ศราวุฒิ แก้วบุตร : นับหนึ่งที่ครูเดลิเวอรี วันนี้คือครูเต็มตัวผู้เข้าถึงปมในใจเด็ก

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร

  • ‘ครูเอ็กซ์’ ศราวุธ แก้วบุตร คืออดีตครูเดลิเวอรี ที่เข้าไปฝึกสอนในโรงเรียนขนาดเล็ก ห่างไกล ใกล้ถูกยุบ เพราะเด็กๆ เรียนจากครูตู้ ไม่เคยเจอครูตัวเป็นๆ
  • นนี้เขารับราชการครูเต็มตัว ส่วนหนึ่งมาจาก ‘ยาแรง’ ที่เขาได้รับตอนเป็นครูเดลิเวอรี นั่นคือคำถามว่า “จะเอาดีในอาชีพนี้จริงๆ ใช่ไหม”
  • “เรารักความรู้สึกว่าถ้าลูกศิษย์เราได้ดี เราจะรู้สึกดีไปด้วย เรารู้จักความรู้สึกนี้ เรารู้ตัวเองตั้งแต่ทำโครงการครูเดลิเวอรีปีหนึ่งเลย” คือคำตอบวันนี้ของครูเอ็กซ์
ภาพ: พัชริดา จูจรูญ

ย้อนกลับไปราว 5 ปีก่อน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา รวมตัวจัดตั้งคณะครูเคลื่อนที่นาม ครูเดลิเวอรี*เข้าไปสอนน้องๆ ในชนบทที่ห่างไกลออกไป ความน่าสนใจของ ‘ครูเดลิเวอรี’ ไม่ใช่แค่งานอดิเรกของนักศึกษาในช่วงที่ไฟฝันยังลุกโชน แต่เป็นการทำงานอาสาในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาซับซ้อนอย่าง โรงเรียนบ้านพังเภา ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวะสงขลา ซึ่งขณะนั้นนักเรียนไม่ถึง 100 คนต้องเรียนกับ ‘ครูตู้’ หรือครูในโทรทัศน์ และอาจถูกยุบเพราะคะแนนการเรียนการสอนของเด็กไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน

“เพราะพวกเขาไม่ได้เจอครูจริงๆ แต่นั่งเรียนกับครูในทีวีหรือ ‘ครูตู้’ มาตลอด แต่พอเขามาเจอเราตัวเป็นๆ แบบนี้ (ชี้ตัวเอง) เขาดีใจ ตื่นเต้น ทำตัวไม่ถูกว่าการพูดคุยกับครูตัวเป็นๆ สักทีหลังจากดู ‘ครูตู้’ มาตลอดชีวิตนี่ มันเป็นยังไง”

เอ็กซ์-ศราวุธ แก้วบุตร หนึ่งในอดีตครูโครงการ ‘ครูเดลิเวอรี’ เล่าย้อนให้เห็นภาพ ขณะนั้นเขายังเป็นเพียงนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

สำหรับเอ็กซ์ ‘ครูเดลิเวอรรี’ เป็นทั้งพื้นที่ทดลองและยาแรง ที่ตั้งคำถามกับเขาดังๆ ว่า ‘ที่อยากเป็นครู รู้แล้วใช่ไหมว่าต้องเจอกับปัญหาแบบไหน ถ้ารู้แล้ว ยังยืนยันชัดแจ้งใช่ไหมว่า จะเอาดีในอาชีพนี้จริงๆ?

