พัฒนาการเจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่มจากมุมมองของตนเอง ในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปีที่ 2

นางสาวปรมัตถ์ ศิริยอด (บูม) 

เจ้าหน้าที่จัดการข้อมูล และพี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน (โค้ช)


ก. รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลเยาวชนแกนนำโครงการฯ สำหรับการทำหน้าที่ในส่วนของการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลเยาวชนแกนนำโครงการฯทำให้ตนเองมีความรอบคอบมากขึ้นในการเช็คความสมบูรณ์ของใบประวัติของเยาวชน ฝึกความมีระเบียบวินัยในตัวเองในการจัดเก็บข้อมูลตนเองสามารถมองเห็นปัญหาของการจัดเก็บข้อมูลโดยมีการเรียนรู้จากเวทีพัฒนาศักยภาพของเยาวชน การรวบรวมและการจัดเก็บทำให้ตนเองมีความอดทนมากขึ้น รู้จักที่จะควบคุมอารมณ์เมื่อต้องติดต่อประสานขอข้อมูลจากเยาวชนที่ตกค้าง และความพยายามในการพิมพ์เอกสารตนเองต้องพยายามบริหารเวลาและวางแผนงานให้ชัดเจนเพื่อที่จะไม่ให้งานซ้อนกันมากนัก

ข. หนุนเสริมการดำเนินงานของกลุ่มเยาวชน ดังนี้

๑) การพัฒนาโครงการของกลุ่มเยาวชนแกนนำ สำหรับการทำงานในส่วนนี้ตนเองคิดว่างานที่ได้รับมอบหมายฝึกให้ระบบคิดของตนเองดีขึ้น คือก่อนจะพัฒนาโครงการกลุ่มเยาวชนจะมีการประชุมเพื่อแบ่งโครงการที่จะรับผิดชอบ ตนเองจะพยายามเลือกกลุ่มที่เห็นว่าศักยภาพของตนเองสามารถทำได้ ตนเองจะประเมินศักยภาพของตนเองในเรื่องของการติดตาม ลักษณะของกิจกรรมที่เห็นว่าตนเองสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมของเยาวชนได้ เช่น ตนเองมองเห็นว่าโครงการ “รอยยิ้มเพื่อชุมชน” (Smile by CD.) ตนเองไม่สามารถดูแลได้เนื่องจากประเมินศักยภาพของตนเองแล้วว่าตนเองต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการพูดคุยให้น้องชัดเจนในสภาพปัญหาที่น้องจะลงมือทำ กลุ่ม CD Share เป็นกลุ่มเด็กที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยทำให้น้องมีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่และน้องๆ เรียนสาขาการพัฒนาชุมชน ของ ม.ราชภัฏสงขลา ทำให้น้องๆมีกรอบความคิดของตนเองเมื่อพี่เลี้ยงมีการพูดคุย แชร์ความคิดเห็นน้องจะไม่ยอมรับความคิดเห็นของพี่เลี้ยง ดังนั้นพี่เลี้ยงจึงประเมินศักยภาพของตนเองและประเมินสถานการณ์จึงให้เหตุผลว่าในกรณีนี้อาจจะเป็นเพราะพี่เลี้ยงเองยังไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้และยังอยู่ในวัยใกล้เคียงกัน จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้องเกิดกำแพงกั้นกลางไว้ และตัวพี่เลี้ยงเองยังมีความรู้ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับน้องๆกลุ่มนี้ จึงประสานให้เจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่มที่อาวุโสกว่าดูแลแทน

การพัฒนาโครงการของกลุ่มเยาวชนทำให้ตนเองเรียนรู้รูปแบบการทำให้โครงการของเยาวชนมีความชัดเจนขึ้นโดยยึดรูปแบบดังนี้ สภาพปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ ไอเดียร์ และภาพฝัน (ผลลัพธ์) การทำตามรูปแบบดังกล่าวทำให้เยาวชนมองเห็นสภาพปัญหาชัดเจนขึ้นและสามารถนำมาเชื่อมร้อยเป็นหลักการและเหตุผลของโครงการได้ การทำงานทำให้ตนเองสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ในสำนักงานและระหว่างพี่กับน้องในโครงการต่างๆทำให้เกิดเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกันและทำให้ตนเองมีความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโครงการของน้องๆเยาวชนที่รับผิดชอบเป็นการใช้ใจแลกใจ

การพัฒนาโครงการ ตนเองมองว่าการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญมากเพราะทุกคนจะช่วยกันเติมเต็มซึ่งกันและกัน เช่น การจัดเวทีพัฒนาโครงการเยาวชน ตนเองรู้ว่าจะต้องทำหน้าที่ในส่วนใดบ้างและจะคอยหนุนเสริมพี่ๆในบางช่วงของกระบวนงาน การทำงานบางครั้งต้องเจอปัญหาและไม่เป็นดั่งสิ่งที่ตนเองหวังไว้ ตนเองก็จะพยายามคิดเสมอว่าทำได้แค่ไหนนั่นคือสิ่งที่เราพยายามแล้ว การควบคุมอารมณ์และการมีสติอยู่กับสิ่งที่ทำเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในการทำงานการพัฒนาโครงการของกลุ่มเยาวชนแกนนำ

๒) การประสาน กำกับ ติดตาม ให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการ

ตนเองมองว่าการประสานงานกับที่ปรึกษาโครงการของกลุ่มน้องๆเยาวชนทำให้ตนเองต้องเรียบเรียงสิ่งจะพูดและคำพูดที่สุภาพ รู้จักกาลเทศะคุยกับผู้ใหญ่ต้องพูดจาอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบต่อองค์กร สำหรับส่วนของการติดตามตนเองมองว่าต้องมีการวางแผนอย่างละเอียดในการติดตามการทำงานของเยาวชนเพื่อไม่ให้ชนกับงานที่ตนเองต้องทำและรับผิดชอบตนเองจึงรู้จักที่จะต้องบริหารเวลาและแบ่งเวลาให้เหมาะสมสำหรับในการติดตาม ในบางครั้งที่เป็นการขับเคลื่อนโครงการกลุ่มเยาวชนตนเองต้องมองเห็นปัญหาและประเมินตนเองว่าเราควรจะขอคำแนะนำจากทีมงานสงขลาฟอรั่ม

๓) สังเกตการณ์ บันทึก รายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนกิจกรรมและพัฒนา การสังเกตการณ์ บันทึก รายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนกิจกรรม และพัฒนา ทำให้ตนเองรู้จักที่จะสังเกตน้องๆเยาวชนมากขึ้น มองให้เห็นความเป็นจริงมากขึ้นโดยมองจากการพัฒนาตัวเยาวชนมากกว่าที่จะมองที่ตัวกิจกรรม ในแต่ละกิจกรรมที่เยาวชนทำ ตนเองจะต้องรู้ว่ากิจกรรมนั้นมีเป้าหมาย มีวัตถุประสงค์อย่างไร เมื่อลงไปร่วมกิจกรรมพี่เลี้ยงจะต้องตั้งวัตถุประสงค์ในการลงพื้นที่โครงการเยาวชนว่าตนเองต้องการข้อมูลอะไรบ้างไม่ว่าจะเป็นสังเกตพฤติกรรม การทำงานแต่ละคน การทำงานเป็นทีม การมีส่วนร่วมของชุมชน นำมาบันทึกเป็นข้อมูลดิบ แล้วนำข้อมูลมาคิดวิเคราะห์ เขียนออกมาเป็นรายงาน ตนเองเรียนรู้จากงานโดยรู้จักตั้งคำถามให้มากขึ้นในสิ่งที่ตนเองไม่รู้และต้องศึกษาความรู้อย่างสม่ำเสมอ และพี่เลี้ยงต้องสามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษาแก่เยาวชนได้ โดยพี่เลี้ยงจะต้องให้คำปรึกษาบนพื้นฐานข้อมูลที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมมา

๔) ให้คำปรึกษาแนะนำ และเสริมสร้างพลังการขับเคลื่อนกิจกรรมของเยาวชน ตนเองเรียนรู้จากงานโครงการของกลุ่มเยาวชนโดยทุกครั้งเมื่อน้องเจอปัญหาต้องการคำแนะนำ/คำปรึกษา ตนเองจะพยายามพูดให้กำลังใจน้องและยกตัวอย่างเพื่อให้น้องมองเห็นภาพ หรือไม่ตนเองก็จะหารูปภาพหรือคลิปวิดีโอที่สื่อถึงการพยายาม การตั้งรับกับปัญหา โพสต์ลงในหน้า Facebook ของแต่ละโครงการที่ได้เปิดไว้ ตนเองมักจะคิดอย่างละเอียดในการตอบข้อสงสัยของน้องๆเยาวชน และพยายามสื่อสารเพื่อให้น้องได้เรียนรู้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องบอกคำตอบออกไป แต่เราจะชี้ทางเพื่อให้น้องไปให้ถึงคำตอบนั้น ในการเสริมสร้างพลังการขับเคลื่อนกิจกรรมของเยาวชนตนเองรู้สึกว่ามีความกล้าที่พูดมากขึ้นกล้าที่แชร์ความคิดเห็นมากขึ้น และบุคลิกที่ตนเองต้องทำให้น้องเกิดความเชื่อมั่นในตัวพี่เลี้ยงด้วยบุคลิกที่สุขุมมากขึ้น การพูดคุยที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

๕) รายงานความก้าวหน้าการจัดกิจกรรมของเยาวชนแกนนำผ่านสื่อ Social Network ทำให้ตนเองเรียนรู้การเรียบเรียงคำพูดการใช้คำพูด การลำดับเหตุการณ์ความสำคัญและจับประเด็นของกิจกรรมให้ได้ โดยข้อมูลที่จะนำมาเขียนผ่านสื่อ Social Network ตนเองต้องวิเคราะห์ เรียบเรียง ให้เป็นภาษาที่อ่านง่ายไม่ซับซ้อน และสิ่งที่สำคัญคือการสะกดคำในหลักภาษาไทยอย่างถูกต้อง

ค. จดบันทึก และรายงานสรุปผลการจัดกิจกรรมฝึกอบรมฯ ภายใต้แผนปฏิบัติการโครงการ ทำให้ตนเองมีความรับผิดชอบมากขึ้น ฝึกความอดทน ฝึกความพยายาม ฝึกการฟัง ทำให้ตนเองมีสมาธิและจิตใจที่นิ่งกับการสรุปรายงานผลการจัดกิจกรรม ฝึกการจับประเด็น การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง เช่น การสะกดคำผิด การใช้คำเชื่อม เป็นต้น ทำให้ตนเองได้ทบทวนกิจกรรมของเยาวชนไปด้วย

ง. ปฏิบัติงานกิจกรรมโครงการและงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย การเขียนหนังสือ และการส่งหนังสือ (ตามสถานที่ราชการต่างๆ) ทำให้ต้องเรียนรู้การทำหนังสือราชการ รูปแบบหนังสือ การใช้คำพูด และการตรวจคำผิดทำให้มีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น ทำให้ตนเองมีความละเอียดมากขึ้น ความรับผิดชอบและการตรงต่อเวลา และต้องศึกษารูปแบบหนังสือราชการจากพี่ๆที่มีประสบการณ์ หรือจากอินเตอร์เน็ต