย่อย 6 โครงการในชั้น ป.1 – ป.6  ป.1 เรื่องสืบค้นคนในตระกูล ของ ป.2 ใช้ตามต้นกล้าไปนาข้าว ป.3 ผักริมครัว รั้วกินได้ ป.4 โรงเรียนดีวิถีพุทธ ป.5 กล้วยไม้คุณธรรม และ ป.6 สืบสานคนตีเหล็ก สำหรับช่วงที่สอง ยังทำไม่ครอบคลุมแต่มีเป้าหมายจะทำในชั้นอนุบาลด้วย แต่ยังติดปัญหาครูไม่ครบชั้น จึงแก้ปัญหาด้วยการจัดโครงการรวบชั้นเรียน เช่น อนุบาล 1- 2 ใช้โครงการ กินผักเขียว เดี๋ยวก็โต ป.1 ขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง ป.2 และ ป.3 โครงการ สวรรค์บนดินคือการทำไร่ ป.4 - ป.6 ใช้โครงการเปิดประตูเรียนรู้สู่ทุ่งนา  ซึ่งทำมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว  ขณะนี้อยู่ในช่วงทำรายงานผลครึ่งทาง โรงเรียนจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยนำโจทย์วิจัยมาทำแผนบูรณาการ 10 หน่วยที่มีการเชื่อมโยงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ลงไปถึงตัวนักเรียน และส่งผลไปถึงตัวผู้ปกครอง
 
ตัวอย่างเช่น  ชั้น ป.4 - ทำเรื่อง เปิดประตูการเรียนรู้ สู่ทุ่งนา ครูจะให้เด็กวิเคราะห์ว่าสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร เช่น การที่ได้ไปทำนาเอง นักเรียนรู้สึกอย่างไร เมื่อเห็นความยากลำบากเด็กจะรู้สึกว่า กว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ดนั้นลำบากมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่เด็กรับประทานข้างเขาจะกินให้หมดจาน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สะท้อนไปถึงว่าพ่อแม่ต้องลำบากกว่าจะได้เงินทองมาซื้อของ เพราะฉะนั้นเขาควรประหยัดรู้จักช่วยพ่อแม่ทำงาน ใช้สมุด ดินสอไม่ให้สิ้นเปลือง เสื้อผ้าถ้าชำรุดก็ซ่อมแซม เป็นต้น ซึ่งกระบวนการนี้นอกจากจะให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ แล้ว ยังทำให้เด็กเกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  และจากการที่ครูแบ่งงานให้นักเรียนทำ นักเรียนก็ต้องไปวางแผนและลงมือทำ แรกๆ อาจจะลองให้นักเรียนทำเองก่อน ให้นักเรียนวิเคราะห์กันเองว่า ที่ทำงานไม่เสร็จนั้นเพราะอะไร นักเรียนก็จะสามารถตอบได้ว่าเพราะพวกเขามัวแต่เล่นกัน ไม่ช่วยกันทำ จากนั้นให้นักเรียนคิดใหม่ว่า ถ้าเราจะทำงานให้สำเร็จ จะทำอย่างไร นักเรียนก็จะไปตั้งกติกาต่างๆ ว่าเราจะต้องทำอย่างไร กำหนดแผน กำหนดขั้นตอนและไปทำ กลับมาสรุปว่าสิ่งที่พวกเจาทำบรรลุผลหรือไม่ ที่ไม่บรรลุผล ขาดอะไร กระบวนการคิดที่โรงเรียนสอน มันจะเกิดกับนักเรียนตรงนี้

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม เช่น สวดมนต์ไหว้พระทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน โดยขอความร่วมมือจากครู และผู้ปกครองช่วยกันปรับเปลี่ยนสำนักสงฆ์ร้างใกล้โรงเรียน และนิมนต์พระมามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม การจัดกิจกรรมนี้ส่งผลดีให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม จากเดิมที่โรงเรียนไม่มีระเบียบ แต่เมื่อโรงเรียนจัดโครงการนี้ 2 – 3 ปีติดต่อกัน ปัญหานี้จึงหมดไป   โดยปัจจุบันโรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่มีนักการภารโรง ผู้ปกครองที่มาส่งลูกก็จะเข้ามาช่วยพัฒนาโรงเรียน เห็นตรงไหนชำรุดเสียหาย  ผู้ปกครองก็อาสาเข้ามาช่วยเหลือ ผู้ปกครองที่เป็นผู้หญิงเข้ามาช่วยปิดประตู ปิดหน้าต่าง กวาดขยะ ช่วยทำกับข้าว


แรงบันดาลใจในการนำกระบวนการวิจัยมาใช้ : นักเรียนขาดกระบวนการคิด ไม่กล้าตัดสนใจ ไม่สนใจใฝ่เรียนรู้ จึงมาดูว่าทำไมนักเรียนจึงไม่เกิดตรงนี้ อุปนิสัยที่พึงประสงค์ของนักเรียนก็ไม่เกิด แสดงว่าครูสอนไม่สอดคล้อง ไม่ตรงตามหลักสูตร ไม่สามารถพัฒนาตรงนี้ได้  แล้วก็มาดูว่า ที่ครูสอนแบบนี้ไม่ได้เพราะอะไร  เราในฐานะผู้บริหารก็ต้องกลับมาดูตัวเองด้วยว่า เป็นเพราะเราบริหารจัดการไม่ถูกต้อง หรือว่าเราไม่ส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้น ไม่ปลุกจิตวิญญาณความเป็นครู แสดงว่าเราบกพร่องทั้ง 3 ส่วน  จึงคิดนำ “กระบวนการวิจัย” เข้ามาใช้ เพราะจากการถามครูว่า เป็นครูมากี่ปี ประสบผลสำเร็จในการเรียนการสอนหรือไม่ ต้องการอะไร เด็กเป็นอย่างไร ครูก็ตอบว่า เด็กเป็นอย่างนั้นแหละ ไม่ดี เรียนไม่ได้ เราก็ถามต่อว่า ครูได้พยายามสอนหรือยัง  ครูก็บอกว่าสอนแล้ว  คือสอนแบบเดิม เราก็เลยบอกครูว่า ครูลองเปลี่ยนวิธีการสอนไหม เอาวิธีการสอนใหม่ๆ มาดูไหม เอากระบวนการวิจัยเข้ามาที่โรงเรียน แล้วก็ทำความเข้าใจกับครู  ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี กว่าครูจะยอมรับกระบวนการวิจัย

“พฤติกรรมของเด็ก เมื่อก่อนที่ครูใช้นักเรียนให้ช่วยหิ้วกระเป๋าให้ครู เด็กหิ้วมาถึงที่ห้องยังต้องถามครูว่า วางบนโต๊ะไหมค่ะ หรือว่าจะให้ทำอย่างไร คือเด็กคิดไม่ได้ และถ้าดูสถิติในการใช้ห้องสมุด พบว่าทั้งครูและเด็กแทบจะไม่เข้าห้องสมุดเลย เราจึงบอกครูว่า เราลองนำกระบวนการนี้มาสอนดู ถ้านักเรียนไม่ดี ไม่เก่งขึ้น ปีหน้าเราก็เลิก แต่ว่าเราต้องทำจริงจัง ครูก็ต้องเปลี่ยน เมื่อก่อนครูเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ได้ดูว่าในหลักสูตรนักเรียนจะต้องเกิดพฤติกรรมอย่างไรบ้าง จะต้องมีจุดที่ต้องบรรลุผลอย่างไร  ต้องใช้วิธีการสอนอย่างไร  เราบอกว่า ถ้าครูปรับ นักเรียนเปลี่ยน ชุมชนก็จะยอมรับโรงเรียน”