เขายืนยันทำโครงการอยู่ 2 ปี ช่วงเวลานั้นเขากับเพื่อนลุยเปลี่ยนการสอนตั้งแต่ในห้องเรียนยันชุมชนที่เด็กๆ อาศัยอยู่ คำขวัญประจำใจของนักศึกษาอาสาขณะนั้นคือ ‘เมื่อไม่มีครูเดลิเวอรี เด็กต้องอยู่ได้ ชุมชนต้องอยู่ได้’ แม้เอ็กซ์เดินออกจากโครงการและปล่อยให้รุ่นน้องสานต่อห้องเรียนทดลองเคลื่อนที่นี้ต่อไป แต่เขาไม่ได้เดินออกจากการเป็นครู วันนี้เอ็กซ์ไม่ใช่แค่ ‘ครูอาสา’ แต่เป็นครูเต็มตัวแล้ว (และครูป้ายแดง) ที่ โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา จังหวัดสงขลา บ้านเกิดของเขาเอง

The Potential จับตัวครูหนุ่มที่ตารางอัดแน่นยุ่งขิงมานั่งคุยสอบถาม ชวนย้อนเวลาแลกเปลี่ยนการเดินทางครั้งทำงานในโครงการ ‘ครูเดลิเวอรรี’ เขาเจออะไรบ้าง ยาแรงที่ว่าเปลี่ยนวิธีคิดการเป็นครูอย่างไร ปัญหาจริงๆ ของการศึกษาของเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องเรียนกับ ‘ครูตู้’ ส่งผลกระทบอะไรกับเด็ก ต่อชุมชน ต่อคนเป็นครู

และวันนี้ อุดมการณ์ของเขายังไม่เปลี่ยนไปใช่ไหม?

จุดเริ่มต้นโครงการ ‘ครูเดลิเวอรี’

ตอนนั้นอยู่มหาวิทยาลัยปี 1 ช่วงต้นภาคเรียนแรก เราเห็นว่ารุ่นพี่ทำโครงการโครงการหนึ่งที่จะต้องออกไปทำอะไรกันก็ไม่รู้นอกมหาวิทยาลัยทุกสัปดาห์ จนกระทั่งมีพี่เขามาแนะนำในเอกว่ามีโครงการด้านสำนึกความเป็นพลเมืองอยู่ในชื่อ ‘ครูเดลิเวอรรี’

อาจเพราะตอนนั้นเรามีไฟในการเป็นครูกันมาก พอรู้ว่าโครงการที่พี่ๆ ทำอยู่คือการส่งความรู้ถึงมือเด็กโดยที่โรงเรียนนั้นอาจเป็นโรงเรียนที่มีปัญหาหรือไม่พร้อม แต่เราจะใช้ความรู้วิชาการที่ร่ำเรียนมา เข้าไปเติมเต็ม ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเขา เลยตัดสินใจลงมือทำกันตั้งแต่ปีแรก ตอนนั้นเราอยู่ปี 1 ก็ทำงานตามพี่ๆ เขาไป และกลายเป็นแกนนำของโครงการครูเดลิเวอรรีรุ่นที่สอง

ครูเดลิเวอรรีต้องทำอะไรบ้าง

ตอนปีหนึ่งเราเข้าไปรับโจทย์กับรุ่นพี่ว่าโครงการฯ ต้องการทำอะไร เริ่มจากพูดถึงปัญหาโดยรวมของแต่ละพื้นที่เพื่อดูว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไร สุดท้ายเราเลือกโรงเรียนในพื้นที่ที่ไกลจากตัวเมือง นั่นก็คือ โรงเรียนบ้านพังเภา ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองประมาณสองชั่วโมง ปัญหาตอนนั้น โรงเรียนใกล้จะถูกยุบ แต่ถ้าเราสามารถทำผลการเรียนของนักเรียนให้ดีขึ้นได้ก็จะช่วยไม่ให้โรงเรียนถูกยุบ นักเรียนก็จะมีที่เรียนต่อไป

ตอนไปโรงเรียนวันแรก ด้วยความที่เราเองไม่เคยสอนจริงเพราะตอนนั้นเพิ่งเรียนครูได้ปีเดียว เลยต้องเตรียมพร้อมมาก อยากไปสอน ไปให้ความรู้ เตรียมสิ่งที่ครูควรทำนั่นก็คือแผนการสอน เตรียมเนื้อหา วิธีการ เตรียมการรับมือกับเด็กต่างๆ ไป และคิดว่านักเรียนคงพร้อมรับ แต่พอไปถึงวันแรก ลงจากรถตู้ เข้าห้องเรียน กางเนื้อหาวิชาที่จะสอน ปุ๊บ… เด็กวิ่งออกจากห้อง จากที่เราคิดจะสอนวิชาการ แต่เอาแค่คำว่า ‘ดวงอาทิตย์’ ยังต้องสอนกันหลายครั้งมากกว่าเด็กจะเขียนได้ ตอนนั้นรู้สึกว่า ต้องเริ่มนับหนึ่งกับเด็กๆ ใหม่เลย

เพราะพวกเขาไม่ได้เจอครูจริงๆ แต่นั่งเรียนกับครูในทีวีหรือ ‘ครูตู้’ มาตลอด แต่พอมาเจอเราตัวเป็นๆ แบบนี้ (ชี้ตัวเอง) เขาดีใจ ตื่นเต้น ทำตัวไม่ถูกว่าการพูดคุยกับครูตัวเป็นๆ สักทีหลังจากดู ‘ครูตู้’ มาตลอดชีวิตนี่ มันเป็นยังไง

เราจับได้เลยว่า เด็กๆ จะตั้งใจเรียนมากเพราะกลัวว่าครูจะไม่มาหาพวกเขาอีก เขาจะรักเรามากเพราะเขารักสิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่าง ‘ครูตู้’ ไม่ได้

อยากให้ช่วยขยายความบริบทโรงเรียน ที่ว่าเรียนกับครูตู้ เพราะอะไรและส่งผลอย่างไร

เป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่มีผู้อำนวยการหนึ่งคน ครูสองคน แต่เด็กมีทุกชั้นตั้งแต่อนุบาล 1 ถึง ป.6 แต่ละห้องอาจมีนักเรียนแค่สองถึงสามคน แต่เด็กๆ ไม่ได้เรียนรวมกัน พอครูมีน้อย เท่ากับว่าครูคนหนึ่งต้องวิ่งไปดูห้อง ป.1 ป.2 ป.3 ครูอีกคนวิ่งดู ป.4 ป.5 ป.6

ภาพที่เห็นก็คือ พอครูวิ่งไปห้องนี้ เด็กห้องนู้นออกมา วิ่งไปจับเด็กห้องนู้น เด็กห้องนี้ก็ออกมา พอครูต้องวิ่งดูแลเด็กหลายห้อง ครูก็ไม่สามารถอธิบายเพิ่มเติมในสิ่งที่เด็กสงสัยได้ เด็กๆ ก็ได้แค่เรียนกับครูในทีวี พวกเราก็เลยเรียกทีวีนั้นว่า ‘ครูตู้’ คือเด็กได้นั่งดู แต่พูดตอบโต้กับเขาไม่ได้ ยังไม่รวมปัญหาว่าครูต้องเป็นทุกอย่างตั้งแต่ภารโรงยันผู้อำนวยการ

กลับบ้านวันนั้น ตัดสินใจเลยว่าจะสอนแบบที่เรียนมาหรือสอนตามรูปแบบไม่ได้แล้ว แต่เราต้องรับมือกับสภาพปัญหาที่พบเจอ เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการสอนเรื่อยๆ ให้เหมาะกับเด็กมากที่สุด และมันต้องยั่งยืน เพราะวันใดที่เราออกจากชุมชนไป แม้ไม่มีเรา ชุมชนต้องอยู่ได้ เลยนำมาสู่การออกแบบกระบวนการของการทำโครงการปีที่ 2 ที่ต้องเริ่มทำงานกับชุมชน จากเดิมที่โครงการปีหนึ่งเราลงมือแค่สอนหนังสือในโรงเรียนอย่างเดียว

ก่อนจะว่ากันถึงกระบวนการครูเดลิเวอรรี อยากชวนครูเอ็กซ์เล่าปัญหาของเด็กๆ สถานการณ์เป็นยังไงบ้าง

หลักๆ เป็นปัญหาจากที่บ้าน เรียกว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์เลยนะครับ ครอบครัวไม่อบอุ่น พ่อแม่แยกทาง พ่อแม่ออกไปทำงานในเมืองทำให้เด็กให้ต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย อยู่ที่บ้านก็ไม่ได้คุยกับใครอยู่แล้ว พอมาโรงเรียน แทนที่จะได้คุยกับครูกับเพื่อน ในห้องมีกันอยู่แค่สองสามคน หันไปอยากคุยเรื่องสนุกสนาน แต่พอสบตากันก็นั่งร้องไห้เพราะคิดถึงพ่อกับแม่ มันเป็นภาพที่แบบ… (เงียบ) เราก็เลยรู้สึก ทำยังไงก็ได้ เราจะต้องกลับไปทำให้ชุมชนนี้เข้มแข็งขึ้น ทำความเข้าใจสถานการณ์ให้ได้

ถึงจะเป็นนักศึกษาครู แต่ก็อยู่เพียงชั้นปี 1 การต้องไปเจอกับสถานการณ์การศึกษาระดับลึก เรียกได้ว่าเป็น ‘ยาแรง’ ของบททดสอบและวัดใจคนเป็นครู วันนั้นนักศึกษาคนนั้นคิดยังไงกับภาพตรงหน้า รู้สึกอย่างไร

ตอนนั้น เพื่อนทุกคนคิดเหมือนกันว่าสงสารประเทศ ใช้คำว่า ‘สงสารประเทศ’ เลยนะ เพราะอนาคตของชาติต้องอาศัยเด็กที่จะโตมาแทนเรา แล้วถ้าเขาเจอกับสถานการณ์แบบนี้ เปรียบเทียบเด็กในเมืองกับชนบท เด็กในเมืองได้รับสิทธิพิเศษเยอะ แต่เด็กชนบทเสียเปรียบ ทั้งเรื่องโอกาสทางการศึกษาบ้างล่ะ เรื่องการใช้ชีวิตบ้างล่ะ เปรียบเทียบกับความเป็นชนบทด้วยกันเอง ชุมชนที่เราไปทำงาน ทุกบ้านมีแต่คนแก่ เด็กๆ ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เลยรู้สึกว่าถ้าเด็กยังอยู่กับสังคมแบบนี้ ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาแบบนี้ แล้วยิ่งถ้าโตไป ต้องออกไปเรียนไกลๆ ปู่ย่าตายาย ซึ่งปู่ย่าตายายก็ขับรถไม่ได้ ไปส่งไม่ได้ สิ่งแรกที่พวกเขาคิดคือให้ลูกหลานออกจากโรงเรียน อยู่บ้าน เลี้ยงวัว ทำนา ปลูกพืช ก็เท่ากับเด็กต้องตัดอนาคตตัวเอง

กลับมาที่เรื่องกระบวนการแก้ปัญหา โครงการปีที่ 1 ซึ่งครูเดลิเวอรีเน้นเรื่องการเรียนการสอนที่ต้องเข้ากับสภาพปัญหาของเด็ก ทำอย่างไร

ต่อหนึ่งอาทิตย์ ครูเดลิเวอรีจะลงไปหาเด็กๆ หนึ่งวัน คือทุกๆ วันอังคาร จากตอนแรกเรามีแผนการสอนครบ 8 กลุ่มสาระเลย กลายเป็นสอนแค่ 4 วิชาหลัก คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แล้วก็สังคม และสอนแค่ช่วงเช้า ตั้งแต่บ่ายสองเป็นต้นไปเราไม่สอนวิชาการแล้วแต่สอนแบบชุมนุมแทน ชอบศิลปะใช่ไหม มาศิลปะ ชอบกีฬาใช่ไหม ไปเล่นกีฬา คือเลือกได้หมด อยากทำอะไร ให้เวลาเด็กๆ ได้ผ่อนคลาย

ในโครงการจะมีนักศึกษาครูไปช่วยกันประมาณ 15 คน ซึ่งต่อนักเรียนหนึ่งห้องเราใช้ครูประมาณ 2-3 คนเลย สอนด้วย จดบันทึกพฤติกรรมเด็กด้วย ทุกครั้งก่อนสอน เราจะประชุมก่อนว่าวันนี้จะทำอะไร และดูว่าเข้าใจตรงกันไหม แล้วค่อยแยกย้ายกันไปสอน พอสอนเสร็จก็กลับมาสรุปกันวันนั้นและที่นั่นเลยว่าวันนี้เราเจอปัญหาอะไรกันบ้าง มีอะไรต้องปรับในคาบต่อไป

ต่อเนื่องมาโครงการปีที่ 2 ซึ่งเริ่มลงพื้นที่ทำงานในชุมชน เป็นอย่างไรบ้าง

อย่างที่บอกว่ามันมาจากคำว่า ‘ยั่งยืน’ ซึ่งคำนี้เป็นคำที่เราพยายามพูดคุยเพื่อหาคำตอบกันตลอด ป้าหนู (พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม) บอกและถามกับเราตลอดว่า “ถ้าครูเดลิเวอรีออกมาจากพื้นที่ ชุมชนจะอยู่ได้ไหม โรงเรียนจะอยู่ได้ไหม” การทำโครงการฯ ในปีที่สอง เลยคุยกันว่า เราลองศึกษาชุมชนกันดูไหม หาข้อมูลเพิ่มทางเลือกเพื่อจะช่วยยื้อหรือต่อลมหายใจให้กับนักเรียน เพราะชุมชนจะเป็นผู้ขับเคลื่อนโรงเรียนต่อไป

เราเดินไปในชุมชน เช็คว่าแต่ละโซนหมู่บ้านนั้นมีกี่หลังคาเรือน มีประชากรเท่าไร เยอะไหม ซึ่งนี่ทำให้เราเห็นปัญหาว่าหมู่บ้านมีแต่ผู้สูงอายุ พูดคุยกับชาวบ้านได้คำตอบว่า เขาคงไม่ได้ส่งเด็กๆ เรียนต่อเพราะไม่มีปัญญาจะพาไป คนที่มีเงินหน่อยก็ฝากรถไปส่งในเมืองได้ คนที่ลำบากหน่อยก็ให้เด็กอยู่ที่นี่ ตอนนั้นเราคิดนะ มันเป็นงานที่ท้าทายเหมือนกันในการทำให้การสอนมันเสมอภาคเท่ากันทุกพื้นที่ แม้ว่าเราทำไม่ได้ทุกพื้นที่ แต่อย่างน้อยเราได้โอกาสเข้าถึงพื้นที่นี้

ผลที่เกิดคือ ปีนั้นมีทั้งรถไถมาไถหญ้าให้โรงเรียน ไม่ต้องใช้ภารโรงเลย มีคนมาช่วยทาสี ทำแปลงผัก มาสร้างอะไรร่วมกัน อย่างน้อยๆ มันเป็นสัญญาณที่ดีว่าชุมชนเห็นความสำคัญของโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้แล้วว่าโรงเรียนมีความสำคัญกับชุมชน

เอาจริงๆ ตอนนั้น นักศึกษาคนนั้นหวังกับครูเดลิเวอรรีไว้ว่าอย่างไร

เราอยากสร้างที่นี่ให้เป็นโมเดลให้ได้ อยากให้รุ่นน้องมาสานต่อโครงการ แม้ไม่ใช่นิสิตครูมหาวิทยาลัยทักษิณ แต่อยากให้เป็นพื้นที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของคนที่อยากรู้ว่าตัวเองพร้อมที่จะเป็นครูแค่ไหน หากต้องเจอสถานการณ์แบบนี้ พวกเขาจะสู้หรือถอย

ถ้ามันเกิดประโยชน์เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ต่อไปโรงเรียนอื่นอาจมาศึกษาจากที่นี่แล้วนำกลับไปใช้ และมันจะเป็นตัวเชื่อมช่วยกันกระจายเรื่องแบบนี้ไปสู่ชุมชนอื่น

ตอนจบโครงการในปีที่สอง สถานการณ์ตรงนั้นคลี่คลายไปถึงระดับไหน

เด็กๆ ที่ผมสอนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนระดับชาติสูงขึ้น เด็ก ป.6 รุ่นนั้นสอบเข้าโรงเรียนในเมืองได้บางส่วน บางส่วนก็ทำงานเลยไม่ได้เรียนต่อ

แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อยเราได้ทำให้เขาเห็นว่า วันใดที่เขาอยากเรียนต่อ เขาจะมีโอกาส สำคัญคือเราไม่บอกเขาว่าการเรียนต่อจะทำให้เขาประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

และต้องทำความเข้าใจนะครับว่า เด็ก ป.6 ของที่นี่กับในเมืองไม่เหมือนกันเลย ทักษะชีวิตของเด็กๆ ที่นี่ครบเครื่อง แต่เรื่องยาเสพติดนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผมทำโครงการครูเดลิเวอรีถึงปีที่สอง แต่โครงการยังมีรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยทำอยู่ถึงปัจจุบัน ยังมีเด็กรุ่นใหม่ที่ลงไปทำงานทั้งการสอนเป็นหลักและทำงานกับชุมชนคู่กันไป แต่ถ้าถามว่าสถานการณ์ของโรงเรียนและชุมชนคลี่คลายไปถึงระดับไหน ผมว่าผู้นำเขาเห็นปัญหาแล้วนะ รู้แล้วว่าควรจัดการยังไง ส่วนจะดำเนินการต่อหรือไม่เป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคม อย่างที่บอกว่าถ้าผู้นำอยากจะสร้างโอกาสให้กับเด็กที่นั่น เขาจะลงมือทำ

ทุกวันนี้เด็กๆ ยังเรียนกับ ‘ครูตู้’ อยู่ไหม

ยังเรียนกับ ‘ครูตู้’ อยู่ครับ แต่ว่าเด็กๆ ป.4-6 ถูกย้ายไปเรียนร่วมกับโรงเรียนอื่น ซึ่งทางโรงเรียนเองก็ได้รถตู้คันใหม่มาเนื่องจากผลสอบโอเน็ตดี ทางเขตฯ มอบให้รับส่งเด็กๆ ไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่นซึ่งมีครูเป็นบุคลากรจริง แต่น้องๆ ป.1-3 ยังเรียนแบบเดิมอยู่

ครูเดลิเวอรรีให้เครื่องมืออะไรกับคุณบ้าง

ทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งจำเป็นมากในการทำงานครั้งนี้ ตอนนั้นมีเพื่อนคือ อนันต์ ชูช่วย คนนี้เป็นประธานในรุ่น ปัจจุบันบรรจุเป็นข้าราชการครู คนนี้ให้ความเป็นครูกับผมและได้เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีมด้วยกัน

อีกอย่างคือโอกาส เพราะตอนที่ไปสอน เราไม่ได้มีความรู้จะไปสอนขนาดนั้น

มันเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้เรียนรู้ว่าการเรียนรู้ที่ดีต้องมาจากปัญหาจริงๆ เพราะเราเจอปัญหาหนักมาก จึงทำให้เรารู้ว่าอนาคตการเป็นครูต้องเจอปัญหาเหล่านี้อีกเยอะ แต่เราพอรู้แล้วว่าจะรับมือยังไง เหมือนมันฉีดวัคซีนให้ตัวเองแล้ว สำคัญคือได้รู้ว่า การจัดการเรียนรู้มันจัดรูปแบบเดียวไม่ได้

ทุกวันนี้คุณเป็นครูเต็มตัวแล้ว ฝันของครูเอ็กซ์คืออะไร

ต้องเล่าก่อนว่าเด็กที่เราสอนอยู่ก็มีปัญหาในแบบของตัวเอง เด็กใต้เนอะ บางคนต้องตื่นมาตั้งแต่ตีสี่มาเก็บยาง เก็บเสร็จหกโมงเช้า หกโมงเช้าไปหลับ พอไปงีบก็ตื่นสาย มาโรงเรียนสาย โดนหักคะแนน บางคนโดนตีทุกวัน เด็กก็ไม่อยากมาโรงเรียน เพราะครูมองว่า “เธอนี่ขี้เกียจ ทำไมไม่ตั้งใจเรียน มาโรงเรียนก็หลับ” เพราะเขาไม่มีเวลา บางคนต้องหามขี้ไก่ใส่รถบรรทุกตั้งแต่สี่ทุ่มจนถึงตีสี่ แล้วมาโรงเรียนสิบโมงทุกวันเลย อยู่ๆ ไปก็ค่อยรู้ว่าเด็กแต่ละคนต่างมีปัญหาที่ลึกกว่าที่เรามองเห็น ปัญหาคือ ไม่เคยมีครูคนไหนถามว่าเขามีปัญหาอะไร?

ฝันของเราจึงอยากเห็นเด็กทุกคนเรียนจบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะปัญหาเด็กๆ ในพื้นที่ตอนนี้คือการหลุดออกจากระบบกลางคัน ซึ่งท้ายที่สุดเด็กเหล่านี้จะออกจากชุมชน สังคมเองก็มองว่าเด็กเหล่านี้มีปัญหา ครอบครัวเองก็มองเขาแบบนั้น เพื่อนมองเขาแบบนั้น เด็กไม่รู้เลยว่าจะต้องปรับตัวยังไง ต่อให้ปรับมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเขาจะกลับไปอยู่ในสังคมที่มีแต่คนมองว่า “เธอเป็นเด็กมีปัญหามาก่อน” ได้ไหม ที่อยากให้เรียนจบเพราะอย่างน้อยมันจะตัดปัญหาการถูกตราหน้าว่าเป็น “เด็กเรียนไม่จบ” อย่างน้อยเขาไปสร้างอาชีพต่อ ไปทำงานต่อ เท่านี้เราจะหายห่วงแล้ว

สุดท้าย จากวันที่ทำโครงการครูเดลิเวอรี ทดลองเป็นครูตอนเรียนอยู่ปี 1 จนถึงวันนี้ วันที่เป็นครูเต็มตัวครั้งแรกได้ไม่เต็มขวบปีดี รู้สึกอย่างไร ยังยืนยันจะเป็นครูอยู่ไหม

ถ้าทำเพราะรักในอาชีพ เราก็จะสนุกกับมัน ที่เขาบอกว่าการเป็นครูต้องเป็น 24 ชั่วโมง มันจริงมากๆ เลยนะ มันมีบางอาชีพที่ทำงานจบเป็นวันๆ ได้ แต่ครู กลับมาบ้านต้องเตรียมการสอน อ่านหนังสือ ไหนจะปัญหาเด็กๆ เด็กหนีออกจากบ้าน-ครูก็ต้องโทรตามละ เด็กมีปัญหาชกต่อย-ครูก็ต้องไปหาเด็ก คือเราเป็นเหมือนเป็นทั้งครู เป็นทั้งตำรวจ เป็นทุกอย่างให้กับชีวิตเขา

เราไม่ได้รักความสบายนะ แต่เรารักความรู้สึกที่… ถ้าลูกศิษย์เราได้ดี เราจะรู้สึกดีไปด้วย เรารู้จักความรู้สึกนี้ เรารู้ตัวเองตั้งแต่ทำโครงการครูเดลิเวอรีปีหนึ่งเลย

*ครูเดลิเวอรี ภายใต้โครงการ Active Citizen สนับสนุนการจัดการเรียนรู้และโครงการโดย สงขลาฟอรั่ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล
อ่านบทความต้นฉบับที่นี่