หน้าที่ครูคือการบ่มเพาะนักเรียน

อ.ลัดดา ไชยโพธิ์

หน้าที่ครูคือการบ่มเพาะนักเรียน
อาจารย์ลัดดา ไชยโพธิ์ เป็นครูสอนวิชา.............ชั้น...................โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้มีโอกาสไปสัมผัส เรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการให้ จิตอาสาในโรงพยาบาลของโรงเรียนพิบูอุปถัมภ์ ได้รับความร่วมมืออย่างดี และปฏิเสธไม่ได้ว่า เบื้องหลังการเรียนรู้ของเด็กคือการสนับสนุนของครู
แรงบันดาลใจในการบ่มเพาะนักเรียน แม้ว่าอาจารย์ลัดดาจะบอกว่าคนที่จุดประเด็นความคิดโครงการนี้คือ อาจารย์สุธิสา ......................... ก็ตาม แต่เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจ อาจารย์ให้คำตอบว่ามันเริ่มขึ้นจากภายในใจของตัวเอง ที่สังเกตเห็นว่าเด็กในชุนชนเมืองขาดพื้นที่ในการทำกิจกรรม การทำความดีในโรงเรียนเริ่มจากต้องมีคนนำคิด นำทำ เพราะถ้าไม่มีแกนนำก็จะไม่ทำ นักเรียนจะเขินอาย ไม่มีครูเขาก็จะไม่ทำ ในช่วงแรกอาจารย์เองต้องเป็นคนริเริ่ม ลงมือทำด้วยตนเอง เช่น เห็นขยะก็เก็บ ถ้าครูไม่ทำ กิจกรรมพวกนี้ก็จะค่อยๆหายไป เด็กเองถ้าเห็นครูทำเขาก็จะมาทำด้วย ถ้าครูไม่กระตุ้นด้วยการเอาตัวเอาใจเข้าแลก จิตอาสาก็จะค่อยๆหายไป
ถึงเหนื่อย เป็นภาระเพิ่มก็ยอม อาจารย์ลัดดาเห็นว่า กิจกรรมแบบนี้ส่วนหนึ่งเป็นภาระเพิ่ม เพราะเราต้องคอยดูแลใกล้ชิด แต่ถ้าทำแล้วมันไปเปลี่ยนแปลงความคิดของเด็กได้บางส่วนมันก็น่าลองทำดู  ไม่เช่นนั้นเราจะเหนื่อยกับการพร่ำสอนตามปกติไปตลอดทั้งชีวิต แต่จิตอาสานี้ถ้าทำและเหนื่อยแล้วสามารถสร้างเครือข่ายไว้ที่โรงเรียนของเราได้ ต่อไปเราก็ไม่ต้องเหนื่อยอีกแล้ว เพราะเขาสามารถคิดได้ ทำได้ด้วยตัวเอง ตัวเราเองเป็นพุทธศาสนิกชน ถูกปลูกฝังในเรื่องการทำความดี เราช่วยเขา (นักเรียน) แล้วเขามีความสุข เราก็มีความสุข เราพอใจที่ตรงนั้น 
ขยายสู่..เพื่อนครูในโรงเรียน อาจารย์ลัดดาเห็นว่าโอกาสที่จะพูดคุยกันกับเพื่อนครูในโรงเรียนมันยาก แม้ในโรงเรียนจะมีเพื่อนครูที่สนใจ แต่เขาก็ไม่ได้ลงมือทำเหมือนเรา ตัวอาจารย์ลัดดาเองมีโอกาสเพราะได้ลงมาเจอกับเด็กกลุ่มนี้ ครูในวัยอย่างเราคิดอะไรได้เยอะแล้ว แต่ครูรุ่นใหม่เขาเพิ่งก่อร่างสร้างตัว เขาคิดว่าวันนี้ต้องสอนให้เด็กได้อะไร เขาสอนเด็กต้องให้ได้รางวัล เป็นการสร้างผลงานด้วย แต่สำหรับเราเด็กควรต้องครองชีวิตได้อย่างมีความสุข  การครองชีวิตของเขาไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

โรงเรียนส่วนใหญ่สอนให้เด็กเก่งแต่ลืมที่จะสอนให้เป็นคนดี หน้าที่ครูส่วนหนึ่งต้องสอนให้เขาช่วยเหลือสังคมได้บ้าง เราชอบบ่นว่าเด็กเก่งลืมที่จะมองสังคม ลืมที่จะช่วยเหลือสังคม ความจริงเขาไม่ได้เห็นแก่ตัวหรอก แต่เขาไม่ได้รับการปลูกฝังมา ไม่รู้ว่าการช่วยเหลือคนอื่นเป็นอย่างไร  ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์นี้ อย่างน้อยการพยายามบ่มเพาะนักเรียนแค่ 100 คน ได้ผลชัดเจนแค่ 10 คนก็พอใจแล้ว เพราะ 10 คนนี้ จะไปขยายผลของเขาเอง ที่ทำมาอาจารย์ลัดดาหวังแค่นั้น

บทบาทครูคือผู้กระตุ้นจิตอาสา
เรื่องของการไปช่วยเหลือผู้อื่น ครูจะเป็นคนชักชวน  ในส่วนการทำงานเป็นกลุ่ม ครูก็แนะนำให้ความช่วยเหลือในเรื่องคำปรึกษา เพราะเด็กกลุ่มนี้จะขาดความมั่นใจในตนเอง กิจกรรมทั้งหลายเริ่มแรกเด็กไม่มีความมั่นใจในตนเองที่จะทำเลย ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเด็กพิบูลอุปถัมภ์ส่วนมากจะอายในการทำความดีสักครั้ง เช่น จะเก็บขยะสักชิ้นเขาก็จะรู้สึกว่าอาย ครูก็ไม่รู้จะสอนอย่างไร สอนด้วยคำพูดก็แล้ว เด็กก็ไม่ค่อยจะทำ เลยสอนด้วยการกระทำ ลงมือทำซะเอง ครูใช้วิธีถ้าจะให้เด็กเก็บขยะ ครูก็เก็บเอง  ครูต้องลงมือก่อน ครูต้องใช้วิธีเช่นนี้เด็กจึงไม่อาย ที่ยังไม่พอใจคือยังเป็นกลุ่มน้อยๆอยู่  เด็กกลุ่มเล็กๆที่ลงมือทำกิจกรรมอาสา ยังขยายกว้างไม่ได้กว้างนัก เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาทั้งของครูเองและของเด็กด้วย
เด็กกลุ่มนี้ชอบทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม เนื่องจากเริ่มแรกจะขาดความมั่นใจในตนเอง (จึงต้องไปเป็นกลุ่ม) พอคนโน้นคนนี้ทำ เขาก็เริ่มมีความรู้สึกว่าเขาได้ทำเองได้ พอทำแล้วครูบอกให้ลองสังเกตใจตนเองว่าการที่เราทำความดีขึ้นมาสักครั้ง สิ่งที่ดีมันอยู่ตรงไหน มันอยู่ที่สายตาของคนอื่นหรือเปล่า มันอยู่ที่สายตาของเราเอง  หรือมันอยู่ที่ใจของเรา  ทำให้เขาเริ่มจะรู้ว่าทำแล้วมีความสุข และมันอยู่ในใจของเขาเอง เช่น เวลาเราเดินผ่านเศษกระดาษไป เราเริ่มรู้สึกไม่สบายใจแล้วว่าข้างหลังเราจะเป็นอย่างไร ครูเองบางทีดูเหมือนละเลยกับคนอื่นตอนขึ้นรถเมล์ เรารีบมากเกินไป เราลืมที่จะดูเด็กข้างหลัง  ดูคนแก่ข้างหลัง บางทีมันอาจเป็นเพราะสังคมเมือง ที่ทำให้เราอยู่กับความเร่งรีบมากเกินไป ทำให้เราลืมที่จะนึกถึงในข้อนี้
เมื่อหันกลับมาดูเด็กของเราส่วนมากจะเป็นอย่างนี้ คืออยู่กับความเร่งรีบ อยู่กับสังคมเมืองที่แก่งแย่งกัน ทำให้เขาไม่ได้คิดถึงว่าเขาควรต้องทำอะไรให้ผู้อื่นบ้าง ลืมนึกถึงไปว่าการทำประโยชน์ให้แก่คนอื่นทำอย่างไร ลืมนึกถึงการให้ เพราะว่าปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าเขารู้จักแต่รับ รับจากพ่อจากแม่  รับเสื้อผ้ารับ หนังสือรับอุปกรณ์การเรียน มาโรงเรียนทุกอย่างฟรีหมด เป็นฝ่ายรับทั้งหมด จนเด็กเหล่านี้ลืมเรื่องการให้ ลืมเรื่องการมีน้ำใจต่อผู้อื่นหมดสิ้น

จุดเด่นของจิตอาสาในโรงพยาบาล
การที่เด็กพวกนี้ได้ออกไปทำกิจกรรมจิตอาสาที่โรงพยาบาล พอได้เห็นหลายๆอย่าง หลายๆ เรื่อง เช่น เห็นเด็กที่ป่วย เห็นคนที่ด้อยกว่า ถึงแม้เด็กพิบูลอุปถัมภ์จะไม่พร้อมมาก เขาก็เริ่มรู้แล้วว่ายังมีคนที่ด้อยกว่า แย่กว่าเขาอีก มีคนที่เขาจะไปช่วยเหลือได้ ถ้าเราเริ่มปลูกฝังความคิดเหล่านี้ หากเขาคิดได้แล้ว ความคิดเหล่านี้ก็จะไม่เลือนหายไปจากเขา มันจะซึมซับอยู่ในตัวเขาตลอดไป
ตรงกันข้าม ถ้าสอนแล้วก็วาง (หยุด) เหมือนหลายกิจกรรมที่โรงเรียนเรียกพวกเขามาทำกิจกรรมได้สักระยะ แต่ด้วยความที่ต้องคอยควบคุมเขา ต้องดุ ต้องว่า ทำให้เมื่อทำไปแล้วก็จะเบื่อหน่าย  เขาจะมองไม่เห็นอะไร มองเห็นแต่ว่าต่อหน้าครูฉันมีหน้าที่เก็บขยะ แต่พอครูเผลอฉันมีหน้าทิ้งก็ต้องทิ้ง  พอเห็นครูเก็บเขาก็ต้องเก็บด้วย แต่เป็นการเก็บอย่างจำยอม ไม่ใช่เก็บด้วยใจ ถ้าได้ทำด้วยใจแล้วเหมือนกับว่าเขาจะซึมซับเข้าไปในตัว แล้วสิ่งดีๆก็จะอยู่กับตัวเขา
จุดเด่นของจิตอาสาในโรงพยาลอยู่ที่จิตใจ (ทำแล้วได้เรื่องจิตใจ) บางทีเด็กพวกนี้เขามีร่างกายสมบูรณ์ พอไปเห็นเด็กที่ร่างกายไม่พร้อม อย่างน้อยอารมณ์เขาจะอ่อนลง ถ้าเราจะสอนหรือปลูกฝังเรื่องอะไรไปก็จะทำได้ง่าย เขาจะคล้อยตามได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความอ่อนโยน และเป็นตัวจุดประกายให้เขาคิดอะไรได้มากขึ้น เช่น เห็นความจริงว่าตัวเองยังมีโอกาสดีกว่าที่ไม่ได้เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล จากการได้เห็นเด็กป่วย (แต่ไม่ได้ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม)
อาจารย์ลัดดาพูดถึงโครงการโรงพยาบาลมีสุขว่า ได้ช่วยสร้างพื้นที่การเรียนรู้และตอบโจทย์ของโรงเรียนอย่างไร ถ้าไม่มีมูลนิธิกระจกเงามาเปิดพื้นที่ให้ ครูเองก็มองไม่ออกว่าจะไปลงมือทำอย่างไร ทั้งที่เรามีใจอยากจะทำ เช่น เวลาเห็นเด็กตามสถานีรถไฟ ก็คิดจะทำกิจกรรมกับเด็กกลุ่มนี้ แต่เรามีเวลาจำกัด เพราะต้องลงไปบุกเบิกกว่าจะขยายผลและเด็กๆเติบโตได้ ครูและนักเรียนมักจะข้อจำกัดเรื่องสำหรับครูที่นี่ บางทีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด ทำให้การไปลงพื้นที่จริงแทบเป็นไปไม่ได้ การมีโครงการโรงพยาบาลมีสุข ทำให้มีคนมาช่วยเปิดพื้นที่ มาช่วยประสานงานพื้นที่ให้นักเรียนไปทำกิจกรรม เปรียบเทียบเหมือนกับว่า เป็นคนสร้างสนามเด็กเล่น พอเปิดสนามให้แล้วเด็กถึงจะเล่นได้อย่างมีความสุข

การเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงของนักเรียน
เด็กจะเรียนรู้ เพราะครูเป็นแบบอย่าง ทุกครั้งหลังจากทำกิจกรรมเสร็จอาจารย์ลัดดาก็จะมาชวนนักเรียนคุยว่าทำแล้วได้อะไรบ้าง สิ่งสำคัญที่สุดที่เราได้คืออะไร คนอื่นอาจจะไม่เห็น คนอื่นอาจจะไม่รับรู้ แต่สิ่งที่เราได้คือในใจเราเรามีความสุข พอทำแล้วมีความสุขเขาก็รู้สึกว่าอยากจะทำ  เด็กกลุ่มนี้เขาอยากทำไปเรื่อยๆ  การเรียนรู้ของเด็กคือ ตอนแรกเด็กกลุ่มนี้ไม่รู้ว่าการให้ การช่วยคนอื่น ทำแล้วจะดีอย่างไร พอกลับมาแล้วครูชวนคุย เขาก็บอกว่าทำแล้วมีความสุข และตั้งเป้าว่าต่อไปจะทำอะไร
หากจะมองเปลี่ยนแปลง อาจารย์ลัดดาบอกว่าต้องเปรียบเทียบกับบริบทเดิมของนักเรียน อาจารย์ลัดดามาสอนที่นี่เพียง 2 ปี  มาเจอประสบการณ์เลวร้ายเมื่อปีที่แล้ว เด็กนักเรียนก้าวร้าวมาก  และไม่เรียนหนังสือ เพราะถูกเลี้ยงมาผิดๆ โรงเรียนจะไปแก้ไขตอนไม้แก่ก็แก้ยาก จะชวนเขาไปทำกิจกรรมก็ชวนยากมาก เขาไม่ทำ ไม่สนใจเลย
พอมาปีนี้จึงมองว่าการจะเข้าถึงตัวเขา ดึงเขามาเรียน จะทำได้อย่างไรบ้าง ปีนี้เริ่มแก้ปัญหาไปทีละเรื่องโดยใช้วิธีการดึงเขามาเรียนและดึงไปทำกิจกรรมอาสา  เริ่มจากสิ่งเล็กๆโดยการเก็บขยะก่อน  เวลาเก็บขยะเพื่อนบางคนเยาะเย้ย เพื่อนบางคนกระแนะกระแหน พอเป็นอย่างนี้เขาก็เริ่มอายไม่กล้าทำ  ครูก็เริ่มจะเปลี่ยนเขาด้วยการลงมือทำเอง กวาดขยะเอง บางครั้งเข้าไปเห็นขยะในห้องเด็กไม่ทำเวรเกี่ยงกัน ก็คิดว่าเราจะทำอย่างไร พูดไปก็เหนื่อยและเครียด  จึงลงมือกวาดเองเลย ตอนหลังบางคนก็เปลี่ยน (เปลี่ยนแปลงได้บางคน ถ้าจะเปลี่ยนแปลงทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้) ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์  เนื่องจากข้อจำกัดครูที่นี่คือมีภาระสอนเยอะและภาระงานต่างๆมาก แทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น
ความเปลี่ยนแปลง จากเมื่อก่อนเวลาครูถือของมาด้วย หากจะให้นักเรียนช่วยต้องเรียกให้มาช่วยครูหน่อย บางครั้งเรียกแล้วก็ทำเป็นไม่ได้ยิน ครูต้องเรียกเจาะลงชื่อลงไป ถึงจะหันกลับมา นักเรียนไม่เคยปริปากว่า “อาจารย์จะให้หนูช่วยไหม”  แต่ปัจจุบันเด็กกลุ่มนี้จะเดินมาเราเราช่วยหิ้วให้ และเสนอตัวเข้ามาช่วยงานต่างๆ เช่น ถามว่า “อาจารย์ทำอะไรน่ะ หนูทำด้วย”
อาจารย์ลัดดาวบอกว่าตัวเองเกิดในสังคมต่างจังหวัด ซึ่งจะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เราจะคุ้นเคยอยู่กับสังคมพวกแบบนั้นมากกว่า พอมาเจอนักเรียนในเมืองก็ตกใจว่า เด็กๆเป็นอย่างนี้หรือ ถ้าเด็กครึ่งค่อนประเทศเป็นแบบนี้ ไปที่ไหนก็เจอเด็กประเภทนี้อยู่แล้ว ไม่เฉพาะเด็กในเมือง แต่เด็กต่างจังหวัดก็เป็นเช่นเดียวกันมากขึ้น ถ้าสังคมไทยทั้งประเทศเป็นอย่างนี้ ต่อไปในอนาคตเราจะอยู่กันอย่างไร เราคงต้องแย่งกันอยู่ ฉกชิงวิ่งราว อยู่กันแบบไม่สนใจซึ่งกันและกัน
อาจารย์คิดถึงสังคมในอนาคต แม้ไม่หวังเราจะแก้ทั้งหมดได้  แต่อย่างน้อยเริ่มจากเด็กๆกลุ่มเล็กๆใกล้ตัวเราไปก่อน ให้กลุ่มนี้ได้ถ่ายทอดแก่รุ่นน้อง ต่อไปเด็กที่ออกไปทำกิจกรรมจิตอาสาก็จะมีมากขึ้น นักเรียนที่เข้ารวมกลุ่มทำจิตอาสาอยู่ในปัจจุบันนี้มีลักษณะว่านอนสอนง่าย จะออกไปทำกิจกรรมกลุ่มเราก็ไว้ใจเขา แต่จะมีเด็กบางกลุ่มที่เอาข้ออ้างของครูไปอ้างกับผู้ปกครองแล้วไปไหนกันก็ไม่รู้ ทำให้ครูต้องคอยประสานงานกับเครือข่ายผู้ปกครอง จะขอร้องเครือข่ายผู้ปกครองให้ช่วยไปกับเด็กๆด้วย และมีรายชื่อเด็กๆทุกคนให้ดูแลด้วย
พฤติกรรมเปลี่ยนไป จากการได้ออกข้างนอก  เด็กนักเรียนถ้าเขาได้รู้จักการให้ โดยเริ่มจากให้ในสิ่งเล็กๆน้อยๆก่อน ที่เราพร่ำสอนว่าการให้ไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของ การให้เราให้ที่น้ำใจ เราให้ที่การกระทำ ถ้าเราทำในสิ่งเล็กๆ ได้ต่อไปสิ่งใหญ่ๆจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเรา ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมเขาได้ จากเด็กที่มีแต่รับ พอถึงเวลาส่วนหนึ่งที่เขาให้แล้วรู้สึกเกิดปีติ (นึกถึงตัวเองเวลาให้หรือทำความดีความรู้สึกปิติจะเกิดขึ้นกับตัวเอง)  เราก็ชวนเด็กมานั่งวิเคราะห์กันว่าให้แล้วได้อะไรบ้าง พอเขารู้ว่าการให้ทำให้เกิดความสุขปิติแล้วคนอื่นก็มีความสุขด้วย ตัวเขาเองจากที่หวังว่าจะได้อะไรจากคนอื่นบ้าง  เริ่มหวังว่าทำอะไรให้คนอื่นได้บ้าง
สิ่งเหล่านี้ เป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรม เขาเริ่มกลับมาย้อนมองตัวเองในลักษณะที่ว่าเขาพอหรือยัง เขาหวังจากตัวคนอื่นมากเกินไป หวังว่าจะได้อะไรจากคนรอบข้าง จากที่อยากได้โทรศัพท์มือถือก็เริ่มลดน้อยถอยไป เขาเริ่มมองแล้วว่าโทรศัพท์จะใช้ที่ไหนก็ได้ เด็กกลุ่มนี้เริ่มสนใจและหมกมุ่นกับสิ่งล่อใจที่มากับยุคเทคโนโลยีน้อยลง จากเมื่อก่อนโทรศัพท์ไม่ได้ว่าง (เดี๋ยวก็โทร.) เหมือนกับพื้นที่ในการแสดงออกของอยู่ที่โทรศัพท์ เขาได้แสดงความคิดได้พูดทางโทรศัพท์
เรื่องนี้อาจารย์ลัดดามองว่าเป็นปรากฏการณ์เรื่องการมีโทรศัพท์ที่จะต้องได้รุ่นดีที่สุดมาโดยไม่คำนึงฐานะผู้ปกครองนี้ สะท้อนถึงทัศนคติและค่านิยมในการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน ที่ได้รับการปลูกฝังมาจากสิ่งรอบตัว มันไม่ทำให้เขาดีขึ้นเลย เด็กอยู่กับการเสพสิ่งเหล่านี้มากเกินไป
ค่านิยมอีกอย่างของเด็กที่น่าวิตกมากคือ การมีเพศสัมพันธ์ เมื่อเด็กไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก ก็มาแสดงออกทางนั้น แต่ถ้าเขาได้ทำกิจรรมก็จะมีเวลาในการทำกิจกรรมมากกว่าหมกมุ่นในเรื่องนี้ จะพบได้ว่าเด็กนักเรียนในวัยมัธยมศึกษาตอนต้นชอบหนีโรงเรียนไปสวนสาธารณะต่างๆ กลายเป็นที่มั่วสุม กลายเป็นสถานที่ที่เด็กไปแสวงหาคู่ข้างหน้า ค่านิยมเรื่องการมีแฟนที่น่าตกใจคือเขาสามารถมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่เพิ่งรู้จักในวันเดียวโดยที่ไม่รู้จักชื่อ เป็นภาวะเสี่ยงมากทั้งต่อโรคและความปลอดภัย และเพศสัมพันธ์ดังกล่าวส่วนมากไม่ได้คุมกำเนิดไหม ไม่ทราบวิธีป้องกัน ใช้วิธีคุมโปงไม่เห็นหน้ากันกันก็พอ และผลกระทบต่อไปหากมีลูกขึ้นมาก็ลำบากอีก
จากสถิติของเด็กในเมืองพบว่า เด็กผู้หญิงร้อยละ 50 ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ สามารถพูดเรื่องเพศสัมพันธ์ได้หมดทุกอย่างและไม่อายด้วย สาเหตุเพราะการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม พ่อแม่ไม่เวลา บางที่บ้านก็มีสื่อลามกที่กระตุ้นพฤติกรรมทางเพศเด็ก และผู้ใหญ่เองก็เป็นตนเหตุของปัญหาเหล่านี้ เห็นได้ชัดว่าสังคมครอบครัวสมัยนี้ต้องแยกแยะกันมากว่า “คนนี้ลูกฉัน คนนี้ลูกเธอ และคนนี้ลูกเรา”  สถานการณ์เด็กและเยาวชนเช่นนี้ ที่อาจารย์ลัดดาหมั่นศึกษา เข้าถึง และเข้าใจนี้ เพราะตัวเองมีลูกสาว 3 เราคิดถึงลูกเรา ถ้าลูกเราเจอเพื่อนที่มีพฤติกรรมอย่างนั้นบ้าง จะทำอย่างไร

จิตอาสากับวัยรุ่น
จิตอาสาจำเป็นสำหรับวัยรุ่นแค่ไหน อาจารย์ลัดดามองเห็นปัญหาว่า สังคมปัจจุบันคนมันเห็นแก่ตัวมากขึ้น เด็กก็เห็นแก่ตัวมากขึ้น คิดว่าเด็กคืออนาคตของชาติ เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็ก แม้ได้เพียง 1 หรือ 2 คน แต่ก็เป็นกำลังของครูคนหนึ่ง เด็ก 1-2 คนนี้แหละที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงคนอื่น เปลี่ยนแปลงวัยรุ่นคนอื่น ต่อไปสังคมวัยรุ่นจะดีกว่าที่เป็นอยู่ และถึงแม้จะไม่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็ไม่เลวร้ายกว่าที่เป็นกำลังอยู่ วัยรุ่นไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะเขาต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เพราะฉะนั้นเขาต้องได้เรียนรู้ทั้งในเรื่องของชีวิต การทำกิจกรรมจิตอาสาเป็นการเตรียมความพร้อมที่เขาต้องอยู่ต้องเป็นต่อไปในอนาคต เขาจะต้องสร้างชาติ เขาต้องมีความคิดที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมบ้าง ถึงแม้จะไม่ได้ทั้งหมด อย่างน้อยเขาก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองและคนรอบข้างได้
อาจารย์ลัดดาวไม่ได้หวังอะไรมาก หวังเพียงแค่ว่าให้เด็กเป็นคนดี หน้าที่ของเราคือรดน้ำพรวนดิน รอวันออกดอกออกผล เราเห็นใบกิ่งก้านดอกสวยเราก็ชื่นชมอยู่ห่างๆ แต่คนที่ชื่นชมเป็นคนอื่นและคนรอบข้าง เราอยากให้สังคมมาเห็นว่าต้นไม้ที่เราปลูกไว้มันสวยมันงาม เราหวังว่าคนอื่นจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้เพราะเราก็แก่ลงทุกวัน
เด็กที่เอาแต่เรียนอย่างเดียว ถ้าเขาพลาดขึ้นมาจะไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่เด็กกลุ่มที่ผ่านจิตอาสา จิตสาธารณะเหล่านี้ เขาได้คิดแยกแยะเป็นแล้ว ก็จะมีภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง เวลาเห็นสิ่งเลวร้ายจะได้ไม่ถลำลงไปด้วย เด็กกลุ่มมัธยมศึกษาตอนต้นนี้ พลาดพลั้งได้ง่าย หากถลำลงไปขาเลอะข้างเดียวยังพอล้างได้ เพราะยังไม่ถลำเต็มตัวเราฉุดขึ้นมาให้เขาเห็นสิ่งดีๆ เขาก็จะแยกแยะได้เอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีเด็กหลายคนที่เตลิดเกินกว่าเราจะดึงเขากลับมา การบ่มเพาะเด็กกลุ่มเสียงด้วยจิตอาสานี้ จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีดังกล่าวแล้ว

อะไรที่อยากจะทำต่อ
ด้วยความที่อาจารย์ลัดดามีจิตใจอ่อนโยน เห็นตำรวจตระเวนชายแดนที่ต้องห่างลูกห่างครอบครัวมา ก็คิดถึงลูกเขาว่าจะเป็นอย่างไร บางทีพ่อเขาอาจอยู่ในโรงพยาบาลซึ่งเราจะไปช่วยอะไรได้ไม่มาก แต่ลูกเขาใครจะไปช่วย (คิดถึงลูกเขาลูกเรา) ใครจะไปพาลูกเขาไปเที่ยว เช่น งานวันเด็ก เราก็อยากพาลูกเราไปเที่ยวพา ไปดูอะไรข้างนอกบ้าง แต่พ่อเขาอยู่ชายแดน ใครจะพาลูกเที่ยว อยากให้กลุ่มคนที่ทำงานจิตอาสามาช่วยลูกของทหาร-ตำรวจ อย่างตัวอาจารย์เองลงไปไม่ได้ แต่ถ้ามีองค์กรทำหน้าที่จัดการและประสานงาน เป็นตัวเชื่อมกับโรงเรียน ครูและนักเรียนก็พร้อมจะไปช่วย
อาจารย์ลัดดาบอกว่าการช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนจะเข้ามาติดต่อประสานงานก็จะยินดีให้ความร่วมมือ ถึงแม้ตัวเองจะช่วยไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็จะพาเด็กนักเรียนไปเรียนรู้ ช่วยเหลือ  แบ่งปัน อยากให้เด็กมีประสบการณ์หลากหลายมากขึ้น แต่สำหรับโครงการโรงพยาบาลมีสุขนี้ ก็จะไม่หยุด แต่จะสร้างเครือข่ายในโรงเรียนให้มากขึ้น อย่างน้อยเด็กที่ทำเครือข่ายจิตอาสาโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ก็จะมีมากขึ้น ให้พวกเขามีเพื่อนมากขึ้น ไปเรียกเพื่อนอีกคนมา จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 และต่อไปอาจารย์ก็ไม่ต้องเหนื่อยปากเปียกปากแฉะ เพราะพวกเขาจะสามารถคิดได้เอง โครงการโรงพยาบาลมีสุขที่เกิดขึ้นมา กล่าวได้ว่าอยู่ในใจเราที่เราอยากทำพอดี