จุดเริ่มต้นของการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในลาซาลจุดเริ่มต้นของการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในลาซาล


จุดเริ่มต้นของการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในลาซาลจุดเริ่มต้นของการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในลาซาล


ภราดา ประภาส ศรีเจริญ ผู้บริหารคนปัจจุบัน เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) เมื่อปี 2549 ก่อนที่จะมาเป็นผู้บริหารที่โรงเรียนนี้ เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในโรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในกลุ่มมูลนิธิลาซาล


แนวคิด ตั้งต้นในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ภราดาประภาสยึด “หลักคุณธรรม” เป็นเป้าหมายแรก เพื่อนำพานักเรียนไปสู่การเรียนรู้และดำเนินรอยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอ เพียงครบทั้ง 3 ห่วง และ 2 เงื่อนไข


“ผม และคณะครูยังจำได้ดีว่า วันที่เราเริ่มคิดคือวันที่เรานั่งดูการถ่ายทอดสดพระราชพิธีในปีมหามงคลที่ ในหลวงทรงครองราชย์ครบ 60 ปี เห็นภาพประชาชนเกือบทุกคนมีน้ำตาตื้นตันอยู่ในอก พวกเราทุกคนรักในหลวงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะหาของขวัญให้พระองค์ท่าน พร้อมๆ กับคิดถึงเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงทรงมอบเป็นแนวทางให้ พวกเราเห็นมาโดยตลอด และเริ่มคิดว่าทำไมชาวบ้านและเกษตรกรจึงทำได้ แล้วทำไมโรงเรียนและครูจะทำไม่ได้ เราคิดว่าโรงเรียนน่าจะเริ่มทำโครงการนี้อย่างแท้จริง จึงเริ่มพาครูไปดูงานนิทรรศการต่างๆ ว่ามีเรื่องไหนที่เราพอจะพัฒนาเด็กได้ เมื่อศึกษาก็พบว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีหลายมิติ ไม่ใช่เรื่องของการเกษตรเท่านั้น แม้ระยะแรกจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องเกษตร แต่เมื่อความเข้าใจมีมากขึ้น เราจึงเริ่มต้นที่การพัฒนาผู้เรียน และเน้นในเรื่องคุณธรรมก่อน นำหัวใจสำคัญของทุกศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวนักเรียนอยู่แล้ว เช่น เรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ ต่อพระมหากษัตริย์ ต่อครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณ การไหว้ การเคารพผู้อื่น มารยาทอันดีงาม เราเริ่มจากสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ อาจดูแปลกกว่าที่อื่น แต่ที่ทำอย่างนี้ก็เพราะคิดว่านี่คือพื้นฐานที่สำคัญ”


จาก ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะยึดหลักธรรมเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนลาซาลจันทบุรี ภราดาประภาส จึงคิดคำขวัญเพื่อเป็นเป้าหมายเตือนใจครูและนักเรียนไว้ว่า


คำขวัญ ดังกล่าวแฝงไว้ซึ่งวิถีการดำเนินงานเพื่อความพอเพียงทั้งหมด จากนั้นจึงสร้างความตระหนัก ให้ครูและนักเรียนอย่างจริงจัง โดยนำหลักศาสนาเป็นตัวตั้งเพราะคุณธรรม ซึ่งอยู่ในทุกๆ ศาสนา จะเป็นเกราะป้องกัน ให้คนได้ใช้เหตุผล คิดไตร่ตรอง และรู้จักระมัดระวัง


พอเพียงตามแนวทางของศาสนา


ภราดา ประภาสกล่าวว่า การสอนให้นักเรียนยึดมั่นในหลักธรรมตามศาสนาที่ตนนับถือ จะเป็นเกราะป้องกันให้นักเรียนรู้จักละอายเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งตรงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องภูมิคุ้มกัน ที่โรงเรียนลาซาลฯ จะไม่ใช้คำว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”


ภราดาประภาส เล็งเห็นความสำคัญของ “หลักธรรม” ซึ่งมีอยู่ในทุกๆ ศาสนา โดยเฉ พาะในศาสนาพุทธที่มีนักเรียนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ให้การเลื่อมใส อีกทั้งเล็งเห็นว่า “หลักธรรม” จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้คนเป็นคนดี อันเป็นจุดเริ่มต้นของความรับผิดชอบ ต่อหน้าที่และการงาน เป็นคนดีของครอบครัวและสังคม มีการนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป เข้ามาสอนนักธรรมตรี โท และเอก ให้นักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธ ในโรงเรียน สำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาคริสต์จะได้เรียนคำสอนจากพระคัมภีร์โดยมี บาทหลวง 7 องค์ เวียนมาอบรมนักเรียนให้เป็นคนดีของพ่อแม่ ครูอาจารย์ ตั้งใจเรียน รู้จักละอายเกรงกลัวต่อบาป นักเรียนจากทั้งสองศาสนาดังกล่าวจะมีโอกาสเรียนรู้หลักธรรมของตนเองเป็น ประจำสม่ำเสมอในทุกสัปดาห์ๆ ละ 1 คาบเรียน


สำหรับ วันสำคัญทางศาสนาไม่ว่าจะพุทธหรือคริสต์ นักเรียนจากทั้งสองศาสนาจะได้ทำพิธีร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก คนที่นับถือศาสนาคริสต์สามารถนั่งฟังพระเทศนาธรรมในวันสำคัญต่างๆ ร่วมกับชาวพุทธได้ ส่วนนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธสามารถเข้าโบสถ์และร่วมพิธีกรรมในโบสถ์ของ ชาวคริสต์ได้เช่นกัน


ต้นทุนที่ดีของโรงเรียนลาซาล จันทบุรี


“โรงเรียน มีครูที่ดี เสียสละและอุทิศตนให้กับเด็กผู้ยากไร้” เป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะลาซาล มีครูที่นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุนซึ่งเคยได้รับโอกาสทางการ ศึกษาจากคณะลาซาลมาก่อน เมื่อศึกษาจบระดับอุดมศึกษาจึงมีความกตัญญูต้องการกลับมาสอนในโรงเรียนลาซาล จันทบุรีอีกครั้ง แทนที่จะไปสอนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง โรงเรียนจึงมีครูที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยใจตามรอยแม่พิมพ์ที่เคยบ่มเพาะตนเอง มาตั้งแต่วัยเยาว์

คณะครูในโรงเรียนลาซาลจันทบุ รี (มารดาพิทักษ์) ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในโรงเรียนเสมือนหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน มีความรู้จักมักคุ้น มีความรัก ความผูกพัน อันดีต่อกันมายาวนาน แม้ผู้บริหารของคณะลาซาลจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาบริหารงาน แต่คณะครูจะยังอยู่เป็นฐานทุนที่มั่นคงและเป็นกำลังสำคัญในการสานต่อนโยบาย และกิจกรรมที่ดีเพื่อให้ความรู้กับลูกศิษย์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้บริหาร


ปัจจัย หนึ่งที่ทำให้การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนลาซาล ประสบผลสำเร็จคือ ความร่วมมือจากผู้ปกครองในการเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้น และเมื่อมีโอกาสทั้งผู้บริหารและครูก็จะพยายามสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงไปกับผู้ปกครองผ่านการพูดคุย ทั้งในการพูดคุยที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อาทิ เรื่องการตามใจบุตรหลาน หรือเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะหากโรงเรียนสอนให้นักเรียนรู้จักประหยัดอดออม มีเหตุผลในการใช้จ่าย แต่เมื่อกลับบ้าน พ่อแม่ไม่สานต่อ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายอย่างไร้เหตุผล การบ่มเพาะให้ผู้เรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตจริงก็อาจ จะไม่ประสบกับความสำเร็จ


บริหารงบประมาณอย่างพอเพียง


งบ ประมาณที่ต้องใช้จ่ายในโรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) ไม่ต่างจากโรงเรียนอื่นมากนัก โดยภราดาประภาสเลือกที่จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับส่วนที่เป็นเงินเดือน ครูก่อน รองลงมาคืองบประมาณเพื่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรครู งบประมาณเพื่อการซ่อมแซม และงบประมาณในส่วนของค่าสาธารณูปโภค โดยในแต่ละเดือนจะต้องกันงบประมาณดังกล่าวไว้ล่วงหน้าก่อน แล้วหากมีงบประมาณเหลือจึงจะนำไปใช้ซื้อสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน


ใน กรณีที่มีความจำเป็นต้องสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในโรงเรียน ซึ่งโดยปกติจะต้องกู้ยืมเงินมาเนื่องจากโรงเรียนไม่มีงบประมาณ ฉะนั้นภราดาประภาสจะต้องประมาณการรายจ่ายที่จะต้องผ่อนส่งกับธนาคารให้พอ เหมาะกับรายรับของโรงเรียน เพื่อตอบสนองความต้องการและความจำเป็นภายใต้ความเป็นไปได้โดยไม่เดือดร้อน โรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนไม่มีทุนสำรองอยู่ หากจำเป็นต้องใช้เงินจะต้องขอยืมจากมูลนิธิลาซาลหรือกู้ธนาคาร อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นโรงเรียนเอกชน แต่ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหรือปลูกสร้างอาคารใดๆ ก็ตาม จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารโรงเรียน และมูลนิธิฯ รวมถึงกรรมการโรงเรียนซึ่งประกอบด้วยชุมชนและตัวแทนผู้ปกครอง เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียน


ภราดา ประภาสเล่าถึงหลักคิดในการใช้งบประมาณเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนในด้าน ต่างๆ ว่า จะต้องคำนึงถึง “นักเรียน” เป็นหลัก หากมีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่มีงบประมาณ ก็จำเป็นต้องกู้ยืม ซึ่งอาจดูไม่พอประมาณกับงบประมาณและรายได้ที่มีอยู่ แต่เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นแล้วถือว่า มี “เหตุผล” ที่ผู้บริหารควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน อาทิ การสร้างหอประชุมขนาดใหญ่ มูลค่า 5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่โรงเรียนไม่มีงบประมาณเลย เนื่องจากที่จังหวัดจันทบุรีมีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี หากฝนไม่ตก แดดจะร้อนมากตลอดทั้งวัน นักเรียนจึงไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมในการทำกิจกรรมหน้าเสาธงหรือทำกิจกรรม ต่างๆ แต่เนื่องจากเป็นความต้องการเร่งด่วน จึงไม่จำเป็นต้องรอให้มีงบประมาณก่อน และหากโรงเรียนไม่ตัดสินใจดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมา งบประมาณในการก่อสร้างก็จะเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า 5 ล้านบาท


“หาก เรารอให้มีเงินครบ เราไม่มีทางที่สร้างหอประชุมขนาดใหญ่ได้ในราคา 5 ล้าน หรือ 7 ล้านบาท มูลค่าของอาจขึ้นไป 10 – 15 ล้านบาทก็ได้ แล้วโอกาสของเด็กนักเรียนที่จะได้รับประโยชน์ก็ล่าช้าตามไปด้วย โรงยิม ห้องสมุด ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องคอมพิวเตอร์ เราต้องรีบมี เพราะความต้องการของเด็ก ความรู้ของเด็ก ผลประโยชน์ที่เด็กจะต้องได้รับ เป็นสิ่งที่รอไม่ได้ เมื่อผมเป็นผู้บริหารจึงต้องตัดสินใจบน “ผลประโยชน์ของผู้เรียน” ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของเรา การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการตัดสินใจทำให้ผู้ บริหารมีหลักในการวางแผนงาน และใช้เหตุผลมาประกอบการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่าควรใช้เงินไปกับค่าใช้ จ่ายก้อนใดก่อน อะไรควรรอ”


บริหารบุคคลอย่างพอเพียง


ภราดา ประภาสเป็นผู้บริหารที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ความรักความเมตตากับครูและนักเรียน ด้วยใจ ท่านจะไปช่วยครูดูแลการจราจรในตอนเช้าของทุกวัน เข้าแถวพร้อมกับนักเรียน ดูรายการอาหารของนักเรียนอนุบาลว่าแต่ละวันครูปรุงเมนูใดให้เด็ก เหมาะสมและถูกต้องตามหลักโภชนาการหรือไม่ ครูเสิร์ฟอาหาร รินน้ำให้นักเรียนด้วยความรักเหมือนลูกตนเองหรือไม่ ท่านจะบอกเสมอว่า เมื่อครูสั่งให้นักเรียนนั่งสมาธิ ครูต้องนั่งไปพร้อมๆ กับนักเรียน เมื่อครูต้องการให้เด็กรักการอ่าน ครูต้องอ่านหนังสือด้วย เพราะเด็กจะดูครูเป็นแบบอย่าง หรือครูบอกให้เด็กประหยัดครูต้องประหยัดด้วย “เพราะเมื่อครูเห็นว่าแม้แต่ผู้บริหารยังให้ความสำคัญ ลงไปดู ไปทำด้วยตนเองแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ครูจะรู้สึกว่าเขาก็จะปฏิบัติหน้าที่แบบธรรมดาไม่ได้ เขาต้องให้ความสำคัญและทำด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง ถึงแม้ผู้บริหารจะอยู่หรือไม่ก็ตาม เพราะว่า ผมสอนครูอยู่เสมอว่าให้รักลูกคนอื่นเหมือนรักลูกตนเอง รวมถึงให้เพื่อนร่วมงานเอาใจใส่ครูด้วยกันเหมือนคนในครอบครัว ใครเจ็บไข้ก็ไปเยี่ยม ไปดูแล”


ใน การดำเนินกิจกรรมฐานการเรียนรู้ทั้ง 20 ฐาน ซึ่งมีครูช่วยกันรับผิดชอบทั้ง 3 ช่วงชั้น มีครูที่เก่งและไม่เก่งได้มาทำงานร่วมกัน เมื่องานสำเร็จทุกคนได้รับความชื่นชมยินดีอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนลงแรงเหมือนกัน ประโยชน์ที่ได้รับกลับมาคือครูได้พัฒนาตนเอง


การ พัฒนาศักยภาพของครู ภราดาประภาสเลือกที่จะใช้กระบวนการทำงานกลุ่มเป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นการ เรียนรู้ของครู หากงานใดไม่เสร็จตามเวลาจะใช้วิธีการตั้งกลุ่มทำงานโดยใน กลุ่มจะต้องมีทั้งครูที่เก่งและไม่เก่งคละกัน ทำงานกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อนด้วยความคิดว่าคนไม่ขยันเมื่อมาอยู่กลุ่มเดียว กับคนที่ขยันอาจเกิดความเกรงใจลุกขึ้นมาช่วยกันทำงานและเรียนรู้จากการทำงาน


หนุนคุณธรรมนำพัฒนา


นักเรียน โรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) จะได้รับการอบรมจากครูทุกเช้า โดยเน้นหนักในเรื่องระเบียบวินัยและความกตัญญูต่อพ่อแม่ ความรักที่ต้องมอบให้กันและกัน และการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นคน โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมปลาย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีปัญหาเรื่องชู้สาวมาก วิธีการสอนจึงถูกเน้นย้ำในเรื่องการให้เกียรติยกย่องกันและกัน


“ผม บอกเลยว่าครูต้องใช้คุณธรรม ต้องอดทน ต้องเสียสละเวลา บอกครูเสมอว่า เด็กดีๆ เขามีครูดูแลดีอยู่แล้ว แต่เด็กที่เกเร มีปัญหา ครูต้องอดทนจนถึงที่สุด พยายามอย่างเต็มความสามารถ และไม่ว่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรโรงเรียนยินดีสนับสนุนเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นค่าโทรศัพท์สำหรับติดตามนักเรียน ค่าน้ำมัน ต้องใช้จ่ายเท่าไหร่ไม่ว่า เพื่อดึงนักเรียนกลับมาเรียน มาเป็นเด็กดีมีอนาคต แต่ละปีโรงเรียนเราจะมีนักเรียนที่ใกล้จะจบ ม.6 แล้วมีปัญหาไม่กี่คน ประมาณ 4-5 คน ทั้งปัญหาเรื่องเวลาไม่ครบ สอบไม่ผ่าน ครูต้องช่วยผลักดันให้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสอนเสริมหรือมาตรการต่างๆ เพราะถ้าเราช่วยให้เขาเรียนจบจะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้ เพราะอย่างน้อยเขาก็จบมัธยม 6 เด็กกลุ่มนี้จบออกไปประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วหลายคน เมื่อถึงงานเลี้ยงศิษย์เก่าเขากลับมาขอบคุณเรา นั่นคือความภูมิใจและความสุขใจอย่างบอกไม่ถูก สิ่งเหล่านี้ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน”

สร้างภูมิคุ้มกันให้หลักปรัชญาฯ ด้วยใจของทุกคน


ภราดา ประภาสวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลให้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไป อยู่ใน “ใจ” ของครูและเป็น “หัวใจ” ในการทำงานว่า เพราะไม่ใช้วิธีการสั่งงานให้ครูทำ แต่ใช้วิธีการวางแผนร่วมกับครู เรียนรู้ดูงานร่วมกัน เมื่อพบข้อบกพร่องต้องแก้ไขร่วมกัน ทบทวนอดีตและประเมินผลร่วมกัน เมื่อต้องปรับปรุงจะต้องปรึกษาหารือกัน ที่สำคัญต้องเริ่มนโยบายใหม่ๆ ด้วยประเด็นที่ครูสนใจและอยากทำก่อน (บริหารงานแบบมีส่วนร่วม) ไม่บังคับ รวมทั้ง ในการทำงานกลุ่มครูคนใดอยากรวมกลุ่มกับใคร อยากช่วยใครต้องตามใจ ผลที่เกิดขึ้นคืองานไม่มีปัญหาและเกิดความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน


การ ขับเคลื่อนและนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง นั้น ต้องฝากความหวังไว้กับคณะครูในโรงเรียน หากทำไปเพียงเพราะผู้อำนวยการมีคำสั่ง ความยั่งยืนก็จะไม่มีเพราะตัวผู้บริหารอยู่โรงเรียนคราวละไม่กี่ปี ก็ต้องโยกย้ายไปบริหารโรงเรียนอื่นๆ แต่หากครูทำเพื่อในหลวง ทำเพื่อนักเรียน ทุกคนก็จะยึดหลักปรัชญาฯ นี้ไว้ในใจ และทำกันได้ตลอดรอดฝั่ง


โรงเรียน ลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) ใช้วิธีให้ครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ระหว่างกันว่าหลังจากที่ขับ เคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไประยะหนึ่งแล้ว ครูรู้สึกว่าเป็นภาระหรือไม่ มีอะไรหนักใจไหม ทำอย่างไรงานขับเคลื่อนฯ จึงประสบความสำเร็จ เป็นต้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ครูพบว่าทุกคนมีความสุข เพราะเมื่อนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้กับการทำงานการเรียนการสอนแล้วงานดีขึ้น นักเรียนน่ารักขึ้น จากความสำเร็จและความภาคภูมิใจดังกล่าวตอกย้ำให้ครูเห็นความสำคัญ แล้วใช้หลักปรัชญาฯ เป็นหลักคิดในการทำงานต่อไปโดยไม่เห็นว่าจะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น


วิถีภราดา “วิถีแห่งความพอเพียง”


ภราดา ประภาส ศรีเจริญ คือ ผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะนักบวชศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ซึ่งปฏิญาณตนแล้วว่าจะปฏิบัติหน้าที่นักบวชจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ดำเนินชีวิตเป็นไปเพื่อส่วนรวม โดยไม่มีทรัพย์สมบัติส่วนตัว ภราดาประภาสกล่าวยอมรับอย่างมุ่งมั่นในหนทางที่เลือกแล้ว พร้อมกับเล่าถึงภารกิจในแต่ละวันว่าต้องแบ่งเวลาให้กับศาสนา เริ่มจากตื่นเช้าในเวลา 5 นาฬิกา เพื่อมาสวดมนต์พร้อมกับนักบวชที่อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านพักของโรงเรียน จากนั้นจึงออกมาปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน ช่วยครูสอดส่องดูแลนักเรียน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปถึงการบริหาร เมื่อโรงเรียนเลิกก็จะกลับไปสวดมนต์ในตอนเย็น ทำงานส่วนตัว และทบทวนชีวิต ไตร่ตรองเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาตลอดทั้งวันว่าทำอะไรไป ทำเรื่องใดที่ดี ทำเรื่องใดที่ไม่ดี เพื่อปรับปรุงตัวเองในวันรุ่งขึ้น เช่นเดียวกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ภราดาประภาสจะต้องแบ่งเวลาให้กับศาสนา และการสะสางงานของโรงเรียน พบปะผู้ปกครองและนักเรียนที่นัดหมายในเวลานอกราชการ


“ณ วันนี้ เราไม่มีลูก แต่เราสามารถเลี้ยงลูกของใครก็ได้ เราไม่มีครอบครัว ไม่แต่งงาน ในทางพุทธก็คือผู้ละกิเลส ไม่ต้องห่วงใยครอบครัว แต่สำหรับการทำงาน บางครั้งเราก็พลาดเหมือนกัน เช่น ระหว่างการสวดมนต์ทำจิตให้สงบเพื่อทบทวนสิ่งที่ผ่านมา บางครั้งพบว่า วันนี้เราตำหนิครูไป เรารู้สึกเสียใจ ไม่น่าไปว่าเขาเลย เขาอาจจะเหนื่อย เราไม่น่าใจร้อน ตรงนี้หากเราทบทวน เราก็จะเห็นว่า ถ้าเราใช้เหตุผลมากขึ้นอีกหน่อย ใจเย็นอีกนิด เราก็ควรจะถามเขาก่อนว่า ครูเขาทำไปเพราะอะไร ก็คิดได้ว่าเราบกพร่อง มีโอกาสก็ต้องขอโทษ ดังนั้น เราจึงต้องมีเวลาแบ่งให้กับศาสนา ไม่อย่างนั้นสภาพสังคมโลกที่วุ่นวาย เราก็จะวุ่นวายด้วย”


ภราดาประภาส เล่าว่า สิ่งที่ยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิตมากที่สุด คือ “ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” เราจึงต้องรักกัน “ทุกคนเกิดมาจากต้นทุนที่ไม่เหมือนกัน พระเป็นเจ้ามอบพรสวรรค์ให้แต่ละคนต่างกัน แต่ทุกคนต่างมารวมกันแล้วสวยงาม ไม่ว่าจะเป็น ครู ผู้อำนวยการ ผู้ปกครอง นักเรียน เปรียบเสมือนดอกไม้ โรงเรียนเปรียบเสมือนแจกัน ที่หากเลือกแต่กล้วยไม้มาปักไว้ อย่างเดียวคงไม่สวย แต่หากเราใช้ความแตกต่างหลากหลายของดอกไม้มาปักไว้รวมกันในแจกัน ใบเตยอยู่ด้านหลัง ดอกไม้นานาชนิดอยู่ด้านหน้ามองได้ทุกมุม ก็เท่ากับเรามองแต่ด้านดีของทุกคนที่ดีกันคนละด้าน ครูบางคนไม่เก่งคอมพิวเตอร์ แต่สามารถอดทนยืนเฝ้าเวรอยู่หน้าประตูโรงเรียนได้มากกว่าครูที่เก่ง คอมพิวเตอร์ ดังนั้น เมื่อทุกคนทำงาน ร่วมกันย่อมเป็นสิ่งสวยงาม...”


ความ โดดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนทั้งภายในและภายนอกของภารดาประภาส เป็นเรื่อง “ความมีเมตตา” และ “การให้อภัย” ที่ไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเมตตาที่ภราดาประภาสมีต่อนักเรียนและผู้ปกครองที่ยากจน ไม่มีค่าเทอม มาขอผ่อนผัน และบางรายไม่มีจ่ายจริงๆ ก็ให้เรียนฟรี กระทั่งเป็นที่กล่าวขานถึงความมีเมตตา ส่งผลให้มีนักเรียนจากต่างเขต ต่างอำเภอเดินทางมาเรียนที่นี่จำนวนมาก และนี่เองคือที่มาที่ทำให้โรงเรียนมีรายได้เหลือ หลังจากหักค่าใช้จ่ายไม่กี่หมื่นบาท


สำหรับในเรื่องการให้อภัยที่ภราดาประภาสมีให้ทุกคนได้อย่างไม่สิ้นสุดนั้น มีตัวอย่างที่กล่าวถึงครูบางคน ที่มาสายแทบทุกวัน ...


“ใน 200 วัน พอมาประเมินดูแล้วเขามาสายทุกวัน มาไม่เคยทันเลย พอเราเห็นแล้วก็ทรมานใจ ขมขื่นใจ แต่เมื่อพิจารณาดีๆ จะพบว่า เขาเองก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง ถ้าเราคิดดีๆ จะพบว่าเขามีลูกอ่อน ทำให้เราคลายความทรมานใจไปได้บ้าง และคิดไปคิดมาก็พบว่าเขามีพรสวรรค์คือ ทำงานเก่ง ช่วงหลังเขาก็ขอชดเชยเวลางานไปช่วยอยู่ทำงานในช่วงเย็นแทน แบบนี้เราก็พอรับได้ ... หรือกรณีที่ครูทำผิดศีลธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ก็จะให้โอกาสเขาปรับปรุงตัว แล้วก็คอยจนกว่าเมื่อไหร่เขาจะกลับตัว

เป็น คนดี โดยจะพร่ำสอนเขาเสมอว่า “การเป็นครูต้องเป็นครู 24 ชั่วโมง” ผมทนให้อภัยเขานานมาก นานจนกระทั่งครูบางคนเขาทนไม่ได้ เพราะผมไม่ยอมไล่ครูคนนี้ออก ผมก็บอกเหตุผลว่า เรายังมีเวลาเหลืออยู่ เราต้องให้อภัยได้ เพราะแม้พระเยซูยังให้อภัยได้แม้คนที่ฆ่าพระองค์ ฉะนั้นเราต้องกลับมาที่ธรรมะ ไม่อย่างนั้นเราอยู่ไม่ได้ ให้อภัยไม่ได้ หรือกรณีของเด็กนักเรียนบางคนมาสายทุกวัน เราจะตัดสินด้วยสายตาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ บางครั้งถ้าเราใช้กฎอย่างเดียวจะพบว่าเขามาสาย คือผิด แต่ถ้าพิจารณากันจริงๆ แล้ว มันยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น บ้านเขาไกล 50-60 กิโลเมตร เด็กบางคนบ้านไกล แล้วยังต้องช่วยพ่อแม่ขายข้าวแกงด้วย อันนี้เราต้องทำความเข้าใจ”


ดัง นั้น เครื่องมือที่ถูกใช้ สนับสนุน แนวคิดในเรื่อง “การให้อภัย” ของภราดาประภาสคือ การพยายามมองแต่ความดีของผู้อื่น ร่วมกับการทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างซึ่งที่มาและต้นทุนของมนุษย์ ทำความเข้าใจด้านความ “จำเป็น” “ภาระ” และ “สถานการณ์” ปัจจุบัน เพื่อให้ “โอกาส”


ที่ กล่าวกันมาทั้งหมด ไม่ใช่เพราะภราดาประภาส ละเลยบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาแล้วปล่อยให้โรงเรียนอยู่สภาวะไร้ ซึ่งกฎเกณฑ์และบทลงโทษ แต่อย่างใด เพราะ “การให้อภัย” อยู่ที่ใจ ดังนั้น การให้โอกาสจึงเป็นเพียงแค่หนึ่งหนทาง ส่วนในทางปฏิบัตินั้น ภราดาประภาสมี 4 ขั้นตอนที่น่าสนใจ คือ เริ่มจากตักเตือนส่วนตัว กล่าวตักเตือนต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน ตัดเงินเดือน พร้อมๆ กับให้โอกาสปรับปรุง สุดท้ายหากยังกระทำผิดซ้ำๆ อีกภารดาประภาสบอกว่าจะต้องร่วมกับครูอื่นๆ กำหนดโทษซึ่งไม่ใช่การ “ไล่ออก” อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียน