การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย(3)

เรียนรู้และนำร่องด้วยงานสวนพฤกษศาสตร์

โครงการแรกที่ ผอ.กัญพิมานำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้พัฒนางานของโรงเรียนจนประสบความสำเร็จ คือ “โครงการพัฒนางานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในฐานะที่โรงเรียนเป็นสมาชิกของงานสวนพฤกษศาสตร์ จึงต้องทำงานตามโครงการ 5 องค์ประกอบด้วยกันคือ 1.โรงเรียนต้องจัดทำทะเบียนป้ายชื่อพรรณไม้ 2. ต้องนำต้นไม้ใหม่มาปลูกในโรงเรียน 3. ต้องศึกษาพรรณไม้ 4.ต้องจัดทำรายงานการศึกษาค้นคว้า และ 5.ต้องนำผลที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้จริง

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี ได้ดำเนินการครบทั้ง 5 องค์ประกอบ แต่องค์ประกอบที่ 2 ผอ.กัญพิมา ระบุว่ายังทำได้ไม่ยั่งยืน ทั้งๆ ที่มีการนำต้นไม้ใหม่มาปลูกทุกๆ ปี แต่ปัญหาคือต้นไม้ส่วนใหญ่จะตายหมด ผอ.กัญพิมา จึงได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาวิเคราะห์ว่ามีเหตุปัจจัยใดบ้างที่ทำให้กิจกรรมปลูกต้นไม้ไม่ประสบ

ความสำเร็จอย่างยั่งยืน


ดังนั้นจึงเริ่มทำการวิเคราะห์ และสำรวจต้นทุนของโรงเรียน อาทิ ความพร้อมของครู และพื้นที่ที่ใช้ในการปลูกต้นไม้ 141ไร่ 1 งาน 38 ตารางวา และพบว่าโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ราบหุบกะพงที่แห้งแล้ง เพราะฝนตกน้อย ดินเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ น้ำที่ใช้ในการอุปโภคในโรงเรียนเป็นน้ำบาดาล มีหินปูนปะปนค่อนข้างสูง จึงไม่เหมาะกับการนำต้นไม้ใหม่เข้ามาปลูกทุกๆ ปีในพื้นที่ทั้งหมดของโรงเรียน อีกทั้งการปลูกโดยหวังพึ่งพิงธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เป็นความไม่พอประมาณกับความต้องการน้ำของต้นไม้

จึงได้เปลี่ยนวิธีการปลูกต้นไม้ใหม่ โดยไม่เอาปริมาณต้นไม้และพื้นที่เป็นตัวตั้ง แต่ใช้จำนวนนักเรียนเป็นตัวกำหนดจำนวนต้นไม้ที่จะปลูก โดยเน้นความรู้สึกร่วมรับผิดชอบ กล่าวคือ ให้นักเรียน ม.1 ที่เข้าใหม่ทุกคนปลูกต้นไม้คนละ 1 ต้น และให้นักเรียนแต่ละคนดูแลรักษาต้นไม้ของตนเองจนจบชั้น ม.3 พร้อมทั้งกำหนดให้เป็น หนึ่งในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในหนึ่งสัปดาห์นักเรียนจะต้องเรียนรู้เกี่ยววิชาพฤกษศาสตร์ ใช้ต้นไม้เป็นสื่อในการเรียนการสอน 1 คาบเรียน ทำให้เด็กได้สัมผัสคลุกคลีกับต้นไม้ รู้จักสังเกตติดตาม จดบันทึกข้อมูลของพืชพรรณนั้นๆ เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ในปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมาพบว่า ต้นไม้ที่ปลูกใหม่กว่า 200 ต้นของนักเรียนชั้น ม.1 “รอดตาย 100 เปอร์เซ็นต์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จึงยึดแนวทางดังกล่าวเรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2552 โรงเรียนมีพื้นที่ป่าเต็มพื้นที่โครงการสวนพฤกษศาสตร์

แม้ว่าโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จะเป็นสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 แต่การดำเนินงานของโรงเรียนประสบความสำเร็จและได้รับโล่พระราชทานเมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีที่โรงเรียนเริ่มน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ วิเคราะห์ปัญหาในการดำเนินการ

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้บุคลากรของโรงเรียนเกิดแรงศรัทธาจากการเห็นผลของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม

ปัญจสาขา จาก 5 สู่ 1


เมื่อมีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็น “นามธรรม” มาปรับใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงเกิดผลความสำเร็จเป็น “รูปธรรม” ที่จับต้องได้ และโดยเอามาทำให้ครูทุกคนเข้าใจ แล้วจึงเริ่มนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่การเรียนการสอน และเพื่อให้มีการนำไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน ผอ.กัญพิมา จึงคิดรูปแบบการจัดการศึกษาตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “ปัญจสาขา จาก 5 สู่ 1” ไว้ใช้กับโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี

สาขาที่ 1 การบริหารจัดการ (เปรียบเสมือนแม่น้ำป่าสัก)

กำหนดให้บุคลากรในโรงเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของสถานศึกษาโดยนำไปใช้กับการบริหารในทุกกลุ่มงาน ตั้งแต่การจัดทำแผนงานโครงการ กิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งถึงการคิดวิเคราะห์ภายหลังการทำงาน โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นทางการ

สาขาที่ 2 การจัดการเรียนการสอน (เปรียบเสมือนแม่น้ำปิง)

เป็นการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยให้ทุกกลุ่มสาระนำหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบูรณาการการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ซึ่งการบูรณาการขึ้นอยู่กับธรรมชาติของรายวิชา และวิธีการของครู แต่ในการบูรณาการ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการสอนมีวิธีการดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ

1. ให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้อง

2. ฝึกให้นักเรียนวิเคราะห์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับกิจกรรมหรืองานต่างๆ ได้

3. ให้นำผลการวิเคราะห์ลงสู่การปฏิบัติกระทั่งนักเรียนเกิดความตระหนัก เห็นประโยชน์ของการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตตนเอง

4. นักเรียนมีวิถีชีวิตอยู่บนความพอเพียง

สาขาที่ 3 การจัดการแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน (เปรียบเสมือนแม่น้ำวัง)

เป็นการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนเพื่อให้ความรู้กับนักเรียนทั้งในแนวกว้างและแนวลึก ผ่านการค้นคว้าและฝึกปฏิบัติโดยให้แหล่งเรียนรู้มีความพร้อมด้านสื่อ วัสดุอุปกรณ์ และบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในแหล่งเรียนรู้มี 2 ลักษณะคือ

1. ครูใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ และใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

2. นักเรียนใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้

สาขาที่ 4 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (เปรียบเสมือนแม่น้ำยม)

เป็นการเรียนรู้ที่จะทำให้นักเรียนได้พัฒนาและเติมเต็มศักยภาพของตนเองตามความสนใจของแต่ละบุคคล ได้แก่ กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี แนะแนว และชุมนุมต่างๆ อาทิ กิจกรรมแนะแนว ผู้สอนจะต้องให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาวิเคราะห์ตนเองว่ามีความเหมาะสมในการศึกษาต่อในด้านใดมากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนเลือกทางเดินของตนเองให้ถูกต้องเหมาะสมที่สุด การทำโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียน จะทำให้นักเรียนได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาคิดวิเคราะห์และวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบและมีภูมิคุ้มกันกับตนเองและงานที่ทำ

สาขาที่ 5 ความพอเพียงในชีวิตชาวหอ (เปรียบเสมือนแม่น้ำน่าน)

ด้วยรูปแบบของโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนและครูต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในโรงเรียนและหอพัก โรงเรียนจึงกำหนดเป็นนโยบายให้แต่ละหอพักจัดกิจกรรมสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเหมาะสมกับบริบทของหอพักตนเอง เพื่อให้นักเรียนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รวมถึงการให้นักเรียนร่วมกันคิดและทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม อาทิ การที่นักเรียนคิดเรื่องการปลูกข้าวโพดหลังหอพัก และการประหยัดไฟในหอพัก เป็นต้น

สุดท้าย แม่น้ำทั้งห้าสายจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเปรียบได้กับตัวนักเรียน นั่นคือการสร้างหลักคิดอย่างถูกต้องให้เกิดกับตัวเด็ก เพราะหน้าที่ของโรงเรียนอยู่ที่การจัดการศึกษา หัวใจจึงอยู่ที่การไปสู่เป้าหมายในตัวเด็ก เพื่อให้เด็กคิดเป็น คิดได้ และอยู่ดี มีสุข นำไปสู่ชีวิตที่มีความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นแม่น้ำเจ้าพระยา

การปรับใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของผู้บริหารสถานศึกษา

หลักคิด

ผอ.กัญพิมา เชื่อมชิต ผู้อำนวยการโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี กล่าวว่า ในฐานะผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องเรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะต้องเป็นผู้นำทางความคิดและการปฏิบัติ เมื่อยิ่งศึกษา ค้นคว้า และทำความเข้าใจมากขึ้น ได้ออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานภายนอก ก็ยิ่งทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือเรื่องของ หลักคิด วิธีคิด” การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับโครงการพัฒนาสวนพฤกษาศาสตร์ฯ ก็ยิ่งทำให้เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น จากนั้นจึงเริ่มนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่หลักคิดของนักเรียนและครู

แนวทางในการปฏิบัติ

การบริหารจัดการสถานศึกษาโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การบริหารนโยบายและบุคลากร


ผอ.กัญพิมา ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยกำหนดเป็นนโยบายให้ครูยึดถือและตระหนักเสมอว่า ไม่ว่าจะดำเนินกิจกรรมหรือโครงการใดก็ตามหากนำมาวิเคราะห์ตามหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ แล้วพบว่าไม่สอดคล้องและมีความขัดแย้งกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว จะต้องแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกันโดยวิเคราะห์ทุกงานและทุกกิจกรรม ทั้งครูและนักเรียนจะต้องสามารถวิเคราะห์ความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ และการดำเนินงานจริงจะต้องมีเป้าหมายที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเช่นเดียวกัน

เมื่อต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับ “คน” ความผิดพลาดและการกระทบกระทั่งกันย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ผอ.กัญพิมา จึงใช้ “หลักคุณธรรม” และ “หลักเหตุผล” ในการตัดสินปัญหา แต่สิ่งที่โดดเด่นเหนือสิ่งใดก็คือการ “ให้อภัย” ซึ่งในทางกลับกันอาจถูกมองว่าไม่เด็ดขาดในการแก้ปัญหา แต่ ผอ.กัญพิมา ให้เหตุผลว่า “...การให้คนออกจากราชการเป็นเรื่องร้ายแรง เปรียบเสมือนการฆ่าคนให้ตายทั้งเป็น เพราะชีวิตของคนทั้งคนจะต้องเปลี่ยนไป ไม่มีอาชีพ แล้วครอบครัวเขาก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ถ้าให้อภัยกันได้ ก็จะทำที่สำคัญต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยกันสอบสวน เพราะการตัดสินคนเดียว อาจเกิดความไม่รอบคอบได้ หากเราลองฟังเหตุผลคนอื่นดูบ้าง ก็จะทำให้เราเห็นทางออกของปัญหาได้หลากหลายทางมากขึ้น ...”

สร้างความเข้าใจให้ครู


ผอ.กัญพิมา เริ่มต้นจัดทัพขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการ “หาเพื่อนร่วมทาง” โดยมีเหตุผลว่า หากผู้นำถือธงเพียงคนเดียวอาจทำให้เหนื่อยหนักลำพัง และไม่อาจนำองค์กรใหญ่ที่มีคนอยู่มากมายไปถึงเป้าหมายได้

การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มด้วยการส่งหัวหน้าฝ่ายวิชาการ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปอบรมทำความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันกับผู้บริหาร หลังจากนั้น จึงได้อบรมและพัฒนาบุคลากรครูทั้งโรงเรียน โดยเชิญ ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และคณะมาอบรมให้ความรู้ครูและบุคลากรทั้งโรงเรียนเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งฝึกการวิเคราะห์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับงานหรือโครงการต่างๆ ของโรงเรียนว่ามีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร และในโครงการที่ดำเนินไปแล้วจะต้องเพิ่มเติมในส่วนใดงานจึงจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“ในการสอดแทรกหลักปรัชญาสู่การเรียนการสอน ไม่ได้ใช้วิธีการบังคับ แต่ใช้วิธีการขอความร่วมมือ ในตอนที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาติดต่อที่โรงเรียนว่าจะให้ทำโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนั้นคิดเพียงว่าการปฏิรูปการศึกษาที่แบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษา ถ้าเราเป็นคนเห็นแก่ตัว เราก็อยู่ได้ ไม่มีใครรู้ ไม่ต้องพัฒนาอะไร เงินเดือนก็ได้เหมือนกัน แต่ดิฉันก็บอกครูเสมอว่าถ้าเราไม่ทำอะไร สมองเราจะฝ่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าได้ทำงานสมองเราก็ได้รับการพัฒนาแล้วข้อสำคัญคือว่า “ลูกศิษย์เราได้” ก็เลยบอกว่าเราอาจจะเหนื่อย แต่สมองเราได้รับการพัฒนา ก็เลยตัดสินใจรับงาน ทำงานนี้

เราก็เริ่มทำงานที่เป็นเหมือนคำขวัญโรงเรียนที่ว่า “รักศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ” คำขวัญนี้เป็นหน้าที่ที่เราทุกคนในโรงเรียนจะต้องทำอยู่แล้ว ฉะนั้นครูทุกคนก็จะทราบ แล้วปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นพระราชดำริของพระองค์ท่าน ทุกคนจึงพร้อมให้ความร่วมมือ เป็นอย่างดี”

การบริหารจัดการอาคารสถานที่และงบประมาณ

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี มีพื้นที่ 141 ไร่ 1 งาน 38 ตารางวา แบ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรและอาชีพ ประมาณ 10 ไร่ อาคารเรียนทั้งหมดประมาณ 10 ไร่ อาคารที่พักนักเรียนประมาณ 10ไร่ สนามกลางและเสาธงประมาณ 3 ไร่ สวนป่าภูมิรักษ์ประมาณ 20 ไร่ สนามกีฬาต่างๆ อาทิ รักบี้ ฟุตบอล ลู่วิ่ง บาสเกตบอลวอลเล่ย์บอลรวมประมาณ 30 ไร่ และพื้นที่ว่างระหว่างอาคารและทางเดินที่โรงเรียนได้ปลูกต้นไม้ไว้เพื่อร่มเงา และรักษาสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ซึ่งการแบ่งพื้นที่โดยเฉพาะอาคารเรียนและที่พักนักเรียนนั้น ออกแบบโดยกองออกแบบ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

“หลังจากที่โรงเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสอดแทรกและพยายาม ให้นักเรียนนำไปใช้ในชีวิตจริง ทำให้อุปกรณ์ ของโรงเรียนชำรุดน้อยลง”

เดิมพื้นที่ของโรงเรียนเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ดินเป็นดินปนทราย แดดร้อนมาก ดังนั้นในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา จึงคิดที่จะปลูกต้นไม้ในทุกๆ ที่ที่มีพื้นที่ว่างโดยเฉพาะพื้นที่ที่นักเรียนต้องเข้าไปอยู่เป็นประจำเพื่อความร่มรื่น

“ถ้าถามว่าคุ้มค่าและเหมาะสมไหม โดยส่วนตัวคิดว่าคุ้มค่ามาก จากเดิมที่เคยเป็นสวนป่ารกชัฏ ก็พยายามปรับพื้นที่สวนป่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้โดยปรับพื้นที่ด้านล่างของป่า ให้เป็นป่าโปร่ง แล้วจัดกิจกรรมแรลรี่ขึ้นมาให้เด็กๆ ได้ใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายอย่างที่เราอยากทำแต่ไม่มีงบประมาณ จึงทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ตรงไหนทำได้ก็ทำ ตรงไหนที่ยังทำไม่ได้ ก็ปล่อยให้เป็นป่ารกไปก่อน แต่ปีหน้าคิดว่าจะปลูกไผ่ตงบริเวณอ่างน้ำข้างๆ หอพักนักเรียน เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งจะเน้นที่ความพร้อมของบุคลากรและความสามารถในการดูแลพื้นที่มากกว่า เพราะหากเรารุกไปหมดทุกๆ พื้นที่ ในขณะที่จำนวนคนมีน้อย ประสิทธิภาพอาจจะไม่มีและอาจล้มเหลวได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ พื้นที่ไหนทำได้ก็ทำ หากพื้นที่ไหนยังทำไม่ได้ก็ปล่อยให้เป็นป่าไปก่อน”

การหางบประมาณของโรงเรียน นอกจากการได้มาซึ่งงบประมาณประจำปีแล้ว ยังมีงบประมาณเพิ่มเติมจากเงินบริจาคของผู้ปกครอง ที่เกิดจากการปรึกษาหารือกัน แต่สิ่งที่ ผอ.กัญพิมา กล่าวกับผู้ปกครองเสมอคือ การขอความร่วมมือ “การสนับสนุนทุนให้โรงเรียน เปรียบเสมือนน้ำหยดลงตุ่ม หากให้คนเพียงคนเดียวตักน้ำใส่ให้เต็มจะเป็นงานที่ยากมาก และอาจไม่สำเร็จ แต่ถ้าทุกคนช่วยกันตักน้ำใส่ตุ่มคนละนิด สุดท้ายน้ำในตุ่มก็เต็มได้เหมือนกัน”

ในส่วนของการบำรุงรักษาอาคารสถานที่ ผอ.กัญพิมา จะจ้างคนงานมาช่วยดูแล พร้อมๆ กับปลูกฝังให้นักเรียนช่วยกันดูแลทรัพย์สมบัติของโรงเรียนให้เหมือนดูแลบ้านหลังที่สองของนักเรียน เนื่องจากนักเรียนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กิน อยู่ หลับนอน และเรียนที่โรงเรียน ซึ่งแนวคิดนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จมาก โดยเฉพาะหลังจากที่โรงเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสอดแทรกและพยายามให้นักเรียนนำไปใช้ในชีวิตจริง ทำให้อุปกรณ์ของโรงเรียนชำรุดน้อยลง

นอกจากนี้ ผอ.กัญพิมา ยังใช้วิธีการสร้างการมีส่วนร่วมกับนักเรียนทั้งโรงเรียน ในการเป็นเจ้าของอุปกรณ์และสถานที่