การเรียนรู้จากการทำโครงการเยาวชนอาสาอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นลำน้ำน่าน-แควน้อย

แจ๊ค ( ศักดา ศรีพูล ) แกนนำเยาวชนกลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทองเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะถึงวันที่มารวมตัวปลูกต้นไม้กันนี้ พวกเขาได้เปิดเวทีค้นหาปัญหาการลดลงของพันธุ์พืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่น อะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้วิถีชีวิตและแหล่งอาหารในหมู่บ้านลดลง โดยมีกลุ่มเยาวชน แกนนำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น คนในชุมชน และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วมพูดคุย ซึ่งสรุปได้ 3 สาเหตุหลัก คือ 

1. มีการนำพันธุ์ไม้ใหม่เข้ามาปลูกในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้กับให้กับคนในชุมชน เช่น ปลูกข้าวโพด แทนการ ปลูกมะม่วงพันธุ์ท้องถิ่น 

2. การขยายตัวของเมืองทำให้มีการกว้านซื้อที่ดินจากคนภายนอกชุมชนเพื่อสร้างบ้านเรือนซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมดั้งเดิม (สวนโบราณ) อันเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่เกษตรดั้งเดิม และพันธุกรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เก่าแก่ในชุมชนลดลง และ

3. ในปีพ.ศ. 2554 เกิดอุทกภัยทำให้ไร่นา และสวนในตำบลจอมทองเสียหาย ในวงคุยครั้งนี้ได้มีการทำแผนที่ทำมือชุมชนขึ้นด้วย เพื่อใช้ในการวางแผนแนวทางการอนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่นต่อไป 

ต่อมากลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทองได้จัดเดินเยี่ยมบ้านคนในชุมชนเพื่อสำรวจพันธุ์ไม้ท้องถิ่น จำนวน 35 ครอบครัว ในหมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 6 หมู่ 7 และหมู่ 9 แบ่งเป็นการเยี่ยมวันละ 4 ครอบครัว พร้อมทั้งขอความรู้เรื่องพันธุ์พืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่นจากบ้านที่เดินสำรวจด้วย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับคนในชุมชนไปในตัว อีกทั้งยังทำให้เยาวชนเข้าใจถึงปัญหาที่ทำให้จำนวนลดลง จากการสำรวจครั้งนี้ทำให้กลุ่มเยาวชนพบว่าในชุมชนของตัวเองนั้นมีพันธุ์พืชท้องถิ่นอยู่ในชุมชนถึง 111 ชนิด จากนั้นก็ได้เปิดเวทีในชุมชนอีกรอบเพื่อเป็นการคืนข้อมูลให้กับชุมชน จึงได้ระดมความคิดเห็นเลือกพันธุ์พืชที่มีความสำคัญกับท้องถิ่นและกำลังจะหายไปเพื่อเก็บรักษาและขยายพันธุ์ไว้ในชุมชนจำนวน 15 ชนิด แจ๊คยังได้เล่าถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำสำรวจครั้งนี้อีกด้วยว่า

“ก่อนทำโครงการไม่มีความรู้ในเรื่องของการปลูกต้นไม้ ไม่รู้ว่าต้องปลูกต้นไม้ในฤดูกาลไหน เคยลองปลูกต้นไม้แล้วก็ไม่รอด ไม่สามารถขยายพันธุ์ต้นไม้ได้ ทำให้รู้สึกไม่อยากปลูกต้นไม้ เวลาที่แม่ให้ช่วยงานตัดหญ้าที่บ้านถ้าเจอต้นไม้ที่ไม่รู้จักก็จะตัดทิ้งหมด มีความรู้ในเรื่องของพันธุ์ไม้น้อย เมื่อก่อนคิดว่าพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ในหมู่บ้านมีแค่ 20-30 พันธุ์เท่านั้น แต่หลังจากที่ได้เริ่มทำโครงการแล้วจากการสำรวจพันธุ์ไม้ทำให้ได้รู้ว่าในหมู่บ้านนั้นมีพันธุ์ไม้อยู่มากถึง 70 กว่าพันธุ์ ได้เรียนรู้เรื่องการเพาะปลูก ฤดูกาลของการเพาะปลูกต้นไม้จากการลองผิดลองถูกในครั้งแรกที่ปลูกในฤดูร้อนทำให้กล้าไม้ตายเพราะว่าไม่มีน้ำ และอยู่ในช่วงใกล้สอบทำให้ไม่มีใครมารดน้ำ การดูแลพันธุ์ไม้ และการเก็บเมล็ดพันธุ์ จากการลงมือทำร่วมกันกับคนในชุมชนทำให้รู้สึกสนุก ภูมิใจและหวงแหนต้นไม้ที่ตัวเองได้เป็นคนปลูกเองถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ในที่ดินของตนเอง เดี๋ยวนี้เวลาตัดหญ้าถ้าเจอต้นไม้ที่ไม่รู้จักก็จะเก็บแล้วนำมาปลูก”