กระบวนการผู้บริหาร : เป็นการบริหารเชิงซ้อน ผู้บริหารทำการวิจัยครู ครูวิจัยนักเรียน นักเรียนวิจัยชุมชน ชุมชนก็ย้อนกลับมาตัวที่ผู้บริหาร โดยจะสอดรับกับกระบวนการ ซึ่งก่อนที่ทำจะต้องแจ้งผู้ปกครองว่า โรงเรียนจะนำ
“กระบวนการวิจัย” เข้ามาใช้  ผลตอบรับที่เห็นได้ชัดคือ โรงเรียนทำนามา 2 ปีแล้ว  พบว่ามีผู้ปกครอง 5 รายยกที่นาให้ เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน พร้อมทั้งเป็นวิทยากรสอนทำนาด้วย การบริหารครูต้องใจเย็น ให้อิสระทางความคิด เป็นที่ปรึกษา และจะกำกับติดตาม นิเทศทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ


กระบวนการของครู : ใช้ 3 ขั้นตอน คือวางแผน ลงมือทำ และก็ประเมินผล แต่ในทุกขั้นตอนจะใช้กระบวนการ PDCA มากำกับ เน้นการจดบันทึก ปีแรกเป็นโครงการยกระดับเพิ่มศักยภาพของผู้เรียน ปีนี้เป็นโครงการจัดการเรียนรู้ตามแนวปฏิรูปคือ  ให้ครูกับนักเรียนได้พูดคุยกัน นักเรียนเป็นคนเสนอโจทย์ที่หลายหลากตามความต้องการตามความสนใจ ครูมีหน้าที่ช่วยดูโจทย์ที่เหมาะสม  โดยคำนึงบริบทของโรงเรียน แหล่งเรียนรู้ และทรัพยากรความสะดวกในการเดินทาง โดยมีข้อตกลงว่า ใครเสนอโจทย์เรื่องอะไรต้องเป็นผู้ติดต่อกับครูภูมิปัญญา ให้เด็กประสานงานเอง เมื่อได้โจทย์และครูภูมิปัญญาแล้ว  ครูก็ต้องมาวางกระบวนการอย่างเป็นขั้นตอนว่าครูมีหน้าที่ทำอะไร และเด็กมีหน้าที่ทำอะไร  ทั้งนี้โรงเรียนไทรงามกำหนดให้ทุกวันอังคารเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน แต่ละห้องแต่ละชั้น จะมีปฏิทินงานว่าจะไปเรียนรู้ข้างนอกหรือไม่ เรียนรู้เรื่องอะไร หรือมาทบทวนความรู้อะไร ส่วนวันพุธจะชวนครูมาพูดคุย เพื่อทบทวนว่าครูวางแผนอย่างไร ประสบปัญหาหรือประสบผลสำเร็จอย่างไร และให้เล่าเรื่องที่ทำมา พร้อมกับกำหนดแผนงานขั้นต่อไป เพื่อให้ทุกคนช่วยกันกลั่นกรองว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่อย่างไร

การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน :  เรามีหลักคิดว่า “ถ้าเราทำอะไรให้ลูกเขาเก่ง ให้เขาดีขึ้น ให้เขาเห็นว่าเราทำจริง เขาก็จะเข้ามาเอง การที่เราไปร้องขอให้เขาไประดมทรัพยากร หรือให้เขามาช่วยโรงเรียนโดยที่โรงเรียนไม่เคยทำอะไรให้เขาเลย คงจะไม่ได้”  ดังนั้นโรงเรียนต้องทำให้ผู้ปกครองเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวลูกหลานว่า จากเดิมที่เด็กไม่กล้าพูด ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ เขียนไม่เป็น อ่านไม่ออก อ่านไม่คล่อง ก็เปลี่ยนเป็น กล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออก สามารถนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ได้ อ่านหนังสือคล่อง เขียนหนังสือได้ถูกต้องขึ้น พอผู้ปกครองเห็นว่าลูกของเขาเก่งขึ้น ก็มาถามว่าทำไมถึงเก่งขึ้น ลูกก็จะเป็นคนไปถ่ายทอดเรื่องราวที่ตัวเองได้ไปเรียนรู้มา ผู้ปกครองก็จะกลับมาช่วยโรงเรียนในที่สุด   ซึ่งก็จะสอดรับว่า การจัดการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

