เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล

ครูยัสมีมีวิธีสอนหนังสือแบบ “แม่นกป้อนอาหารลูกนก”  นำ PBL มาใช้ในการเรียนการสอนเพราะอยากเห็นเด็กไม่กลัวครู เนื่องจากครูคนเก่าเข้มงวด ไม่ยอมรับ “กระบวนการวิจัย” ขณะที่ครูอื่นเริ่มพาเด็กไปเรียนรู้นอกห้องเรียนแล้ว เมื่อมารับตำแหน่งที่นี่จึงอยากแก้ปัญหานี้ จึงเริ่มชักชวนเด็กออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำได้ระยะหนึ่งพบว่า เด็กรู้สึกดี เพราะเขาไม่เคยได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกจากนี้ยังทำให้ครูมองนักเรียนได้ชัดขึ้น และเมื่อได้สัมผัสวิธีการเรียนการสอนแบบนี้ก็ยิ่งพบว่า ลดภาระของครูได้มาก จากที่ต้องเตรียมการเรียนการสอนมาก กลายเป็นว่าเราก้าวไปพร้อมเด็ก แต่ครูต้องเก่งกว่าเด็กในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้น
 

โรงเรียนวัดหน้าเมืองเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา มีนักเรียน 90 คน จากเดิมมีนักเรียน 40 คน อดีตมีครูพียง 3 คน โดยครูทั้ง 3 คน สอนเด็กนักเรียนทั้งโรงเรียน แต่ปัจจุบันเหลือครูอยู่ 2  คนนักเรียนเรียนด้วยโทรทัศน์ทางไกล โรงเรียนมีแนวโน้มที่จะถูกยุบ กระทั่ง ผอ.จุรีรัตน์  แคยิหวา มารับตำแหน่ง โรงเรียนจึงมีการพัฒนามากขึ้น  จนปัจจุบันมีครู 4 คน


การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : ตนเพิ่งมารับโครงการนี้เมื่อปีที่แล้ว ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์มากนัก ถือว่าเป็นน้องใหม่  แม้จะเป็นครูมานานถึง 10 ปี แต่การสอนที่ผ่านมาจะเป็นไปตามแผนการสอน มีการเตรียมข้อมูลก่อนเข้าสอนนักเรียน การให้ความรู้นักเรียนคล้ายกับ “แม่นกป้อนอาหารลูกนก” คือการป้อนความรู้ให้นักเรียน และให้นักเรียนมี feedback กลับมา ซึ่งนักเรียนอาจตอบรับแบบเต็มใจบ้าง ไม่เต็มใจบ้าง แต่ครูพยายามสอนตามรายวิชา โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา นอกจากนี้ในการสอนยังมีการการให้นักเรียนอ่านตามหนังสือ ร้องเพลง เป็นต้น


เมื่อเข้ามารับตำแหน่งที่นี่ได้รับมอบหมายให้สอนคละชั้นคือ ป.4 กับ ป.5 ซึ่งเดิมครูประจำชั้นคนก่อนเป็นครูยุคเก่าที่ดุมาก มีการเรียนการสอนแบบครูโบราณให้อ่านและเขียน โดยไม่ให้ทำกิจกรรมอื่น เด็กนักเรียนต้องอยู่ในห้องเรียนตลอดเวลา นักเรียนจึงมีอุปนิสัยกลัวครู และครูท่านนี้ก็ไม่ยอมนำการวิจัยมาใช้ แม้ว่านักเรียนห้องอื่นๆ จะเริ่มมีการเรียนการสอนนอกห้องเรียนแล้วก็ตาม  แต่เด็กนักเรียนห้องดังกล่าวยังไม่มีโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียนเลย ต่อมาเมื่อตนเข้าประจำชั้นก็ยังไม่ค่อยเข้าใจการเรียนการสอนแบบ PBL เท่าที่ควร ท่านผอ. ท่านเห็นใจจึงเชิญสกว. เข้ามาอบรมให้ความรู้ ทำให้เริ่มเข้าใจทิศทางในการสอน ในขณะที่เด็กมีน้อย ครูมีน้อย ก็เริ่มมองแนวทางการสอนออก


ขณะเดียวกันจากเดิมที่เด็กมีความกดดันจากการเรียนการสอบแบบเก่าที่เรียนจากการทำแบบฝึกหัดจำนวนมาก และตนเองเคยสอนในโรงเรียนขนาดใหญ่ซึ่งมีความพร้อมมาก ทำให้มองเห็นความขาดแคลนของโรงเรียนขนาดเล็กได้ชัดเจน เกิดความเวทนาเด็ก  จึงกลับมาคิดว่าทำอย่างไรให้เด็กในชั้นเรียนละลายพฤติกรรม ทีมสกว.แนะนำว่าต้องสร้างข้อตกลงก่อนเพราะเป็นเรื่องสำคัญ  จึงชวนเด็กสร้างข้อตกลงในห้องเรียน ให้นักเรียนมองเห็นการเรียนรู้แบบใหม่เสียก่อน เล่าให้นักเรียนฟังถึงการเรียนของห้องอื่นๆ ว่ามีการเรียนลักษณะนี้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียน บวกกับตนเป็นครูใหม่ด้วย จึงละลายพฤติกรรมไปพร้อมนักเรียน และทำการเรียนการสอนแบบบูรณาการ  


ช่วงนั้นมีเวลาเพียงครึ่งเทอม ซึ่งตอนนั้นไม่รู้จริงๆ ว่าจะสามารถทำตามกระบวนการได้หรือไม่ แต่ก็อยากลองดู ตัวอย่างเช่น วิชาสังคมก็ให้เด็กได้ไปเรียนรู้ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งนักเรียนชั้นนี้ไม่เคยออกไปเรียนรู้นอกโรงเรียนเลย และไม่กล้าที่จะออกไปเรียนรู้ เพราะพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคนส่วนมากยากจน ครอบครัวแตกแยก เด็กมีปัญหา อาศัยอยู่กับญาติ จึงถามนักเรียนว่าอยากไปเรียนรู้กับของจริงหรือไม่ แต่ก่อนที่ครูจะกล้านำนักเรียนไปเรียนรู้ด้านนอกครูต้องมั่นใจในตัวเสียก่อนว่าในบริเวณใกล้ๆ มีแหล่งเรียนรู้ แต่เด็กไม่เคยได้เรียนรู้ข้างนอก เรียกว่าถูกปิดประตูเลย ก่อนที่ครูจะพาเด็กไปออกไปเรียนรู้นอกสถานที่ ครูจะมีการเตรียมตัวเรื่องมรรยาท มีกติกา ข้อตกลง โดยในกระบวนการเหล่านี้ก็จะให้เด็กช่วยกันคิด ให้โจทย์กับเด็กนักเรียนว่าหากได้ไปเรียนรู้นอกห้องเรียนต้องปฏิบัติตนอย่างไร และสุดท้ายเราก็ได้ไปจริงๆ เด็กนักเรียนตื่นเต้นมาก



พฤติกรรมที่เด็กได้ไปเรียนรู้ด้านนอกเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ตอนนั้นเข้าไปห้องประชุมสภามีโต๊ะเก้าอี้วางเรียบร้อย เด็กไม่เคยเห็น เด็กได้นั่งเก้าอี้โยก ได้เห็นไมค์  พอท่านนายก อบต. มาเท่านั้นแหละ เขากล้าถาม กล้าตอบทันที  ขณะที่อยู่ในห้องเรียนเรายังไม่เห็นชัดเจน แต่เมื่อเด็กได้ไปเรียนรู้ในสถานที่จริง เราสามารถมองเด็กได้ชัดเจน ตอนอยู่ในห้องไม่กล้า แต่พอออกข้างนอกกล้ายกมือตอบ ทำให้ครูภาคภูมิใจในตัวเด็กมากขึ้น เมื่อเด็กตอบได้ ท่านนายก อบต.ก็ให้รางวัล เด็กดีใจมาก  แม้จะเป็นเงินเพียง 100 บาท แต่สำหรับเด็กมันเยอะมาก


