เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล



เดิมโรงเรียนและชุมชนโคกประดู่ไม่มีความสัมพันธ์กันเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อโรงเรียนนำโครงการวิจัยมาใช้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและโรงเรียนก็เริ่มก่อตัวขึ้น มีการเชิญผู้ปกครองซึ่งถือเป็นคนในชุมชนมาร่วมกับกิจกรรมของโรงเรียนบ่อยครั้งขึ้น และหลังจากที่โรงเรียนได้นำการวิจัยมาใช้ให้เด็กฝึกทำโครงงานวิจัยต่างๆ แล้ว ทำให้ลูกสาวสามารถประยุกต์จากสิ่งที่เรียนมาใช้กับเรื่องของตนเองได้มากขึ้น เช่น เด็กรู้จักวางแผนการอ่านว่าแต่ละวันจะอ่านกี่หน้า รู้จักกระบวนการคิดวิเคราะห์ว่าพยัญชนะแต่ละตัวเมื่อนำมาเทียบกับภาษาอาหรับแล้วอ่านออกเสียงว่าอย่างไร รู้จักประยุกต์ได้ระหว่างการอ่านภาษาไทยกับภาษาอาหรับควรใช้หลักใดในการเรียนรู้ร่วมกัน และทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ชอบอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านมากขึ้น
 

“ธรรมชาติของเด็กมันอาจมีกระบวนการอย่างหนึ่งให้เขาได้คิดได้กล้าแสดงออกในสิ่งที่เขาถนัด ถ้าครูสอนอยู่แต่ในตำรา ก็เหมือนการไปจำกัดเด็กให้อยู่แต่ในตำรา”

นายอนุสรณ์ มาราสา หรือบังตาด เป็นผู้ปกครองของ ด.ญ. บัดดรียะ มาราสา นักเรียนโรงเรียนบ้านโคกประดู่ บังตาดเป็นอีกคนหนึ่งที่คอยสนับสนุนโรงเรียนในการนำการวิจัยมาใช้ในโรงเรียน  เดิมโรงเรียนและชุมชนโคกประดู่ไม่มีความสัมพันธ์กันด้านใดเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากคนในชุมชนเห็นว่าโรงเรียนและชุมชนนั้นทำงานคนละด้าน แต่ความสัมพันธ์ในชุมชนและโรงเรียนได้เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อทางโรงเรียนได้นำโครงการวิจัยดังกล่าวมาใช้ในโรงเรียน และมีการเชิญผู้ปกครองซึ่งถือเป็นคนในชุมชนมาร่วมกับกิจกรรมของโรงเรียนบ่อยครั้งขึ้น
 

โดยส่วนตัวตนมีคณะละครที่ไปจัดแสดงโชว์ตามงานต่างๆ ทั้งในชุมชนของตัวเองและชุมชนใกล้เคียง เมื่อเห็นว่าทางโรงเรียนได้มีการเชื่อมโยงชุมชนเข้าร่วมกับโรงเรียนแล้วนั้น ตนจึงได้นำนักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานในหมู่บ้านมาเข้าร่วมคณะละครของตน เพราะเห็นว่า นอกจากการเรียนในโรงเรียนแล้วนั้น เด็กสามารถทำกิจกรรมที่เด็กชอบควบคู่ไปด้วยกันได้ ทั้งยังเป็นการสร้างประสบการณ์ในตัวเด็ก ให้เด็กกล้าแสดงออกในกิจกรรมที่มีประโยชน์ เมื่อโรงเรียนมีกิจกรรม เช่น กิจกรรมวันปีใหม่ของโรงเรียน คณะละครของบังตาดก็จะพาเด็ก ๆ ขึ้นโชว์ในโรงเรียนซึ่งเป็นความร่วมกันระหว่างชุมชนและโรงเรียนโดยตรง
 

โรงเรียนบ้านโคกประดู่เป็นโรงเรียนที่มีทั้งนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลามอยู่ร่วมกัน แต่ยังไม่มีวิชาอิสลามศึกษาที่เฉพาะจงจงสำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม น้องบัดดรียะ มาราสา เป็นลูกสาวของบังตาด ที่เรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอานด้วยตัวเอง โดยการนำวิธีคิดจากการทำวิจัยมาใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้น้องบัดดรียะ ไม่ชอบอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก ซึ่งบังตาดเองยอมรับว่าโดยปกติ คนที่อ่านคัมภีร์อัลกุรอานได้อาจต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี ในหนึ่งเล่ม แต่สิ่งที่ทำให้บังตาดเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวลูกคือ น้องบัดดรียะ สามารถอ่านคัมภีร์ ฯ ได้ภายในเวลาไม่ถึงสองปี หลังจากที่โรงเรียนได้นำการวิจัยมาใช้ให้เด็กฝึกทำโครงงานวิจัยต่าง ๆ แล้ว น้องบัดดรียะ สามารถประยุกต์จากสิ่งที่เรียนมาใช้กับเรื่องของตนเองได้มากขึ้น เช่น เด็กรู้จักวางแผนการอ่านว่าแต่ละวันจะอ่านกี่หน้า รู้จักกระบวนการคิดวิเคราะห์ว่าพยัญชนะแต่ละตัวเมื่อนำมาเทียบกับภาษาอาหรับแล้วอ่านออกเสียงว่าอย่างไร รู้จักประยุกต์ได้ระหว่างการอ่านภาษาไทยกับภาษาอาหรับควรใช้หลักใดในการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้น้องบัดดรียะกลายเป็นเด็กที่ชอบอ่านคัมภีร์อัลกุรอานมากขึ้น สนใจในคัมภีร์มากขึ้น มีนิสัยรักการอ่านมากขึ้น อาจเนื่องด้วยเด็กรู้สึกสนุกในการฝึกอ่านจากกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว ไม่ใช่แต่เด็กที่นำไปใช้ แต่ผู้ปกครองก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นเดียวกัน
 

ส่วนเรื่องที่เด็กสามารถนำหลักการทำงานจากการวิจัยมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันนั้น ปัจจุบันยาเสพติดมักแฝงมากับเครื่องดื่มเช่น น้ำอัดลม อย่าง 4 x 100 ที่มีการผสมโคล่าเป็นหลัก เด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลจากผู้ใหญ่ ซึ่งที่บ้านมีการปลูกฝังไว้ว่าอย่ารับของจากคนแปลกหน้า ทางบ้านและโรงเรียนจะต้องสอนให้เด็กคิดถึงผลเสียที่จะตามมาและโทษของยาเสพติดรวมถึงวิธีป้องกันตัวเองให้ห่างจากเรื่องเหล่านี้