เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


โรงเรียนจริยธรรมอิสลามมูลนิธิเป็นโรงเรียนเอกชน เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา สอนศาสนาอิสลามควบคู่กับสามัญ  เริ่มนำ “กระบวนการวิจัย” ของ สกว.เข้ามาใช้ เพราะอยากแก้ปัญหาระหว่างครูสอนศาสนาอิสลามกับครูสามัญ  การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ จะเน้นสร้างความตระหนักให้ครูก่อน แต่ยังไม่ได้ผล จึงเน้นให้ครูได้ทำกับเด็กจริงๆ  พบว่าไปได้ค่อนข้างดี ครูทุกคนเป็นนักจัดกระบวนการได้ แต่ข้อเสียคือ ครูที่เก่งๆ บางคนย้ายออกไป มีครูใหม่เข้ามาแทน  จึงแก้ปัญหาด้วยการให้พี่เลี้ยง สกว.ท้องถิ่นเข้ามาช่วยจัดกระบวนการให้ ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี ส่วนเด็กนักเรียนพบว่า  เด็กจะได้กระบวนการคิด กระบวนการศึกษา นักเรียนกล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น ณ วันนี้เราได้นำกระบวนการนี้มาใช้กับทุกรายวิชาแล้ว เพราะฉะนั้นตัวชี้วัดนี้ถ้าเรามองเป็นเนื้อหา หรือตำราอาจจะวัดไม่ได้ แต่เราจะได้ในเรื่องของกระบวนการและหลักสูตรแกนกลางจะมีตัวชี้วัดที่ว่า เด็กเราได้ แต่ถ้าจะให้ลงลึกก็ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่สิ่งที่ได้โดยภาพรวมคือกระบวนการของเด็กเอง และการศึกษานอกสถานที่ การทำหนังสือเชิญ งานธุรการที่เด็กทำได้ด้วยตัวเอง
      

โรงเรียนจริยธรรมอิสลามมูลนิธิเป็นโรงเรียนเอกชน เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา สอนศาสนาอิสลามควบคู่กับสามัญ  ในวันเดียวกันจะเรียนมากถึง 8 คาบ 16 วิชา  ซึ่งจุดนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “กระบวนการวิจัย” ที่โรงเรียนนำมาใช้ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร  แม้ว่าเราจะทำวิจัยไปพร้อมๆ กับโรงเรียนไทรงาม และเคยไปเรียนรู้ดูงานที่โรงเรียนไทรงามมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าควร เพราะติดปัญหาว่าครูที่สอนสามัญกับครูที่สอนศาสนามีความรู้สึกไม่ค่อยตรงกัน ครูสามัญก็จะเน้นสอนวิชาสามัญ ส่วนครูสอนศาสนาก็จะเน้นสอนแต่ศาสนาอย่างเดียว การบูรณาการจึงเกิดขึ้นยาก
 

