เรื่องเล่าในโครงการประกวดเรื่องเล่า "บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้" ปีที่ 1 ปี พ.ศ. 2552 จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล

อาจารย์จุติพร สุขสิงห์
โรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) จ.จันทบุรี



แรงบันดาลใจที่ดิฉันเข้าร่วมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน คือการย้อนคิดถึงชีวิตอดีต ครอบครัวมีฐานะยากจนทำให้ได้เห็นแบบอย่างการใช้ชีวิตจาก คุณแม่ซึ่งเป็นคนที่ประหยัด และคุณทวดวัย 82 ปี ซึ่งอบรมเลี้ยงดูให้ความรัก เอาใจใส่ในสภาพความเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน สิ่งใดขาดก็ซ่อมแซม มีด้ายเย็บผ้าและมีเข็มเย็บผ้าประจำบ้าน การอยู่การกินก็หาอาหารจากการปลูกผักพืชต่างๆ ในธรรมชาติ หากุ้งและปลาจากลำคลองหน้าบ้าน ซื้อหมูและเนื้อไว้รับประทานบ้างแต่นานๆ ครั้ง เพราะไม่ค่อยมีเงิน ที่บ้านคุณแม่จะซื้อหมูมาก้อนหนึ่งแล้วก็แบ่งไว้ใช้หลายๆ วัน แต่ผักในหม้อจะเยอะหน่อยเพราะปลูกเองได้ คุณพ่อมักจะถามว่าทำไมใส่หมูน้อยนัก ท่านก็ตอบว่า ไม่เป็นไรหรอกนะ เพราะจะได้ทานกันหลายๆ วัน หมูชิ้นเล็กหน่อยหนึ่ง แต่จะถึงอย่างไรก็จะมีหมูไว้รับประทานแน่


แรงบันดาลใจอีกจุดหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อเป็นครูแล้ว คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปีและทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา วันนั้นพระองค์เสด็จออกมาพบประชาชน แย้มพระสรวล โบกพระหัตถ์ทักทายพสกนิกร ประชาชนจำนวนมากหลั่งไหลมารอรับเสด็จ เราในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่แม้ไม่มีโอกาสไปอยู่ตรงนั้นก็รู้สึกรักท่าน จงรักภักดีต่อท่าน เห็นผู้คนไปรอรับเสด็จกันแต่เช้า ปลื้มใจจนน้ำตาไหล เห็นคนหลายคนไปจองที่รับเสด็จกันข้ามวันข้ามคืน บางคนแม้ปวดเข้าห้องน้ำก็อดทน ทุกคนมีความอดทนกันมาก ทำให้คิดว่าจริงๆ แล้วแม้บางครั้ง เราจะแลดูว่าเราห่างเหินหรืออาจไม่ได้รักพระองค์มากเท่าที่ควร แต่เมื่อตรึกตรองกันลึกๆ ก็พบว่าเนื้อแท้แล้ว เรารักพระองค์มากจริงๆ

และกระทั่งเมื่อได้รับแรงบันดาลใจเสริมจากผู้บริหารโรงเรียน คือ ภราดาประภาส ศรีเจริญ (ผู้บริหารโรงเรียนในขณะนั้น) ซึ่งชักชวนให้ครูทุกคนทำงานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน และทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีถวายเป็นพระราชกุศล ท่านบอกกับพวกเรา ว่า “คุณครูๆ เป็นประชาชนคนหนึ่งนะ ถ้าครูไม่ทำอันนี้แล้วจะทำอันไหน” จากนั้นพอท่านฉายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงมีพระเสโทหยดลงบนปลายพระนาสิกให้ชมแล้วบอกว่า “ดูสิท่านทรงงานเหนื่อยและหนักขนาดไหน … การทำความดีเราไม่ต้องรอพรุ่งนี้ แต่ทำทุกๆ วันให้ดีที่สุด ขณะที่ยังมีเรี่ยวแรงที่จะทำได้” ตั้งแต่นั้นมาดิฉันก็ตั้งใจเลยว่าจะทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจเพื่อตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน เพราะเวลานี้เราได้พบกับคนที่จะร่วมไปในแนวทางเดียวกับเราแล้ว

ดิฉันคิดว่า ใครจะทำหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือเราจะทำ จะทำได้ดีขนาดไหนเราจะทำสุดความสามารถ ขออย่างเดียวคือให้เราตอบแทนคุณแผ่นดิน ซึ่งดิฉันพบอีกว่านอกจากตัวดิฉันเองแล้วก็ยังมีเพื่อนครูทุกๆ คนที่มีความสมัครสมานร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเต็มที่

จุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ พวกเราคณะครูระดับปฐมวัยพร้อมใจกันวางแผนเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่เด็กๆ เริ่มตั้งแต่การศึกษาเอกสารที่ได้จากการไปศึกษาอบรมยังที่ต่างๆ การสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมานำเสนอในที่ประชุมเพื่อขอมตินำไปปรับใช้กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ในตอนแรกคุณครูในคณะทำงานท่านหนึ่งถามขึ้นว่า “ในระดับของเรามีแต่เด็กๆ อายุเพียง 3 -5 ปีจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร และเราจะนำ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขไปใช้สอดแทรกเนื้อหาในช่วงไหนได้บ้าง” คุณครูท่านหนึ่งจึงพูดให้กำลังใจกันและกันว่า “ต้องมีทางซิ” จากนั้นก็ยกตัวอย่างแผนการสอนที่ได้จากการสืบค้นในอินเทอร์เน็ตอ่านให้เพื่อนๆ ฟังเพื่อใช้เป็นแนวความคิดเริ่มนำข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จุดประกายทำให้การศึกษาค้นคว้าของพวกเราค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

จากจุดนี้จึงร่วมกันวางแผนหาวิธีการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ง่ายและเหมาะสมกับวัยของเด็ก พยายามสอนให้เด็กนักเรียนช่วยเหลือตนเอง สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่างๆ ด้วยตนเอง รู้จักช่วยเหลือหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ในโรงเรียน แสดงความมีน้ำใจ ใช้ชีวิตกับกลุ่มเพื่อนอย่างราบรื่น ไม่กระทบกระทั่งกันรุนแรง รู้จักรัก เชื่อฟัง และปฏิบัติตามอย่างมีความสุข โดยนำมาจัดกิจกรรมแบบบูรณาการเริ่มกำหนดเนื้อหาที่จะสอนให้กับเด็กๆ วัย 3-5 ปี ภายใต้กรอบแห่งแนวคิดที่ว่า ลาซาลจันท์ร่วมใจกันสร้างความตระหนัก ลาซาลจันท์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ลาซาลจันท์สามารถวางแผนเศรษฐกิจ ลาซาลจันท์อุทิศตนช่วยเหลือสังคม ลาซาลจันท์ชื่นชมวัฒนธรรมไทย ลาซาลจันท์เลื่อมใสในทุกศาสนา ให้สอดรับกันไปตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยเน้นรูปแบบของ 6 กิจกรรมหลัก ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย

โดยเน้นรูปแบบของ 6 กิจกรรมหลัก ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ดังนี้


  1. กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ นำเพลง “พระมิ่งขวัญชาติ” ซึ่งเป็นเพลงที่มีความหมายดีมาก มาใช้เป็นสื่อในการสร้างความตระหนักให้กับเด็ก เมื่อเด็กร้องเพลงได้ เนื้อหาในบทเพลงจะค่อยๆ ซึบซับให้เด็กเข้าใจความหมายของสิ่งที่ครูต้องการถ่ายทอดให้กับเด็กได้ง่าย
  2. กิจกรรมสร้างสรรค์ เป็นการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะนำเศษวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์สิ่งของให้เกิดประโยชน์
  3. กิจกรรมเสรี ให้นักเรียนได้เลือกเล่นตามความสนใจ เด็กจะได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน และการแบ่งปัน
  4. กิจกรรมกลางแจ้ง ครูจัดกิจกรรมในรูปแบบการละเล่นแบบไทย เพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทย จัดขึ้นในลักษณะของเกมการละเล่น รู้จักการเล่นตามกฎกติกา
  5. เมื่อเดินถึงห้องเรียนก็พบว่าคุณครูได้จัดเตรียม เกมการศึกษา ไว้สำหรับให้นักเรียนได้เล่น จัดเป็นฐานการเรียนรู้ โดยแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน บรรยากาศต่างๆ ในห้องเรียนเริ่มสงบมากขึ้น มีการมอบหมายงานกันในกลุ่ม มีน้ำใจ ในการแบ่งปันของกัน ช่วยกันแกไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างเด็กๆด้วยกันเอง รู้จักการรอคอย
  6. กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้ เด็กได้มีโอกาส ฟัง พูด สังเกต คิดแก้ปัญหาใช้เหตุผลและฝึกปฏิบัติเพื่อเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน โดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม เรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากการทำโครงงาน โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ นอกจากการจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนยังมีการจัดกิจกรรมภายนอกโรงเรียน โครงการทัศนศึกษาพานักเรียนไปยังสถานที่ต่างๆภายในจังหวัดจันทบุรี เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

โชคดีที่รอบๆ โรงเรียนมีทั้งวัดพุทธ คริสต์ และอิสลาม เราจึงจัดการพานักเรียนไปทัศนศึกษาที่วัดในศาสนาพุทธเป็นที่แรก มีการสำรวจสถานที่ ก่อนไปก็สวดขอพรท่านนักบุญยอห์น บัปติส เดอลาซาล องค์อุปถัมภ์ซึ่งเป็นที่รักของครูและนักเรียนชาวลาซาลทุกคน พอสวดเสร็จเราก็ขึ้นรถ คนขับรถเปิดเพลงเสียงดัง เด็กๆ ก็พากันร้องและเต้นกันอย่างสนุกสนาน ต่างจากภาพเด็กๆ ตอนอยู่ในห้องเรียนที่ต้องอยู่ในระเบียบ ได้เห็นการแบ่งปันขนมและที่นั่ง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในรถ เวลาจะลุกเปลี่ยนที่กันก็ทำกันได้เอง ทำให้ภูมิใจว่าสิ่งที่เราสอนเขาในห้องเรียนทำให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ระดับหนึ่ง เช่นก่อนที่เราจะเดินทางถึงวัด เด็กก็เข้ามาบอกว่าอยากเข้าห้องน้ำ บ้างก็บอกว่าหิวน้ำ หลายอย่างประเดประดังเข้ามา เราขอให้เขาอดทนนิดหนึ่ง เขาก็อดทนรอได้จริงๆ หรือตอนถึงช่วงการฟังพระ ประเคนของให้พระ เด็กก็ทำได้ดี

อีกด้านหนึ่งที่เราประทับใจมากคือผู้ปกครองที่ให้การสนับสนุน ให้ความร่วมมือเมื่อเราจัดกิจกรรม ซึ่งเราถือกันว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะ สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันหลักและสถาบันแรกที่ทำให้สังคมไทยดีหรือไม่ดี เด็กก่อนวัยเรียนนั้นเปรียบเสมือนผ้าสีขาว ถ้าเราแต้มสีผ้าแบบไม่ใส่ใจ ผ้าผืนนี้ก็จะออกมาไม่สวยงามไม่มีคุณค่า แต่หากพวกเราคณะครูได้แต้มสีผ้าอย่างตั้งใจและบรรจงระบายสีลงบนผ้าผืนนี้โดยเลือกสีที่ดีที่สุด ด้วยความประณีต ด้วยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ก็เชื่อมั่นว่าสิ่งต่างๆ ที่พวกเราได้สอนให้กับเด็กๆ จะได้รับการบ่มเพาะเป็นพฤติกรรมที่ดีมีคุณธรรมติดตัวเด็กๆ ตลอดไป และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะเป็นกำลังที่สำคัญที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศชาติในอนาคต แต้มสีสวยอนาคตเด็กก็จะดี หากแต้มผิดพลาด สีดำ สีเทา เด็กคนนั้นก็จะหมองไปตลอดชีวิต ดังนั้นคนที่สำคัญก็คือ “ครู”

เราพยายามให้สามารถนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้นั้นไปใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถแก้ปัญหาง่ายๆ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และตามความสามารถของเด็กๆ เมื่อพวกเราร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเด็กๆ ของเราแล้วก็พบว่ามีแต่ความสุข คือ ทั้งสุขทางกายและสุขทางใจ ทั้งนี้เพื่อถวายแด่บุคคลที่พวกเรารักและเป็นบุคคลที่รักเราโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน คือ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยขอสัญญาว่า พวกเราจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่จะพัฒนางานการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดกับเด็กทุกคน โรงเรียน และชุมชน นอกจากนี้พวกเราก็ยินดีจะส่งต่อเรื่องราวของความพอเพียงให้กับบุคคลที่สนใจเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็ก ๆ เกี่ยวกับรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “เศรษฐกิจพอเพียง” ในสถานศึกษา .



อ้างอิง : หนังสือ “ประสบการณ์จริงบนเส้นทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จัดทำโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล