เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล



โรงเรียนบ้านกุบังปะโหลด เริ่มนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ.2554 ด้วยหวังว่ากระบวนการดังกล่าวจะนำพาโรงเรียนไปสู่ผลสำเร็จที่ตั้งไว้   ครูทัศนียาเพิ่งย้ายมาสอนที่โรงเรียนได้เพียง 4 -5 เดือนเท่านั้น  จึงยังไม่เข้าใจ “กระบวนการวิจัย” มากนัก แต่ก็จะพยายามเรียนรู้ให้มากขึ้น เพราะจากที่นำกระบวนการวิจัยมาใช้สอนเด็กได้ระยะหนึ่งพบว่า เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงพอสมควร แต่ยังเห็นไม่ชัดเจนมากนัก เพราะสอนชั้นอนุบาลที่เด็กยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จึงวัดผลได้ยาก
 

โรงเรียนกุบังปะโหลด เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง มีนักเรียน 127 คน เริ่มทำงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยท่านผู้อำนวยการเป็นคนไปรับนโยบายมา แล้วเรียกครูไปอบรมเรียนรู้กระบวนการวิจัยเพื่อนำมาใช้ในโรงเรียน ปีนี้ดำเนินการต่อยอดโดยจัดให้มีชั่วโมงบูรณาการสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง ในวันพุธและศุกร์หลังจากที่เรียนวิชาทั่วไปทั้ง 8 กลุ่มสาระแล้ว เราจะมีชั่วโมงบูรณาการให้เด็กได้เรียนรู้  นับว่าเป็นความแปลกใหม่ของครูเหมือนกัน เพราะการสอนแบบเดิมเราจะมีตำราเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว มีแบบฝึกหัดว่าเราต้องทำอะไร แต่ในรายวิชาบูรณาการ เราต้องอยู่กับเด็กต้องเล่นกับเด็ก พาเด็กออกไปนอกพื้นที่ และให้กระบวนการเขา ผลตอบรับจากการขึ้นเวทีให้เด็กนำเสนอ หลายคนยอมรับว่าดี แต่ถามว่าเป็นภาระของครูหรือไม่ก็น่าจะเป็นภาระของครู แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นด้วย เหมือนกับว่าต้องเพิ่มส่วนตรงนี้ให้มากขึ้น
 

“กระบวนการวิจัย” ที่โรงเรียนนำมาใช้จะทำเป็นโครงการวิจัยชั้นละ 1 เรื่อง ทั้งนี้เพราะ ผอ.เห็นว่าถ้าเราสอนเด็กนักเรียนในรูปแบบของงานวิจัย เด็กจะเข้าใจในทุก ๆ เรื่อง และคิดว่า กระบวนการนี้จะนำพาโรงเรียนไปสู่ผลสำเร็จที่ตั้งไว้  จึงเริ่มจากการเรียกครูเข้าอบรม  เราเองเพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ ได้มาเรียนรู้ก็ในช่วงท้ายๆ แล้ว แต่ก็พยายามตามให้ทันเพื่อนๆ หากเพื่อนครูเห็นว่าการทำงานเริ่มมีปัญหา หรือเริ่มจะเดินไม่ถูกแล้ว ก็จะเชิญทีมงาน สกว.เข้ามาให้คำแนะนำ
 

โครงการที่ทำคือ ระดับอนุบาลเป็นเรื่องของมะขาม ส่วน ป.1 ทำเรื่องลูกยาง เพราะชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในสวนยาง ป.2 ปัญหาขยะ ป. 3 ทำเรื่องการทำยางแผ่น  เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำยางแผ่น ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเขา ป. 4 เรื่องขยะ แต่เป็นการนำเอาขยะมาทำเป็นปุ๋ยหมัก เป็นการลดขยะจำพวกเศษใบไม้ซึ่งมีมากในโรงเรียน ป. 5 เป็นเรื่องของการมาสาย เพราะนักเรียนจะมาสายกันมาก ส่วน ป.6 เรื่องมะม่วงหิมพานต์ เป็นการนำใบมาทำอาหาร และประโยชน์ของมะม่วงหิมพานต์
 

เราได้รับมอบหมายให้สอนในระดับชั้นอนุบาล เด็กนักเรียนยังอ่านหนังสือไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ พอเรานำวิชาการเข้ามาบูรณาการมาใช้  ก็มีส่วนกระตุ้นเด็กได้มาก เช่น เมื่อเขาได้ไปเรียนเรื่องใกล้ตัว ก็ให้เขาไปสำรวจจากสิ่งแวดล้อมข้างนอกโรงเรียนบอกเขาว่า ถ้านักเรียนเห็นอะไรให้เขาเขียนบันทึกเข้ามา เขาจดไม่เป็น เราก็ให้เขาวาดภาพมาเห็นต้นไม้ เห็นนก เห็นอะไร ให้เขาพยายามทำสัญลักษณ์ของเขามา แล้วหลังจากนั้นให้มาบอกกับครู เขาสามารถบอกเราได้ แต่เขาไม่สามารถเขียนออกมาได้  เราต้องนำมาเขียนในกระดาษปรู๊ฟ นักเรียนเขาบอกกับเราว่าเขาเขียนไม่ได้ เช่น เขาไปเห็นไก่ เขาเขียนไม่ได้ เราให้วาดภาพมา หรือบางครั้งก็นำรูปที่เขาวาดมาให้เราดู แล้วให้เราเขียนว่าเขียนอย่างไร บางคนเขาเรียนช้า พอเราบอกให้ทุกคนได้มีการนำเสนอ นักเรียนเขาจะมีส่วนร่วมกันทุกคน คนที่เก่งเขาจะเริ่มเขียนได้บ้างแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่ค่อยเก่ง เขียนไม่ได้ แต่เขาสามามารถบอกได้ก็มีส่วนร่วมในการนำเสนอ ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้ประโยชน์กับตัวนักเรียนมาก จากเดิมที่เขาเคยแต่นั่งฟังครูพูด ไม่มีสิทธิเสนอ แต่เราพยายามกระตุ้นให้เขานำเสนอ ให้เขาบอกครู  แม้เขาก็จะไม่ค่อยอยากจะนำเสนอ แต่ก็มีเพื่อน ๆ ในกลุ่มจะคอยกระตุ้น คอยเขาบอกว่าแต่ละกลุ่มจะต้องมีการนำเสนอเหมือนกัน
 

ในขั้นตอนการแบ่งหน้าที่นั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่เด็กค่อนข้างเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจะให้เด็กผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่หัวหน้าเวลาเข้ากลุ่ม  เด็กที่เป็นได้เป็นหัวหน้าเขาจะรู้สึกภูมิใจ จากบางคนที่ชอบเล่นมาก เมื่อเขาเป็นหัวหน้าก็จะเกเรไม่ได้  เพราะต้องคุมเพื่อน จึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรม  และมีการสร้างข้อตกลงกันภายในห้องว่า เมื่อเพื่อนำเสนอต้องรับฟัง และทำตาม  ส่วนปัญหาเรื่องการตั้งคำถาม  ส่วนใหญ่เด็กยังตั้งคำถามไม่ได้ บางครั้งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้เขาถามตั้งคำถามกับเราให้ได้ บางทีพอเราลองถามคำถามดูเขากลับตอบเรามา เราต้องการให้นักเรียนถามเรากลับมา ว่าเขามีปัญหาอะไรบ้างไหม แต่เขาก็ไม่ถามซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเขาไม่รู้ปัญหา หรือว่าเขาไม่อยากรู้กันแน่
 

ส่วนเด็กนักเรียน ป.1 ส่วนใหญ่เขาทำของเล่นจากลูกยางเล่นที่บ้านอยู่แล้ว  จึงคิดว่านอกจากของเล่นพื้นบ้านอยู่แล้ว เราน่าจะนำมาทำอะไรอีก เขาจึงคิดอยากจะเอามาทำเป็นแมลง เขาเสนอมา เราก็อยากให้เขานำเสนอถึงปัญหาด้วย เพื่อให้เกิดประเด็น แต่นักเรียนเองเขาไม่เข้าใจปัญหา จึงยังตั้งคำถามไม่เป็น
 

ปัญหาและอุปสรรค :   เราในฐานะครูยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะเราเพิ่งมาใหม่ ยังไม่ชัดเจนเรื่องของกระบวนการมากนัก แม้จะมีกระบวนการ 10 ขั้นตอนเป็นตัวกำหนดอยู่  ซึ่งเราคงต้องอาศัยการทำซ้ำ แล้วค่อยศึกษากันไปก็อาจจะเก่งขึ้น แต่ในโรงเรียนก็มีการพูดคุยกันอยู่เสมอ และบางครั้งทีมวิจัยก็เข้ามาไปช่วยบ้าง