นูรอามีนี สาและ : เทคนิคการโคชเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน PBL

เทคนิคเด่น ที่มักใช้ในการโคชพลเมืองเยาวชน เช่น คำถามที่มักใช้ วิธีการทำงานกับเยาวชนที่ได้ผล

ช่วงลงพื้นที่พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการเยาวชน

  • การตั้งคำถาม ให้เยาวชนชัดในโครงการที่ตนเองจะทำ โดยใช้แผนผังทางความคิด เพื่อให้เยาวชนได้เชื่อมโยงสิ่งที่ตัวเองจะทำอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยให้เยาวชนเล่าว่าตนเองและกลุ่มต้องการทำอะไร แล้วชวนคิดถึงทำไมถึงอยากทำอย่างนั้น เช่นสถานการณ์หรือสภาพชุมชนเป็นอย่างไร สาเหตุเพราะอะไร ถ้าไม่ทำโครงการจะส่งผลกระทบอย่างไรหรือจำเป็นหรือไม่ที่เราต้องทำกิจกรรมนั้น มีไอเดียร์หรืแนวคิดในการแก้ปัญหาอย่างไร ภาพฝันหรือสิ่งที่เขาคาดว่าจะได้รับคืออะไร
  • ชวนเขาคิดแผนการดำเนินโครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยใช้เทคนิคการเขียนTime line และเขียนธงหรือเป้าหมายโครงการของเขาให้ชัด แล้วตั้งคำถามให้เขาคิดกิจกรรมที่จะไปถึงเป้าหมายตั้งแต่ขั้นแรกควรทำอย่างไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร กิจกรรมนี้มีความจำเป็นหรือสามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ในระหว่างทำกิจกรรมเราได้เรียนรู้อะไร ความเป็นพลเมืองของเราจะเกิดขึ้นตอนไหนและให้เขาทบทวนกิจกรรมที่ทำแต่ละกิจกรรมว่าสอดคล้องกับเป้าหมายหรือไม่

ช่วงติดตาม/ลงพื้นที่หนุนเสริม

  • เยาวชนได้ดำเนินกิจกรรมอะไรแล้วบ้าง รู้สึกอย่างไรเมื่อทำกิจกรรม ก่อนทำกิจกรรมมีการวางแผนหรือไม่ เราชวนใครมาร่วมกิจกรรมบ้าง ชวนเขามาทำอะไรชวนเขาคิดด้วยหรือไม่หรือชวนแค่มาดำเนินกิจกรรม ผลจากการทำกิจกรรมเป็นอย่างไร เราเรียนรู้อะไร ตอนดำเนินกิจกรรมมีปัญหาอุปสรรคือย่างไร ทะเลาะกับเพื่อนในทีมบ้างมั๊ยแล้วจัดการกับมันอย่างไร เมื่อเขาเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราก็จะเสริมเขาเรื่องทักษะชีวิตที่เกิดขึ้นกับเขา ว่าเขาทำได้ดี ไม่ดีอย่างไร และส่งผลต่องานอย่างไร รวมถึงให้เขาสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดจากอะไร เพื่อให้เขาทบทวนการทำงาน พูดเชื่อมโยงให้เขาเห็นศักยภาพของเขาว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง พูดให้เขาเห็นถึงความเป็นพลเมือง เช่น เราเห็นมั๊ยว่าเราสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง การรวมกลุ่มของเราด้วยความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาชุมชนของเรา ทำให้เขาเห็นความสำคัญของปัญหาที่มีอยู่ และเข้ามาร่วมกิจกรรม วันหนึ่งคนในชุมชนอาจจะลุกมาทำอะไรดีๆให้กับชุมชนด้วยตนเอง หรือกล้าลุกขึ้นมารวมกลุ่มเพื่อพัฒนาชุมชนของเราต่อไป
  • ชวนเขาทบทวนการดำเนินงาน เช่นเขาทำกิจกรรมไปถึงไหน ไปตามแผนหรือไม่ เป้าหมายเป็นไปตามแผนที่เราวางหรือไม่ ถ้าไม่สามารถทำตามแผนเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งถ้าเยาวชนมีปัญหาเราก็จะชวนเขาคิด วางแผนแก้ปัญหาในการทำโครงการต่อไป ชวนเขาคิดถึงคุณค่างานของเขาว่ามีผลต่อเขา ต่อชุมชนอย่างไร

ข้อค้นพบในการออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ หรือวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสำนึกพลเมืองของเยาวชนในจังหวัด

-ต้องนำสถานการณ์ทางสังคมให้เยาวชนได้เรียนรู้ และเสนอความคิดเห็น เพราะเขาจะได้เท่าทันสถานการณ์การทางสังคมและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และแก้ปัญหาตามศักยภาพที่ตนเองมีอยู่

-ควรเปิดโอกาสให้เขาได้ทดลอง ลงมือปฏิบัติจริง อย่าพึ่งรีบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เขา เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และเกิดทักษะชีวิตและลงมือปฏิบัติจริง

-โค้ชมีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมเยาวชน โค้ชต้องเรียนรู้รูปแบบการสร้างการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ การตั้งคำถามชวนคิดที่สามารถเชื่อมโยงสิ่งเยาวชนคิด ตั้งคำถามที่ท้าทาย แต่การตั้งคำถามไม่เพียงแค่ให้เขาพูด แล้วทิ้งความคิดนั้น ในการตั้งคำถามโค้ชต้องมีเป้าหมายชัดว่าถามแล้วจะนำไปสู้อะไร ไม่ใช่ตั้งคำถามให้เยาวชนรู้สึกอึดอัดและสงสัยว่าถามเพื่ออะไร