เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
 

โรงเรียนบ้านโคกพยอม นำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในโรงเรียน เพราะได้รับคำแนะนำจาก สมศ.ให้หาวิธีการสอนที่หลากหลาย และควรมีนวัตกรรมการเรียนการสอนแบบใหม่มาสอนเด็ก ไม่ควรใช้รูปแบบเดิม  จึงนำ “วิจัย” มาใช้ กอปรกับคนในชุมชนมี “ฐานทุนเดิม” เคยทำวิจัยกับ สกว.มาก่อน และเคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาแล้ว จึงคิดว่าไม่ยากที่จะนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ แต่ติดที่ครูที่นี่อายุมากแล้ว ไม่ค่อยยอมรับสิ่งใหม่ แต่ที่ยอมรับกระบวนการนี้เพราะ ผอ.ชอบ ผลที่เกิดขึ้นแม้จะยังไม่ชัดเจน  คือเด็กยังมีทั้งเด็กที่กล้าและไม่กล้าแสดงออก ส่วนครูวิธีคิดก็เปลี่ยนไปบ้าง แต่ไม่มาก จากเดิมที่เคยยืนสอนหน้าห้อง ก็ให้เด็กไปค้นหาด้วยตัวเองบ้าง  เช่น ลองคิดเรื่องการเขียน ก็ให้เด็กเสนอเองว่าจะเขียนเรื่องอะไร  ครูที่นี่ชอบสอน ไม่ขี้เกียจ คือสอนจริงๆ ขยันสอนมาก แต่ไม่ได้ให้เด็กหาความรู้เอง  จึงไม่เร้าใจเด็ก 
 

โรงเรียนบ้านโคกพยอม เป็นโรงเรียนประถมศึกษา เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล – ป.1 มีครู 6 คน ครูไม่ครบชั้น  นักเรียน 100 คน  98 เปอร์เซ็นต์เป็นอิสลาม  คนในชุมชนไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและทำสวน ฐานะค่อนข้างยากจน  ครอบครัวหย่าร้าง มักทิ้งลูกให้อยู่กับปู่ย่าตายาย  มีปัญหายาเสพติดมาก เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกพะยอมเมื่อปี พ.ศ.53   นักเรียนมีแนวโน้มย้ายตามผู้ปกครองไปประกอบอาชีพที่อื่นๆ 
 

การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน : โรงเรียนผ่าน สมศ.รอบ 2 ผลสัมฤทธิ์เด็กก็อยู่ในเกณฑ์ดี  คุณครูส่วนใหญ่ตั้งใจสอน แต่ช่วงที่ สมศ.มาแนะนำว่าครูมีวิธีการสอนแบบเดิมๆ ไม่หลากหลาย  สมศ.แนะนำว่าควรมีวิธีการสอนที่หลากหลาย ควรมีสื่อนวัตกรรมทีแปลกใหม่มาใช้ พอดี สกว.เข้ามาก็เป็นรูปแบบที่ของการรำ “วิจัย” มาใช้  ตามนโยบายของข้างบนก็อยากให้เด็กออกไปเรียนรู้ข้างนอกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์  ถ้าเกิดว่าเราได้ใช้วิจัยเข้ามา ก็จะทำให้เราได้นวัตกรรมใหม่ รูปแบบการสอนใหม่ ได้เชื่อมโยงกับชุมชน  เพราะชุมชนที่นี่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ถือว่าชุมชนมี “ทุนชุมชน” อยู่ เลยพยายามนำส่วนที่ สมศ.แนะนำกับต้นทุนของชุมชนที่มีอยู่มาโยงเข้าด้วยการเกิดเป็น “โครงการวิจัยการพัฒนาการเรียนการสอนโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม”   
 

โรงเรียนบ้านโคกพยอมครูส่วนใหญ่อายุมากแล้ว  จึงไม่ค่อยมีการโยกย้าย การเรียนการสอนใช้รูปแบบเดิมๆ หลังจากไปประชุมที่โรงเรียนอนุบาลสตูลก็กลับมาเล่าให้ครูในโรงเรียนฟัง  พอครูได้ฟังก็รู้ว่า ผอ.ชอบวิธีการนี้ แต่เราก็ได้บังคับให้ทำ แต่โดยธรรมชาติของครูเมื่อเห็นว่า ผอ.อยากทำ   ครูต้องทำ  
 

กลยุทธ์ที่ใช้คือช่วงที่ สมศ.มาประเมินเราอยู่ด้วยกัน  จึงนำคำแนะนำจาก สมศ.และนโยบายจากข้างบนลงมาทำ ครูก็เห็นอยู่ว่ามันจำเป็นที่เราต้องปรับ ต้องแก้ ครูก็รู้ แต่ไม่อยากทำ แต่หากผู้บริหารก้าวไปแล้ว ครูก็ต้องก้าวตาม ถามว่าเขาปฏิเสธไหม ก็ไม่ปฏิเสธ เขาบอกว่าลองก็ลอง  ลองดูกันสักที  ที่โรงเรียนส่วนใหญ่แล้วครูสามารถพูดคุยกับ ผอ.ได้ตลอดเวลา เพราะเขาเห็นเราอายุน้อย  มีอะไรเราก็คุยกับเขาอย่างอ่อนน้อม เหมือนน้องคุยกับพี่  แต่พื้นฐานที่โรงเรียนครูอายุเยอะจริงๆ  แต่มีครูบางคนเพิ่งทำ คศ.3 มา อีกคนก็ไปเรียนปริญญาโทมาก็ช่วยได้ เพราะแนวคิดเขาพัฒนาขึ้นแล้ว   ส่วนครูอื่นๆ ก็ไม่ค่อยสนใจหาความรู้เพิ่มเติม ไม่มีประสบการณ์ว่าโรงเรียนอื่นเขาทำกันอย่างไร และไม่ได้คิดจะพัฒนาตัวเองเพื่อวิทยฐานะ แต่คนที่อยู่หลังเพื่อนมีข้อดีคือหัวอ่อน ตามใจเพื่อน ใครว่าอะไรว่าตามกัน  ถึงแม้ตัวเองจะไม่อยาก แต่ถ้าเพื่อนครูเอาก็เอา   แต่ส่วนตัวไม่อยากทำ ยังไม่เต็มร้อย    แต่สรุปแล้วก็คือทำโดยไม่ได้บังคับ
 

ปัญหาอุปสรรค : แต่เมื่อทำมาแล้วก็มีปัญหา คนที่พร้อมก็ทำได้ แม้ภาระงานจะเพิ่มขึ้นแต่ก็สามารถดำเนินการไปได้ แต่คนที่ทำตามเพื่อน ด้วยพื้นฐานที่มีน้อยอยู่แล้ว  มันก็เหนื่อยก็หนัก เจาก็เริ่มบ่น  แต่เขาก็จะมาคุยกับเราไม่ได้เก็บ บอกว่าไม่รอดแล้ว ผอ. มีคนเดียวที่บ่น  ส่วนคนอื่นก็บ่นแต่ก็ทำได้ ไม่มีอะไร  บางครั้งเขาก็คุยกันเองบ้าง  คนอื่นก็มาช่วยทำ แต่ว่าเขาก็พยายามทำ แม้จะบอกว่ามันเหนื่อยๆ  โชคดีที่ในหมู่บ้านนี้เคยทำวิจัยกับ สกว.ฝ่ายท้องถิ่นเหมือนกัน  พวกชาวบ้านที่เคยทำก็มาพูดกับครูว่า  “คอยดูเถอะครู  ทำงานไม่มีวันหยุดกันเลย” ซึ่งช่วงนั้นที่โรงเรียนก็ทำมาได้ระยะหนึ่ง ครูก็เริ่มรู้แล้วว่า เลิกงานก็ไม่ตรงเวลาเหมือนเดิม เหนื่อยก็เหนื่อย เสาร์อาทิตย์ก็ต้องมาทำงานที่โรงเรียน จริงเหมือนที่ชาวบ้านพูดด้วย เห็นอย่างนี้เราก็ไปชวนครูคุยว่า เราก็ลองทำกันมาแล้ว เห็นไหมว่าเด็กอะไรบ้าง  วันก่อนที่เราจัดงานผู้ปกครองก็ชมว่าเด็กเราเก่ง  ครูก็บอกว่านั่นแหล่ะ เด็กมันก็ได้  เขาก็ภูมิใจเหมือนกัน เขาก็ทำ ไม่ได้ว่าจะไม่ทำ แต่ทำไปบ่นไป จนปัจจุบันก็ยังบ่นอยู่  ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย มีส่วนร่วมดี
 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : ครูเปลี่ยนแปลงไม่มากเท่าไร   ครูแม้จะแก่ แต่ถ้ามีใจจะทำก็สามารถทำได้ เช่น ครูอนุบาลเขาสามารถนำกระบวนการวิจัยไปบูรณาการในชั้นเรียนได้ โดยเขาพยายามคิดว่าเด็กต้องพัฒนาอะไร เช่น พัฒนาเกี่ยวกล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อตา เขาก็เอากระบวนการวิจัยเข้ามาช่วย โดยการใช้ลูกแก้ว หรือการทำมัดย้อมเป็นต้น ก็สามารถเอาวิจัยเข้าไป พาเด็กไปศึกษากับชุมชนได้  แต่ครูที่อายุมากแล้วที่ทำไม่ได้ก็มี 
 

สำหรับการบูรณาการนั้นระดับอนุบาลค่อนข้างชัดเจน ส่วนชั้นประถมเราจะแยกชั่วโมงให้ชัดเจน เขาก็จะเอากระบวนการวิจัยเข้าไปใช้ แต่ไม่ได้เอาไปใช้ในวิชาอื่น มีบ้างในบางกิจกรรมเท่านั้นที่เห็นว่าครูให้เด็กทำ แต่ยังน้อยในวิชาอื่นๆ 
 

ส่วนของเด็กมีทั้งเด็กที่กล้าและไม่กล้า แต่เมื่อนำกระบวนการนี้ไปใช้เด็กทุกคนได้แสดงออก มากน้อยต่างกัน เด็กที่กล้าก็มีเวทีมากขึ้น ส่วนเด็กที่ไม่กล้าอย่างน้อยก็ได้พูดในกลุ่มย่อยของเขา ในห้องของเขา เขาก็มีเวทีที่พอจะให้เขาได้แสดงออกบ้าง
 

วิธีคิดของครูเปลี่ยนบ้าง แต่ไม่มาก เช่น เมื่อก่อนเขาก็อยู่กันแต่ในห้อง ครูก็ยืนสอนหน้าห้อง แต่เดี๋ยวนี้ครูให้เด็กลองไปค้นหาด้วยตัวเองบ้าง  เช่น ลองคิดเรื่องการเขียน ก็ให้เด็กเสนอเองว่าจะเขียนเรื่องอะไร  ครูที่นี่ชอบสอน ไม่ขี้เกียจ คือสอนจริงๆ ขยันสอนมาก แต่ไม่ได้ให้เด็กหาความรู้เอง  มันจึงไม่เร้าใจเด็ก