เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง


เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำ รีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล



โรงเรียนบ้านบ่อหิน นำกระบวนการวิจัยมาใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการเรียนรู้  เช่น การออกแบบ ชวนคุย ดำเนินการ และกลับมาสรุป ที่สำคัญใช้ในการขับเคลื่อนคือครู เพื่อให้ครูเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอน และเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ รู้จักการคิดวิเคราะห์  ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรเป็นวิชาบูรณาการ โดยใช้ “การวิจัย” ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นพัฒนาและทดลองดำเนินการ

 
โรงเรียนบ้านบ่อหินมีนักเรียน 280 คน เดิมมีนักเรียน 400 – 500 คน แต่ตอนนี้ลดลงมาก ตามสภาพปัจจุบัน เนื่องจากมีโรงเรียนเอกชนมากขึ้น  จำนวนครูพอดีเกณฑ์ เป็นข้าราชการครู 13 คน พนักงานราชการ 2 คน  ครูพี่เลี้ยง 2 คน  นักเรียน 98 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลาม มีนักเรียนไทยพุทธอยู่เพียง 4 คนเท่านั้น  ได้รับการประเมินเป็นโรงเรียนสถานศึกษาพอเพียงเมื่อปี พ.ศ.2552
 
จุดเด่น : โรงเรียนได้รับรางวัลส้วมยอดเยี่ยมเมื่อปี 2553 ได้รับการสนับสนุนการทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมจากบริษัท ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เกี่ยวกับทำปุ๋ยชีวภาพ แก๊สชีวภาพ เก็บขยะบนถนน บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  เรื่อง พิพิธภัณฑ์ วิถีมุสลิม และมีโครงการอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน เลี้ยงไก่ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และใช้โครงการไก่ไข่ต่อยอดเรื่ององค์ความรู้เกี่ยวกับเปลือกไข่ไล่มด จากการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการวิจัย

 


ความสัมพันธ์กับชุมชน : ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน และโรงเรียนก็ออกไปช่วยเหลือชุมชนด้วยเช่นกัน ซึ่งเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และส้วมลงสู่ชุมชนด้วย  ผมในฐานะผู้บริหารเน้นการทำด้วยจริงใจ ให้ผู้ปกครองเห็นว่าไม่ว่าเขาจะเข้ามาที่โรงเรียนเวลาไหนต้องเห็นผมไม่ว่าจะเช้าหรือเย็น

 


ความคาดหวัง : ต้องการให้เด็กใช้กระบวนการวิจัยเป็น “เครื่องมือ” ในการเรียนรู้  เช่น การออกแบบ ชวนคุย ดำเนินการ และกลับมาสรุป ที่สำคัญใช้ในการขับเคลื่อนคือครู เพื่อให้ครูเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอน

 


แรงบันดาลใจในการนำกระบวนการวิจัยมาใช้ :  1. ต้องการปรับพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนของครูใหม่ ไม่ให้จัดการเรียนการสอนเฉพาะในห้องเรียน หรือสอนตามหนังสือเหมือนที่ผ่านมา อยากให้ครูมีวิธีการสอนที่หลากหลาย 2. เมื่อดูผลสัมฤทธิ์และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักเรียนแล้วพบว่า นักเรียนขาดการคิดวิเคราะห์ คิดว่าเมื่อนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้จะช่วยให้เด็กได้มีการคิดวิเคราะห์มากขึ้น 3. ต้องการปรับปรุงหลักสูตรเป็นวิชาบูรณาการ โดยใช้หลักการวิจัย ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นพัฒนาและทดลองดำเนินการ

 


            กลยุทธ์การบริหาร : ปีที่ผ่านมาผมให้คุณครูออกแบบการเรียนการสอนใหม่ในแต่ละขั้น เช่น ขั้น 1 เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว ชวนกันคุย ออกแบบ แล้วก็ดำเนินการ และในขณะที่ดำเนินการนั้นก็ให้ครูคิดวิเคราะห์สิ่งที่ทำไป พร้อมกับบันทึกอย่างละเอียด  เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วก็กลับมาสรุป ครูก็บันทึก เด็กก็บันทึก ผู้อำนวยการก็บันทึก  และจัดให้มีการถอดความร่วมกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้งครูและผู้บริหาร โดยจัดกระบวนการ 2 วัน คือวันพฤหัสบดีกับวันศุกร์ โดยวันศุกร์ตอนบ่ายจะมาร่วมกันถอดว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง กระบวนการมีปัญหาอะไร  มีผู้อำนวยการเป็นผู้สังเกตการพัฒนาพฤติกรรมของครูและเด็กอย่างใกล้ชิด

 


สำหรับปีนี้ผู้อำนวยการได้จัดระบบใหม่  โดยเป็นผู้ออกแบบกระบวนการเองเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะจากการสังเกตการทำงานที่ผ่านมาพบว่าครูมักออกแบบกันไปคนละทิศละทาง ครูอยากให้ไปเร็วๆ อยากจบเร็วๆ ทำให้พฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็กไม่เกิด ปีนี้จึงใช้วิธีการเดินทีละก้าว ไปพร้อมๆ กัน  โดยผมจะออกแบบว่าสัปดาห์นี้ ให้ทำอะไร เช่น เริ่มจากชวนเด็กคุยในเรื่องต่างๆ ในภาพรวม แต่ยังไม่เจาะลึก ให้เด็กได้ค้นหาครูภูมิปัญญาว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องที่คุยก็มีตั้งแต่วัฒนธรรม ประเพณี  ประวัติศาสตร์ชุมชน อาชีพ เพื่อดูว่าเด็กมีความรู้อะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ให้ร่วมกันสรุป แล้วค่อยลงลึกไปทีละเรื่อง จากนั้นผมจะให้เด็กร่วมกันออกแบบการลงพื้นที่ว่า ที่ไหนมีภูมิปัญญา มีวัฒนธรรม  โดยมีข้อแม้ว่าครูต้องรู้ก่อน ครูต้องศึกษาก่อน ไปดูก่อนว่าตรงไหนมีอะไร ต้องวางแผนก่อน  นี่คือทิศทางการขับเคลื่อนงานของโรงเรียนบ้านบ่อหิน ซึ่งผมพยายามออกแบบแต่ละสัปดาห์ไม่เหมือนกัน พยายามหาแบบที่ดูแล้วเดินได้เหมือนๆ กัน แล้วเกิดผลที่ใกล้เคียงกัน

 


ความเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร : ผมรู้สึกว่าผมเปลี่ยนไปมาก มีการออกแบบการทำงานมากขึ้นในทุกขั้นตอน  ดึงครูเข้ามาร่วมงานในทุกกระบวนการ