ปัญหาอุปสรรค : โครงการวิจัยนี้เข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2551 – 2552  แต่ช่วงนั้นเรายังทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องครูศาสนาไม่ยอมรับเรื่องการวิจัย และวิชาที่ต้องสอนก็มีเยอะอยู่แล้ว จะขอเวลาอะไรก็ไม่ได้เลย ล้มลุกคลุกคลานต่อสู้กันมาตลอด ทำท่าจะล้มไปแล้ว แต่พี่เลี้ยง สกว. ก็มาคอยกระตุ้นว่าจะทำต่อไหม เพราะงบวิจัยกำลังจะลงมา ผอ. ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้  พอเรารับงานวิจัยมา แม้จะไม่เกิดความแตกแยก แต่การทำงานก็ยังไม่ลงตัว งานวิจัยที่รับมาก็รับในนามผู้บริหาร  ครูกดดันมาก  เพราะเมื่อเรานำไปลงสู่ครู  ครูก็ทำท่าจะไม่ยอมรับ คาบวิจัยครูก็ไม่เข้าใจ เราเองก็ใหม่ด้วย ยังไม่เข้าใจเท่าที่ควร พี่เลี้ยง สกว.ก็มาบ้างไม่มาบ้าง เพราะการเดินทางที่ยากลำบาก จนเมื่อเรามีโอกาสได้ไปดูงานที่โรงเรียนท่าแพผดุงวิทย์  ซึ่งทำวิจัยเหมือนเรา ไปเจออาจารย์หุดดีนก็บอกท่านว่าหากท่านเออร์ลี่รีไทร์ให้ท่านมาช่วย ตอนหลังท่านก็เข้ามาช่วย ซึ่งช่วงนั้นเราได้ลงมือทำไปแล้ว แต่ว่ายังทำไม่ได้ เดินยาก ยังไม่ได้หัวข้อวิจัย ต้องใช้เวลาเกือบปี ทั้ง ๆ ที่งบลงมาแล้ว แต่ยังทำไม่ได้ เกือบตัดสินใจจะส่งเงินคืนเหมือนกัน ช่วงหลังเกิดทำได้ขึ้นมา ปรับตารางสอนใหม่ นำ 8 วิชาศาสนา 8 วิชาสามัญมาบูรณาการร่วมกันก็ได้เฉพาะบางวิชาเท่านั้น  เพราะครูบางคนเขาก็ไม่รับเลย
 

สร้างความเข้าใจระหว่างครู :  ช่วงนั้นมีครู 16 คนที่สนใจ ทั้งครูสามัญและครูสอนศาสนา  แต่ว่าเวลาที่เรานัดประชุมกันช่วงบ่าย ครูสอนศาสนามักจะไม่มาหรือมาก็น้อยมาก ทำให้เราเกิดประเด็นว่า เราน่าจะนำวิชาศาสนาและวิชาสามัญมาบูรณาการร่วมกัน โดยมีพี่เลี้ยง สกว. (สมพงษ์ หลีเคราะห์) เป็นคนตั้งโจทย์ว่า ทำไมเราไม่นำเอาวิถีชีวิตของศาสนาอิสลามเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนากับวิชาสามัญ เอามาบูรณาการให้เข้ากัน คุณสมพงษ์คอยช่วยกระตุ้น ตัวครูเองก็ช่วยกันคิด จนเกิดเป็นประเด็นวิจัยขึ้นมา ครูทางฝ่ายศาสนาก็เริ่มยอมรับ ช่วงแรกเขาเข้าใจว่าครูสามัญไม่สนใจเรื่องพวกนี้ แต่จริง ๆ แล้วครูก็นับถือศาสนาอิสลามกันทั้งโรงเรียน แต่ว่าครูเขาจะแยกส่วนกันสอน บางทีเนื้อที่เราสอนตรงกับศาสนา เราก็อยากจะเชิญครูศาสนาเข้ามาสอน แต่ครูเขาปฏิเสธ พอมาตอนหลังเราก็มาปรับการสอนใหม่ จากต่างคนต่างสอนเราก็บูรณาการบางกลุ่มวิชาเข้าไป
 

เราซึ่งสอนรายวิชาการงานและสุขภาพก็จะโยงไปที่จริยธรรม ในเรื่องของอัครจริยธรรมเกี่ยวกับมารยาทต่าง ๆ จะให้ครูมาสอน หรือบางครั้งให้เด็กนักเรียนไปบูรณาการเอง  ให้เด็กไปหาหลักฐานตามอัลกุรอ่าน ช่วงหลังครูคนอื่นเริ่มเห็น  ก็เริ่มเข้ามาในเวทีประชุมการวิจัย และเริ่มยอมรับ จากนั้นเริ่มปรับตามตารางสอน ช่วงนั้นเราจะบูรณาการเฉพาะรายวิชาที่อยากทำ ปีต่อเมื่อ ผอ.หุดดีน เข้ามา เราได้ปรับตารางวิชาเป็น 4 กลุ่มทักษะ คือ กลุ่มทักษะชีวิต กลุ่มทักษะการคิด  กลุ่มทักษะศาสนา และกลุ่มทักษะภาษา
 

กลุ่มทักษะการคิดจะเป็นรายวิชาคณิตศาสตร์และวิชาวิทยาศาสตร์เข้ามาบูรณาการกัน ทักษะชีวิตจะมีการงานและสุขศึกษา สังคม ที่เราจะมากำหนดโครงสร้างหน่วยร่วมกันเดินต่อไปได้ มีครูเข้าร่วมเยอะขึ้น แต่เป็นเชิงของการบังคับ ดึงเข้ามาผ่านระบบ โดยที่ใจเขายังไม่ยอมรับเหมือนกัน จากนั้นเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างของเวลา เพราะบางครั้งเราไปดูงานก็จะติดในเรื่องของเวลา เพราะกำหนดไว้ 2 คาบ เวลาเราออกไปศึกษาดูงานแล้วกลับมาต่อยอดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาปรับมาเป็น  4 กลุ่มทักษะก็ยังมีอยู่ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ครูเขาไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน ครูยังแยกสอนอยู่ ทำได้เฉพาะบางหน่วยที่เขาสามารถบูรณาการกันได้ เช่น เรื่องการสำรวจบริบทชุมชนทำได้ แต่เมื่อเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ ที่เกี่ยวกับการคิดโจทย์เขาจะไม่ยอมร่วม สุดท้ายระบบนี้ก็ล้มลง ประกอบกับ ผอ.หุดดีนท่านออกด้วย แต่ในจุดนั้นเราก็สามารถเดินได้แล้วในระดับหนึ่ง
 

เรานำหลักสูตรแกนกลางทั้งศาสนาและสามัญมากางดูว่ามีส่วนไหนที่ตรงกัน แล้วนำมากำหนดหน่วยร่วมกัน เช่น ทักษะชีวิต ก็นำวิชา สุขศึกษา สังคม การงาน และศิลปะมารวมกันแล้วดูว่าตัวไหนที่สามารถเรียนร่วมกันได้  หลังจากนั้นจึงมากำหนดหน่วย เช่น หน่วยที่ 1 เกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองก็อยู่ในกลุ่มสาระสังคม ส่วนของการงานก็จะเป็นหน้าที่ของครอบครัวแล้วนำมารวมกันเป็นหน่วยใหม่ให้นักเรียนเรียนร่วมกัน ครูเข้าไปสอนพร้อมกัน เข้าไปจัดกระบวนการให้ เราบังคับให้ทุกคนเข้าร่วม  แต่ว่าใจของเขายังไม่ค่อยมาเท่าไร สุดท้ายเมื่อจบโครงการ ผลที่ได้คือ  ครูที่สนใจได้เรียนรู้กระบวนการวิจัย แต่ผลสัมฤทธิ์ของเด็กยังไม่ชัด  เพราะเด็กจะบอกว่าเมื่อเรามุ่งเน้นในเรื่องนี้ ตัวชี้วัดต่างๆ เมื่อเรานำมาบูรณาการแล้วยังได้ไม่ครบ ยังมีตกหล่นอยู่บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มทักษะการคิด ซึ่งเขาจะห่วงตัวชี้วัดมาก ทำให้หลุดไปจากตัวบูรณการตัวนี้ไป  แต่ทักษะชีวิตสามารถบูรณาการได้ง่ายกว่า เลยประสบผลสำเร็จ ทักษะศาสนาก็ยังพอได้  พอมาเป็นแบบใหม่เราเปิดตามความสมัครใจ ครูทุกคนรู้ทางแล้วว่าต้องนำมาบูรณาการอย่างไร  แต่เวลาส่งแผนการสอนจะต้องเขียนบูรณาการให้ชัด เพื่อให้ฝ่ายนิเทศติดตามรู้ว่าคุณทำได้ในส่วนนั้นไหม ตอบโจทย์ตัวชี้วัดได้หรือไม่อย่างไร
 

