รางวัลพิเศษโล่รางวัล Best Visual โดย บริษัท สปุตนิกเทลส์ จำกัด

ผลงาน ARTIFICER
ประเภท
แอนิเมชั่น
ความยาว
9.31 นาที
แนวคิดของเรื่อง
เนื่องด้วยโลกมีการใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันธรรมชาติก็ถูกทำลายลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยแอนิเมชั่นเรื่องนี้จะช่วยในการกระตุ้นจิตสำนึกให้ตระหนักถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา
เจ้าของผลงาน  
นายศิลา สุวรรณสะอาด (พีซ) อายุ 22 ปี
                           นายยศพล จันทร์ศรี (ดุ๊ก) อายุ 22 ปี
                           นายวิรชา นนทการกิจ (วิ) อายุ 23 ปี
สถาบัน
Vuja De Animation

บทสัมภาษณ์

ทั้งสามเผยว่าชื่อผลงาน ARTIFICER ได้รับ “แรงบันดาลใจ” มาจากอวกาศ พวกเราจึงอยากใช้ตัวละครเดินเรื่องแบบอวกาศ โดยมีเนื้อเรื่องย่อๆ คือมีหุ่นยนต์ตัวหนึ่งถูกสร้างมาเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้แล้วส่งขึ้นไปในอวกาศ แต่มีตัวร้ายมาแย่งเมล็ดพันธุ์ไป สื่อถึงสังคมคือมนุษย์เป็นผู้สร้าง อยากให้คนดูตระหนักถึงการไม่รักษาพืชหรือธรรมชาติ ถ้าไม่รักษาสุดท้ายไม่เหลืออะไรให้ใช้เลย เพราะมันมีผลร้ายแรงในระยะใกล้และระยะยาว

“แรงบันดาลใจที่อยากทำเรื่องนี้เพราะอาจารย์ให้โจทย์มาว่า อยากให้ THESIS ของเรามีประโยชน์ต่อสังคม เราก็เลยทำตัวนี้ขึ้นมา ส่วนเรื่องข้อมูลมาจากการทำ THESIS เราทั้ง 3 คน นำโจทย์ที่ได้มาศึกษา 2 เรื่องคือ 1.การทำฉากอวกาศให้เข้ากับแอนิเมชั่นที่เราผลิตขึ้นมา และ 2.ออกแบบตัวคาแรกเตอร์คือแมลง จึงนำทั้ง 2 อย่างรวมกับเรื่องที่อยากจะให้คนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากร จึงออกมาเป็นเรื่องนี้”

สำหรับเรื่องนี้ที่กำลังจะฉายพวกเราอยากให้คนดูตระหนักว่า สิ่งที่เราใช้ เราทำอยู่ในขณะนี้ สุดท้ายวันหนึ่งมันจะหมดไป หากเราไม่ช่วยกันดูแลรักษา

ส่วนรางวัลพิเศษที่ได้รับ Best Visual พวกเรารู้สึกดีใจมาก รู้สึกว่าสิ่งที่พวกเราตั้งใจทำ ทั้งในด้านเอฟเฟคมันสัมฤทธิ์ผลแล้ว

ทั้ง 3 หนุ่มบอกอีกว่า พวกเราอยู่ในวงการนี้จึงอยากพัฒนาตรงนี้ให้ดีขึ้น ผลงานตรงนี้เหมือนเป็นแรงผลักดันให้อยากทำงานตรงนี้ให้ออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ อยากเปลี่ยนภาพลักษณ์วงการแอนนิมิชั่น 3D ของไทยด้วยการผลักดันให้คนหันมาสนใจให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นเทียบเท่าต่างชาติให้ได้

“ถ้ามีโอกาสทำงานของตัวเองจะสื่อในด้านการปลูกจิตสำนึกของทุกคน ยกตัวอย่างเช่น การเห็นใจกันและกัน การไม่แก่งแย่งชิงดีกัน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าค่ายแล้วนำมาใช้กับการทำงานคือ การได้ “เปิดมุมมอง” ในกระบวนการคิด ที่เราทำ THESIS มาเราอยู่กับตัวเองเยอะเกินไป สุดท้ายงานที่ออกมาอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง พอมาเข้าค่ายเราได้กลับไปย้อนมองผลงานของเราใหม่ว่า ตอนนั้นเราขาดอะไรไปบ้าง สิ่งที่เราไม่ได้ตระหนัก สิ่งที่เราขาดไป ซึ่งสิ่งที่เราขาดไปตอนนี้หลักๆ คือ การตีเนื้อเรื่องให้แตก หรือการเชื่อมโยงเนื้อเรื่องของตัวละคร และบท ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไป ซึ่งหากมีโอกาสทำงานด้านนี้จะค้นคว้าข้อมูลมากยิ่งขึ้น ปรึกษาผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น เพราะเรายังเป็นเด็กในวงการยังต้องการคำปรึกษาจากผู้รู้ในด้านนี้มากยิ่งขึ้น”

สำหรับน้องๆ ที่อยากเข้าวงการไม่ว่าจะเป็น 2D หรือ 3D ต้องมีความตั้งใจขยันหมั่นเพียรจึงจะสัมฤทธิ์ผล ส่วนงานเรื่องมดถือว่าเข้าใจพอสมควร เพราะมีคนคิดบทแล้ว การดูบทตรงนั้นทำให้ได้เห็นวิธีการคิดซึ่งในเรื่องเชื่อมต่อกันดีมาก พวกเราจะจำพวกจุดเด่นตรงนี้ไปใช้ในอนาคต สำหรับการทำงานตรงนี้รู้สึกมีความสุขมากๆ ได้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ๆ ได้เห็นผลงานใหม่ๆ ของคนอื่นที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยทำ ทำให้เรามีไฟ อยากทำในสิ่งที่แตกต่าง เชื่อว่าคนดูเรื่องมดจะเข้าใจเพราะเนื้อหาไม่ซับซ้อน เข้าถึงได้ง่าย มีการตีโจทย์และการเชื่อมต่อของแต่ละบทได้ดี จุดไคลแมกซ์ก็ทำได้ชัดมาก

ส่วนคำว่า Active Citizen เป็นคำที่เพิ่งเคยได้ยินครั้งแรก แต่ก็พอเข้าใจ เช่น การเห็นคนไปเบียดเสียดแย่งเข้ารถไฟฟ้ากัน ถ้าเรายืนเฉยๆ เหมือนไม่ใช่เรื่องของเรา ถือเป็นการกระทำไม่ดี เพราะมันส่งผลกระทบโดยรวมทำให้ทุกคนขาดจิตใจที่มีเมตตาต่อกัน ทำให้ทุกคนขาดความปรองดองต่อกันในสังคม อยากให้ไม่มีการแย่งชิง อยากให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน