การเรียนรู้จากการทำครงการนักเกษตรกับการฟื้นฟูดินสู่ความยั่งยืนทางเกษตรและสิ่งแวดล้อม

ชลิต ตรีนิตย์ (ลิต)

ปัจจุบัน (2556) กำลังศึกษา ปวส. 2 สาขาเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี

­

เป็นแกนนำเยาวชนที่มีใจและมีบทบาทมากในการทำกิจกรรมโครงการ ตั้งแต่คิดวางแผน ประสานงานกิจกรรม มีความสนใจการทำเกษตรอินทรีย์และมีความตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะประกอบอาชีพเกษตร มีความสามารถตรวจวัดคุณภาพดินเบื้องต้นได้ เช่น ความเป็นกรด-เบส, ธาตุอาหาร (NPK) / มีภาวะผู้นำ / นำสันทนาการ / วิทยากรกระบวนการ / วางแผน / สามารถคิดวิเคราะห์ได้

ผมทำโครงการเรื่องดิน พอได้ทำโครงการนี้ทำให้มีความรู้เรื่องการตรวจดินมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่เราเรียนอยู่ในวิทยาลัยพอรู้บ้างนิดหน่อย แต่พอได้มาเรียนรู้ในค่ายระหว่างกลุ่มพบว่าเราสามารถตรวจเรื่องสารเคมีได้แต่เราต้องมีข้อมูลที่มากหน่อย ทำให้ผมมีความรู้มากขึ้นในเรื่องของดินและการตรวจดิน อีกทั้งการทำโครงการยังทำให้ผมได้เรียนรู้เทคนิคการทำเกษตรบางอย่างที่ปราชญ์ชาวบ้านเข้าทำกัน ในขณะที่เราเรียนเกษตรแล้วเราไม่รู้ อีกประเด็นคือ ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมพอได้มาแลกเปลี่ยนทำให้ได้เรียนรู้เรื่องต้นไม้ จากที่ได้นั่งคุย “ควายที่ย้ำดินบ่อยๆ พื้นที่เลี้ยงควายบ่อยๆ กลายเป็นทะเลทรายได้ก็เพิ่งจะรู้ เกิดการค้นหาข้อมูลต่อทำให้มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมหลายอย่างมากขึ้น สำหรับในเรื่องของความเชื่อยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำโครงการ ความเชื่อของผมคือ “งานพัฒนาต้องใช้เวลา และใช้พลังใจที่สูงสำหรับคนทำงาน”

ทักษะที่เกิดขึ้น ผมได้ทักษะที่พัฒนามากขึ้นวิธีการพูดที่สร้างความน่าสนใจที่จะใช้กับเด็ก ทักษะนี้ผมพัฒนามากขึ้น แม้วงพูดคุยจะไม่ได้พูดเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อมพวกเราเอาเรื่องอื่นๆ มาพูดคุยกันด้วย เช่น หนังสือ ทักษะที่เปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือ เทคนิคการลงชุมชน เมื่อก่อนผมคิดว่า คนที่เป็นแกนนำชุมชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรเราลงไปทำงานในพื้นที่มันก็น่าจะง่าย พอเอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่อย่างที่คิดไว้ มันต้องใช้เทคนิคบางอย่างที่ต้องพัฒนาต่อไป

พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เช่น ใช้ถุงพลาสติกเท่าที่จำเป็น ถ้าเห็นอะไรที่มันสิ้นเปลือง เช่น การใช้แอร์ ใช้ไฟฟ้า เวลาขับรถในช่วงเย็นก็จะไม่ค่อยเปิดเปลี่ยนเป็นเปิดกระจกแทน สำหรับเรื่องการทำการเกษตรผมจะทำการเกษตรที่สร้างความสมดุลย์ต่อธรรมชาติมากยิ่งขึ้น จากปกติที่เราใช้สารเคมีเราใช้แต่ปุ๋ยเคมี แต่ตอนนี้เราไม่ใช้แล้ว อีกอันที่ภูมิใจ คือ ผมทำไดอารี่ใช้เอง โดยทำสมุดตามที่พี่ๆ แจกในค่าย เป็นสมุดทำมือจากกระดาษใช้แล้วหน้าเดียว ปกติไดอารี่ทุกเล่มของผมๆ จะซื้อ แต่ตอนนี้ไม่แล้ว

จากการเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านและการเรียนในห้องเรียน ความรู้สึกที่เกิดขึ้น คือ ผมเชื่อว่าต้องไปคู่กัน เราจะทิ้งทางนี้ไม่ได้เพราะให้ความรู้ในเรื่องวิชาการแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กที่เรียนอยู่ในวิทยาลัยจะได้ไปเห็นโลกภายนอกที่กว้างกว่าที่อาจารย์มอง

“จากการเรียนรู้ในระบบ ออกไปเรียนรู้นอกระบบมากขึ้น”