เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


หลังจากที่โรงเรียนได้นำโครงการวิจัยมาใช้ในการเรียนการสอนพบว่าลูกของตนเปลี่ยนไปมาก จากเมื่อก่อนลูกจะเป็นคนไม่กล้าแสดงออก และไม่ชอบไปโรงเรียน โดยเฉพาะเวลามีงานที่ต้องพูดหน้าห้องเรียน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ขี้เกียจ กล้าที่จะคุย กล้าที่จะพูดหน้าห้องเรียนมากขึ้น อาจเป็นเพราะกระบวนการเตรียมตัวที่ดีเป็นระบบ รวมถึงการมีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้เด็กมั่นใจที่จะนำเสนอ โดยส่วนตัวมองว่า การนำหลักคิดมาใช้ในโรงเรียนถือเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับเด็ก ให้สิ่งเหล่านี้ติดตัวเด็กไปตลอด เด็กจะเกิดการซึมซับและนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ได้ในทุกโอกาส
 

 นายเดช ปะดุทา หรือบังเดช ผู้ปกครองของ ด.ญ. อภิรดี ปะดุทา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านนาแก้ว  เห็นว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่จะให้วิชาความรู้ และขัดเกลาให้เด็กเป็นคนดีได้ เพราะส่วนที่สำคัญเท่า ๆ กับโรงเรียนนั่นคือผู้ปกครองที่จะต้องช่วยดูแลพฤติกรรมให้เด็กเป็นคนดี หลังจากที่โรงเรียนเป็นผู้ให้ความรู้มาแล้ว โรงเรียนไม่สามารถดูแลเรื่องนี้ได้ทั้งหมด ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมด้วยกัน  ซึ่งหลังจากลูกกลับมาจากโรงเรียน เด็กก็มักจะออกไปเที่ยวเล่นตามปกติ หลังจากนั้นตนจะเป็นผู้ดูแลพฤติกรรมของลูก โดยการใช้หลัก 3 ด ในการสอนลูก นั่นคือ 1. พูดดี  2. เรียนดี และ 3. ปฏิบัติดี สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่บังเดชให้ความสนใจนั่นคือ การอยู่ร่วมกันในชุมชน เด็กจำเป็นจะต้องรู้จักชุมชน รู้จักเข้าหาคน เป็นเด็กดีในโอวาทของผู้ใหญ่ เพราะถิ่นกำเนิดของเด็กและชุมชนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน

ปัจจุบันเด็กวัยรุ่นหันไปเรียนในเมืองมากขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเด็กและชุมชน จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในชุมชนและโรงเรียนที่จะช่วยกันทำให้เด็กเกิดสำนึกรักบ้านเกิด กลับเข้ามาสู่ท้องถิ่นของตนดังเดิม โรงเรียนบ้านนาแก้วและชุมชนมีความสัมพันธ์กันด้วยดีตั้งแต่สมัยก่อตั้งโรงเรียน เนื่องจากชาวบ้านเป็นผู้ช่วยกันสร้างโรงเรียนขึ้นมาจนตอนนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของชุมชนอย่างหนึ่ง เมื่อโรงเรียนมีการนำโครงการวิจัยมาใช้ก็ถือเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองพร้อมร่วมมือกันผลักดันเต็มที่
 

แม้แรกเริ่มจะไม่มีใครในชุมชนรู้จักคำว่า “วิจัย” ทางโรงเรียนเลยส่งตัวแทนชุมชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบังเดชไปเข้าร่วมอบรม ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หลังจากอบรมก็พบว่า โครงการนี้ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เป็นเพียงหลักคิดที่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกเรื่องของชีวิต  ทั้งนี้บังเดชได้ใช้โอกาสนี้บอกเล่าให้กับภรรยาและบุตรสาวฟังเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันภายในครอบครัว ไม่เพียงเท่านั้นโครงการนี้ยังได้รับความสนใจจากชุมชนและพร้อมจะให้การสนับสนุนกับทางโรงเรียนอย่างเต็มที่ เช่น โครงงานที่ลูกสาวของตนทำขึ้นร่วมกับนักเรียนในห้อง คือเรื่องการทำข้าวเม่า ซึ่งเป็นการนำเรื่องใกล้ตัวของชุมชนและโรงเรียนมาผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ เนื่องจากทางโรงเรียนได้มีการทำข้าวเม่าร่วมกับชุมชนอยู่แล้วทุกปี เด็กจึงคิดทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยเด็กจะนำคำถามที่สงสัยมาถามที่บ้าน เช่น ถามว่า ข้าวเม่าเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากข้าวแล้วต้องใช้ข้าวแบบไหน แล้วทำอย่างไรถึงเป็นข้าวเม่า ส่วนผสมมีอะไรบ้าง วิธีการทำทำอย่างไร นี่คือคำถามที่เด็กถาม เด็กจะถามอย่างไม่สิ้นสุดหากยังไม่รู้ในเรื่องนั้น ๆ อย่างแท้จริง ถือเป็นการฝึกให้เด็กหัดคิดวิเคราะห์ถึงกระบวนการทำและการตั้งคำถามอีกทางหนึ่ง
 

ส่วนความแตกต่างหลังจากที่โรงเรียนได้นำโครงการวิจัยมาใช้ในการเรียนการสอนคือ เมื่อก่อนลูกของตนเป็นคนไม่กล้าแสดงออก และไม่ชอบไปโรงเรียน โดยเฉพาะเวลามีงานที่ต้องพูดหน้าห้องเรียน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ขี้เกียจ และกล้าที่จะคุย กล้าที่จะพูดหน้าห้องเรียนมากขึ้น อาจเป็นเพราะกระบวนการเตรียมตัวที่ดีเป็นระบบ รวมถึงการมีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้เด็กมั่นใจที่จะนำเสนอ
 

โดยส่วนตัวมองว่า การนำหลักคิดมาใช้ในโรงเรียนถือเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับเด็ก ให้สิ่งเหล่านี้ติดตัวเด็กไปตลอด เด็กจะเกิดการซึมซับและนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ได้ในทุกโอกาส “ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้พัฒนาขึ้น ให้ดีขึ้น อย่าให้มันด้อยลงถ้ามีจังหวะก็ต้องทำต่อเนื่องไปตลอดในทุกเรื่อง ทำให้บ่อย”