เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


โรงเรียนวัดหน้าเมือง  ประสบปัญหาสำคัญคือ พฤติกรรมการสอนของครูที่ไม่ได้ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เด็กไม่รู้จักการคิดวิเคราะห์ ไม่รู้จักค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ขาดทักษะกระบวนการกลุ่ม  จึงเชื่อมั่นว่า “กระบวนการวิจัย” จะสามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหา ตั้งแต่หลักสูตร การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่สอดคล้องกับ CENTURY 21   หลังจากนำ “กระบวนการ
 

วิจัย” มาใช้ได้ระยะหนึ่ง พบว่า ครูมีทักษะการพูดการแสดงความคิดเห็น การลำดับความคิด และการเรียนรู้โดยกระบวนการวิจัย ส่วนนักเรียนก็เกิดทักษะกระบวนการกลุ่ม มีการฝึกการเรียนรู้ร่วมกัน ฝึกการทำงานเป็นทีม มีการสร้างข้อตกลงให้เด็กรู้จักเคารพกฎกติกาของสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตในอนาคต
 

โรงเรียนวัดหน้าเมือง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล- ป.6  มีครู 5 คน ไม่ครบชั้น  (ครูต่ำกว่าเกณฑ์ 1 คน ) นักเรียน 94 คน  อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร ลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท  เป็นชุมชนพุทธ ขาดแคลนทั้งอัตรากำลังและสื่อวัสดุอุปกรณ์ที่  ในอดีตเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นโรงเรียนขนาดกลาง เด็กประมาณ 200 – 300 คน เนื่องจากในระยะหลังๆ มีโรงเรียนใหม่เกิดขึ้นมาก การคมนาคมสะดวก ศักยภาพของโรงเรียนลดลง ทำให้ประสบปัญหาวิกฤติที่สุด  ปี พ.ศ. 2552 เด็กลดจำนวนลงจนโรงเรียนเกือบถูกยุบ แต่ชาวบ้าน ผู้ปกครองไม่ยินยอม โรงเรียนนี้มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่เศษ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของวัด เนื่องจากช่วงก่อตั้งโรงเรียน วัดให้ที่ดินสำหรับปลูกสร้างอาคารเรียน และโอนให้ไปสังกัดของราชการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังอยู่ในรั้วเดียวกับวัด โดยแยกเป็นสัดส่วน  เราย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2552   ปัจจุบันมีครูเหลืออยู่  4 คน ปฏิบัติงานได้อยู่ 2 คน คนหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงปฏิบัติงานได้ไม่เต็มที่  ขณะนี้นักเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากปี พ.ศ.2552  มีเด็กประมาณ 66 คน ปี พ.ศ. 2553 เพิ่มขึ้นเป็น  84 คน ปี พ.ศ.2554 เพิ่มเป็น  88 คน และในปี พ.ศ. 2555 เด็กเพิ่มขึ้นเป็น 94 คน  ซึ่งในอนาคตคิดว่าเด็กจะมีแนวโน้มก็เพิ่มขึ้นๆ ตามลำดับ
 

แรงบันดาลใจในการใช้กระบวนการวิจัย : เนื่องจากมองเห็นพฤติกรรมการสอนของครู ครูไม่ได้ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์การคิดวิเคราะห์ ขาดการสอนให้นักเรียนรู้จักการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ขาดทักษะกระบวนการกลุ่ม เชื่อมั่นว่า “กระบวนการวิจัย” จะสามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหา ตั้งแต่โจทย์มาตรฐานของหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่สอดคล้องกับ CENTURY 21  โดยในปี พ.ศ. 2555 นี้จะเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะเรามีการอบรมครูทุกปี คิดว่าครูเราได้รับความรู้มากแล้ว และสมัยนี้หาสื่ออ่านได้จากอินเทอร์เน็ต ในเอกสารต่างๆ แต่ที่สำคัญคือการนำมาปฏิบัติ มองว่าในภาพรวมส่วนใหญ่แล้วไม่ว่าจะอบรมครูกี่ครั้งๆ กี่หลักสูตร ครูก็ยังสอนเหมือนเดิม พูดง่ายๆ คือครูก็ยังสอนตามหนังสือ อบรมหลักสูตรนั้นๆ นวัตกรรมนั้นๆ แต่เมื่อกลับมาที่โรงเรียนก็ยังสอนเหมือนเดิม ขาดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กรู้จักค้นคว้า จากห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการใช้สื่อน้อยมาก การใช้แหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียนก็ยังมีน้อย แผนการสอนก็ไม่ได้ทำ การเตรียมการสอนก็ไม่ค่อยมี หรือมีบ้างก็เป็นบางคน เรามองว่าทำอย่างไรจึงจะให้ครูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน จุดนี้จุดเดียวที่ทำให้เราเข้ามาร่วมงานกับ สกว.
 

ช่วงที่ครูขาดแคลน เราแก้ปัญหาโดยจัดครูมาช่วยสอน ซึ่งก็แก้ปัญหาไปได้ระยะหนึ่ง กระทั่งปี พ.ศ.2553 ได้ครูเพิ่มอีก 3 คน โรงเรียนก็พัฒนาขึ้นมาตามลำดับ ทั้งปรับสภาพภูมิทัศน์ ปรับด้านกายภาพ พัฒนาอาคาร สถานที่ สภาพแวดล้อมของโรงเรียนก่อน เนื่องจากโรงเรียนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก โดยมีกองพันทหาร ร.5 พัน 2 ส่งกำลังทหารมาช่วยตลอด และยังมีเรือนจำจังหวัดสตูลที่นำนักโทษชั้นดีเข้ามาช่วยพัฒนาด้านกายภาพ สภาพแวดล้อม วิทยาลัยเทคนิคสตูลนำนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคนิคสตูลมาออกค่ายอาสามาพัฒนา จนโรงเรียนสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ปกครองกลับคืนมาได้บ้าง
 

ที่เราพยายามปรับปรุงสภาพแวดล้อมโรงเรียนให้ดูดี สะอาด สวยงาม แข็งแรง ปลอดภัย และน่าอยู่สำหรับนักเรียน เพราะคิดว่าอย่างน้อยๆ เมื่อผู้ปกครองหรือคนในชุมชนผ่านไปผ่านมาได้เห็นแล้วรู้สึกสบายตา สบายใจกว่าอาคารที่เก่าทรุดโทรม  จนวันนี้อาคารเรียนทั้ง 3 หลังได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมหมดแล้วทุกหลัง ผ่านการระดมทุนจากชาวบ้านและกรรมการสถานศึกษาซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
 

จุดเด่น : โรงเรียนวัดหน้าเมืองมีจุดเด่นอยู่ที่เรื่องการประสานงานกับชุมชน จากหลายๆ กิจกรรมที่จัดร่วมกันมา เช่น การระดมทุน การพัฒนาอาคาร สถานที่ และสภาพแวดล้อมในโรงเรียน กอปรกับโรงเรียนอยู่ในโครงการวิถีพุทธ จึงให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นวันเข้าพรรษา วันวิสาขบูชา หรืองานฉลองวันสมโภชเทียนพรรษา เป็นต้น แม้ว่าเราในฐานะผู้อำนวยการและครูส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามก็ตาม แต่เราก็ให้การสนับสนุนกิจกรรมพุทธศาสนาอย่างเต็มที่  จึงสามารถซื้อใจชุมชนได้
 

ผลที่เกิด :  หลังจากนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ได้ระยะหนึ่ง ผลที่เกิดขึ้นก็พอใจในระดับหนึ่ง  แม้ครูจะยังไม่เก่ง แต่ถือว่าได้แนวทางปรับเปลี่ยน ครูกล้าพูดมากขึ้น เพราะเราจะเปิดโอกาสให้ครูพูดทุกคน  เกิดทักษะการพูดการแสดงความคิดเห็น การลำดับความคิด การเรียนรู้โดยกระบวนการวิจัย ส่วนนักเรียนก็เกิดทักษะกระบวนการกลุ่ม มีการฝึกการเรียนรู้ร่วมกัน ฝึกการทำงานเป็นทีม มีการสร้างข้อตกลงให้เด็กรู้จักเคารพกฎกติกาของสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตในอนาคต
 

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูจะเริ่มจากการแบ่งกลุ่ม  ซึ่งการแบ่งกลุ่มก็มีเทคนิควิธีการแตกต่างกันเช่น แบ่งกลุ่มอย่างไรให้เด็กเกิดการเรียนรู้เอง ไม่ใช่ครูแบ่งให้หรือจับฉลาก เพราะมันง่ายเกินไป ครูต้องมีวิธีการที่หลากหลาย  เมื่อแบ่งกลุ่มเสร็จแล้วในกลุ่มต้องมีผู้นำ ด้วยการให้เด็กๆ คิดวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้นำว่า ใครมีความเหมาะสมในการเป็นผู้นำมาก ถ้าไม่มีผู้นำเป็นประธานกลุ่ม ก็ให้เขาเลือกกันเองโดยใช้หลักเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกคนนี้ เมื่อเลือกมาได้แล้ว ทุกคนต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง ในกลุ่มก็ต้องมีทักษะการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี เพื่อทุกคนจะได้มีส่วนร่วม  นี่คือสิ่งที่เด็กจะได้
 

บทบาทในการผลักดันของผู้บริหาร :  ในฐานะผู้บริหารเราต้องสร้างความเข้าใจ ปรับทัศนคติให้ครูตระหนักถึงตัวเด็ก ด้วยการจัดประชุมครู พาครูออกไปเรียนรู้นอกสถานที่ ไปอบรมพัฒนา เมื่อถึงเวลาปฏิบัติต้องมีการพบปะกันบ่อยๆ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการแชร์ประสบการณ์ ผู้บริหารของโรงเรียนเครือข่ายก็ออกไปพบกันเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผู้บริหารต้องอุทิศอุทิศตน อุทิศเวลา และต้องทุ่มเทเต็มที่
 

ความเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร :  โดยส่วนตัวคิดว่าเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย  เพราะที่ผ่านมาเราก็ปฏิบัติอย่างนี้อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าทุนเดิมไม่มีอะไรเลย แล้วเพิ่งมาพัฒนาตอนนี้ เราทุกคนเป็นคนที่ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนและหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอๆ อยู่แล้ว  แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนคือมีการนำกระบวนการวิจัยมาใช้มากขึ้น เช่น การถอดบทเรียนและมีการวางแผนที่ชัดเจนขึ้น