เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล

ครูสุภรรณี แม้จะรับราชการครูได้ไม่นาน แต่รูปแบบการสอนยังเป็นรูปแบบเดิม เหมือนกับหลายๆ โรงเรียนคือครูเป็นนางเอก พระเอก ออกคำสั่งให้นักเรียนปฏิบัติตาม ไม่นิยมให้นักเรียนออกความคิดเห็น แต่เมื่อนำ PBL มาใช้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง นักเรียนกลายเป็นนางเอก พระเอกแทน แม้ช่วงแรกจะเครียด เพราะทำไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน แต่เมื่อมีพี่เลี้ยง สกว. เข้ามาช่วยก็สามารถปฏิบัติได้ดีขึ้น และครูก็มีความกล้าขึ้น จากเดิมที่ไม่กล้าขึ้นเวที ไม่กล้าพูด ปัจจุบันเรื่องการพูดไม่น่าห่วง พูดได้ เป็นนักวางแผนมากขึ้น ทำอะไรช้าลง ใจเย็น ปรับให้เข้ากับเด็กอนุบาลได้  เดิมครูจะเป็นผู้นำให้เด็กทำตาม ตอนนี้เน้นกิจกรรมให้นักเรียนได้คิดเอง ครูเป็นคนกระตุ้น คอยให้คำแนะนำ  ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับคนในชุมชนดีขึ้น  เวลานักเรียนไปหาข้อมูลในหมู่บ้านก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ผู้ปกครองชื่นชมและมีส่วนร่วมมากขึ้น
 

โรงเรียนนิคมพัฒนาผัง 20 เป็นโรงเรียนขนาดกลางเปิดสอนตั้งแต่อนุบาล – ประถมศึกษา  มีนักเรียน 140 คน ครู 10 คน นักเรียนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 10 คน เป็นโรงเรียนวิถีพุทธใส่ชุดขาวไปวัดทุกวันศุกร์ ส่วนนักเรียนนับถือศาสนาอิสลามก็จะมีการสอนศาสนาเช่นกัน พื้นที่โรงเรียนเป็นพื้นที่น้ำท่วมบ่อย เพราะหลังโรงเรียนเป็นคลอง เมื่อมีฝนตกมากน้ำจะหนุนขึ้นมาที่อาคารทำให้น้ำท่วมเป็นประจำทุกปี

การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : ตนได้รับการบรรจุเป็นครูตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 การเรียนการสอนก่อนที่จะมีทีม สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) เข้ามาทำวิจัย การสอนจะเป็นแบบเดิมคล้ายกับหลายๆ โรงเรียน คือครูเป็นนางเอก พระเอก ออกคำสั่งให้นักเรียนปฏิบัติตาม หรือยึดตามหนังสือเป็นหลัก ไม่นิยมให้นักเรียนออกความคิดเห็น ให้ผู้เป็นครูจัดการเสียเป็นส่วนใหญ่ สรุปคืออำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่คุณครู และครูเป็นผู้ออกคำสั่ง แต่เมื่อนำการวิจัยเข้ามาใช้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง นักเรียนกลายเป็นนางเอก พระเอกแทน


ที่โรงเรียนเริ่มการเรียนการสอนแบบ PBL หรือการวิจัย มาได้ 1 ปีการศึกษา เริ่มแรกรับเรื่องยังเป็นผอ.ท่านเก่าอยู่ (ผอ.ยงยุทธ ยืนยง) ท่านบอกกับครูในโรงเรียนว่า สกว.จะเข้ามาทำโครงงานวิจัยกับโรงเรียน ให้ครูและนักเรียนเข้าร่วม ตอนนั้นในใจก็คิดว่า ไม่ไหวแน่ ไม่ชอบเลยงานวิจัย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่หนัก ไม่อยากทำ ครูทุกคนเป็นเหมือนกันหมด  แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ ผอ.ท่านย้ายไปก่อน แล้วก็มี ผอ.ใหม่คือ ผอ.กุหลาบ เกลี้ยงชุม ตนเองคิดว่าจะย้ายไปโรงเรียนอื่นดีกว่า ไปอยู่กับโรงเรียนที่ไม่มีการทำวิจัยกับ สกว. แต่สุดท้ายไม่ได้ย้าย ผอ.กุหลาบ เกลี้ยงชุมก็พากันจะถอนตัวออก แต่สุดท้ายก็ทำตาม เพราะคิดว่าทำเพื่อโรงเรียน เพื่อเด็กๆ  เลยสู้ต่อ
 

 หลังจากนั้นมาก็เริ่มอบรมศึกษาดูงาน ก็เริ่มเห็นภาพว่าต้องทำแบบนี้ๆ คิดว่าคงไม่ยากเกินความสามารถฉันทำได้อยู่แล้ว ช่วงแรกยังเครียด เพราะทำกันไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน แต่ยังดีที่มีพี่เลี้ยง สกว. เข้าไปหาที่โรงเรียนอยู่บ่อย ๆ ได้ถามและได้ปรึกษาก็สามารถปฏิบัติได้ดีขึ้นได้


งานวิจัยของที่โรงเรียนก็แยกตามรายชั้น ระดับชั้นอนุบาล 1 - 2 ทำรวมกันหนึ่งเรื่องคือ  “ไม้เสียบมหาสนุก” เป็นการทำของเล่นจากไม้ไผ่หรือไม่เสียบลูกชิ้น ป.1 เรื่องการเลี้ยงปลาหางนกยูง ป.2 เรื่องลูกหันจากลูกยาง เป็นการศึกษาภูมิปัญญาของชาวบ้าน นำลูกยางมาเจาะนำเนื้อในออกใส่เชือก ใส่ไม้ ดึงเล่น ด้านบนใส่ไม้ไอศกรีมให้หมุนคล้ายเครื่องบิน ป.3 เรื่องปุ๋ยหมักจากขยะ ป.4 เรื่องการทำขนมลาซึ่งเป็นขนมทางภาคใต้ ป.5 เรื่องการปลูกดาหลา เพราะว่ารอบโรงเรียนมีดอกดาหลาแต่มีแต่สีแดง ยังขาดดาหลาดอกสีขาวอยู่ ป.6 เรื่องเทียนหอมตะไคร้ เพราะตะไคร้ก็มีเยอะในชุมชน


ในชั้นอนุบาลเริ่มแรกมีการพูดคุยกันก่อนว่าเดี๋ยวเราจะทำวิจัยเรื่องนี้กัน เด็กอนุบาลก็ถามว่างานวิจัยคืออะไร ก็บอกเด็กว่าเดี๋ยวเราไปเที่ยวกันข้างนอก ไปดูโน้น ดูนี่ ชมนก ชมไม้ เด็กก็ชอบ จึงทำเป็นข้อตกลงร่วมกันว่า เวลาพากันไปต้องไม่คุยเสียงดัง ไม่เดินแตกแถว เจอผู้ใหญ่ต้องสวัสดี พอข้อตกลงเสร็จทุกคนจำได้หมดทั้ง 8 ข้อ ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ตามข้อตกลงที่เขาคิดกัน โดยมีครูคอยกระตุ้น เมื่อถึงเวลาสำรวจ ก็จะบอกกับนักเรียนว่าให้คอยสังเกต เมื่อสนใจสิ่งไหนให้จำเอาไว้ นักเรียนก็เจอหลายอย่าง แต่ว่าเขาก็จำได้จริงๆ พอไปสำรวจเสร็จก็กลับมาแล้วก็มานั่งสรุปที่สนาม นักเรียนเจออะไรมาบ้างก็บอกกันคนละ 3 อย่าง บางคนก็จำได้มาก บางคนก็จำได้น้อย หลังจากนั้นให้นักเรียนวาดรูปในสิ่งที่นักเรียนพบเห็น คือตอนแรกครูต้องเขียนบนแผ่นชาร์ตว่ามีอะไรบ้าง เจอนก เจอต้นไม้ เจอก้อนหิน ครูจะจดลงแผ่นชาร์ตทุกอย่าง หลังจากนั้นครูก็จะให้เด็กวาดสิ่งที่พบเห็น เพราะเขาเป็นเด็กอนุบาล ต้องใช้การวาดแทน เขาก็จะวาดตามภาษาของเด็กเป็นรูปบ้างไม่เป็นรูปบ้าง แต่ถ้าถามเขาเขาจะตอบได้ว่าเขาวาดรูปอะไร มีมากหมายหลายเรื่อง ก็มาเลือกเรื่องที่เด็กๆ สนใจมากที่สุดคือ เรื่องไม้ไผ่ เพราะนักเรียนให้เหตุผลว่ารอบโรงเรียนมีไม้ไผ่จำนวนมาก ก็ให้เขาตั้งคำถามว่าหนูอยากรู้อะไรจากไม้ไผ่ นักเรียนก็สามารถตั้งคำถามมาได้หลายคำถาม เช่น ไม้ไผ่ทำอะไรได้บ้าง ไม้ไผ่มีกี่แบบ ไม้ไผ่มีพิษหรือไม่
 

จากคำถามที่นักเรียนถามมาหนูอยากรู้อะไรมากที่สุด นักเรียนตอบว่าไม้ไผ่ทำอะไรได้บ้าง ให้คิดเป็นการบ้านอีกทำไรได้บ้างเท่าที่หนูรู้มา คิดเองบ้าง กลับไปถามพ่อแม่บ้าง ถามผู้รู้ข้างๆ บ้าง ก็ได้มามากพอสมควร สุดท้ายเขาอยากรู้เรื่องไม้เสียบมากที่สุด เพราะหมู่บ้านเราทำไม้เสียบอยู่หลายหลัง สุดท้ายก็ทำเป็นโครงงาน มีการพาไปดูการทำไม้เสียบที่อยู่ข้างชุมชน เดินกันไปเป็นแถวไปศึกษาวิธีการทำว่าเขาทำกันอย่างไร เด็กก็ทำได้หมด เด็กอธิบายได้หมด กลับมาก็คิดว่าจะเอาไม้เสียบทำอะไรดี สุดท้ายก็คิดว่านำมาทำของเล่น โดยใช้ดินน้ำมันเป็นส่วนผสม เช่น ทำดอกไม้ก็ใช้ไม้เสียบดินน้ำมัน ทำเป็นพยัญชนะ ก็ออกมาเป็นผลงานได้หลายอย่าง ตอนนำเสนองานวิจัยเป็นที่ชื่นชอบของกรรมการมาก เพราะเด็กสามารถตอบได้ฉะฉานคล่องแคล่ว


 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : ครูมีความกล้าขึ้น จากเดิมที่ไม่กล้าขึ้นเวที ไม่กล้าพูด ปัจจุบันเรื่องการพูดไม่น่าห่วง พูดได้ เป็นนักวางแผนมากขึ้น ทำอะไรช้าลง ใจเย็น ปรับให้เข้ากับเด็กอนุบาล  เดิมครูจะเป็นผู้นำให้เด็กทำตาม ตอนนี้เน้นกิจกรรมให้นักเรียนได้คิดเอง ครูเป็นคนกระตุ้น คอยให้คำแนะนำ  ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับคนในชุมชนดีขึ้น  เวลานักเรียนไปหาข้อมูลในหมู่บ้านก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ผู้ปกครองชื่นชมและมีส่วนร่วมมากขึ้น