เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


ครูกัลยกรแม้จะเป็นครูรุ่นใหม่ ที่คิดนอกกรอบ แต่ก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะนำ PBL มาใช้จัดการเรียนการสอน เพราะมองว่าเป็นเรื่องยาก และไม่น่าจะเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก น่าจะเหมาะกับเด็กระดับมัธยมมากกว่า แต่เมื่อ “เปิดใจ” ยอมรับกระบวนการนี้ก็พบว่า กระบวนการของ PBL  สามารถทำให้เด็กประถมตัวเล็กๆ คิดได้เช่นกัน และยืนยันจะใช้ PBL ต่อไป แม้ในอนาคตอาจจะไม่มีงบประมาณสนับสนุนก็ตาม เพราะเห็นแล้วว่าสิ่งที่สอนเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนจริงๆ หากเราเลิกใช้ คงคล้ายกับการเพาะต้นกล้าแล้วตัดทิ้ง “เพาะ” แล้วเราก็ต้องให้ต้นกล้าเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ  


ตนมีความคิดเห็นต่างจากครูท่านอื่นๆ เนื่องจากว่าเป็นครูรุ่นใหม่ ชอบคิดนอกกรอบ เท้าความไปตั้งแต่สมัยเรียนครูมีความคิดว่า อยากให้มีการเรียนแบบใหม่ ไม่ต้องมีหนังสือ ให้หลุดออกจากการเรียนแบบเดิมๆ พอรับข้าราชการครูจึงตั้งใจว่าจะลองใช้วิธีการสอนแบบใหม่ เพราะตนเรียนจบวิชาวิทยาศาสตร์ จึงใช้ได้แต่วิชานี้เท่านั้นเพราะสามารถพาเด็กนักเรียนไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ไปดูต้นไม่ ไปดูแมลง ไปสำรวจโรงเรียน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มักโดนเพ่งเล็งจากผู้ใหญ่ ในช่วงแรกของการบรรจุเป็นครูจากโรงเรียนก่อนหน้าที่นี้ เช่น พานักเรียนไปชมป่าข้างโรงเรียน ครูคนอื่นอาจมองว่าทำอะไรกันอีกแล้วห้องเรียนนี้ พาเด็กไปนั่งเรียนบนก้อนหิน และอธิบายลักษณะของธรรมชาติที่เขาเห็นให้ฟัง แต่มักไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนครู เหตุการณ์นี้ทำให้กลับมาคิดว่าหรือที่จริงการเรียนการสอนต้องเป็นแบบเดิมจึงจะถูกต้องคือยึดตามหนังสือ สอนให้ทันตามเนื้อหา ประมาณนี้ ช่วงหนึ่งเริ่มสอนไม่ทัน จึงกลับมาสอนโดยใช้หนังสือเป็นหลัก


การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : โรงเรียนไทรงามได้รับโครงการวิจัยของ สกว. เรื่องเปิดประตูการณ์เรียนรู้สู่ทุ่งนา ทำให้การเรียนการสอนสนุกและมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ได้ประสบการณ์การสอนรูปแบบใหม่ จากไม่เคยดำนำก็ได้ลงมาดำนาร่วมกับนักเรียน เกี่ยวข้าวกับนักเรียน ได้จับแมลง ซึ่งที่จริงแล้วโลกของเรากว้าง เราสามารถเรียนรู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ยกตัวอย่างเช่น นำนักเรียนลงสู่ทุ่งนาได้เรียนรู้ห่วงโซ่อาหารของจริง ตอนแรกมองว่าการเรียนการสอนแบบ PBL เป็นเรื่องยาก จึงไม่เหมาะกับเด็กเล็ก เหมาะสำหรับความสามารถระดับเด็กมัธยม มองแง่ลบไว้ก่อน ทำก็เสียเวลา อาจส่งผลให้นักเรียนเรียนไม่ทัน มองเด็กนักเรียนว่าจะทำได้หรือไม่ ทั้งที่เด็กอาจจะมีความคิดดี แต่เราไม่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน สุดท้ายเมื่อเราเปิดใจ ไม่น่าเชื่อว่าเด็กประถมตัวเล็กๆ ก็มีสามารถคิด ใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL ได้เช่นกัน


กรณีตัวอย่าง “เปิดประตูการเรียนรู้สู่ทุ่งนา” โดยให้โจทย์นักเรียนว่าเมื่อเราเก็บข้าวแล้ว ได้ผลผลิตจากนาข้าว นักเรียนคิดว่าจะนำไปทำอะไรได้บ้าง เด็กจึงมีคำถามกลับว่าจะมีกรอบอะไรหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ ไม่มีกรอบใดทั้งสิน ให้นักเรียนจัดทำโครงงานตามความถนัด ไม่น่าเชื่อว่านักเรียนทั้ง 4 กลุ่มที่แบ่ง ทำผลงานออกมาได้ดี เพราะว่าความคิดนักเรียนไม่ถูกปิดกั้น กลุ่มที่ 1 ทำเฟอร์นิเจอร์จากฟางข้าว เด็กให้เหตุผลว่าทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะไม่ต้องเผาฟางข้าว นำมาทำเป็นม้านั่งออกแบบเป็นลักษณะนำฟางข้าวมามัดรวมกันจนกลายเป็นเก้าอี้ ขณะที่เด็กอีกหลายคนมองแค่เมล็ดข้าว กลุ่มที่ 2 เลือกทำตุ๊กตาแขวนจากเศษต้นข้าว ตกแต่งบ้านสวยด้วยราคาประหยัด กลุ่มที่ 3 คิดตามหลักเศรษฐศาสตร์นำข้าวที่ผลิตได้มาประมูลนำรายได้เข้าโรงเรียน คิดแบบผู้ใหญ่ ทำให้ครูหลายคนอึ้ง นักเรียนให้เหตุผลว่าโรงเรียนเรายังขาดอุปกรณ์อยู่มาก เมื่อเรามีผลผลิที่เราสามารถผลิตได้เองแล้วทำไมจึงไม่นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่ผลิต เพื่อเป็นประโยชน์กับโรงเรียน โดยจัดเป็นงานเพื่อให้ผู้ปกครองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชมงาน และจัดประมูลสินค้า เพราะโรงเรียนไม่มีโต๊ะเก้าอี้ให้พอกับจำนวนของนักเรียน จึงเป็นที่มาของโครงงานดังกล่าว ในความเป็นจริงการประมูลอาจทำได้ยาก จึงนำข้าวสารมาจำหน่าย เป็นรายได้นำมาซื้อโต๊ะเวลานี้นักเรียนมีโต๊ะนักรับประทานอาหารครบทุกคนแล้วโดยให้เงินจากตรงนี้ กลายเป็นความภูมิใจร่วมกันทั้งครูและนักเรียน


ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น :  จากเดิมที่ใจร้อน ถามนักเรียน นักเรียนตอบไม่ได้ จะรีบบอกคำตอบนักเรียนทันที ด้วยความที่อยากให้นักเรียนประสบความสำเร็จ จึงอยากบอก อยากป้อนความรู้ให้นักเรียน จุดเปลี่ยนของตัวครูเองเมื่อได้ใช้วีการสอนแบบ PBL แล้วคือรู้จักรอเป็น รอให้นักเรียนหาคำตอบ รอให้เด็กคิด รอให้เด็กวิเคราะห์ รอให้เด็กอธิบายออกมาได้ มองโลกในแง่บวกมากขึ้น จากที่เคยมองนักเรียนในแง่ลบ เช่น นักเรียนไม่ทำการบ้านมาส่ง ก็กล่าวหาว่านักเรียนเป็นเด็กไม่ดี แต่เมื่อเราได้รู้จักเด็กแบบลึก ได้ไปสัมผัสบ้านของนักเรียนบางคนน่าสงสารอย่างคาดไม่ถึง พ่อแม่ปล่อยไว้ตามลำพังเพราะต้องไปทำงาน ไม่ได้มาโรงเรียน เนื่องจากเสื้อผ้ายังไม่ได้ซัก พ่อแม่ได้รีดไว้ให้ ข้าวไม่มีกิน ก็จะใช้วิธีบอกให้เด็กมาโรงเรียน ที่โรงเรียนมีข้าวให้กิน

 
ส่วนตัวนักเรียนที่เห็นชัดคือความกล้า จากเด็กที่เมื่อก่อนกลัวครู พูดมากก็โดนครูลงโทษ ตอนนี้ไม่มีผิดหรือถูก แต่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เล่ามาก่อน แล้วมาช่วยกันวิเคราะห์เหตุผล หลังจากนั้นจึงช่วยกันหาข้อสรุปร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ยึดติดว่าความคิดครูถูกที่สุด นักเรียนก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีคือกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ มีความสามัคคี มีการทำงานกลุ่มโดยมีการวางแผนล่วงหน้า และมีการสรุปองค์ความรู้ร่วมกันอีกครั้งที่ทำงาน


ปัญหาและอุปสรรค : อยู่ที่การประเมินความรู้ของประเทศไทย ใช้คำนี้ได้ ประเมินเฉพาะองค์ความรู้ที่ไม่ทราบว่าคิดได้อย่างไร  ไม่ได้พาดพิงถึงหน่วยงานใด แต่ใช้คะแนน O – Net ของนักเรียนระดับ ป.6 ใช้นักเรียนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นมาวัดคุณภาพโรงเรียนทั้งโรงเรียน ซึ่งไม่รู้มีการตรวจสอบมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นคุณถือว่าตรงนี้คือมาตรฐานของคุณหรือ แล้วทำไมถึงไม่ดูที่เด็กว่ากล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก คุณมาประเมินตรงนั้นบ้างหรือไม่ ไม่มี ซึ่งรู้สึกว่าอุปสรรคเวลานี้อยู่ที่ระบบ คือเราจะเปลี่ยนระบบการศึกษาของประเทศไทยได้ ต้องทลายระบบ อย่าเอากรอบที่มีอยู่มาบล็อกไม่ให้ความคิดของทุกคนแตกออกไป คิดต่างได้ แต่ต้องหาจุดที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ ไม่ใช่ว่าใครเป็นผู้นำแล้วความคิดฉันถูก ซึ่งทำให้รู้สึกว่าปัญหาตรงนี้คือปัญหาหลักของเรา ส่วนที่โรงเรียนไม่ค่อยพบปัญหา ทุกคนในโรงเรียนมีความร่วมมือกันดี ตอนนี้ก็ยังใช้ระบบ PBL สำหรับการเรียนการสอน ถึงในอนาคตอาจจะไม่มีงบประมาณสนับสนุน เราก็ยังคงใช้กระบวนการนี้สอนต่อไปเรื่อยๆ เพราะเราเห็นแล้วว่าสิ่งที่สอนเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนจริงๆ เพราะนั้นหากเราเลิกใช้ คงคล้ายกับการเพาะต้นกล้าแล้วตัดทิ้ง เพาะแล้วเราก็ต้องให้ต้นกล้าเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