บทบาทพี้เลี้ยงเยาวชนรักป่าน้ำซำ

ปัจจุบันทำงานพีมูฟ ซึ่งก็คือการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มสมัชชาคนจน เป็นงานที่ช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อน เขาจะเข้ามาขอความช่วยเหลือในเครือข่ายของพีมูฟ เช่น การเรียกร้องสิทธิทำกินของกลุ่มโดยเราจะรวมตัวกันเป็นเครือข่าย แต่ละพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ พอดีพ่อแก้ว ท่านเป็นประธานเครือข่าย ให้เราเข้าไปช่วยดูแลเยาวชนในหมู่บ้าน เนื่องจากไม่มีใครดูแล ซึ่งห่างหายไปนานประมาณ 3 - 4 ปี ไม่มีใครที่พอจะรับผิดชอบได้เลย และเหตุที่เขาชวนให้เราเข้าไปทำนั้นเป็นเพราะไม่มีใครสนใจที่จะเข้าไปทำในตรงนั้น

เหตุผลที่เข้าเป็นพี้เลี้ยงให้กับเยาวชน

อาจจะเป็นเพราะอุดมการณ์ของเราเองด้วยที่ชอบที่จะเข้าไปช่วยเหลือคนในการเรียกร้องสิทธิทำกิน ซึ่งการเข้าไปเรียกร้องสิทธิทำกินเราต้องให้เขาเห็นชุมชนเราด้วยว่าเราจัดการทรัพยากรอย่างไรในชุมชน ดูแลอย่างไรในชุมชน ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เวลาที่เราไปอบรมที่ไหนก็มักจะมีคนบอกเรื่องเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร เช่น พื้นที่เราอยู่กับป่า ต้องดูแลป่า จัดการกับทรัพยากรอย่างไร ทำให้เรานำเอาความรู้ตรงนี้มาใช้ และดึงเยาวชนเข้ามา เพราะว่าสมัยนี้เยาวชนเป็นกลุ่มคนที่สังคมยอมรับเป็นหลัก เยาวชนต้องตระหนักก่อน จากนั้นจึงตอบตกลงช่วยในครั้งนั้น

บทบาทในการทำงาน

  หลังจากตัดสินใจเข้ามาดูแลเยาวชนในชุมชน ก็เริ่มคิดกิจกรรม คิดโครงการ ก็เริ่มดึงเอาเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมทีละคน ๆ เข้าไปพูดคุยกับเขา บอกถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยเด็กในโครงการจะมีตั้งแต่ ป.4 จนถึงอายุ 20 กว่า ตอนแรกเพลิง (แกนนำเยาวชนบ้านป่าน้ำซำ) ยังไม่เข้ามาร่วม เพลิงจะเป็นเยาวชนคนแรกที่เข้ามาร่วมในโครงการและรับตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มเยาวชนคนแรกของเรา แต่ตอนนี้ให้มาเป็นพี่เลี้ยงแล้ว ซึ่งพี่เองคอยฝึกเขาอยู่ ตอนแรกเข้ามามีประมาณ 6-7 คน แต่ก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จะพาเขาทำงานเกี่ยวกับเกษตรก่อน ทุนที่ทำเกษตรได้มาจากการเก็บขยะขาย โดยชวนเด็ก ๆ ไปเก็บขยะแล้วเอามารวมกันที่ศาลากลางบ้านแล้วชั่งขาย ได้เงินประมาณ พันกว่าบาท มีทุนของทางรีคอฟด้วย เอามาซื้อเมล็ดพันธุ์ และอุปกรณ์ในการทำเกษตร พวกท่อ สายยาง ผ้าสแลนท์   ในส่วนของเมล็ดพันธุ์เองชาวบ้านที่เป็นผู้ปกครอง เขาก็จะเอามาช่วยอีกทางหนึ่ง บวกกับทุนตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง พี่เองจะคอยประสานงานกับทางผู้ปกครองของเด็กด้วย ทั้งเรื่องของอาหารด้วย

  หลังจากที่ทำการเกษตรแล้วมีเงินเข้ากลุ่ม จัดว่าเป็นการออมของกลุ่ม พี่มาคิดต่อว่าควรจะมีอะไรที่เพิ่มบทบาทมากขึ้นสำหรับเยาวชน เพื่อให้เขาเกิดความรับผิดชอบ เลยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีประธาน รองประธาน กรรมการ และเลขา ให้เขาเลือกกันว่าจะให้ใครเป็นประธาน รองประธาน โดยทางกลุ่มเราจะมีการประชุมทุกวันศุกร์อยู่แล้ว จากนั้นก็มาช่วยกันหาข้อสรุปว่าเราจะออมกันคนละเท่าไหร่ต่ออาทิตย์ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปมาเป็นอาทิตย์ละ 20 บาทต่อคน ตอนนี้เงินในกลุ่มมีอยู่ประมาณสองพันกว่าบาท สำหรับโครงการออมเงินนี้ทางกลุ่มเราเพิ่งทำเมื่อไม่นานมานี้ แต่แปลงผักทำมาตั้งแต่ปี 2552

โครงการแรก ๆ มีตั้งแต่เมื่อไหร่

  พี่เข้ามาเมื่อปี 2552 ตอนนั้นเป็นช่วงของการหาสมาชิก เรื่อย ๆ จากนั้นก็มีคนเข้ามาช่วย ตอนนั้นมีโอกาสได้เข้ามาอบรมกับทางรีคอฟซึ่งเราก็ได้ความรู้จากการอบรมในครั้งนั้น และนำเอาความรู้ไปจัดการกับชุมชนและพูดคุยกับเด็ก เขาก็ให้ความสนใจกับเราดี อีกอย่างเราต้องจัดให้เป็นกิจกรรมด้วย ให้เขาได้เล่นไปกับเรา ให้เขาสนใจ และต้องมีเวลาด้วยให้กับเขาด้วย ไม่ใช่ว่าจัดทุกวัน แต่เราจะเน้นวันหยุด

แรงบันดาลใจที่ทำให้ก้าวเข้ามาในการทำกิจกรรม

  แรงบันดาลใจของพี่เอง พี่คิดว่าเราเองเป็นจิตอาสาด้วย เราก็ชอบตรงอุดมการณ์ที่เราเข้ามาตรงกับที่เราตั้งไว้ คือการจัดการทรัพยากร เราชอบตรงนี้ แต่ก็มีอุปสรรคเข้ามาระหว่างการทำงานของเรา คือครอบครัวเนื่องจากว่าเรามาอบรมค่อนข้างบ่อย ทำให้ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว เดือนหนึ่งประมาณ 3-4 ครั้ง แต่เราก็จะคุยกับเขา บอกเหตุผลให้เขาฟังว่าเราทำกิจกรรมนี้ไปเพื่ออะไร บอกเขาไปว่าเพราะเรารักชุมชนนี้ เขาก็เลยอนุญาตให้เราทำงานตรงนี้ พักหลังๆ มาก็เริ่มดึงลูก ๆ ของเราเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เป็นการปลูกฝังไปในตัวเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราทำ บางทีก็พาแฟนไปด้วย แรงบันดาลใจอีกอย่างคือต้องการให้คนในชุมชนรักชุมชนของตัวเองเหมือนที่เราเป็นแล้วเราถึงจะอยู่ได้

กิจกรรมที่ทำสำเร็จ

  เป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะสำรวจป่า หรือทำแนวกันไฟ ตัววัดที่สำคัญคือชุมชนยอมรับในสิ่งที่เยาวชนทำ ตอนแรกชุมชนไม่ยอมรับ ตอนนั้นเราท้อเหมือนกัน เพราะคนในชุมชนเขาคิดว่าเด็ก ๆ เขาทำไปอย่างนั้นแหละ แต่เมื่อเขาเห็นว่าเด็กทำจริง ๆ เขาก็ยอมรับ มีเหตุการณ์หนึ่งตอนนั้นไฟลามมาจะไหม้วัด เป็นวัดป่าอยู่ข้างบนไม่มีใครไปเลยมีแต่เยาวชนที่เข้าไปช่วย ไปช่วยตั้งแต่ทุ่มหนึ่งถึงเที่ยงคืน เราจะกันไฟเป็นทาง ไฟจะลงไปตรงไหนเราก็กันไว้ก่อน จะไม่ให้ไฟลามลงมาทำลายของของในชุมชนด้วย รวมถึงกุฏิวัดด้วย

  หลังจากที่เด็ก ๆ เข้าไปช่วยทำแนวกันไฟแล้วเราก็จะกลับมาถามความรู้สึกของเขาว่าเป็นอย่างไร เด็กเขาก็จะตอบกันมาว่ามีความสุขที่ได้ช่วยกันดับไฟ จะยกตัวอย่างให้เขาเห็นในสิ่งที่เขาทำว่าทำไปเพื่ออะไร พอเขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันมีประโยชน์ก็ชวนกันให้ทำเป็นประจำทุกปี

  อีกอย่างคือการสำรวจและการปลูกป่า โดยการปลูกป่าจะร่วมกับอุทยานภูผาม่าน ทางเจ้าหน้าที่เขาจะประสานมาทางเรา เขาก็บอกว่าทางเราจะช่วยให้เด็ก ๆ ไปร่วมกิจกรรมปลูกป่ากับทางอุทยานหรือเปล่าทางเราก็ยินดี เพราะเด็กเขาจะชอบกิจกรรมปลูกป่า อีกอย่างเป็นพื้นที่ของตนเองในชุมชนด้วย เป็นป่าชุมชนและรอบวงแหวนก็เลยออกทำ ตอนที่มาอบรมเขาจะพูดว่าป่าเสื่อมโทรม แล้วต้องทำอย่างไรให้ป่าฟื้นฟู  เมื่อเรากลับมาที่บ้านเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยประชุมหาวิธีที่จะทำให้ป่าของตัวเองฟื้นฟูขึ้น ก็มาช่วยกันทำ แต่ละคนก็เสนอความคิด แต่ถ้าจะให้ทำแค่เด็กไม่เกิดผลเราจึงต้องประสานกับทาง อบต.และผู้ใหญ่ในชุมชนให้เข้ามาช่วย ก็เริ่มเป็นงานขึ้นมาและเป็นงานที่ทำขึ้นทุกปี ตรงนี้สำเร็จไปเยอะเหมือนกัน

อุปสรรคในการทำงานของน้อง ๆ

  อุปสรรคในการทำกิจกรรมเป็นเรื่องของเวลาที่เราจะได้พบกัน ผู้ปกครองบางกลุ่มที่ไม่อยากให้ลูกเข้ามาร่วม เขาบอกว่าไร้สาระ เราก็เลยเข้าไปพูดคุยกับเขาเพราะบางทีเขาอาจจะมองไม่เห็นว่าเราทำอะไร บอกถึงลักษณะงานที่เราทำ และประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ มีผลอย่างไรต่อตนเองและลูกหลาน เขาเข้าใจเรามากขึ้นและปล่อยให้ลูกเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเรา จำนวนของเยาวชนก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

คนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมคิดเป็นเปอร์เซนต์ได้เท่าไหร่

  สำหรับกิจกรรมของพี่ ส่วนมากจะเป็นเยาวชนมากกว่าผู้ใหญ่ สมมติในจำนวน 100 คน ผู้ใหญ่จะมาประมาณ 30% ได้ ผู้ใหญ่เขายังไม่ค่อยยอมรับเท่าไหร่ ซึ่งเราเองก็พยายามหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่เขายอมรับเราในส่วนนี้ได้ ก็พยายามทำให้เขาเห็น เป็นข้อคิดอีกอย่างหนึ่ง คือเราต้องทำให้เขาเห็น ให้เขาไว้วางใจและเชื่อใจเราว่าเราทำได้ พี่คิดว่าคงจะดี ถ้าเราทำแบบนี้แล้วเขาเชื่อใจและไว้ใจเรา

ความคาดหวัง

  อยากให้เยาวชนในชุมชนสนใจมากขึ้นกว่านี้  หรือเยาวชนที่เคยอยู่ในกลุ่มแต่ออกไปเรียนข้างนอกอยากให้เขากลับมาช่วยกลุ่มและชุมชนของเขา ซึ่งเยาวชนที่ออกไปเรียนข้างนอกค่อนข้างเยอะเหมือนกัน กลุ่มพี่ออกไป 7 คน ซึ่งเขาอาจจะมีทางเดินของเขาในอนาคต อาจจะไม่มาร่วม แต่บางคนก็อาจจะเข้ามาช่วย เราต้องพยายามดึงเอาคนที่มีศักยภาพขึ้นมาเป็นแกนนำ ดึงขึ้นมาเรื่อย ๆ เหมือนที่ดึงเพลิงเข้ามา เมื่อก่อนเขาเป็นประธานแล้วก็ดึงเขามาเป็นพี่เลี้ยง จะดูอีกว่าจะสามารถดึงใครขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงได้อีกบ้าง คอยดูแลเยาวชนช่วยกัน

  พี่เองก็จะคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับเขา เรายังปล่อยเขาไม่ได้เพราะเขาเองก็บอกว่าอะไรก็ช่างที่ไปทำกิจกรรมเขาจะถามเราเสมอว่าเราไปไหม คิดว่าคงอีกนานกว่าที่เราจะปล่อยเขาได้ แต่จะเข้าไปช่วยเต็มที่ก็คงไม่ได้เพราะเราเองก็ต้องทำอีกหลายอย่าง ทั้งงานในชุมชนด้วยแล้วก็ทำงานของคุณหมอไฮเฟอร์ ที่เขาเข้ามาช่วยสนับสนุนภายในชุมชน เรื่องการออมทรัพย์ และจัดสัตย์เลี้ยงให้กับชุมชน พี่จะคอยทำกองทุนให้กับเขาและคัดคนในชุมชนให้กับเขา

นิยามของคำว่าต้นกล้าในป่าใหญ่

  สำหรับพี่ คำว่าต้นกล้า คือต้นไม้เล็ก  ๆ ที่ต้องไปเติบโตในป่าใหญ่ เหมือนเด็กที่เขาต้องการเรียนรู้ และไปเป็นผู้นำของรุ่นต่อ ๆ ไป จากรุ่นสู่รุ่น