การเรียนรู้จิตอาสา

­

นายธรรมนูญ ศรีไพร นักเรียนชั้น ม.6 ที่กล่าวย้ำอย่างชัดเจนว่า การพัฒนาของตนเอง เกิดจากได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่วิทยาการประจำฐานการเรียนรู้จิตอาสา และการเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ธรรมนูญ บอกว่า กิจวัตรประจำทุกเช้าของเขาคือ อาสาสมัครมาช่วยนำแถวน้องๆ ระดับอนุบาลเดินเข้าห้องเรียน

“ผมว่าชมรมจิตอาสาเปิดโอกาสให้ผมได้ดูแลช่วยเหลือคนอื่นๆ ทำให้โรงเรียนเป็นระเบียบมากขึ้น ถ้าส่วนเล็กๆ มีระเบียบต่อไปก็น่าจะส่งผลให้ภาพรวมของทั้งประเทศมีระเบียบขึ้นได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเน้นย้ำเรื่องนี้เช่นกัน อยากให้คนไทยมีระเบียบวินัย มีความรักสามัคคีกัน ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้อง น้องๆ เห็นรุ่นพี่ทำงานจิตอาสาก็อยากทำเหมือนรุ่นพี่ อยากเข้ามาช่วยเหลือในสิ่งดีๆ ที่สำคัญคือทำให้รุ่นพี่รุ่นน้องได้รู้จักกัน คุ้นเคยกันจนเกิดความสามัคคี คิดทำสิ่งที่ดีต่อกัน ” ธรรมนูญกล่าวอย่างมุ่งมั่น

­

ตามความเข้าใจของธรรมนูญ เศรษฐกิจพอเพียงคือการใช้ชีวิตอย่างพอดีในทุกๆ ด้าน เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ข้อห้าม เช่น ห้ามอยากมี ห้ามอยากได้ และไม่ใช่ถ้ามีเงินแล้วอยากได้อะไรก็ต้องได้ แต่ต้องประมาณตนว่า ฐานะเราแค่นี้ ควรใช้จ่ายตามความเหมาะสม ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาทำอาหาร สมมุติวันนี้จะทำต้มหมูใบชะมวง ถ้าเราปลูกผักริมรั้วก็สามารถเก็บใบชะมวงมาทำอาหารได้ ทำแล้วก็แบ่งให้เพื่อนบ้าน พอเพื่อนบ้านทำอาหาร วันข้างหน้าเขาทำอาหารอย่างอื่นมาแบ่งปันกับเรา เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ชีวิตผมเจอเหตุการณ์แบบนี้แทบทุกวัน ละแวกบ้านผมเป็นบ้านสวน การแลกเปลี่ยนอาหารทั้งผักและผลไม้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อโรงเรียนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ จึงเข้าใจว่าจริงๆ แล้วชีวิตประจำวันของเราก็เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้วและนำมาปรับใช้ได้ไม่ยาก เลยนำมาคิดต่อว่าในเมื่อทำอยู่แล้ว ทำไมเราจะนำหลักการเหล่านี้มาปรับใช้ให้ชีวิตเราดีขึ้นไปอีกไม่ได้

­

“ทุกอย่างเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้เรียนรู้มา เวลากลับบ้านจะพยายามไปบอกพ่อบอกแม่ พ่อแม่ก็รู้สึกว่าเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ฐานะของครอบครัวดีขึ้น การใช้จ่ายก็มีบัญชีรายรับรายจ่ายที่แน่นอน ประหยัดไปได้มากทีเดียว นอกจากครอบครัวของตัวเองแล้ว เรายังเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ ในชุมชนด้วย ซึ่งแนวปฏิบัติเหล่านี้ก็เผยแพร่ไปในชุมชนโดยไม่รู้ตัว เรื่องขยะเราก็เก็บไปเรื่อยๆ ไม่ถึงขั้นรีไซเคิล พอคนอื่นเห็นบ้านเราสะอาด เขาก็เก็บบ้าง แล้วบ้านอื่นๆ ก็ต้องเก็บตาม เพราะจะปล่อยให้บ้านตัวเองสกปรกอยู่ก็ไม่ได้ บางคนก็ทำไปโดยไม่รู้ตัว เหมือนที่ท่านอธิการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาขยายความมาอธิบายให้รู้ เราก็มีหลักยึดมีกรอบคิดที่เป็นรูปธรรมเอาไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น”