​พรรณิภา โสตถิพันธุ์ : ​"พลเมืองเด็ก" เมื่อตัวเล็กเปลี่ยนโลก

­

ต่อไปนี้จะไม่มีคำว่า "ยัง (Young) เด็ก" อีกต่อไป ในเมื่อหัวใจของพวกเขา "ยิ่งใหญ่" จนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยสองมือ

­

"หน้าที่ของหนูคือการเรียนหนังสือเท่านั้น" กลับเป็นประโยคทิ่มแทงใจดำที่เด็กๆ ได้ยินได้ฟังกันมาจนเบื่อ และถ้าจะว่ากันตามจริง หน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ควรมีอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าช่วงวัยไหน นั่นคือการเป็น "พลเมือง" ที่มีคุณภาพของประเทศ

­

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะพลเมืองผู้ใหญ่ที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา แต่ทุกวันนี้หาคำว่า "คุณภาพ" จากกำลังหลักได้ยากเย็นเหลือเกิน

­

เมื่อเป็นเช่นนี้เด็กและเยาวชนในจังหวัดสงขลาจึงรวมตัวกันลุกขึ้นมาสร้างเกราะป้องกันความอ่อนแอให้กับบ้านเมืองของตัวเอง พร้อมบรรเลงบทเพลงแห่งการพัฒนาเพื่อปูพื้นฐานการเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของประเทศในอนาคต

­

1."ความเป็นพลเมืองน่าจะเป็นโจทย์ที่ทุกคนในประเทศต้องตระหนัก ต้องคิด ในขณะเดียวกันเด็กเองก็ต้องเตรียมไว้ คือไม่ใช่แค่เตรียมเข้าสู่อาเซียน แต่เป็นการเตรียมเข้าสู่การมีคุณภาพของการเป็นคนของประเทศ ซึ่งนั่นก็คือความหมายของคำว่าพลเมือง" พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม เล่าถึงความสำคัญของการเป็น "พลเมือง" ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในการจัดทำ "โครงการพลังพลเมืองสงขลา" (The Young Citizen) พื้นที่แห่งการพัฒนาความเป็นพลเมืองของเด็กๆ ในเขตจังหวัดสงขลา

­

โครงการพลังพลเมืองสงขลาเกิดขึ้นด้วยความคิดที่ว่า สถานการณ์ของบ้านเมืองต้องการพลเมืองผู้ตื่นตัว ตื่นรู้ เอาใจใส่ในกิจการบ้านเมือง รู้สึกเป็นเจ้าของ และกระตือรือร้นต่อการทำงานของผู้ปกครองบ้านเมือง การจัดทำโครงการนี้จึงเหมือนเป็นการเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้จากชีวิตจริง เพื่อให้เยาวชนมีทักษะชีวิต มีจิตสำนึกของความเป็นพลเมือง พร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเกิดอย่างยั่งยืน

­

"พลเมืองยุคใหม่ของโลกใบนี้ เดินออกจากบ้านจะไปชนไปสู้กับเขาอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ความสมาร์ท ความฉลาด ความรอบรู้ เราต้องมีงานวิจัยมาหนุน พลเมืองยุคใหม่ต้องอย่างนี้แล้ว ไม่ใช่ไปพูดต่อสู้กับคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองแล้วยังเป็นลักษณะ สาวว่า(น่าจะ) สาวว่าอย่างโน้น สาวว่าอย่างนี้ มันไม่น่าจะแล้วนะ เพราะทุกอย่างมันมีองค์ความรู้" พรรณิภา หรือ ป้าหนูของเด็กๆ ว่า

­

จุดเด่นของโครงการพลังพลเมืองสงขลาอยู่ที่การให้อิสระทางความคิด โดยให้เด็กและเยาวชนรวมกลุ่มกันศึกษาประเด็นปัญหาในสังคมใกล้ๆ ตัว พร้อมเขียนเป็นข้อเสนอโครงการ ซึ่งแม้จะเป็นครั้งแรกแต่ก็มีเยาวชนนำเสนอโครงการมากถึง 22 โครงการ หลายโครงการทำให้ผู้ใหญ่ในเมืองสงขลาหันมาฉุกคิดถึงประเด็นที่เด็กๆ นำเสนอ ขณะที่อีกหลายโครงการก็ช่วยคลี่คลายปัญหาของชุมชนที่กำลังประสบอยู่ไปได้มาก

­

2.ยกตัวอย่างเช่น โครงการครู ดีลีฟเวอรี่ ของกลุ่มสังคมศึกษาพัฒนาเยาวชน โดยนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาเอกสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ที่คิดและทำโครงการเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบ จนในที่สุดโรงเรียนบ้านพังเภา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่นิสิตอาสาเข้าไปช่วยสอน ยังเปิดดำเนินการได้อย่างปกติ แม้จะมีครูเพียง 2 คน กับนักเรียน 52 คนก็ตาม

­

"ถามว่ายุบได้มั้ย ยุบได้ แต่สำหรับโรงเรียนที่คนในชุมชนมีฐานะเท่านั้น อย่างโรงเรียนบ้านพังเภา คนในชุมชนค่อนข้างยากจน พ่อแม่ทำงานโรงงาน พ่อแม่แยกทางกัน ถ้าถูกยุบโรงเรียนเด็กตรงนั้นจะไม่สามารถเรียนหนังสือได้เลย เพราะไม่มีปัญญาไปเรียนที่อื่น" เอกพงษ์ สมหา หรือ เอก นิสิตชั้นปีที่ 3 ประธานโครงการครู ดีลิฟเวอรี่ บอก

­

เอก มองว่า การศึกษาถือเป็นปัญหาสำคัญที่เขาและเพื่อนๆ ในคณะศึกษาศาสตร์มองเห็น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เอกและเพื่อนๆ ครูอาสาจำนวน 15 ชีวิต พากันนั่งรถจากมหาวิทยาลัยเพื่อเดินทางไปสอนนักเรียนในโรงเรียนที่ห่างไกลออกไปถึง 60 กิโลเมตรทุกๆ สัปดาห์

­

"ผมลงไปสอนมา 2 เดือนแล้ว ไปทุกวันพุธ เวลาบ่ายโมงถึง 4 โมงเย็น สอน 3 วิชาหลัก คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แล้วก็เวียนกันสอน โดยใช้ครู 15 คน สามารถสอนได้ทุกวิชา ทุกชั้น ส่วน ป.6 จะเป็นการสอนบ้าง ติวบ้าง พอสอนเสร็จผมก็จัดเวทีประชาคม แล้วก็จัดเสวนาวิชาการ มีผม มีป้าหนู(พรรณิภา โสตถิพันธุ์) มีผู้ใหญ่บ้าน มีผู้นำทางศาสนา มีประธานการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน และมีผู้อำนวยการโรงเรียน มานั่งเสวนากันว่าจะพัฒนายังไง หนึ่งคือเราลงมาช่วยสอน สองจะหาคนในชุมชนที่มีความรู้มาช่วยสอน แล้วจะช่วยขับเคลื่อนทั้งชุมชน โรงเรียน คือพยายามทำให้โรงเรียนนี้ยืนได้ด้วยตนเอง นั่นคือความสำเร็จของเรา

­

ตอนนี้เราประสบความสำเร็จ 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือ หนึ่งทำให้ผู้ปกครองมั่นใจ สองทำให้เด็กมีความรู้มากขึ้น จากเดิมที่ผมไปสอน เด็กไม่มีพื้นฐานเลย เด็ก ป.1 บวกเลขได้แค่ 20 เด็กโรงเรียนอื่นเขาไปเรียนลบ คูณ หาร ได้แล้ว สมัยนี้อนุบาลยังบวกเลขเป็นแล้ว แต่ ป. 2 ยังทดเลขไม่เป็น นี่คือความด้อยกว่าของโรงเรียนในชนบทที่มันเหลื่อมล้ำกันในการศึกษาไทย ผมเข้าไปปูพื้นฐานและเทอมหน้าเราจะลงเต็มๆ ซึ่งผมประสานกับทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยแล้ว ท่านก็สนับสนุนเต็มที่ และเราก็จะทำงานกันจนกว่าจะเป็นพังเภาโมเดล"

­

แม้เป้าหมายของพวกเขาในตอนนี้จะอยู่ที่โรงเรียนบ้านพังเภา อำเภอสทิงพระ แต่ภาพรวมของการศึกษาทั้งประเทศ เอกก็อยากให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจังทั้งระบบ

­

"ณ วันนี้โรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบมีอยู่มากมาย แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศมองข้าม แล้วบอกว่าปี 2558 จะเข้าอาเซียนแล้ว ผมอยากจะถามว่า ถ้าการศึกษาไทยยังตกต่ำอยู่แบบนี้จะเข้าไปสู้ใครได้ หยุดเถอะครับวาทกรรมติดธงหน้าโรงเรียน เมื่อติดก็พอสักที วันนี้มาพัฒนาดีกว่า ธงชุดหนึ่งเป็นพันๆ โรงเรียนขนาดใหญ่มีงบประมาณเยอะ จัดสรรมาโรงเรียนขนาดเล็กบ้างสิครับ" เอก พ้อ

­

3.ภาพเล่าเรื่องเมืองสงขลา เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถตีแผ่ปัญหาของเมืองออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด โดยเยาวชนกลุ่มต้นคิด โรงเรียนมหาวชิราวุธ ที่ดำเนินโครงการได้รวมตัวลงกันพื้นที่เพื่อเรียนรู้ชุมชน และถ่ายภาพออกมา พร้อมๆ กับการศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อสะท้อนความคิดและสื่อสารกับสาธารณะอย่างมีพลังในรูปแบบสังคมออนไลน์

­

ธนกฤต โสเจยยะ หรือ จอม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มต้นคิด บอกว่า ที่ต้องใช้ภาพถ่ายในการสื่อสารถึงปัญหา เพราะว่าง่ายต่อการสร้างความเข้าใจ ที่สำคัญคือทุกคนสามารถตีความจากภาพถ่ายได้แบบที่ไม่มีใครตีกรอบ

­

"มันเป็นเหมือนสัญชาติญาณมากกว่า เราจะทำยังไงก็ได้เพื่อให้บ้านเราดี และเราจะอยู่ในบ้านเราอย่างมีความสุข ถ้าเปรียบสงขลาเป็นบ้านหลังหนึ่ง ถ้าบ้านเราเต็มไปด้วยของสกปรก บ้านรก เราก็มีความรู้สึกว่าไม่อยากอยู่บ้าน เราอึดอัด แต่ถ้าเมื่อไรที่มันโล่ง หรือเป็นระเบียบ เราก็จะรู้สึกว่า เราเดินหรือหยิบจับใช้สอยในบ้านอย่างมีความสุข มันก็เหมือนกับที่เราทำโครงการนี้ เราอยากปลุกพลังชาวสงขลาให้ลุกขึ้นมาอนุรักษ์และแก้ปัญหาของเมืองที่เป็นบ้านของเรา"

­

ด้าน มายด์-ปิญชาน์ ทองเจือเพชร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มต้นคิด เสริมว่า สงขลาเป็นเมืองที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติอันมีคุณค่า ภาพถ่ายที่นำมาเสนอจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

­

"ปัญหาที่เห็นมากที่สุดคือสิ่งดีๆ ที่ถูกมองข้าม พวกเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ถูกมองข้าม อย่างภาพเรือใหญ่กับเรือเล็กก็สะท้อนวิถีชีวิตเก่าๆ กับวิถีชีวิตใหม่ที่เข้ามา เราเปรียบเทียบกันได้ แล้วก็มีเรื่องวัฒนธรรม งิ้ว หนังตะลุงที่มันจะเริ่มสูญหายไป เหมือนที่ถนนนางงามมีงานสมโภชน์อะไรสักอย่าง คนไปดูน้อยมาก ภาพที่เราถ่ายมาสวยมากเลยนะ ดูเหมือนคนน่าจะครึกครื้น แต่จริงๆ คนดูน้อยมาก สาเหตุที่คนมาดูน้อยส่วนหนึ่งคงมาจากวัยรุ่นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากเกินไป มีสื่อใหม่ๆ มากขึ้น เลยไม่สนใจตรงนี้"

­

สำหรับปัญหาใหญ่ของเมืองสงขลาอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ การพังทลายของชายหาด เรื่องนี้ถูกยกขึ้นมาเป็นปัญหาหลัก โดยกลุ่มหาดเพื่อชีวิต โรงเรียนมหาวชิราวุธ ที่ทำ โครงการศึกษาปัญหาชายหาดของคนในท้องถิ่น ซึ่ง น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัวแทนกลุ่มหาดเพื่อชีวิต บอกว่า โรงเรียนมหาวชิราวุธอยู่ใกล้กับหาดสงขลา นักเรียนทุกคนมีความรักและผูกพันกับหาดแห่งนี้ หากหาดพังทลายก็เหมือนกับบ้านของพวกเขาก็พังทลายไปด้วย

­

"คอนเซ็ปต์ของเราคือ สร้างความรู้ความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์หาดทราย กิจกรรมหลักๆ จะเป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของหาดสงขลาว่า หาดนี้มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ส่งผลกระทบต่อชุมชนและคนในสงขลาอย่างไร นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ มีกิจกรรมเดินเท้าเล่าเรื่องหาด มีหนังสือเล่มเล็ก สื่อตัวหนึ่งที่เราคิดว่าจะสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้ชาวสงขลาได้ ตอนนี้มีทั้งหมด 7 เล่ม เป็นนิทานที่เราแต่งขึ้นมาเพื่อดูแลชายหาดของเรา

­

ที่พวกเราทำคือชุมชนเก้าเส้ง เราและชุมชนจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะผมก็ไม่ได้มีความรู้มากมาย ก็ขอลงไปศึกษา ขอลงไปเรียนรู้ พร้อมๆ กับเอาความรู้ตรงนี้ไปเผยแพร่ให้กับคนอื่นๆ เมืองไทยของเรามีดีเยอะ มีทั้งป่าไม้ โรงเรียนไหนอยู่ใกล้ป่าก็เอาป่าเป็นห้องเรียน โรงเรียนไหนอยู่ใกล้หาด ก็เอาหาดเป็นห้องเรียน ผมว่านี่คือโจทย์ที่สำคัญ และถึงจะจบโครงการไปแล้วพวกเราก็คงจะทำงานกันต่อ เพราะเราต้องการสะท้อนให้ทุกๆ คนรู้ว่า บ้านเมืองเรามันเกิดอะไรขึ้น"

­

4.เพราะโจทย์ค่อนข้างกว้าง ดังนั้นปัญหาที่เยาวชนทั้ง 22 โครงการสะท้อนออกมาจึงแตกต่างกันไป และใช่ว่าทุกๆ ปัญหาจะเข้าไปแก้ไขกันได้ง่ายๆ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องใช้หัวใจผูกเยาวชนกับพื้นที่นั้นๆ ให้ได้ก่อน

­

"สิ่งที่เด็กๆ พูดออกมาคือ ไม่อยากหยุด ไม่อยากจบ เพราะเด็กๆ ได้ผูกตัวเองกับเมืองสงขลาแล้ว การผูกตัวเองกับเมืองเท่ากับว่าเขาได้เริ่มมีความคิดอ่านในลักษณะของการเป็นพลเมืองของเมืองสงขลาแล้ว เด็กๆ มาจากบ้านแต่ละครอบครัว เวลาเกิดอะไรในบ้าน เขาจะเดือดร้อน เขาจะไม่ยอม เพราะเขาสำนึกเสมอว่า เขาเป็นสมาชิกหนึ่งในบ้าน แต่เวลาเกิดอะไรขึ้นกับสงขลา ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของผู้ว่าฯ เป็นเรื่องของเทศบาล เป็นเรื่องของโรงเรียน เรื่องของอะไรต่อมิอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเรา แต่จริงๆ แล้วในฐานะที่เราเป็นสมาชิกหนึ่งของสงขลา ยังไงก็เกี่ยวข้องกับเรา การทำอะไรของเราบางอย่างก็ไปกระทบเป็นลูกโซ่ หรือเขาทำอะไรก็กระทบกลับมาเป็นลูกโซ่ เพราะฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกับเราไม่ได้

­

แต่เมื่อเด็กๆ ได้ผูกตัวเองกับชุมชน ได้เห็น และเกิดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า "สำนึก" เด็กๆ ไปเห็นปัญหาไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาลุกขึ้นมาทำ ไม่มีใครทำเราทำ ลุกขึ้นมาศึกษา ลุกขึ้นมาร่วมกันทำ นั่นคือลุกขึ้นมารับผิดชอบ เราอยากเห็นเด็กๆ มีความคิดแบบนี้ แล้วยังเก็บความรู้สึกว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในสงขลามันเกี่ยวข้องกับเรา และเราต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรก็ตาม ตามความสามารถที่เรามี"

­

สุดท้ายแล้ว ประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ส่วนใหญ่มาจากพลังของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนจนกลายเป็นแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ วันนี้เด็กและเยาวชนในสงขลาพยายามดูแลและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเขาแล้ว ด้วยตระหนักถึงหน้าที่ที่มากกว่าการเป็นแค่ "นักเรียน" หรือ "นักศึกษา" คนหนึ่ง แต่วันนี้พวกเขาได้ก้าวขึ้นไปถึงการเป็น "พลเมืองที่มีคุณภาพ" ของประเทศ