ปัญหาอุปสรรค : ระยะแรกที่นำ “กระบวนการวิจัย” เข้ามาใช้ก็มีปัญหาบ้าง เมื่อนำนักเรียนออกไปเรียนรู้นอกโรงเรียน มีผู้ปกครองบางคนตะโกนถามว่า วันนี้ไม่เรียนหรือ นักเรียนก็จะตอบกลับไปเองว่า ไม่ได้ไปเที่ยวนะยาย นี่ไปเรียน แล้วก็ไปเล่าให้ผู้ปกครองฟัง   ผู้ปกครองบางคนโรงเรียนจะเชิญมาเป็นวิทยากรสอนเรื่องการทำขนมบ้าง หรือเรื่องอื่นๆ ตามความถนัด ทำให้ผู้ปกครองเกิดความภูมิใจ  เห็นว่าตนยังมีค่า ยังมีอะไรที่จะบอกเล่าลูกหลานได้ อีกปัญหาที่พบคือ  พาหนะ  เนื่องจากโรงเรียนไม่มีรถ ผู้อำนวยการและครูจึงระดมทุนด้วยการจัดขายบัตรรำวงจนสามารถดาวน์รถ 1 คัน และขายน้ำเพื่อเก็บสะสมเงินเป็นค่าผ่อนรถ  ทำให้แก้ปัญหาไปได้ อีกปัญหาคือ ครูไม่ครบชั้น มีชั้น ป.2 และ ป.3 สอนควบ ตอนแรกครูไม่สามารถแก้ปัญหาได้  จึงแนะให้ครูใช้วิธีการสอนแบบคละชั้น ดูหลักสูตร ป.2 กับ ป.3 ที่สามารถสอนพร้อมกันได้

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : หลังจากใช้ “กระบวนการวิจัย” พบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง  ส่วนของครูเราในฐานะผู้บริหารจะชี้ให้ครูเห็นว่าเพราะอะไร ชี้ให้เห็นความแตกต่างของการสอนแบบเดิมกับแบบใหม่ ที่ให้เด็กได้ลงมือทำจริง ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เรียนรู้จากการค้นคว้าหาคำตอบเอง ครูจึงเริ่มมองเห็นว่ากระบวนการที่ทดลองใช้ได้ผล  เมื่อเห็นผล  ครูจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนของตนเอง ด้านผลสัมฤทธิ์การศึกษาจากการประเมินหลังทำกระบวนการอย่างเข้มข้นพบว่า ผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น แต่เนื่องจากปีต่อมามีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากมีครูที่เข้าใหม่ กระบวนการวิจัยจึงเบาบางลง อย่างไรก็ตามผลสัมฤทธิ์ของเด็ก ป.6 ก็ยังสูงกว่าปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้มาตรฐาน โรงเรียนจึงกลับมาวิเคราะห์ว่าเพราะอะไรพบว่า ตัวองค์ความรู้ยังไม่เกิด ดังนั้นหากครูสามารถใช้เทคนิควิธีการ ล้วงลึกลงไปมันก็จะเกิดผลชัดมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร : พบว่าเปลี่ยนไม่มาก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ใช้กระบวนการวางแผนที่ละเอียดรอบคอบขึ้น มีทางเลือกเพิ่มขึ้น เปิดใจมากขึ้น ยอมรับว่าเราก็ผิดพลาดได้เหมือนกัน คือการผิดพลาดตรงนี้เราเอามาคุยกันเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ว่าจะเอามาโกรธกัน