อลิสา บินดุส๊ะ : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สงขลา

นางสาวอลิสา บินดุส๊ะ แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สงขลา


ฝน อลิสา บินดุส๊ะ เธอผู้มีหัวใจเพื่อกฎหมายและการปกป้องชายหาด เธอเป็นเยาวชนจากจังหวัดสงขลาที่มีชีวิตผูกพันกับหาดสิมิหลามาตั้งแต่เด็ก ฝนเล่าถึงที่มาระหว่างเธอและหาดให้ฟังว่าเธอเห็นชายหาดมาตั้งแต่เด็ก ทุก ๆ เช้า-เย็นชายหาดคือทางผ่านระหว่างบ้านเธอและโรงเรียนที่เธอต้องขี่รถผ่านทุกวัน ยิ่งนานเข้าเธอพบเห็นความเปลี่ยนแปลงของหาดที่เริ่มเปลี่ยนไป ทำให้รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องชายหาด หาดที่เป็นของทุกคนไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง

ฝนเริ่มเข้าโครงการจากการเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของโครงการ Beach for life นำโดยน้ำนิ่ง อดิศักดิ์ ทัศนี ก่อนจะแยกตัวออกมาทำโครงการเป็นของตัวเองโดยใช้ชื่อว่าโครงการ Law Long Beach “ฝนรู้จักป้าหนูกับโครงการ Active Citizen จากการมาร่วมกับน้ำนิ่ง แล้วขอทุนจากโครงการต่อเลยได้ทำต่อเนื่อง ตอนอยู่มหาวิทยาลัยก็ทำต่อจากประเด็นเดิม ตอนที่อยู่ Beach for life เป็นการสร้างความรู้สร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชน แต่มันทำให้เราเห็นว่า ต่อให้เราสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนก็เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าเราไม่เข้าไปสู่กฎหมายหรือนโยบาย เลยเป็นที่มาที่เราตั้งโครงการ Law Long Beach โดยการนำกฎหมายเข้ามาปกป้องร่วมด้วย” ฝนเล่าถึงที่มาของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาให้ฟัง และนี่ยังเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจเรียนนิติศาสตร์เพื่อต้องการใช้กฎหมายในการรักษาหาดไว้

ฝนจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เธอบอกว่าที่เลือกเรียนนิติฯ จริง ๆ ไม่ได้ชอบตั้งแต่แรก แต่เธอมองว่าเป็นสิ่งที่เธอทำได้ดีในตอนนั้น และเป็นสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับปกป้องหาดได้ “ตอนนั้นฝนมองว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ฝนทำได้ดี ประกอบกับพอเราออกไปข้างนอกแล้วเราใช้ได้จริงผ่านเรื่องกฎหมายชายฝั่ง เรามีแรงบันดาลใจกับเรื่องนี้จริง ๆ มีความต้องการที่จะเรียนเรื่องนี้เพื่อเอาไปทำอะไร เลยทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นในการที่จะเรียน” ฝนบอกถึงแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนเกี่ยวกับกฎหมายของเธอ

เธอสะท้อนการทำโครงการในรั้วมหาวิทยาลัยในให้ฟังว่า “ปีแรกที่ทำตอนนั้นรู้สึกว่าเป้าหมายใหญ่เกินไป ยังไม่ได้เป็นเป้าร่วมของกลุ่มด้วย เป็นการตั้งเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงเกินไปไม่ตอบสนองกับทุกคน สมาชิกบางคนก็ยังใหม่มากไม่ได้รู้เรื่องหาดเลย เขาจะเอา passion เรื่องหาดมาจากไหน พอปีที่สองเลยหยิบเอาเฉพาะเรื่องชุมชนออกมา เช่น เรื่องชุมชนชายฝั่งซึ่งมันคู่ไปด้วยกับลำดับการเรียนรู้ของเรา เราได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนไปด้วย เลยเปลี่ยนรูปแบบเป็นห้องเรียนสิทธิชุมชนชายฝั่ง รูปแบบก็สนุกมากขึ้น เขาได้ออกไปเจอคนจริง ๆ ออกไปเจอชุมชนจริง ๆ มากขึ้น เธอค่อย ๆ ปรับรูปแบบการทำโครงการไปเรื่อย ๆ แต่ยังยึดรูปแบบเดิมคือการปกป้องชายหาด” เธอสะท้อนการทำงานและรูปแบบโครงการที่ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไป

เพราะเป็นคนที่ชอบเรื่องท้าทาย อะไรที่ทำแล้วรู้สึกสนุกมีความสุข ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ากับงานนั้น ๆ เราก็อยากทำ หากนับเล่น ๆ กับการเข้ามาคลุกคลีในอยู่ในวงการของการปกป้องชายหาดผ่านการรู้จักเรื่องของสิทธิมนุษยชน ฝนบอกว่าปีนี้ก็น่าจะย่างสู่ปีที่ 10 เธอบอกว่าระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองพัฒนาขึ้นในเรื่องของการประสานงานทั้งกับผู้คน ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขอความร่วมมือต่าง ๆจุดแข็งน่าจะเป็นเรื่องการประสานงาน เพราะเราทำมานาน คลุกคลีในวงการนี้ทำให้รู้จักคนเยอะ มีเครือข่ายเยอะ เป็นสิ่งที่เราสามารถซัพพอร์ตเพื่อนในการทำกิจกรรมได้ อีกเรื่องน่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร การพูดโน้มน้าวคนที่คิดว่าตัวเองทำได้ดี ฝนประเมินจุดแข็งของตัวเองให้ฟัง

ฝนบอกว่าสิ่งที่เขาได้จากการทำโครงการฯ ไม่ใช่แค่เรื่องของความกล้าแสดงออกแต่สิ่งที่เธอได้คือเป็นเรื่องของจังหวะ การสรุปความคิด เรื่องคำพูดด้วย เธอยังบอกอีกว่าแต่ก่อนเธอเป็นคนใจร้อน เวลาทำอะไรจะไม่ค่อยมีสติ ไม่เคยกลับมานั่งคิดทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำ แต่โครงการฯ สอนให้เธอทบทวนสิ่งที่ทำ ทบทวนความรู้สึกความต้องการของตัวเอง ทำให้เธอยังคงทำงานนี้ต่อไปได้ ฝนบอกว่า “กระบวนการตรงนี้สำคัญมาก ไม่งั้นคงหมดไฟไปแล้ว เรียกรวม ๆ ว่าทักษะชีวิต การรับมือกับสถานการณ์ หรือการเอาตัวรอดการทำงานร่วมกับคนอื่น การทำงานเป็นทีม รวมถึงชุมชน ฝนว่าเป็นทักษะที่ได้จากการทำงานโครงการด้วย”

แม้ปัจจุบันจะไม่ได้ทำงานร่วมกับโครงการแล้ว แต่เธอยังคงนำกระบวนการที่ได้จากโครงการไปปรับใช้กับการทำงานเพื่อปกป้องชายหาดอยู่เช่นเดิม “กระบวนการเราใช้มาเรื่อย ๆ กระบวนการไม่มีสูตรสำเร็จอยู่แล้ว เหมือนเราเรียนactive citizen เราก็นำมาปรับให้เข้ากับกลุ่มของเรา ตั้งแต่กระบวนการคิด การวางแผน ประกอบโครงการฯ คอยอบรม เสริมทักษะให้กับพวกเราตลอดตอนที่ทำโครงการมันกลายเป็นทักษะติดตัวที่ยังคงใช้งานอยู่ เช่น เรื่องของการออกแบบหรือกระบวนการเช็คอิน เช็กเอาต์ทั้งหลาย AAR เรานำใช้หมด” ฝนเล่าการประยุกต์ใช้ทักษะที่ได้จากโครงการฯ ที่เธอนำไปประยุกต์ใช้กับงานในปัจจุบัน แม้การทำงานร่วมกับโครงการ ActiveCitizen จะจบลงแต่จุดหมายของการปกป้องชายหาดยังคงขับเคลื่อนอยู่ ภายใต้การหยิบจับ ความรู้ ทักษะที่ได้จากโครงการไปหนุนเสริม

เมื่อถามถึงความฝันของเธอ ณ เวลานี้ เธอบอกว่า “อยากเห็นสังคมที่เคารพในคุณค่าสิทธิมนุษยชน เห็นคนเท่ากัน มีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ปีนี้สิ่งที่จะทำคือเราจะทำองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของตัวเองที่เป็นองค์กรเยาวชน ทำงานสนับสนุนพื้นที่การใช้เสรีภาพและสิทธิพลเมืองของเยาวชนในภาคใต้” และนี่คือความฝันของฝน อลิสา เธอผู้มีหัวใจเพื่อการปกป้องชายหาดอย่างแท้จริง