การเรียนรู้จากการทำโครงการลดมลพิษฟื้นชีวิตดิน

ศิริลักษณ์ สงคราม (เปรี้ยว)

เมื่อเปรี้ยวได้เริ่มขับเคลื่อนกิจกรรมกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม เปรี้ยวได้เรียนรู้และเข้าใจเพื่อนๆ ในทีม เรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นทีมที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน มีความห่วงใยกัน รวมถึงการเข้าใจถึงการแสดงออกของเพื่อนๆ ที่มีต่อเปรี้ยวที่แสดงถึงความห่วงใยมากกว่าการแข็งขันที่จะเป็นคนเด่นหรือคนเก่งในกลุ่ม และจากการได้ร่วมทำกิจกรรมกันบ่อยขึ้น เจอกันบ่อย ได้พูดคุยกันมากขึ้นระหว่างการสรุปงานทำให้เปรี้ยวได้รู้จักชีวิตของเพื่อนๆ ในกลุ่มมากขึ้น สนิทกัน และไว้วางใจกันมากขึ้น

การเรียนรู้การจัดระบบเบียบการทำงานของตนเอง อันไหนควรทำก่อนและอย่างไหนควรทำทีหลัง “บางทีทำไปแล้ว ทำข้ามขั้น เรารู้ข้อมูลพื้นฐานก็จริง แต่เรายังรู้ไม่แน่นพอก่อนที่จะบอกคนอื่น มันก็เหมือนการข้ามไป มันเป็นเหมือนข้อบกพร่องของตัวเอง” สิ่งที่เปรี้ยวได้เรียนรู้จากการสรุปงานในช่วง 4-5 เดือน และการหาความรู้ในสิ่งที่ทำให้ตนเองเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะนำไปบอกเล่าให้คนอื่นๆ รับรู้ เข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารจนเกิดความตระหนักถึงพิษภัยจากการใช้สารเคมีถือเป็นสิ่งสำคัญ “ก่อนที่เราจะให้คนอื่นได้รับรู้เรื่องโทษของการใช้สารเคมีคืออะไร เราต้องมีความรู้ก่อน โดยก่อนอื่นเราต้องมาแยกว่าเรื่องที่เราควรมีอะไรบ้าง ทำให้รู้ว่าเรามีความรู้ระดับไหน แล้วค่อยไปเรียนรู้เพิ่ม เช่น ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” จากคำบอกเล่าของเปรี้ยว

จากการลงพื้นที่เพื่อการสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน ทำให้เปรี้ยวรู้ว่าชุมชนยังไม่เข้าใจในสิ่งที่กลุ่มเยาวชนต้องการให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนหรือลดการใช้สารเคมีลง “ชาวบ้านบอกว่า ถ้าให้คนบ้านแบกเลิกนะเขาเลิกไม่ได้หรอก เขามีรายได้จากตรงนี้ ชาวบ้านเข้าใจว่าเราจะให้เขาเลิกทำเลย”

นอกจากนี้เปรี้ยวยังได้เรียนรู้เครื่องมือในการคิด (ภูเขา 3 ลูก) การวางเป้าหมายในแต่ละระยะของการทำงาน ทำให้เปรี้ยวได้เห็นภาพการก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จในการทำโครงการได้ชัดขึ้น “การแบ่งภูเขาออกเป็น 3 ลูก ซึ่งเหมือนกับงานที่แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยเริ่มจากระดับง่าย ระดับกลาง และระดับยาก ทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดกว่า” คำบอกเล่าของเปรี้ยวต่อการเรียนรู้จากเครื่องมือในการคิดและวางเป้าหมาย