เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


สิ่งที่เห็นได้ชัดว่ามีการปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนคือ เมื่อโรงเรียนจัดกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะเชิญผู้ปกครองของนักเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมพร้อมกับเด็ก จะเห็นได้ว่าทักษะการนำเสนอของเด็กจะชัดเจนขึ้น เด็กกล้าพูดมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน ก็จะเห็นความแตกต่างได้ เด็กได้ ผู้ปกครองก็ได้ด้วย ถือเป็นข้อดีของทั้งนักเรียนและครูด้วย ครูเองไม่ต้องเหนื่อยที่ต้องมาสอนพิเศษเพราะให้นักเรียนได้เรียนเต็มที่ในคาบเรียนอยู่แล้ว ส่วนเด็กก็ได้รับการปลูกฝังในสิ่งที่ดีทั้งในห้องและนอกห้องเรียน
 

นางลดามาศ สังข์แก้ว เป็นผู้ปกครองของ ด.ช. ธนบดี สังข์แก้ว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดหน้าเมือง จังหวัดสตูล  ก่อนหน้านี้น้องธนบดี เรียนอยู่โรงเรียนอนุบาลสตูล  สาเหตุที่ย้ายน้องธนบดีมาที่นี่เพราะผู้อำนวยการจุรีรัตน์ย้ายมาประจำโรงเรียนวัดหน้าเมือง จึงย้ายตามมา เพราะคิดว่าโรงเรียนจะเป็นไปในทิศทางไหนนั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหาร อีกสาเหตุหนึ่งคือประสบการณ์จากลูกสาวคนโต ก่อนหน้านี้เรียนนอยู่โรงเรียนวัดหน้าเมือง แต่โรงเรียนประสบปัญหาเรื่องการยุบโรงเรียน เพราะครูมีน้อย  และตอนนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องการจัดการของภาครัฐ จึงไม่ได้สนใจอะไร ชาวบ้านและผู้ปกครองในชุมชนต่างพากันย้ายบุตรหลายของตัวเองไปเรียนในเมือง รวมถึงตนก็ได้ย้ายลูกสาวคนโตไปเรียนที่โรงเรียนอนุบาลสตูลด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เนื่องจากนักเรียนแห่ไปเรียนในเมืองเป็นจำนวนมาก จึงเกิดปัญหาเรื่องสถานที่เรียนคับแคบไม่พอกับจำนวนเด็ก ตนเห็นว่าความเป็นอยู่ของลูกลำบาก จึงต้องย้ายโรงเรียนบ่อย ประกอบกับตอนนั้นผู้อำนวยการจุรีรัตน์ซึ่งแต่เดิมประจำอยู่โรงเรียนอนุบาลสตูลย้ายมาประจำที่โรงเรียนวัดหน้าเมือง เมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนผู้บริหารขึ้นในโรงเรียน ตนก็เห็นว่าทางโรงเรียนมีการพัฒนาขึ้นทั้งด้านบริบทและระบบการเรียนการสอน จึงให้ลูกชายคนเล็กหรือน้องธนบดีกลับมาเรียนที่โรงเรียนวัดหน้าเมืองดังเดิม


ความคาดหวังกับโรงเรียน  : ตนเรียนมาน้อย เพราะสมัยก่อนไม่มีเงินไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสืออย่างลูก ตอนเรียนก็ไม่ได้ตั้งใจเรียน จึงคาดหวังกับลูกไว้พอสมควร อยากให้ลูกเรียนดีและเป็นคนดีควบคู่กันไป และอยากให้โรงเรียนมีการพัฒนาในทุกรูปแบบจนเทียบเท่าโรงเรียนในเมืองได้ เพื่อลดความแออัดของโรงเรียนในเมือง และเพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียนในชุมชนเห็นความสำคัญของท้องถิ่นมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีข้อดีคือ ความปลอดภัย เรื่องการใช้รถใช้ถนน ในชุมชนเมืองมีการจราจรติดขัด เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแก่เด็กและผู้ปกครอง อีกทั้งเป็นโรงเรียนไกลบ้านอาจมีปัญหาเรื่องการเดินทางไป – กลับ ของนักเรียนได้ ค่าใช้จ่าย : ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รับ – ส่ง บุตรหลาน ค่าครองชีพในเมืองสูงกว่าชนบท ค่าบำรุงการศึกษารวมถึงการอุปกรณ์การเรียนย่อมมีราคาแพงกว่า  เวลา  การจราจรติดขัดส่งผลให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองต้องใช้เวลาอย่างเร่งรีบ เพื่อหลีกหนีปัญหารถติด รวมถึงการที่มีโรงเรียนไกลบ้านจึงต้องใช้เวลาเดินทางไปโรงเรียนมากกว่าโรงเรียนใกล้บ้าน

แรกเริ่มที่มีการนำการวิจัยมาใช้ในโรงเรียนนั้น ตนในฐานะผู้ปกครองได้ทราบลักษณะและรูปแบบการดำเนินงานมาจากทางโรงเรียนโดยตรง โดยผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้เล่าให้คณะกรรมการสถานศึกษาฟัง ท่านบอกว่าโรงเรียนจะทดลองนำโครงการวิจัยมาใช้กับโรงเรียนวัดหน้าเมือง ซึ่งทางผู้ปกครองเองก็ทราบเรื่องกระบวนการการเรียนรู้นี้พร้อมๆ กับโรงเรียน สิ่งที่เห็นได้ชัดว่ามีการปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนก็คือ เมื่อโรงเรียนจัดกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะเชิญผู้ปกครองของนักเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมพร้อมกับเด็ก จะเห็นได้ว่าทักษะการนำเสนอของเด็กจะชัดเจนขึ้น เด็กกล้าพูดมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน ก็จะเห็นความแตกต่างได้ เด็กได้ ผู้ปกครองก็ได้ด้วย
 

การมีส่วนร่วมกับโรงเรียน :     กิจกรรมที่โรงเรียนมอบหมายให้ลูกทำ ก็จะมีการนำการวิจัยมาสอดแทรกด้วยตลอด ครูจะให้เด็กช่วยกันนำเสนอหัวข้อในห้องเรียนว่าสนใจจะทำวิจัยเรื่องใดบ้าง อย่างน้องธนบดี หรือน้องโอม (บุตรชาย) เขาเสนอเรื่องการเลี้ยงวัวแต่ไม่ผ่าน เนื่องจากเพื่อนในห้องไม่เห็นด้วย ก็ได้เรื่องไฟฟ้ามาทำโครงการแทน น้องโอมก็จะมาถามผู้ปกครองว่าไฟฟ้ามันเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร แล้วมีกี่แบบ ใช้อะไรได้บ้าง เมื่อน้องโอมถามตนก็จะหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าให้ลูกอ่านและศึกษา และบอกว่าถ้าอ่านไม่เข้าใจตรงไหนให้ถาม
 

หลังจากที่เขาอ่าน เขาก็จะสรุปในแบบที่เขาเข้าใจ แล้วไปนำเสนอในห้องเรียน ถ้าข้อไหนตรงกับเพื่อนก็รวมกันเป็นข้อเดียวกัน ข้อไหนที่แตกต่างกันกับเพื่อนก็แยกเป็นข้อ ๆ ออกมา เพื่อแบ่งกันไปหาข้อมูลมานำเสนอในครั้งต่อไป ซึ่งก็จะกลับมาซักถามตนที่บ้านอย่างนี้เสมอ และตนก็ช่วยลูกและพร้อมสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยการเติมข้อมูลที่น่าสนใจให้กับลูก ช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิด หลังจากนั้นก็แนะนำเรื่องการหาข้อมูลว่าลูกสามารถไปสืบค้นข้อมูลจากที่ไหนได้บ้าง ซึ่งต่างจากระบบการสอนแบบเก่า  ที่แต่ก่อนพอครูสั่งงานเป็นกลุ่ม น้องโอมก็จะรับงานมาทำคนเดียว เด็ก ๆ ไม่ได้แบ่งแยกหน้าที่กัน เด็กไม่ได้ช่วยเหลือกัน พอให้นำเสนอก็เสนอกันในกระดานในคาบเรียน พอหมดคาบเรียนก็ไม่ได้สานต่อ จึงไม่มีการกระจายงานให้กับเด็กคนอื่น แต่ตอนนี้พอใช้ระบบแบบใหม่ เด็กเกิดการพูดคุยกัน ช่วยเหลือกัน มีน้ำใจต่อกัน ได้แชร์ได้แบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างเท่าเทียมกัน เขาก็ได้ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนกันมากขึ้น
 

เมื่อไหร่ก็ตามที่โรงเรียนจัดกิจกรรมขึ้นก็จะเชิญผู้ปกครองไปมีส่วนร่วมกับโรงเรียนเสมอ ทุกครั้งที่มีการประชุม ในฐานะผู้ปกครองก็จะพยายามไม่ขาดประชุม และพยายามเข้าร่วมกับทุกกิจกรรมของโรงเรียน บางครั้งมีการจัดเวทีสำหรับเด็กแล้วให้ผู้ปกครองมาร่วมด้วย ทั้งงานเด็กก็จะเป็นผู้นำกิจกรรมทั้งหมด ตั้งแต่การเป็นพิธีกร เด็กก็เก่งสามารถพูดหรืออธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจได้ เดิมทีน้องโอมเป็นคนกล้าแสดงออกอยู่แล้ว ชอบพูดคุยกับทุกคน แต่เมื่อก่อนก็จะมีการเกี่ยงงานกับเพื่อนในห้องบ้างว่าใครจะเป็นคนพูดนำเสนอก่อน เนื่องจากอาจยังขาดความมั่นใจอยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ไม่มีการเขินอาย เพราะเขาจะมีการจัดลำดับขั้นตอนเอาไว้ว่าใครจะเป็นคนพูดเปิดเรื่อง ใครจะพูดเรื่องอะไร ก็จะมีการแบ่งหัวข้อกันไว้อย่างชัดเจน
 

 หากช่วงไหนรู้สึกว่าเหนื่อยจากการทำงานมาก ๆ อีกทั้งตนมีโรคประจำตัว ก็จะมีบางช่วงที่ไม่ได้นั่งคุยกับลูกตอนกลางคืน แต่ด้วยความคุ้นเคยกับครูที่โรงเรียน เพราะทำร่วมกิจกรรมด้วยกันบ่อย ๆ ก็สามารถที่จะฝากฝังลูกให้ครูช่วยดูแลได้ การปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนด้วยการนำการวิจัยมาใช้ในโรงเรียนถือเป็นข้อดีของทั้งนักเรียนและครูด้วย ครูเองไม่ต้องเหนื่อยที่ต้องมาสอนพิเศษเพราะให้นักเรียนได้เรียนเต็มที่ในคาบเรียนอยู่แล้ว ส่วนเด็กก็ได้รับการปลูกฝังในสิ่งที่ดีทั้งในห้องและนอกห้องเรียน ทั้งยังเล่าย้อนว่าหากตอนนี้ให้ลูกไปเรียนในโรงเรียนในเมือง แม้จะไม่มีเงินก็คงต้องหาเงินมาให้ลูกเรียนพิเศษ เพราะกลัวว่าลูกจะตามเพื่อน ๆ ในห้องไม่ทัน เพราะโรงเรียนในเมืองเด็กนักเรียนมีการแข่งขันกันสูง
 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น :    สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือผลการเรียน เมื่อก่อนตอนน้องโอมเรียนอยู่ที่โรงเรียนเดิม เขาไม่ค่อยอยากไปโรงเรียน เพราะรู้สึกเหนื่อยที่ต้องตื่นเช้าเกินไป เนื่องจากในเมืองมีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด พอไปถึงโรงเรียนก็เกือบสาย เด็กก็ต้องวิ่งเข้าโรงเรียน พอเรียนก็ไม่ตั้งใจเรียน แต่หลังจากย้ายกลับมาที่โรงเรียนวัดหน้าเมือง สังเกตได้ว่าเด็กไม่ขี้เกียจ พอเจ็ดโมงก็ถึงโรงเรียน และสนุกกับการเรียนมากขึ้นเนื่องจากทางโรงเรียนมีกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกับเพื่อน ๆ ในห้องเรียน พอเลิกเรียนเด็กก็จะกลับมาเล่าให้ฟังว่าวันนี้ทำอะไรมาบ้าง เด็กสามารถเล่าเรื่องให้เราฟังได้ และยังนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนมาใช้กับที่บ้าน เช่น การนำเมล็ดผักบุ้งมาหว่านข้างคอกเป็ดที่บ้าน ก่อนนอนก็ให้น้องโอมอ่านหนังสือให้ฟังเพื่อเป็นการฝึกฝนการอ่านและทบทวนบทเรียน
 

ด้านพฤติกรรมก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อนหน้านี้เคยเข้าไปปรึกษากับผู้อำนวยการโรงเรียนเรื่องพฤติกรรมของลูก เนื่องจากน้องโอมเป็นเด็กสมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่งต้องหากิจกรรมทำตลอดเวลา พอถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เช้าขึ้นมาน้องโอมจะปั่นจักรยานไปบ้านข้าง ๆ เพื่อนั่งคุยทุกวัน ผู้ปกครองต้องคอยเรียกให้กลับบ้านมากินข้าว ตอนพาไปภูเก็ตก็จะไม่นั่งนิ่งๆ ตลอดการเดินทางน้องโอมเดินไปเดินมาอยู่ตลอด เคยไปปรึกษาคุณหมอ ได้คำตอบว่าอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่บ้าน เนื่องจากที่บ้านเป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านก็จะมีลูกบ้านเดินเข้าเดินออกตลอดเวลา ในทุกวันก็จะมีลูกบ้านมาขอคำปรึกษาหากเกิดปัญหาเรื่องใดก็ตาม เด็กอาจซึมซับจากจุดนี้ จึงทำให้เด็กใช้ความคิดตลอดเวลาเป็นผลทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้
 

ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงให้นักเรียนในห้องน้องโอมทดลองเชิงเกษตร ด้วยการนำการวิจัยมาสอดแทรกในกิจกรรม โดยให้เด็กทดลองการปลูกต้นไม้แบบครอบถังและไม่ครอบถัง จากกิจกรรมดังกล่าว ทำให้พฤติกรรมของน้องโอมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จากเดิมตอนเช้าต้องปั่นจักรยานไปเที่ยว แต่ตอนนี้ทุกเช้าน้องโอมจะมาเปิดฝาถังที่ต้นไม้ทุกเช้า เพื่อดูว่าปลูกแบบครอบถังและไม่ครอบถังต่างกันอย่างไร ได้ผลต่างกันอย่างไร ได้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดผลที่ได้จึงต่างกัน
 

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมนี้ไปแล้ว น้องโอมได้นำเมล็ดผักอื่น ๆ มาปลูกแบบครอบถังและไม่ครอบถังต่อจากกิจกรรมที่โรงเรียนให้ทำ พฤติกรรมติดเที่ยวหายไป เห็นได้ชัดว่าน้องโอมอยู่ติดบ้านดูแลผักเสร็จก็จะมาช่วยตนหุงข้าวทำงานบ้าน ตนจึงคิดสานต่อแนวคิดของ ผอ. โดยจากปกติตอนเย็นน้องโอมว่างงานก็จะใช้เวลาเที่ยวเล่นกับเพื่อน จึงมอบหมายให้ทำหน้าที่พาวัวเข้าคอกแทนพ่อของเขา ซึ่งน้องโอมก็ปฏิบัติหน้าที่แบบนี้ทุกตอนเย็น นี่คือความแตกต่างที่เห็ดได้ชัดจากการนำโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาใช้กับน้องโอม