10 รางวัลเข้ารอบสุดท้าย
ผลงาน Spirit of ship

ประเภท แอนิเมชั่น
ความยาว
5.37 นาที
แนวคิดของเรื่อง
เป็นการหยิบเอาเรื่องเล่าหรือตำนานที่เล่าขานในจังหวัดตราดเกี่ยวกับแม่ย่านาง นำมาเสนอในรูปแบบแอนิเมชั่น โดยในเนื้อเรื่องมีเด็กหนุ่มนักเก็บของบนเรือเก่าเป็นตัวเอก
เจ้าของผลงาน  
นายธนสรณ์ บุญลือ (ต๊อบ) อายุ 23 ปี
                           นางสาวดวงหทัย โสตภิเสาวภาคย์ (เฟอร์รารี่) อายุ 23 ปี
                           นางสาวธัญญา เถียรธันวรา (น้ำเย็น) อายุ 23 ปี
สถาบัน
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

บทสัมภาษณ์

ผลงานเรื่อง Spirit of ship หรือ “แม่ย่านาง” เป็น THESIS ก่อนเรียนจบ ซึ่งทางทีมอยากผลิตงานภายใต้เนื้อหาที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยได้รับ “แรงบันดาลใจ” มาจากความเชื่อของคนไทยในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โชคลาง จึงหยิบตำนานเรื่องราวผีไทยในมุมของแม่ย่านางมานำเสนอ เหตุผลที่เลือกเรื่องนี้เพราะทีมงานในกลุ่มมีบ้านติดทะเลอยู่ที่จังหวัดตราด รวมทั้งชื่นชอบทะเล ซึ่งข้อมูลและแบ็คกราวน์ที่ใช้ในเรื่องมาจากสถานที่จริงทั้งหมด ผสมผสานกับจินตนาการจากทุกคนในทีม

“ทีมต้องการสื่อถึงบรรยากาศและความรู้สึกที่ไปเก็บเกี่ยวจากสถานที่จริงแล้วนำมาถ่ายทอดให้คนดู เพราะประเทศไทยมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวกขึ้น การเดินทางด้วยเรือในปัจจุบันจึงลดน้อยลงเรื่อยๆ ประกอบกับแม่ย่านางซึ่งเป็นวิญญาณที่ดีในการปกปักรักษาคนเดินทาง มีคนรู้จักน้อยลง จึงนำเรื่องราวตรงนี้มาแต่งเป็นเรื่องราวขึ้น”


เนื้อเรื่องคือมีเด็กชายที่มีนิสัยลักเล็กขโมยน้อยเป็นตัวเดินเรื่อง จากการไปพบเรือร้างหลายลำในป่าโกงกาง เด็กชายคนดังกล่าวได้ขโมยของสำคัญในเรือร้างลำหนึ่ง จากนั้นแม่ย่านางจึงปรากฏตัวขึ้น เพื่อสั่งสอนไม่ให้เด็กขโมยของ ซึ่งความรู้สึกของคนดูที่ได้จากเรื่องนี้คือ “แรงบันดาลใจ” ในการกลับไปทำงานของตัวเอง เพราะทีมงานต้องการสื่อถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับมาจากสถานที่จริงและส่งต่อมาในรูปแบบของงานแอนิเมชั่น

นายธนสรณ์ บุญลือ หรือ “ต๊อบ” บอกว่า หลังจากได้ทำงานนี้รู้สึกว่าชุมชนที่เราอาศัยอยู่ตั้งแต่เด็กมีความสวยงามมาก รู้สึกรักบ้านเกิดตัวเองมากขึ้น ปัจจุบันผมเปิดบริษัทท่องเที่ยวของตัวเอง รู้สึกว่าคนที่ทำงานด้านแอนิเมชั่นจะต้องมีวัตถุดิบในการนำเสนอเรื่องราว การเดินทางจะทำให้คนทำแอนิเมชั่นได้ประสบการณ์ที่จะนำเรื่องราวมาทำแอนิเมชั่นดีๆ อีกหลายเรื่อง ส่วนความเข้าใจในเรื่อง Active Citizen ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็น “ฮีโร่” แต่เราสามารถปลุกฮีโร่ในตัวของเราเองได้ ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้

นางสาวดวงหทัย โสตภิเสาวภาคย์ หรือ “เฟอร์รารี่” บอกว่า หลังจากทำงานชิ้นนี้เธอรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาก เพราะเคยได้รับ Comment ในทางลบ ทำให้รู้สึกหมดกำลังใจและถอดใจที่จะทำแอนิเมชั่นต่อ แต่สำหรับงานชิ้นนี้ได้รับคำชมจากอาจารย์ถึงความโดดเด่นในด้านอาร์ตที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผลงาน งานนี้ชิ้นจึงเป็นเหมือนแรงใจที่ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนผลงานและจุดประกายในด้านแอนิเมชั่นต่อไปได้ อนาคตอยากเรียนต่อในด้านภาพประกอบโดยยังคงคอนเซ็ปต์งานแอนิเมชั่นต่อไป โดนฝันว่าอยากทำสื่อเพื่อขับเคลื่อนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ดีต่อสังคม

“หากมองในภาพรวมเรื่องแอนิเมชั่นตอนนี้กำลังเข้าถึงทุกวัย ส่วนการเข้าค่ายในครั้งนี้สามารถปลุกพลังในด้าน Active Citizen ได้มาก เพราะใครๆ ก็เป็นได้ถ้ามีไอเดียและกล้าทำ รวมทั้งมีคนสนับสนุนเรา ปัญหาในประเทศมีเยอะมากและการปลุกประเด็น Active Citizen ขึ้นมาจะทำให้บ้านเมืองมีความสุขสงบขึ้นและค่ายนี้ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคม”