การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนลาซาลทันทบุรี (มารดาพิทักษ์)

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนลาซาลทันทบุรี (มารดาพิทักษ์)

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

ถ้าดูจากการจัดแผนการเรียนรู้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้พบว่า โรงเรียนลาซาลยังมีปัญหาอยู่ เรามีทั้งครูที่สามารถวางแผนได้และไม่ได้ เพราะครูยังไม่เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาคนหนึ่งไม่สามารถวางแผนการจัดการเรียนรู้ได้ แต่คุณครูท่านนี้ก็พยายามศึกษา มีครูแกนนำลงไปช่วยชี้แนะ เมื่อมีการอบรมเราก็ส่งครูที่ไม่เข้าใจกระบวนการเข้าอบรมการจัดทำแผนการเรียนรู้ และการบูรณาการต่างๆ ผลักดันให้เขาร่วมเป็นวิทยากร เขาก็เริ่มเข้าใจ จนปัจจุบันเขาสามารถวางแผนและร่วมเป็นวิทยากรได้ด้วย นี่คือสิ่งที่เราพยายามช่วยครูที่มีปัญหา

...................................................

ประกายความคิดในวันเริ่มต้น

ครูรุ่งทิพย์รับผิดชอบการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ชั้น ม.3 เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการเรียนการสอนของตนเองว่า เริ่มขึ้นเมื่อปี 2549 เมื่อหลักปรัชญาของเศรษฐกิขพอเพียง ถูกนำมาใช้เป็นนโยบายของโรงเรียน จึงเป็นโจทย์ให้ครูทุกคนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ

ครูรุ่งทิพย์เริ่มต้นเรียนรู้ภายหลังกลับจากการไปอบรมที่กรุงเทพฯ ด้วยการเข้าไปหาความรู้ที่ www.sufficiencyeconomy.org ด้วยการศึกษาจากสไลด์ประกอบคำบรรยายของ ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อศึกษาบ่อยเข้าทำให้เกิดความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จึงได้ทุ่มเทเวลาหลังเลิกงาน ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม และค่อยๆ นำความรู้เท่าที่มีอยู่ ณ เวลานั้นไปสอดแทรกในชั่วโมงเรียน โดยยังไม่มีแผนการเรียนการสอน แต่ตอนนั้นเข้าใจแล้วว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายถึงการทำสวน ทำการเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หรือการเก็บออมเงินเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิด สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังนักเรียนให้ใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ยืนบนทางสายกลาง และให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขยายผลไปสู่ชีวิตประจำวันของตัวเองและคนใกล้ชิดได้อย่างเข้าเนื้อเข้าตัว

แนวทางในการปฏิบัติ

“ในชั่วโมงการสอนเราไม่บอกเด็กว่าวันนี้ครูจะสอนเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเด็กไม่ฟังแน่ๆ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของเด็ก สำหรับนักเรียนแล้วหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องน่าเบื่อไม่ทันสมัย ครูต้องคิดให้ออกว่า จะสอดแทรกหลักปรัชญาฯ ลงไปในการเรียนการสอนอย่างไรเพื่อไม่ให้นักเรียนสะดุด”

ครูรุ่งทิพย์เล่าว่าตนใช้วิธีพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับนักเรียน โดยหยิบยกสถานการณ์เล่าเป็นเรื่องเล่าให้นักเรียนฟังร่วมกัน เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่การวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการนำตัวอย่างจากประสบการณ์จริงมาเล่าให้ฟัง

ถ้าจะสอนเรื่อง “ภูมิคุ้มกัน” ครูจะหยิบยกเรื่องใกล้ตัวและเป็นประโยชน์กับเขา เช่น เด็กบางคนไม่ใส่ใจการเรียน ไม่จัดเตรียมตารางสอน หลงลืมอุปกรณ์ ครูจะอาศัยจังหวะแบบนี้สอนเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ว่าพฤติกรรมการลืมของสำคัญเช่นนี้ เป็นเพราะ “ขาดภูมิคุ้มกัน” ที่มีสาเหตุหลายปัจจัยคือ ไม่สนใจและไม่จดงานตามที่ครูสั่ง ไม่จัดตารางสอน ทำให้ไม่รู้ว่าวิชาคอมพิวเตอร์สัปดาห์นี้ต้องใช้อะไรบ้าง และเมื่อมีนักเรียนย้อนถามว่า ภูมิคุ้มกันคืออะไร ตรงนี้เป็นช่องทางให้ครูได้มีโอกาสขยายความเชื่อมโยงไปในเรื่องอื่นๆ หลายๆ ตัวอย่าง ทำให้นักเรียนเกิดความชัดเจนมากขึ้น เด็กบางคนมักมีคำถาม มาถามครูบ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการใช้ชีวิตในครอบครัว ความรัก ความอบอุ่นในบ้าน ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร ครูจึงยกตัวอย่าง “ความพอประมาณ” ในเรื่องของเวลาว่า ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องมีให้แก่กัน พ่อแม่ต้องมีเวลาหลังเลิกงานให้ลูก ลูกก็เช่นเดียวกัน ต้องแบ่งเวลาหลังเลิกเรียนทำการบ้าน แล้วกลับมาอยู่กันพร้อมหน้า ไม่ใช่เที่ยวเตร่อยู่กับเพื่อน หากทุกคนมีเวลาให้แก่กันได้พูดคุย เล่าสู่กันฟังว่าที่โรงเรียนเป็นอย่างไร การเรียนเป็นอย่างไร สายใยรักในครอบครัวจะเหนียวแน่น เป็น “ภูมิคุ้มกัน” ให้ตัวเด็กมีจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่ไปติดเพื่อนไม่ติดเกม ไม่ติดสิ่งเสพติด

