ประวิทย์ ลัดเลีย : เหนื่อยกาย...แต่สุขใจ

หากถามว่าเรียนจบแล้วอยากทำงานอะไร หลายคนคงมีฝันที่แตกต่างกันไป บางคนอยากเป็นหมอ บางคนอยากเป็นนักบิน อยากเป็นนักธุรกิจ หรือบางคนบอกว่า “ทำงานอะไรก็ได้ที่ได้เงินเยอะๆ”


แต่สำหรับหนุ่มคนนี้กลับบอกว่า “ผมอยากทำงานพัฒนาหมู่บ้าน ถ้าให้ไปทำงานที่อื่นก็ไม่ไป อยากทำงานที่บ้านตัวเอง” ประวิทย์ ลัดเลีย หรือ บังหยาด เล่าถึงความรู้สึกและความฝันให้ฟัง

“บังหยาด” เป็นอาสาสมัครเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน (Save Andaman Network) จังหวัดสตูล กว่า 5 ปีแล้วที่บังหยาดทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนชายฝั่งทะเล อันดามัน ตอนนี้บังหยาดรับผิดชอบดูแลเขตพื้นที่บ้านตันหยงอุมา ตันหยงกลิง บากันใหญ่ และยะระโต๊ดนุ้ย ก่อนบังหยาดจะมาเป็นอาสาสมัคร SAN นั้น เขาทำงานพัฒนาชุมชนในบ้านเกิดของตัวเองอยู่แล้ว

“หลังเรียนจบปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีนวัตกรรมการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ผมกลับมาอยู่บ้าน ออกเรือหาปลากับพ่อแม่ และได้อบรมแกนนำคนรุ่นใหม่พัฒนาหมู่บ้าน จากนั้นได้รู้จักกับผู้ประสานงานเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน (SAN) จึงมีโอกาสเข้าร่วมอบรมทำแผนธุรกิจ และศึกษาดูการทำธุรกิจที่หมู่บ้านอื่นๆ ในจังหวัดสตูล จากนั้นก็นำกลับมาทำที่หมู่บ้านตัวเอง”

บังหยาดเล่าถึงจุดเริ่มต้นของมือใหม่หัดเป็นอาสาสมัครว่ “หลังจากเกิดสึนามิ ผมเห็นความเสียหายมากมายเกิดขึ้นในหมู่บ้านหลอมปืนบ้านเกิดของผม ผมเป็นเยาวชนแกนนำหมู่บ้านเลยอยากเข้ามาช่วยเหลือ ตอนนั้นเขียนเรียงความเรื่อง “การช่วยเหลือสึนามิ” บอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และวิธีการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่งไปที่ศูนย์เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามันจังหวัดตรัง ได้รับคัดเลือกเป็นอาสาสมัคร ผมจึงเลือกทำงานที่สตูลบ้านเกิดตัวเอง”

เมื่อลงพื้นที่เยาวชนคืนถิ่นกลับต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งเรื่องกลุ่มอิทธิพลในหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ “การทำงานกับชุมชนไม่ง่าย เพราะเขาจะมีกลุ่มอิทธิพลในหมู่บ้าน มีแผนพัฒนาในกรอบความคิดของเขาอยู่แล้ว ชาวบ้านก็ไม่เชื่อใจเรา นานมากกว่าผมจะซื้อใจคนในหมู่บ้านได้ กว่าเขาจะยอมรับ เชื่อใจ และไว้วางใจ”

ถามว่าท้อไหม? บังหยาดบอกว่า “ท้อ” มาก แต่เรามองเห็นปัญหาของชาวบ้าน ทั้งปัญหายาเสพติดของกลุ่มวัยรุ่น หนี้สิน ติดการพนัน ติดเหล้า ซึ่งการช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐยังเข้าไม่ถึงชาวบ้าน เพราะชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ได้รับการเหลียวแล

จากปัญหานี้เอง บังหยาดจึงตั้งเป้าหมายในการทำงานว่า “อยากยกระดับสิทธิชุมชน”

กิจกรรมที่บังหยาดทำในช่วงแรกคือ ตั้งกลุ่มกองทุนหมุนเวียนอาชีพ และกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวบ้าน จากนั้นจึงร่วมพัฒนาหมู่บ้านจนเกิดแพชุมชน และร้านค้าชุมชน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านพึ่งตัวเองได้

ตอนนี้บังหยาดกำลังศึกษา โครงการระเบิดจุนลินทรีย์ ที่จะช่วยบำบัดน้ำเสียในทะเล และเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำ โดยนำกลุ่มแกนนำชาวประมงพื้นบ้านไปศึกษาดูงานที่จังหวัดชุมพร

นอกจากนี้ยังพยายามยกระดับกลุ่มหมู่บ้าน โดยการพัฒนาโครงการธุรกิจในหมู่บ้านให้กลายเป็นโครงการตัวอย่างสำหรับให้คนในชุมชนอื่นได้มาศึกษาดูงาน และนำไปปรับใช้ต่อไป


“ตอนนี้กำลังพัฒนาโครงการธุรกิจในหมู่บ้านให้เป็นตัวอย่าง เพื่อที่คนอื่นเขาจะได้มาดู มาศึกษา และเอาไปทำต่อ เราไม่ต้องไปลงพื้นที่อื่นอีกแล้ว แต่ชาวบ้านจากที่อื่นจะมาศึกษาที่นี่ ผมคิดว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน คือส่งเสริมให้ชาวบ้านหาความรู้ด้วยตนเอง และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม”

แม้จะได้รับผลสำเร็จจากงานบ้างแล้ว แต่บังหยาดยังวางแผนในอนาคตว่าจะสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านให้มากขึ้น ตอนนี้แกนนำที่ทำงานก็มีแต่ผู้ชาย แต่ก็พยายามดึงผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมด้วยโดยอาจให้ทำบัญชีไปก่อน ต่อไปคิดว่าจะสร้างกลุ่มแกนนำเยาวชนพัฒนาหมู่บ้านด้วย คือทุกคนจะได้ช่วยกันทำงาน สร้างหมู่บ้านหรือชุมชนเข้มแข็งต่อไป

ในฐานะคนทำงาน บังหยาดไม่ปฏิเสธว่าเขามีความคาดหวังต่อชาวบ้านและชุมชนอยู่ไม่น้อย ตอนนี้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดในอนาคตคือ พลังชุมชน อยากเห็นคนในหมู่บ้านรักหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ เมื่อเป็นเจ้าของแล้วเขาจะรัก ดูแล ปกป้อง และเห็นคุณค่าของตัวเอง พยายามพัฒนาศักยภาพของตนเอง และพึ่งตนเองได้

ทุกคืนก่อนนอน บังหยาด จะนั่งคิดทบทวนว่าตนเองได้อะไรจากการทำงานอาสาสมัครเพื่อชุมชน “งานอาสาสมัครไม่ใช่งานที่ได้เงินมาก แต่มีความสุข” นอกจากความสุขที่ได้จากการทำงานแล้ว บังหยาดยังได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในครอบครัว ที่สำคัญเขาได้พัฒนาตัวเอง รู้จักวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา “เมื่อก่อนเราเห็นแก่ตัว ต่างคน ต่างอยู่ ไม่สนใจว่าสังคมจะเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง แต่พอลงมาทำงานตรงนี้ เห็นพี่น้องชาวบ้านมีปัญหามาก น่าสงสาร เราก็มาวิเคราะห์ปัญหา ช่วยคิด ช่วยแก้ จากที่ทำไม่เป็น ตอนนี้เราทำได้ แก้ปัญหาให้เขาได้ และแก้ปัญหาให้ตัวเองได้อีกด้วย”

ความสุขที่บังหยาดได้รับจากการทำงาน เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขามีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อชุมชน “ทำงานแบบนี้เหนื่อยกาย แต่สุขใจ เห็นคนในหมู่บ้านมีรอยยิ้ม เราก็ดีใจ อยากทำงานนี้ต่อเพราะแบบนี้แหละ”

“การพัฒนาที่ดีต้องเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการ คือทำให้ทุกหน่วยงานมาช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอำเภอ อบต. กลุ่มเอ็นจีโอ หน่วยงานรัฐ หรือนักพัฒนา มาผนวกหรือทำงานร่วมกัน งานพัฒนาต้องช่วยกันดู ไม่ใช่พัฒนาแต่ละส่วน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ เราต้องคิดแบบองค์รวม วางแผนร่วมกัน จะได้ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ และพัฒนาไปในทางเดียวกัน” บังหยาด เอ่ยขึ้นอย่างมีความหวังว่าจะเห็นการพัฒนาแบบบูรณาการที่ยั่งยืนเกิดขึ้นในอนาคต


เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน
160/9 ถ.พระราม 6 ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง 92000
ประวิทย์ ลัดเลีย “บังหยาด” E-mail : yad_1920@hotmail.com

ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ประสานงานพื้นที่จังหวัดสตูล ภายใต้โครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)