หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

­

­

นางสาววลีรัตน์ มิ่งศูนย์ นักเรียนชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต นักเรียนทุนโรงเรียนลาซาลจันทบุรีเล่าว่า รู้จักหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นทางการตอนเรียนอยู่ชั้น ม. 3 ที่ผ่านมา วลีรัตน์ได้ยินเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกวัน และลงมือปฏิบัติจนเกิดความเคยชิน ไม่เคยต้องมานั่งท่องจำเนื้อหา เพราะซึมซับด้วยวิธีการเรียนรู้จากการมีประสบการณ์จริงและจากการอ่านหนังสือ หรือการรณรงค์ในโรงเรียน ซึ่งทางโรงเรียนเองก็จะมีการประชาสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องหลังเคารพธงชาติเสร็จ รวมไปถึงชั่วโมงโฮมรูม และในชมรมต่างๆ ล้วนพูดถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสิ้น วลีรัตน์เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกคัดเลือกให้เป็นนักเรียนแกนนำขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน

­

นักเรียนทุกคนที่โรงเรียนลาซาลฯ จะได้เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงกับการออมทรัพย์ นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้สอนให้นักเรียนรู้การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายผ่านวิชาสังคม เพื่อให้ทราบว่าตนเองมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

­

ทุกวันนี้วลีรัตน์เก็บออมเงินจนติดเป็นนิสัย วันจันทร์มาถึงโรงเรียนก็เก็บเลยทีเดียว 5 บาท ถ้าวันไหนไม่ได้ฝากเงินจะรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง ปกติเงินออมคือเงินที่เราเหลือมาจากการใช้จ่าย พอทำไปทุกวันจึงกลายเป็นเงินที่ไม่ได้เหลือจากการใช้จ่าย แต่เราตั้งใจหยอดกระปุกที่ท่านอธิการประภาสแจกให้นักเรียนทุกคนในวันเด็ก วันละ 1 บาท บางสัปดาห์เงินค่าขนมเหลือมากก็จะไม่ขอเงินพ่อแม่ หรืออยากได้อะไรก็ซื้อด้วยเงินของเราเอง“พอได้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้วทำให้รู้สึกเกรงใจ สำนึกในพระคุณ ไม่กล้ารบกวนขอเงินซื้อเสื้อผ้าเหมือนก่อน เพราะเป็นของที่ไม่เกี่ยวกับการเรียน”

­

ใช้ความพอเพียงขับเคลื่อนทูบีนัมเบอร์วัน

ชมรมทูบีนัมเบอร์วัน เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาให้สมาชิกห่างไกลจากยาเสพติด โดยการชักชวนให้หันมาทำกิจกรรมพัฒนาตนเอง เช่น การทำผ้าบาติก การสานหมวก เป็นต้น และทางชมรมได้จัดตั้งฝ่ายเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาเคลื่อนไหวให้สมาชิกได้ทำกิจกรรมนอกจากจะได้ความรู้ในการประกอบอาชีพแล้ว ยังเป็นการฝึกทักษะด้านฝีมือแรงงานด้วย

­

ครั้งหนึ่งมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการเดินทางมาสำรวจโครงการทูบีนัมเบอร์วันระดับประเทศ ทางโรงเรียนไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่จะสอบถามเรื่องอะไรบ้าง แต่ขณะที่กำลังอธิบายกระบวนการดำเนินงานของกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนอยู่นั้น ท่านก็พูดขึ้นว่า เดินทางตรวจสอบโรงเรียนทั่วประเทศแล้ว ยังไม่พบคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงในโครงการทูบีนัมเบอร์วันเลย เพิ่งจะมีโรงเรียนลาซาลฯ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และได้กำหนดให้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นส่วนหนึ่งของชมรมทูบีนัมเบอร์วัน อาจารย์คิดว่าทูบีนัมเบอร์วันนั้นคนละเรื่องกับเศรษฐกิจพอเพียง เพราะทูบีนัมเบอร์วันนั้นเกี่ยวข้องกับการต่อต้านยาเสพติด ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

­

วลีรัตน์จึงกล่าวชี้แจงว่า ถ้าทุกคนใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือทุกคนมีเหตุผล มีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน มีคุณธรรม มีความรู้ ในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตรงนี้ก็คือ “ภูมิคุ้มกัน” ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การเข้าร่วมกิจกรรมในชมนุมฯ เราจะให้ความรู้เรื่องโทษและพิษภัยจากยาเสพติด ให้เด็กทำความเข้าใจอย่าง “เป็นเหตุเป็นผล” เมื่อมีความรู้ความเข้าใจแล้ว เด็กก็จะไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ในฐานะรุ่นพี่ที่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมและมีความรู้ในเรื่องนี้มาพอสมควร หน้าที่ของเราคือการสร้างความตระหนัก “สร้างภูมิคุ้มกัน ”และ “ให้ความรู้” กับน้องๆ และเจ้าหน้าที่อาจารย์ท่านนั้นก็เห็นด้วยและยอมรับว่าชมรมทูบีนัมเบอร์วันกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถไปด้วยกันได้จริงๆ

­

“พี่คะ หนูมาทำกิจกรรมทูบีนัมเบอร์วันแล้วผลการเรียนหนูตก ของพี่ตกไหม? ” นี่เป็นคำถามยอดฮิตที่ได้ยิน พอเราบอกว่าการเรียนของเราไม่ตก น้องๆ ก็จะชมว่าเราเก่ง และจะสอบถามว่าเรามีวิธีการอย่างไร เราเองก็เล่าประสบการณ์การเข้าค่ายปีแรกให้น้องๆ ฟังว่า ปีแรกหลังกลับจากค่ายช่วงนั้นเรียนไม่ทันเหมือนกัน โชคดีที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวตั้ง แล้วเริ่มลำดับความสำคัญของสิ่งรอบตัว ก่อนที่จะวางแผนแบ่งเวลาให้ชัดเจน เหมือนเป็นตารางสอนขึ้นมากำหนดว่า วันนี้จะทำอะไรบ้าง และจะใช้เวลาเท่าไหร่ กันตัวเองสับสน สิ่งสำคัญต้องขยันมากกว่าเพื่อนอีก 10 เท่า ตรงไหนไม่เข้าใจก็เดินไปถามครู ให้ครูสอนให้ใหม่ ผลการเรียนจึงออกมาดี เกรดเฉลี่ยประมาณ 3.8-3.9 เหมือนเดิม

­

การสอนน้องๆ เราจะสอนตรงๆ ไม่ได้ว่า น้องต้องใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” เพราะบางโรงเรียนไม่ได้สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงไปในหลักสูตรการเรียน น้องจึงไม่เข้าใจความหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การให้คำปรึกษาจึงต้องพูดให้เข้าใจว่า 7 วันในค่ายเรามาทำกิจกรรมพัฒนาทักษะและเรียนรู้ด้านต่างๆ แต่ทำให้เราเรียนตามเพื่อนไม่ทัน เราต้องยึด “หลักคุณธรรม” ขยัน ซื่อสัตย์กับตัวเอง ไม่เอาเวลาไปแชท หรือเล่นเกม น้องต้องมี “ความพอประมาณ” ในเรื่องเวลา ต้องรู้จักวางแผนอย่างรอบคอบ กำหนดว่าเราจะอ่านหนังสือวิชานี้กี่นาที กี่ชั่วโมง เราจะต้องทำการบ้านวิชาอะไรในเวลาใด และคิดด้วยว่าเพราะเหตุใดจึงทำเช่นนั้น

­

โครงงานวิทยาศาสตร์พอเพียง

ช่วงที่กำลังเรียนอยู่ ม. 4 วลีรัตน์ส่งผลงานสบู่มะละกอ โครงงานวิทยาศาสตร์เข้าแข่งขันงานจุฬาวิชาการ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จาก 16 โรงเรียนทั่วประเทศที่เข้าประกวด สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง เพื่อนในทีม ครูอาจารย์ และผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ความสำเร็จที่ได้มา และกล้าพูดได้เต็มปากว่า เธอได้รางวัลที่ 3 มาจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะยึดเป็นแนวทางและกำหนดทิศทางในการเรียนและการทำโครงงาน ถ้าถามคำถามเดิมๆว่า โครงงานวิทยาศาสตร์สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร วลีรัตน์กล่าวว่าสิ่งที่ทำอยู่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงทุกอย่าง เพราะเรารู้ว่าเราทำเพราะอะไร แรงจูงใจที่ทำให้เธอเลือกทำโครงงานผลิตสบู่มะละกอ “เหตุผล” เพราะรู้สึกประทับใจในคุณค่าของสมุนไพร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่คนไทยในปัจจุบันไม่เห็นคุณค่าและประโยชน์ของสมุนไพรไทย แต่หันไปให้ความนิยมกับการใช้สารเคมีแทน ประการต่อมาคือ การใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น สามารถประหยัดเงินทุน ไม่ต้องเสียค่าสารเคมีที่มีราคาสูง เธอจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ สอบถามว่าบ้านใครมีอะไรบ้าง เพื่อนก็บอกว่าที่บ้านมีมะละกอ เงาะ มังคุด ที่สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อหา เวลาเราทำงานก็ไม่ต้องใช้เงินมากซึ่งตรงกับ “หลักพอประมาณ” นี่คือเหตุผลที่เลือกมะละกอเป็นวัตถุดิบหลัก อีกทั้งเรามี “ความรู้” เดิมจากฐานสมุนไพรอยู่แล้วว่า สมุนไพรตัวไหนมีประโยชน์อย่างไรความรู้บางอย่างก็หาเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต

­

ในการค้นคว้าได้ใช้ความรู้ประกอบ เพื่อตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล เช่น การหาข้อมูลทำให้ค้นพบว่า มะละกอมีประโยชน์กับร่างกาย เพราะยางในเนื้อมะละกอมีสารเคมีชื่อ "ปาเปอีน"ที่มีประโยชน์ในการย่อยสลายโปรตีนในร่างกายบางชนิด และสารปาเปอีนยังสามารถนำไปหมักเนื้อได้ด้วย ซึ่งหากนำมาใช้กับร่างกายคน ปาเปอีนที่อยู่ในเนื้อมะละกอจะช่วยในการขจัดเซลล์ผิว ผลการทดลองมะละกอ 3 สายพันธุ์ คือ โคโค่ แขกดำ และพันธุ์พื้นเมือง ทำให้ทราบว่าพันธุ์แขกดำดีที่สุด มีค่า PH ที่เหมาะสมสำหรับทำสบู่ ส่วนอีก 2 สายพันธุ์ มีฤทธิ์เป็นกรดหรือเบสไม่เหมาะกับการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผิว หลังผลิตได้สบู่มะละกอแล้วต้องมีการสุ่มทดลองใช้ที่มือเพื่อให้ทราบว่า ผู้ใช้เกิดอาการแพ้หรือไม่เพื่อเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ในเรื่องการเก็บข้อมูลการผลิตที่สามารถลดความผิดพลาดลงได้

­

นอกจากนี้ในการวางแผนเธอยังได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามากำหนดเป็นแผนการทำงานและการเรียนได้อย่างลงตัว เริ่มที่ “ความพอประมาณ” คิดวางแผนแบ่งเวลาว่า หลังเลิกเรียนในแต่ละวันต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงจะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ด้วยการสังเกตสิ่งที่กำลังทดลอง ซึ่งการสังเกตถือเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ในการทำงาน มีการวางแผนการทำงานล่วงหน้า ด้วยการยึด “เงื่อนไขคุณธรรม” มีความอดทน ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน ในข้อนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีเพราะอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว แต่มักจะไม่ได้นำมาใช้ ส่วน “มิติสิ่งแวดล้อม” นำมาใช้ในเรื่องการเลือกใช้มะละกอปลอดสารพิษที่มีอยู่ในโรงเรียนมาใช้ สำหรับ “มิติสังคมและมิติเศรษฐกิจ” นั้น เธอเชื่อว่าในอนาคตโครงงานวิทยาศาสตร์ชิ้นนี้อาจสร้างรายได้ให้ชุมชนก็ได้

­