ผลที่เกิดขึ้นหลังจากนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ :  หลังจากที่เราได้นำ “กระบวนการวิจัย” เข้ามาใช้  พบว่าเราแทบจะไม่ต้องทำโครงการเลย ก่อนหน้านี้ที่ผ่านมาเรามีวิชาโครงงานด้วย แต่ปีนี้ทุกห้องจะต้องมีงานวิจัย รวมถึงเด็กอนุบาลด้วยก็ต้องมีงานวิจัย             โดยให้ทุกห้องมีครูผู้จัดการห้อง  มีคุณสมพงษ์พี่เลี้ยง สกว.คอยชี้แนะว่า ทำอย่างไรให้มีครูรับผิดชอบต่อห้อง  และครูต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับงานวิจัยด้วย คือครูวิจัย 2 คนต่อ 1 ห้อง เด็กนักเรียนประมาณ 25-30 คนต่อห้อง ช่วงเช้าจะมีวิชาที่เรียนเกี่ยวกับอัลกุรอ่าน  1 ชั่วโมง ส่วนชั่วโมงต่อไปจะเป็นการบูรณาการทักษะต่างๆ
 

ซึ่งในปีนี้เราปรับเปลี่ยนเป็น ช่วงเช้ามีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านเหมือนเดิม หลังจากนั้นจะเป็นวิชาวิจัย ซึ่งเป็นผลจากปีที่แล้วที่มีช่วงวิจัยคือวันอังคารและวันพฤหัสบดีตลอดช่วงบ่าย เราจะปล่อยให้เด็กทำวิจัย สัปดาห์หนึ่งมี 8 คาบ ปีนี้เราจึงตัดวิจัยให้เหลือแค่ 4 คาบเฉพาะวันอังคาร ส่วนวันพฤหัสให้เป็นวิชาบูรณาการ
 

การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้โรงเรียนจริยธรรมอิสลามมูลนิธิจะทำผ่านครูก่อน เน้นสร้าง “ความตระหนัก" ให้กับครู   แม้ช่วงแรกจะยังตั้งโจทย์วิจัยไม่ได้ แต่เพราะอยากแก้ไขปัญหาเรื่องครูสามัญและครูสอนศาสนา  จึงกำหนดว่าจะทำวิจัยเรื่องศึกษารูปแบบการเรียนการสอนตามหลักสูตรสถานศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตอิสลาม  โดยช่วงแรกทำกับครูก่อน แต่ปีนี้ให้ครูมาทำกับเด็กเลย ก็พบว่าไปได้ค่อนข้างดี ครูทุกคนเป็นนักจัดกระบวนการได้ แต่ข้อเสียคือ ครูที่เก่งๆ บางคนก็ย้ายออกไป มีครูใหม่เข้ามาแทน เราแก้ปัญหาด้วยการให้พี่เลี้ยง สกว.ท้องถิ่นเข้ามาช่วยจัดกระบวนการให้ ซึ่งก็ได้ผลและได้ใจครูมาก ครูก็เต็มที่ เพราะทีม สกว.เขามีความพร้อมและเขาเป็นนักจัดกระบวนการที่ดี  เหมือนกับว่าเขาเป็นวิทยากรให้เรา แล้วเราไปเรียนรู้กับเขา ไปเป็นผู้เข้ารับการอบรม  จะเห็นได้ว่าเมื่อครูกลับจากเวทีนี้แล้วครูจะมี “พลัง” ในการจัดกระบวนการ  สามารถจัดกระบวนการกับเด็กได้ แทนที่จะเป็นครูผู้สอนเหมือนเดิม แต่เราเปลี่ยนตำแหน่งเป็นครูผู้จัดการห้องๆ ละ 2 คน เมื่อถึงคาบวิจัยครูก็จะเข้ามาช่วย  แต่หากเป็นคาบปกติเด็กก็จะไปเรียนตามวิชาต่าง ๆ  แต่ถ้าเป็นคาบวิจัยครูทั้ง 2 คนจะกลับเข้าห้องใช้กระดาษแผ่นใหญ่ตลอด  เป็นกระบวนการแรกเริ่ม ต่อมาวิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทย์ คณิต ใช้กระดาษแผ่นใหญ่หมดเลย เน้นให้เด็กมีกระบวนการ มีส่วนร่วม  การเรียนการสอนมีการบูรณาการกันมากขึ้นทั้งทักษะชีวิต ทักษะการคิด และทักษะภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอาหรับหรือภาษามลายูก็จะนำมาบูรณาการกัน
 

สำหรับในปีนี้ได้ครูทุกคนได้รับมอบหมายให้ทำวิจัยห้องละ 1 เรื่อง  ทุกวันนี้ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมอะไร เราให้นักเรียนเป็นคนทำทั้งหมด ครูมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเท่านั้น  ผอ.จะเน้นให้ครูเป็นนักจัดกระบวนการ ผ่านการสะสมประสบการณ์ จนกระทั่งวันนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง เด็กเราเป็นนักจัดกระบวนการมากขึ้น สิ่งที่เห็นชัดคือกระบวนการที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก ครูแทบจะไม่ต้องบอก แค่ครูเอ่ยกระตุ้น ทุกกิจกรรมเด็กจะอาสาทำเองหมด
 

สำหรับกิจกรรมที่ทำผ่านกระบวนการวิจัย เช่น กิจกรรมกีฬาสีที่เด็กลงมือทำทั้งหมด เด็กใช้กระบวนการประชุมและวางแผนร่วมกัน  ตอนนี้โรงเรียนจะเน้นใช้กระบวนการวิจัยเท่าที่จะทำได้  สิ่งที่เห็นชัดคือ เด็กเก่งจะไม่ยอมรับการวิจัย แต่เด็กที่เราดูแลเป็นเด็กที่เรียนอ่อน เมื่อเรานำเอากระบวนการวิจัยเข้ามาใช้พบว่า เด็กนักเรียนมีพฤติกรรมดีขึ้นในระดับหนึ่ง การหนีเรียนไม่ค่อยมี ผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น การพัฒนาของเด็กกลุ่มเสี่ยงก็ดีขึ้น แต่ที่เก่งๆ เขายังไม่พอใจ  เพราะเขามองว่าเขายังได้ความรู้ด้านคณิต-วิทย์ไม่เต็มที่ เพราะเราเอาวิจัยไปสอดแทรก จึงคิดออกแบบใหม่ เพราะของเราจะยากกว่าโรงเรียนอื่น ๆ ที่ต้องนำเรื่องศาสนา การเรียนในวิชาสามัญและงานวิจัยมา “บูรณการ” ร่วมกันให้ได้
 

ในส่วนของกิจกรรมที่รับผิดชอบ เด็กนักเรียนอยากศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติ ทะเล ภาวะโลกร้อน เราจึงขอรถโรงเรียนพาเด็กออกไปค้นคว้าหาข้อมูล แล้วเด็กก็จะทำกระบวนด้วยการทำหนังสือขอนุญาติผอ. และผู้ปกครองเอง เรามีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เด็กนักเรียนทำทุกอย่าง  จากนั้นไปลงพื้นที่สำรวจ เมื่อลงพื้นที่โจทย์เริ่มเปลี่ยนไปจากภาวะโลกร้อน โดยเขาจะให้ข้อมูลมา เด็กเริ่มศึกษาป่าชายเลน จากนั้นก็ลงไปคุยกับชาวบ้านได้ประเด็นเป็นอาชีพเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็ได้เป็นประเด็นภูมิปัญญาการจับกั้งของหมู่บ้านบากันเคย จากนั้นจึงจัดกระบวนการให้เด็กไปเข้าค่าย 3 วัน 2 คืน เด็กลงทุนเองทั้งหมด ไปศึกษา ไปสำรวจสอบถาม กลับมามานั่งสรุปรวบรวมข้อมูลประเมินผลเขียนรายงานวิจัยส่ง  ครูทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ตลอดเวลา มีปัญหาอะไรก็ให้เขาถาม  ช่วงที่เราไปนั้นไม่ตรงกับย่ำกั้ง เพราะครั้งแรกจัดชื่อว่าย่ำกั้ง (การจับกั้ง ไปเหยียบรูกั้งให้กั้งออกมา) แต่จะเป็นการอนุรักษ์ไม่ได้ จึงเปลี่ยนเชื่อเป็นภูมิปัญญาการจับกั้งแทน
 

ผลที่เกิดขึ้นจาก โครงการภูมิปัญญาการจับกั้ง พบว่า เด็กจะได้กระบวนการคิด กระบวนการศึกษา แต่ในส่วนเนื้อหานั้นยังได้ไม่เต็มที่  แต่เรามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงต้องคอยกระตุ้นนักเรียน  เช่น เวลาเขามีปัญหาเขาจะมาถามเรา เด็กเขาจะออกแบบวางแผน ใครจะเป็นฝ่ายตั้งคำถาม เช่น กลุ่มนี้จะคิดว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่เราไปแล้วจะต้องหาข้อมูลกลับมา เขาจะแบ่งกลุ่มกัน เช่นกลุ่มนี้หาข้อมูลพื้นฐาน กลุ่มนี้ศึกษาภูมิปัญญาการจับกั้งแบบต่าง ๆ  กลุ่มนี้ศึกษาเรื่องบริบทอาชีพ  เมื่อกลับมาถึงที่พักเขาก็จะถอดบทเรียนกันทุกครั้งที่ออกไป  ครูจะให้เขาเขียนเป็นหนังสือเล่มเล็กว่าวันนี้ได้อะไรบ้าง ให้เขาเขียนทีละวรรคทีละตอน จนกลายเป็นเรื่องเล่าของเด็กเป็นรูปเล่ม ในประเด็นการถอดบทเรียนคุณสมพงษ์และทีมงานจะเข้ามาดูแลตลอด
 

นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนกล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น เวลามีการแสดงเด็กเขาจะคิดของเด็กเอง ใครมีความถนัดอะไรก็จะแสดงไปตามความสามารถของเขา ณ วันนี้เราได้นำกระบวนการนี้มาใช้กับทุกรายวิชาแล้ว เพราะฉะนั้นตัวชี้วัดนี้ถ้าเรามองเป็นเนื้อหา หรือตำราอาจจะวัดไม่ได้ แต่เราจะได้ในเรื่องของกระบวนการและหลักสูตรแกนกลางจะมีตัวชี้วัดที่ว่า เด็กเราได้ แต่ถ้าจะให้ลงลึกก็ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่สิ่งที่ได้โดยภาพรวมคือกระบวนการของเด็กเอง และการศึกษานอกสถานที่ การทำหนังสือเชิญ งานธุรการที่เด็กทำได้ด้วยตัวเอง
   

อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่โรงเรียนยังทำไม่ได้ตาม ผอ.หุดดีนตังไว้คือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งท่านตั้งความหวังไว้มาก เมื่อก่อนโรงเรียนจะมีพื้นที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่บ้าง แม้จะไม่เต็มรูปแบบก็ตาม แต่พอปีหลังๆ  พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นอาคารไปแล้ว จึงไม่ได้ทำต่อ  ผอ.หุดดีนท่านอยากจะทำให้ได้ผลกว่านี้เป็นในรูปแบบของการเรียนการสอนที่สอดคล้องและบูรณการได้มากกว่านี้ เราเองก็สนใจตรงนี้และอยากให้เด็กได้กระบวนการ และมีส่วนร่วมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วย