เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


โรงเรียนไทรงาม เริ่มนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในโรงเรียนตั้งแต่ปี 52 เริ่มต้นด้วยการให้เด็ก ป. 1 - ป. 6 เข้าค่ายวิจัย  3 วัน 2 คืน เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกรักการวิจัยตั้งแต่ต้น  หลังจากนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้พบว่าโรงเรียนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชุมชนและตัวนักเรียนเอง  และนักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เด็กกล้าพูดมากขึ้น  มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน และคนในครอบครัว
 

โรงเรียนไทรงามเริ่มนำ “กระบวนการวิจัย” เข้ามาดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2552  ใน 8 โครงการคือ ผู้อำนวยการ 1 โครงการและ ครู 7 โครงการ โดยจะแบ่งเป็นระดับชั้น ป.1 –  ป. 6 ได้แก่  ป.1 โครงการสืบค้นคนในตระกูล เป็นการถามประวัติของบุคคลในครอบครัว ป.2 ตามต้นกล้าในนาข้าว เกี่ยวกับการทำนา ป.3 ผักข้างครัว รั้วกินได้ ทำเกี่ยวกับเรื่องของผัก เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ชอบทานผักกัน ป.4 เด็กดีวิถีพุทธ  ป.5 กล้วยไม้คุณธรรม และ ป.6 สืบสานตำนานคนตีเหล็ก โดยทุกระดับชั้นจะบูรณาการครบ 8 กลุ่มสาระผ่านการทำกิจกรรมที่ครูออกแบบไว้
 

หลังจากที่ทำโครงการนี้เสร็จสิ้นลง เรารู้สึกว่า เราได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากชุมชน และตัวนักเรียนเอง  โดยเฉพาะนักเรียนพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เด็กกล้าพูดมากขึ้น  มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน และคนในครอบครัว
 

เมื่อกระบวนการวิจัยเข้าสู่โรงเรียน : โรงเรียนไทรงามเริ่มนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้เมื่อปี พ.ศ. 2549 - 2550 ครูระเบียบเป็นคนไปพบกับคุณมานพ ผู้ประสานงานของ สกว. ฝ่ายท้องถิ่น จังหวัดตรัง ที่พาเด็กไปเรียนรู้ที่หอสมุด จดหมายเหตุ บังเอิญว่าคุณมานพชวนเด็กมาทำวิจัยซึ่งมีทุนให้  เราก็คิดว่าถ้าเราเข้ามาร่วมตรงนี้โรงเรียนจะได้อะไรจากตรงนี้ไปมาก โดยเฉพาะทุนในการทำงาน เพราะปกติโรงเรียนอย่างเรา งบประมาณหายากมาก การที่มีคนยื่นมือเข้ามาช่วยเช่นนี้เราจึงเกิดความรู้สึกว่า ถ้าทำแล้วเกิดผลกับเด็กก็น่าจะลองดู จากนั้นพี่เลี้ยง สกว.ก็เริ่มเข้ามาพูดคุย  
 

ครูระเบียบเองเริ่มลงมือด้วยการให้เด็กสืบค้นข้อมูลเรื่องราวเริ่มจากชื่อหมู่บ้านก่อน เด็กก็มานั่งเล่าให้กันฟังว่าเดิมบ้านเขาชื่ออะไร  ในหย่อมบ้านนี้มีบ้านอยู่ 4 - 5 หลัง มีคนเฒ่าคนแก่อยู่กี่คน  เราก็เห็นว่าจริง ๆ แล้วเด็กสามารถทำได้ ถ้าเกิดมีข้อมูล เขาสามารถออกมานำเสนอได้เก่งขึ้น จากแต่ก่อนเคยเล่าได้แค่ 2 - 3 ประโยค เขาก็เริ่มเล่าได้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น  ก็เริ่มมองเห็นว่าโรงเรียนเรามีจุดบอดคือเด็กพูดไม่ค่อยเก่ง เล่าไม่ได้ เขียนไม่ได้ การนำ “กระบวนการวิจัย” เข้ามาใช้น่าจะเป็นแนวทางที่สามารถไปได้ เพื่อช่วยเสริมให้โรงเรียนไปต่อได้
 

ต่อมาปี พ.ศ. 2552 โรงเรียนหมดงบประมาณดำเนินการ ก็ไม่ได้ทำต่อ  ปี 2553 เราก็ยังใช้ “กระบวนการวิจัย” อยู่  แต่ว่าไม่มีรายงานอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เด็ก ๆ ทำงานไม่เป็นกระบวน คล้ายว่าเราจะกลับไปสอนแบบเดิม สอนจากหนังสือ  ผอ.จึงคิดว่าการสอนแบบ “กระบวนการวิจัย” ยังไม่ติดในตัวครูและเด็ก แสดงว่าเราต้องทำต่อ จึงขอทุนใหม่ในปี  พ.ศ.2554  ทำ 3 โครงการ  คือชั้นอนุบาล ชั้น ป.2 – ป.3 ควบกันเรื่องทำไร่  และชั้น  ป.4 – ป. 6 เรื่องการทำนา 
 

ช่วงแรกที่ครูระเบียบเข้ามาคุยกับครูในโรงเรียนพบว่า ครูแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกบอกว่า งานก็ยุ่งอยู่แล้วเอาอะไรมาให้ทำอีก จะยุ่งมากไปไหม ที่เราทำอยู่ก็มากอยู่แล้ว แต่กลุ่มสองที่เห็นชัดว่าเด็กเราเปลี่ยน เราก็น่าจะลองดู เมื่อเกิดมีสองฝ่ายอย่างนี้ คนประสานที่ทำให้เกิดก็คือ ผอ. ท่านเก่งมาก  ท่านใช้วิธีบังคับบ้าง ขู่บ้าง แล้วแต่วิธีการของผอ.  แต่กว่าจะทำให้ครูทำร่วมกันได้ ก็ค่อนข้างยากพอสมควร เพราะครูแต่ละคนมีความเห็นไม่ตรงกัน ยิ่งช่วงแรก ๆ ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะบางคนไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ ผอ.ให้ทำคืออะไร ทำทำไม ทำไมต้องสอนอีก ที่เราสอนอยู่อย่างนี้ก็ได้แล้ว  แต่พอปรับหลักสูตร เอาโครงการไปใส่ในหลักสูตร บูรณาการทั้ง 8 กลุ่มสาระ โดยเอาหลักสูตรเป็นแกนกลาง คือไม่ได้สอนหนังสือ แต่สอนเรื่องที่เราไปทำโครงการใส่ไปในหลักสูตร โดยมีแผนควบคู่ไปด้วย ทำให้ครูทั้งโรงเรียนเห็นภาพร่วมกันและทำร่วมกันตั้งแต่นั้นมา
 

กิจกรรมที่ทำผ่านกระบวนการวิจัย : เป็นการสรุปงานวิจัยของเด็กชั้น ป.1 เรื่อง ขนมพื้นบ้านการวิจัยในท้องถิ่น เรื่องนี้มีที่มาจากร้านค้าที่อยู่หน้าโรงเรียน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำอาชีพสวนยาง ผู้ปกครองจึงไม่ค่อยมีเวลาทำอาหารเช้าให้ทาน เพราะต้องรีบมาส่งลูกและกลับไปดูสวนยาง  ทำให้นักเรียนทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ลูกชิ้น และขนมกรุบกรอบ เราสอนอย่างไร เด็กก็ไม่เชื่อ  แต่เมื่อเด็กได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เด็กเริ่มมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่า เด็ก ป.1 สามารถไปหาข้อมูลจากผู้ปกครองได้ แสดงว่าเด็กมีความพยายาม แม้แต่เด็กที่เรียนอ่อนเขาก็สามารถบอกได้ว่าอาหารอะไรที่เขาควรทานบ้าง แม้แต่เรื่องแกงเด็กผู้ชายก็สามารถพูดได้อย่างละเอียดว่าเครื่องแกงพื้นบ้านมีอะไรบ้าง เด็กแทบจะไม่เคยกินขนมไทยเลย กินแต่ขนมห่อละ 5 บาท แต่เราจะเชื่อมโยงไปว่าเมื่อนักเรียนกินแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง เด็กเขาบอกว่ากินแล้วไม่อิ่ม เราก็ชวนเขาคิดต่อว่า ถ้าเช่นนั้นเราจะเสนอกันอย่างไรดี ให้นักเรียนคิดวิธีการนำเสนอ เพราะว่าเด็ก ป.1 ไม่เคยแสดงอะไรเลย ในการทำการวิจัยของเด็กนั้นจะต้องมีการอบรมการทำวิจัยด้วย  เมื่อเปิดเทอมโรงเรียนจะจัดให้เด็กชั้น ป. 1 ป. 6 เข้าค่ายวิจัย  เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยก่อนเข้าค่ายเราจะชี้แจงให้ผู้ปกครองทราบว่าเราทำไปเพื่ออะไร   การให้เด็กช่วงวัยนี้เข้าค่ายเราไม่ค่อยห่วงมากนัก เพราะเด็กวัยนี้สามารถอยู่กับครูและคนอื่นได้ แม้แต่เด็กพิเศษที่น่าจะเป็นปัญหากับคนอื่น พ่อแม่ก็ไม่ห่วง เด็กสามารถรับผิดชอบตัวเองได้  ซึ่งการเข้าค่ายนี้เรามีเป้าหมายคืออยากให้เด็กเกิดความรู้สึกรักการวิจัยตั้งแต่ต้น
 

เมื่อเรียนเสร็จแล้วเราก็จัดให้มีการนำเสนอด้วยการเปิดเป็น “เวทีวิจัย”  ให้เด็กเขาเสนอเองว่าเขาจะนำเสนออะไรบ้าง ให้นักเรียนคิดกันเอง สรุปได้ที่เรื่องขนมพื้นบ้านอาหารในท้องถิ่น  จากนั้นเป็นการวางแผนการแสดง แบ่งบทบาทหน้าที่ ออกแบบฉากการแสดง โดยมีครูทำหน้าที่กระตุ้นให้เด็กสร้างเนื้อเรื่องในการแสดงว่าควรเป็นอย่างไร  ในช่วงแรกเราเองก็ยังมองไม่เห็นว่าเด็กคนไหนเหมาะกับบทบาทใด เราให้เด็กแสดงไปแล้วปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ให้เขาช่วยกันคิดว่าการแสดงแต่ละครั้งเป็นอย่างไรบ้าง  จากนั้นมีการแสดงอีกครั้งหนึ่งโดยการแสดงความคิดเห็นของนักเรียนว่าน่าจะแสดงต่อหน้านักเรียนทั้งโรงเรียนในช่วงเที่ยง ปรากฏว่าเด็กทั้งโรงเรียนไม่มีใครสนใจพวกเขาเลย เด็กนักเรียนคนหนึ่งเขาก็โมโห ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ จากนั้นเราก็มาประเมินกันใหม่ว่าสิ่งที่เราแสดงออกไปเป็นอย่างไรบ้าง จึงมีการเปลี่ยนแปลงตัวละครอีก  สุดท้ายการแสดงก็สำเร็จได้ด้วยดี ครูที่มาติดตามงานหลังจากการแสดงจบไปพบว่าเด็กนักเรียนหลายคนตื่นเต้นกับกิจกรรมที่เขาได้ทำ นอกจากนี้ผู้ปกครองของนักเรียนยังมีส่วนร่วมในการช่วยแต่งตัวแต่งหน้าให้กับนักเรียนด้วย เด็กนักเรียนมีความกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะคิดดัดแปลงจากสิ่งที่เขาได้เรียนรู้
 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่าการทำงานวิจัยไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะปัญหาเหล่านี้เราเจอแล้วเมื่อปีที่ 1 เราก็จดบันทึกไว้ว่าเจอปัญหาอะไรบ้าง  เช่น เราจะพานักเรียนไปซื้อขนมนอกโรงเรียน เราบอกว่าวันนี้ครูจะพาไปซื้อขนม แต่เราไม่บอกว่าจะไปทำอะไรบ้าง เมื่อไปถึงเด็กเขาเลือกเลยว่าจะซื้อลูกอม น้ำส้มดีโด้  เมื่อซื้อเสร็จเราให้นักเรียนบอกเหตุผลว่า เพราะอะไรนักเรียนถึงซื้อขนมนี้ เขาบอกว่าเห็นว่าเราไม่ว่า เห็นเพื่อนซื้อ  เราก็ถามเขาต่อว่าแล้วมันให้โทษอะไรกับเขาบ้าง  เขาก็เชื่อมโยงไปว่ามีผลทำให้ฟันผุ  บางคนก็บอกว่าปวดท้อง  เด็กเดี๋ยวนี้เขาหันมากินขนมไทยกันเพิ่มขึ้น คอยห้ามเพื่อนไม่ให้ซื้อ