ไครีย๊ะห์ ระหมันยะ : ชวนฟังเสียงจากคนรุ่นใหม่ Voice of new gen

เรื่อง The Potential

  • เมื่อ ‘เด็ก’ ‘เยาวชน’ ‘คนรุ่นใหม่’ วัยที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ เฟี้ยว อยากทดลองกับชีวิต สงสัยใคร่รู้ และอยากจะออกไปทดลองกับชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม
  • ในวาระวันเด็กแห่งชาติ 2564 ชวนไปฟัง 5 เสียงจากคนรุ่นใหม่ที่กำลังทำงานตัวเอง ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมนี้

ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) เด็ก หมายถึง บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

แปลว่าหากดูจากนิยาม ‘เด็ก’ ‘เยาวชน’ จริงๆ แล้วไม่ใช่ ‘เด็กเล็ก’ ในนัยแห่งความอ่อนแอ ถูกปกป้อง หรือต้องมีคนตัดสินใจให้ตลอดเวลา นิยามเป็นแค่นิยาม แต่จริงๆ แล้วคนที่อยู่ในวัยนี้เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ เฟี้ยว อยากทดลองกับชีวิต สงสัยใคร่รู้ และอยากจะออกไปทดลองกับชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม

ไม่เชื่อลองหันไปดูเด็กรอบๆ ตัวเรา หรือเด็กๆ ที่อยู่ตามข่าว หลายรายออกมาเป็นตัวแทนทำเรื่องสร้างสรรค์ มีพลัง ขับเคลื่อนเรื่องยากๆ หรือทดลองทำอะไรบางอย่างที่ผู้ใหญ่เผลอคิดและตัดสินด้วยซ้ำว่าทำไม่ได้

ในวาระ #วันเด็ก วันแห่งการเฉลิมฉลองให้กับคนหนุ่มสาวและวัยรุ่น The Potential ชวนฟัง ‘เสียง’ ของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนประเด็นที่ตัวเองสนใจและตั้งใจอยากทำให้มีประโยชน์ต่อสังคม

1.

ไครียะห์ ระหมันยะ หรือที่รู้จักในนาม ‘ลูกสาวแห่งจะนะ’ คือผู้ที่ไปปักหลักที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เพื่อขอยื่นหนังสือถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด คัดค้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ และขอให้ยุติเวทีรับฟังความเห็นของโครงการ

ความมุ่งมั่นของเธอในวันนั้นได้รับเเรงสนับสนุนจากสังคม และแรงนั้นมากพอที่จะเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นออกไป ทำให้ประชาชนหันมาสนใจโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะและมีชาวบ้านเดินทางสู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้มีการชะลอโครงการ ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลก็ประกาศชะลอการประชุมโครงการในที่สุด

หรือกล่าวให้สั้นคือ จากการต่อสู้ของ(เยาวชน)ผู้หญิงคนหนึ่งที่กล้าหาญ สู่การจุดติดวาระทางสังคม จะบอกว่าเธอคือ เกรต้า ธันเบิร์ก เมืองไทยในแง่การยืดหยัดต่อสู้เพื่อให้คนรับฟังปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ไม่ผิดนัก

ไครียะห์ ไม่ได้ต่อสู้โดยไร้ที่มาที่ไป แต่เธอคือหนึ่งในนักวิจัยที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม ‘บ้านสวนกง’ บอกเล่าถึงชีวิต ความเป็นอยู่ ระบบนิเวศน์ ที่ทำให้เธอแข็งแรงทางประเด็นเพียงพอจะออกไปต่อสู้เรียกร้องประเด็นทางสังคม

ชวนอ่านงานวิจัยโดยกลุ่มเด็กรักหาดสวนกง บ้านสวนกง หมู่บ้านเล็กๆ ที่ปกป้องทะเลมากว่า 24 ปี: หลักฐานว่าทำไม ‘ไครียะห์’ ต้องยื่นหนังสือถึงนายกฯ
และ เรื่องของไครียะห์: สวนกง…เพราะหาดคือชีวิต

2.

หลายคนที่เคยผ่านประสบการณ์รับน้องทราบดีว่า ความรู้สึกต่ำต้อย ความรุนแรงจากการถูกเหยียดหยามที่มาพร้อมการละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกายเต็มรูปแบบ ให้ความรู้สึกเจ็บแค้น หวาดกลัว และรู้สึกแย่ต่อตัวเองแค่ไหน

ที่น่าสนใจคือ ‘กิจกรรมรับน้อง’ เคยเป็นเรื่องที่พูดและวิจารณ์ไม่ได้มาตลอด จะต้องมีรุ่นพี่ที่เห็นด้วยกับการหลอมรวมเป็นพวกเดียวกันด้วยอำนาจแบบนี้ออกมาปกป้องอยู่เสมอ หากมีใครลุกขึ้นมาต่อต้าน จะถูก sanction จากคนในคณะจนอาจมีผลต่อการเป็นอยู่ในคณะ – สังคม – อาจเกือบตลอด 4 ปี

แต่ แฟรงค์-ธนวัฒน์ นุ่มเจริญและ กลุ่มศิลปิน whistleblower ไม่อยากให้ความจริงเช่นนี้สูญหายไป เค้าและทีมรวมตัวกันสร้างนิทรรศการ ‘SOTUS Object’ นิทรรศการที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในการจัดกิจกรรมรับน้องของคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขึ้นมาเพื่ออยากให้ทุกคนถอดบทเรียนกับมัน

SOTUS Object มีวันนี้เพราะพี่ให้ นิทรรศการแสดง ‘หลักฐาน’ รับน้อง ที่ต้องการยืนยันว่าการละเมิดมีจริงและไม่ควรถูกทำให้หายไป

3.

ภูมิ – ภูมิปรินทร์ มะโน ผู้ที่ลาออกจากโรงเรียนอายุ 15 ปี แล้วเดินทางตามฝันไปเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับโลก และเมื่ออายุ 17 ปี ภูมิก็ได้ทำงานเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) ที่อายุน้อยที่สุดของบริษัท OmniVirt สตาร์ทอัพสัญชาติไทยในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ต่อมาภูมิสร้างค่าย YCC (Young Creator’s Camp) เพื่อเป็นพื้นที่ให้เด็กคนอื่นๆ ค้นหาและพัฒนาตัวเอง

“เราอยากให้คนที่เขียนโปรแกรมได้ เป็นมากกว่าคนที่เขียนโปรแกรมตามคนอื่น แต่เป็นคนที่สามารถเสกสิ่งต่างๆ ขึ้นมา เราอยากให้เขาเป็นนวัตกรจริงๆ ไม่ใช่แค่คนเขียนโปรแกรมเป็น”

ชวนอ่านเรื่องของภูมิ การลาออกจากโรงเรียน: ‘ภูมิ’ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ผู้หยุดการศึกษาไว้ที่ ม.4 เพื่อเริ่มการเรียนรู้ตลอดชีวิต

และบทบาทนักพัฒนาซอร์ฟแวร์และการทำค่ายให้เด็กและเยาวชนสร้างนวัตกรรม: ‘เราจะก้าวสู่จุดที่เด็กทำวิจัยกับนักวิจัยเพื่อส่งของขึ้นอวกาศอย่างเป็นเรื่องปกติ’ ภูมิปรินทร์ มะโน

4.

แดน – แดนไท สุขกำเนิด หนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ชื่อ Deschooling Game เขาเป็นคนหนึ่งที่กำลังเรียนการศึกษาทางไกล (กศน.) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

ชวนอ่านเรื่องของคนทำและขั้นตอนการทำบอร์ดเกมที่ไม่ต่างจากการทำงานวิจัยขนาดย่อม พวกเขาต้องเริ่มจากศึกษากลุ่มเป้าหมายก่อนถึงจะออกแบบเกมได้ จนมาถึงขั้นออกแบบตัวเกมที่ไม่ใช่แค่คิดเนื้อเรื่องหรือรูปแบบ แต่ต้องออกแบบด้วยว่าทุกๆ มิชชั่น ทุกๆ เควส ที่ผู้เล่นเจอ เขาจะได้รับอะไรกลับไป

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจจากกลุ่มคนทำงานที่เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นได้หลากหลาย Deschooling Game ถอดวิธีคิดคนสร้างเกม ออกแบบประสบการณ์อย่างไรให้รู้สึกรู้สมจนอยากเปลี่ยนแปลง

5.

ปีที่ผ่านมา ที่คึกคักและทรงพลังที่สุดคือกองทัพติ่งเกาหลีที่เป็นผู้ขยับขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมแทบทุกประเด็นโดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตย

คนรุ่นใหม่กล้าแสดงจุดยืนในเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ โดยพวกเขาส่วนหนึ่ง (เเละอาจจะเป็นส่วนใหญ่) คือคนที่เรียกตัวเองว่า ติ่งเกาหลี หรือ กลุ่มเเฟนคลับศิลปินเกาหลี หากคุณสงสัยว่าเขาคือใคร ให้สังเกตชื่อเเละรูปโปรไฟล์ของเเอคเคาท์นั้นจะเป็นรูปที่เกี่ยวข้องกับศิลปินเกาหลี คนที่พร้อมจะเเท็กทีมในเเต่ละโอกาสเพื่อซัพพอร์ตศิลปินที่เขาชอบ เกิดเป็นชุมชนเเฟนคลับที่เริ่มขยายใหญ่ขึ้น มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม เเละภาษา เเม้ไม่เคยเจอกันมาก่อน เเต่คนในชุมชนนี้รู้สึกสนิทกัน (เข้าอกเข้าใจกันมาก) มานานหลายปี

ชวนอ่านอีกหนึ่งเสียงของคนรุ่นใหม่ว่าจริงๆ เเล้วติ่งเกาหลีในตอนนี้คือใคร การตามศิลปินส่งผลต่อความคิดของพวกเขาอย่างไรบ้าง จนกลายเป็นชุมชนที่เรียกได้ว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมเเละช่วยผลักประเด็นทางสังคมไปในวงกว้างได้ในเวลาไม่กี่นาที

จากติ่งเกาหลีสู่ Active Citizen: ลำโพงขนาดใหญ่ผู้ขับเคลื่อนประเด็นสังคมและการเมือง

อ่านบทความฉบับเต็มที่นี่