เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียน 203 คน  มีครูครบชั้น เป็นโรงเรียนเดียวในอำเภอวังกาหลง ที่มีวิธีการสอนแบบใช้การวิจัย ผอ.เป็นคนรับหลักการมา หลังจากนั้นให้คณะครูไปร่วมประชุมโดยไม่บังคับ บอกเพียงว่าใครที่สามารถไปร่วมประชุมได้ให้ไป  ตอนนั้นก็ไปกัน 3 - 4 คน ไปฟังข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัย  ฝึกเขียนโครงการวิจัย จากนั้นก็ให้งานกลับมาทำต่อที่โรงเรียนโดยให้เขียนโครงการวิจัยเสนอทุนจาก สกว.  แต่ครูทุกคนก็ยังไม่เข้าใจมากเท่าไร แต่ก็ลองเขียนโครงการวิจัยเข้าไป  โชคดีที่ได้รับการอนุมัติจาก สกว. ก็มีโอกาสได้ไปอบรมอีกครั้งที่จังหวัดตรัง ครั้งนี้เริ่มรู้กระบวนการเกี่ยวกับการวิจัย 10 ขั้นตอน  โรงเรียนรับโครงการนี้มาในช่วงกลางปี พอกลับมาให้คณะครูลงมือทำตามที่ไปอบรมมา แต่ตัวครูนั้นยังมีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจ แต่ก็ต้องดำเนินการ เพราะได้รับงบมาแล้ว  จึงให้ครูทำวิจัยทุกชั้น โดยเพิ่มวิชาวิจัยชั้นละ 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ครูหลายคนก็เริ่มหนักใจเพราะไปเพิ่มภาระให้ครู  แต่ชั้นอนุบาลต้องยกเลิกไปเพราะครูลาออก จึงเหลือแต่ชั้น ป. 1 – ป.6 เท่านั้นที่มีวิชาวิจัย  แต่ครูทุกคนก็ทำได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น รวมทั้งเราด้วย ที่ต้องทำเพราะเป็นนโยบายของ ผอ. ที่ไปรับโครงการมาแล้ว ถึงจะติดขัดอย่างไรก็ต้องทำ ผอ.ท่านก็จะคอยเป็นพี่เลี้ยงแนะนำว่าควรทำอย่างไร หากมีปัญหามากๆ จะขอคำแนะนำจากทีม สกว. ทำให้ครูมีกำลังใจมากขึ้น
 

โครงการวิจัยที่ทำก็มีดังนี้ ป. 1 เรื่องการออมเงิน  ป.2 เรื่องการทำความสะอาดห้องเรียน ป.3 ขนมพื้นเมือง ป.4 ข้าวต้มมัด ป.5 ไม้กวาดดอกหญ้า เนื่องจากชาวบ้านที่อาศัยใกล้โรงเรียน ส่วนใหญ่จะทำไม้กวาดดอกหญ้าเวลาที่ว่าง ๆ จากการกรีดยาง  ส่วน ป. 6 เป็นข้าวต้มใบกระพ้อสูตรสมุนไพรซึ่งนำมาประยุกต์อีกที  แรกๆ เราก็ต่อต้านเหมือนกับหลายๆ โรงเรียน  เพราะใจไม่ยังมา  ยังติดเรื่องกรอบเวลาที่จำกัด จากโรงเรียนปกติทั่วไปจะเลิก 3 โมงเย็น แต่ของเราต้องเปลี่ยนมาเลิก  4 โมง หรือ  4 โมงครึ่ง  เพราะภรรยาเราก็เป็นครูเหมือนกัน แต่ก่อนจะไปกลับพร้อมกัน เพราะโรงเรียนที่ภรรยาอยู่ค่อนข้างเปลี่ยว ภรรยาก็ต้องมานั่งคอย จนตอนนี้ก็ต้องไปรถคนละคัน เพื่อจะได้ไม่ต้องคอยกัน
 

 แม้จะเห็นว่า “กระบวนการนี้” ทำให้เกิดความความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก  เราก็ยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่ดี แต่ปัญหามันเกิดที่ตัวเรา ที่เราจะต้องสละเวลาส่วนตัว ครูทุกคนยังมีปัญหาเรื่องกรอบเวลา แต่เมื่อทำไปก็ยอมรับได้ ผ่านมาปีหนึ่งผลงานที่ออกมาค่อนข้างดี  พอปีนี้เราเริ่มโครงการนี้ได้ตั้งแต่ต้นปี ไม่ใช่กลางปีเหมือนที่ผ่านมา จึงเสนอเสนอ ผอ.ว่าให้เหลือวิชาวิจัย  2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะเวลาน่าจะมีมากพอ ไม่ต้องเร่งรีบเหมือนปีที่แล้วที่มีเวลาทำงานน้อยมาก   ทำให้ครูคลายความต่อต้านลงไปบ้าง