สำหรับเด็กชั้น ป.4 - 5 ซึ่งการเรียนการสอนจะต่างกัน ก็ต้องอยู่ที่ครูว่าจะบูรณาการอย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งกระบวนการบูรณาการช่วยได้มาก ขนาดยังไม่ได้เจาะลึกลงไปในการเขียนรายงานก็พบว่าสามารถนำกระบวนการลงไปใช้ได้จริงกับนักเรียน พอกลับมาก็มีการถอดบทเรียนว่าได้อะไรจากการไปเรียนรู้นอกห้องเรียนบ้าง เด็กบอกว่าดีใจที่ได้ออกไปวันนี้ เพราะเขาไม่เคยได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนเลย  เด็กก็ถามครูกลับว่า ครูได้รับอะไรบ้างจากการไปสอนนอกห้องเรียนครั้งนี้ ครูก็อึ้ง แล้วตอบกลับว่าครูได้เรียนรู้พฤติกรรมของลูกๆ เห็นได้ชัดว่าครูตีค่านักเรียนผิดไปจากที่คิดว่านักเรียนอยู่ในห้องเรียบร้อยจะไม่กล้าแสดงออกต่อที่สาธารณะชน ทำให้เรามองนักเรียนได้ชัดขึ้น ครูเองเมื่อได้สัมผัสวิธีการเรียนการสอนแบบนี้พบว่า ลดภาระของครูได้มาก จากที่เราต้องเตรียมการเรียนการสอนมาก กลายเป็นว่าเราก้าวไปพร้อมเด็ก แต่ครูต้องเก่งกว่าเด็กในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้น


ปัญหาอุปสรรค : โรงเรียนวัดหน้าเมืองช่วงแรกไม่มีครูสอนเรื่องวิชาการ ทำให้เด็กค่อนข้างอ่อนด้านวิชาการ  เมื่อมีการทำงานเป็นกลุ่ม ทำรายงาน เด็กเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องการเขียน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ แต่ครูแก้ปัญหาคือ หากนักเรียนเขียนไม่ได้ ให้นักเรียนใช้การพูดตอบครูแทนร่วมกับการใช้ชาร์ตซึ่งใช้ได้ดีมาก เพราะการประเมินมีหลากหลายแบบ ไม่ใช่ต้องทำข้อสอบแบบเดียว เมื่อนักเรียนเขียนไม่ได้ แต่ตอบคำถามได้ ครูก็ให้เหมือนกัน ส่วนคนที่เขาอ่านออกเขียนได้ เขาก็จะได้กำไรมากว่า ทำให้เห็นว่าการประเมินไม่ใช่แค่ทำข้อสอบ เท่ากับว่าเราได้ช่วยเด็กที่ด้อยโอกาสให้กล้าแสดงออก จากเด็กที่เรียบร้อย จากเด็กที่อยู่คนเดียว เขาก็จะรู้สึกสนุกเมื่อได้มาโรงเรียน แต่ว่ากระบวนการนี้เรายังไม่ลงลึกพอ เพราะเป็นช่วงแรกของการเริ่มทำโครงการ แต่เราค่อยเริ่มทำที่ละขั้นตอน แต่เมื่อมีปัญหาเราก็จะส่งทีมพี่เลี้ยงลงมาช่วยเหลือ ขณะเดียวกันโรงเรียนเล็กก็มีรายงานที่จะต้องส่งทางเขตการศึกษาเท่ากับโรงเรียนใหญ่ จึงนับว่าเป็นภาระหนัก ไม่ใช่ว่าจะมาทำการบูรณาการอย่างเดียว เพราะยังมีรายงาน โครงการพัสดุ โครงการอาหารกลางวัน ฯลฯ  ครูแต่ละคนมีภาระมาก ก็มีครูบ้างคนที่ไม่ยอมรับโครงการ ทำไปเรียนรู้ไป แต่เราก็จะทำไปเรื่อยๆ จากเดิมที่โรงเรียนมีเด็กนักเรียนเพียง 50 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 90 คน เนื่องจากว่าผู้ปกครองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก