บทพิสูจน์ความตั้งใจจริงของ “ รัฐ จำปามูล” เจ้าของบริษัท SPUNIK TALES สื่อดีๆ เพื่อสังคมไทย

บทพิสูจน์ความตั้งใจจริงของ “ รัฐ จำปามูล”

เจ้าของบริษัท SPUNIK TALES สื่อดีๆ เพื่อสังคมไทย

“เราสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวแอนิเมเตอร์ ภาคสังคมก็จะได้งานดีๆ ภาคธุรกิจได้เด็กเก่งๆ ไปทำงาน”

สิ่งที่ทำให้ “รัฐ จำปามูล” เปลี่ยนชีวิตจาก “วิศวกรรมการบินและอวกาศ” หันมาเป็น “นักสร้าง” แอนิเมชั่นเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ บริษัท สปุตนิค เทลส์ จำกัด (SPUNIK TALES Company Limited) ที่กล้าประกาศว่าเป็นผู้ประกอบการสังคม (Social Enterprise) เพื่อผลิตแอนิเมชั่น ที่มุ่งสร้างสรรค์สังคม

แรงบันดาลใจในการก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม เริ่มจากกลางปี 2553 ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง เพลงพระอาทิตย์ (Sunset Love Song) แอนิเมชั่นส่งผ่านความห่วงใย ที่ “รัฐ จำปามูล” ได้ผลิตออกไปได้เกิดกระแสในวงกว้าง และคว้ารางวัลหนังไทยแห่งปี 2553 จากนิตยสารไบโอสโคป และโล่เกียรติคุณสื่อป้องกันการฆ่าตัวตายจาก ร.พ.ราชวิถี

ผลกระทบรุนแรงที่ทำให้เกิดการกระเพื่อมกับตัวเองคือ “เพลงพระอาทิตย์” ทำให้น้องคนหนึ่งไม่ฆ่าตัวตายเพราะดูหนังเรื่องนี้ นี่คือ “จุดเปลี่ยน” ในชีวิต หลังจากความคิดทั้งหมดตกผลึก จึงตัดสินใจเริ่มต้นกิจกรรมเพื่อสังคมรูปแบบใหม่ เพื่อเป้าหมายที่จะสร้างแอนิเมชั่นเพื่อสังคมที่ก่อให้เกิด Social Impact ได้อย่างต่อเนื่อง และกิจการก็สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในโลกทุนนิยมนี้ โดยมีลูกค้าเป้าหมายหลัก คือหน่วยงานราชการ องค์กรสาธารณะ กระทั่งภาคธุรกิจที่มุ่งหมายสื่อสารประเด็นอันเป็นประโยชน์ออกสู่สังคม

แนวทางของ SPUNIK TALES คือผลิตแอนิเมชั่น ที่สร้างสรรค์งานแอนิเมชั่น เพื่อสื่อสารประเด็นเชิงสังคมโดยเฉพาะ เป้าหมายในการสร้างกิจการไม่ได้มุ่งเน้นไปที่แก้ปัญหาหนึ่งในสังคมโดยตรง แต่มุ่งสนับสนุนการสื่อสารให้กับองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคมแทน เพราะเชื่อว่าการรณรงค์ การถ่ายทอดแนวทางแก้ไขปัญหา หรือการบอกเล่าจุดยืนขององค์กรสาธารณะเหล่านั้นออกไป เพื่อก่อให้เกิด Social Impact นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสื่อสารที่ดี ชัดเจน และที่สำคัญคือต้องมีความน่าสนใจ

“วิธีคิดที่เข้าถึงใจคนหลายกลุ่ม เวลาเดียวกันก็มองถึง “ผลกระทบต่อสังคม” เป็นเข็มทิศนำทาง รูปแบบของบริการที่ออกมา จึงพยายามสร้างตัวเลือก เพื่อเป็นโซลูชั่นให้กับผู้คนที่หลากหลาย แม้แต่องค์กรทุนน้อย ก็อยากให้เข้าถึงแอนิเมชั่นคุณภาพดีได้”

และมีเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงผลงานความสามารถ เพื่อก้าวเข้าไปสู่การทำงานจริง โดยร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) จัดเทศกาลแอนิเมชั่นอิสระ Thailand Animator Festival ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงการสื่อสารเพื่อให้สังคมแข็งแรงขึ้น

“งานนี้เปิดรับอย่างอิสระ ให้โอกาสทุกคน ไม่มีโจทย์ ไม่จำกัดผลงาน ไม่จำกัดเทคนิค เปิดกว้างรับผลงาน คัดเลือกผลงาน โดยเน้นที่เนื้อหาเพื่อสังคม นำคนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าค่าย โดยมีพี่ๆ ในวงการแอนิเมชั่นมาให้ความรู้ จัดเทศกาลฉายให้เขาภูมิใจ เผยแพร่งานของพวกเขาออกไป เราสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวแอนิเมเตอร์ ภาคสังคมก็จะได้งานดีๆ ภาคธุรกิจได้เด็กเก่งๆ ไปทำงาน ซึ่งเราพยายามให้มันแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อยกระดับแอนิเมชั่นให้เป็นมากกว่า การ์ตูนสำหรับเด็ก”

นอกจากนี้ ทาง SPUNIK TALES ยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดัน การใช้ software open source สนับสนุนการสร้างงานแบบ Creative Common และให้โอกาสเยาวชนรวมทั้งผู้สนใจงานแอนิเมชั่น สามารถเข้าถึงองค์ความรู้และ Source ของการผลิต

“ถ้าเราทำเพื่อการค้า ก็อาจแข่งกันที่ราคา แต่การทำแอนนิเมชั่นเพื่อสังคม สิ่งที่แข่งขันคือผลกระทบต่อสังคม ในงบประมาณเท่ากัน ใครจะตอบโจทย์สังคมได้มากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากที่จะมีคนทำแบบเรามากขึ้น” นี่คือวิธีคิดแบบนักธุรกิจที่พ่วงคำว่า “เพื่อสังคม”
“เพราะเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่างานชิ้นใหม่ของพวกเรา ไม่ใช่เพียงการสร้างแอนิเมชั่นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นการสร้างระบบที่จะส่งเสริมการสร้างแอนิเมชั่นเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่างหาก เราจึงพยายามทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่คนกลุ่มหนึ่งจะทำได้ เท่าที่คนกลุ่มๆ หนึ่งจะเปลี่ยนแปลงโลกได้” รัฐ จำปามูล กล่าว


สำหรับผลงานเพื่อสังคมของ SPUNIK TALES ได้แก่

1.Animation: Green Consumer พูดถึงการใส่ใจถึงที่มาอาหาร และรู้จักผลิตภัณฑ์ โดย เครือข่ายตลาดสีเขียว บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด

2. Animation: ลดความเหลื่อมล้ำ ตอนการถือครองที่ดิน โดย V-Reform และมูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ

3. Animation: รู้เท่ากัน CSR บริษัทบุหรี่ เป็นงาน Info Graphic Animation ที่ชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์แอบแฝงของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ของบริษัท บุหรี่ โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สสส.

4. Animation: Info Graphic “ยื่นภาษีด้วยตัวเองง่ายๆ ใน 5 นาที” คลิปสอนยื่นภาษีทางอินเตอร์เน็ท สำหรับมือใหม่

5. A chain stories of shot animation “RGB” (แอนิเมชั่นการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง) แอนิเมชั่นเพื่อรณรงค์ในประเด็น ความขัดแย้งและแนวทางการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Asia Foundation/สถาบันพระปกเกล้า/มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)


รางวัล : ปี 2012 1 ใน 4 ทีมที่ชนะเลิศ ใน โครงการ Banpu Champions for Change 2010 /Winner Asia

Animation Award 2010 [by SIPA & TACGA]/หนังไทยแห่งปี2553 จากนิตยสาร Bioscope/ รางวัลสื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ประจำปี 2553 จาก รพ.ราชวิถี/บทภาพยนตร์ In between เข้ารอบโครงการ Film Expo Asia 2010 

ปี 2009 Youth Action Fund [Asia] [OZI-YOUTH] 

ปี 2007 SIPA PITCH 2007 [Thailand Animation and Multimedia]/1 ใน 10

หนังสั้น "Nike" Very Short Film/ Official selection Bangkok International Film Festival 2007

ปี 2006 Official selection World Film Festival of Bangkok#4 / รางวัลชนะเลิศ โครงการชีวจริยธรรมอนิเมชั่น/1 ใน 11 หนังสั้น ในโครงการภาพยนตร์สั้นใต้ร่มเงาสมานฉันท์