ด้าน “คุณธรรม” ที่เห็นเด่นชัดและครูสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่วิชาคอมพิวเตอร์คือ เรื่องการมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งครูเองก็ต้องรอจังหวะหรือเหตุการณ์เฉพาะ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปพร้อมๆ กับยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นภายในห้องคอมพิวเตอร์ให้ฟังว่า วันนั้นขณะที่เด็กนักเรียนกำลังนั่งทำงานตามที่ครูสั่งอยู่นั้น ปรากฏว่าเครื่องเบอร์ 40 เสีย เพื่อนนักเรียนที่ทำงานเสร็จแล้วลุกออกจากที่นั่งเพื่อหลีกทางให้เพื่อนใช้คอมพิวเตอร์ต่อโดยไม่ต้องรอให้ใครบอก โอกาสนี้ครูได้ชื่นชมความมีน้ำใจของเขาต่อหน้าเพื่อนคนอื่นว่า วันนี้หนูได้แสดงความมีคุณธรรม รู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจกับผู้อื่น ถือเป็นตัวอย่างที่ดีตรงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

สเปกเครื่องฯ จุดประกายเรื่องการเรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง

การนำหลักปรัชญาฯ มาสอดแทรกให้เด็กได้เรียนรู้ ความยากอยู่ที่การเขียนแผนการเรียนการสอน โดยเฉพาะเมื่อท่านอธิการประภาสกำชับให้ครูแต่ละสาระวิชา ตั้งชื่อหน่วยการเรียนรู้ในรายวิชานั้นๆ

“คิดไม่ออกว่าจะเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปสอดแทรกในวิชาคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร”

ระหว่างที่ใช้เวลาใคร่ครวญอยู่นั่นเอง ลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีได้มาขอคำปรึกษาว่า เขาอยากได้คอมพิวเตอร์เอาไว้ทำงานและค้นหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ตสักเครื่อง กลัวพ่อจะไม่ซื้อให้เพราะคอมพิวเตอร์มีราคาแพง ประโยคดังกล่าวได้จุดประกายความคิดให้ครูรุ่งทิพย์มองเห็นแนวทางในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสอดแทรกลงแผนการเรียนการสอน

โครงงาน “สเปกนี้น่าใช้จัง” เป็นการจำลองเหตุการณ์ในบริษัทแห่งหนึ่งที่มีแผนจะซื้อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องไว้รองรับการใช้งานในบริษัทที่กำลังจะตั้งขึ้น โดยให้นักเรียนจับกลุ่มๆ ละ 4-5 คน และให้ทุกคนเป็นหุ้นส่วนในการซื้อคอมพิวเตอร์ โดยครูจะให้ทุกคนวิเคราะห์ตัวเองจากสภาพความเป็นจริงในครอบครัวว่ามีความสามารถร่วมหุ้นกับเพื่อนได้มากน้อยอย่างไร ในระหว่างการระดมความคิดของนักเรียนในกลุ่ม ครูจะให้อิสระเขาได้คิดเองว่าจะเลือกคุณสมบัติคอมพิวเตอร์ไว้รองรับงานประเภทใด จากนั้นจึงให้วิเคราะห์ฐานะทางการเงินของตัวเอง โดยให้อิงจากความเป็นจริง โดยครูทำหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ

“มีเด็กนักเรียนบางกลุ่ม มีสมาชิกทั้งหมด 5 คน แต่มีเพียง 4 คนเท่านั้นที่มีศักยภาพในการร่วมหุ้น จำนวน 20,000 บาท มีสมาชิกคนเดียวที่ไม่สามารถนำเงินมาลงได้ เนื่องจากฐานะทางบ้านไม่ค่อยสู้ดีนัก ครูจึงดึงเอาจุดนี้มาเป็นตัวแปรสำคัญให้กลุ่มได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และขยายผลออกไปให้นักเรียนกลุ่มอื่นๆ ได้ทราบด้วยว่าการที่นักเรียนคนหนึ่งไม่ได้ลงหุ้นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะช่วยเรื่องอื่นไม่ได้ สิ่งที่ครูมองเห็นจากนักเรียนคือ ทุกคนได้นำ “หลักคุณธรรม” มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา ไม่คิดตำหนิเพื่อน แต่กลับเกิดความเห็นอกเห็นใจเพื่อนที่ไม่มีเงินมาลงหุ้น ส่วนนักเรียนคนนั้นก็รู้จัก “ความพอประมาณ” ว่าเมื่อไม่มีเงินมากพอที่จะลงหุ้นด้วยก็เลือกที่จะไม่สร้างภาระให้กับตนเอง”

หลังจากแต่ละกลุ่มได้ข้อสรุปจากในห้องเรียนแล้ว ขั้นตอนต่อไปครูรุ่งทิพย์จึงให้นักเรียนลงไปเก็บข้อมูลจริง จากร้านจำหน่ายคอมพิวเตอร์ใกล้บ้าน โดยนักเรียนค้นหาความรู้เกี่ยวกับสเปกคอมพิวเตอร์ที่ต้องการอย่างละเอียด ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขความรู้ เพื่อให้นักเรียนเลือกสเปกเครื่องได้ตรงตามจุดประสงค์การใช้งานและไม่เกินไปจากวงเงินที่ได้ลงหุ้นไป เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน ส่วนผลงานของกลุ่มที่ดีที่สุด ครูจะนำมาแสดงเป็นตัวอย่างและให้เจ้าของผลงานออกมาอธิบายหลักการ พร้อมสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไขลงไปในการอธิบายด้วย