แรงบันดาลใจที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การเรียนการสอน

                แรงบันดาลใจที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การเรียนการสอน /การ กิจกรรม เนื่องจากในปีการศึกษา 2550 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์เป็นสถานศึกษาพอเพียง 1 ใน 135 โรงเรียนทั่วประเทศ นางสาวอุบล ผังรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนในขณะนั้น มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาครู นักเรียนให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนในโรงเรียนให้เกิดผลอย่างแท้จริง จึงได้ส่งคณะครูเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเนื้อหาและกิจกรรมมีความหลากหลายมาก แต่ที่ประทับใจคือการนำเอาสับปะรดมาทำน้ำยาล้างจาน นำเอามะกรูดมาทำยาสระผม ซึ่งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายภายในบ้านและรู้จักนำเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งคิดว่าถ้าสามารถนำกิจกรรมเหล่านี้ลงในเนื้อหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้น่าจะเกิดผลดีกับนักเรียน สถานศึกษาและชุมชนเป็นอย่างมาก หลังจากจบการอบรมก็ได้เริ่มจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “ธรรมชาติกับความพอเพียง”

­

ยกตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การเรียนการสอนแล้วเกิดผลต่อผู้เกี่ยวข้อง/ สถานศึกษา ในปีการศึกษา 2551 ได้วางแผนนำความรู้ที่ได้รับการอบรมมาจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยวิเคราะห์ความสอดคล้องหลักสูตรสถานศึกษากับงานเศรษฐกิจพอเพียงโดยยึดสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นหลัก เน้นให้นักเรียนรู้จักการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักคิด ให้นักเรียนสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม โดยพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด รู้คุณค่าของทรัพยากรในท้องถิ่น และใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยจัดให้นักเรียนเรียนรู้กิจกรรมตามนโยบายของผู้บริหารที่เน้นเรื่อง 1 ทีมชั้น 1 ผลิตภัณฑ์ คณะครูทีมชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ได้นำนโยบายของผู้บริหารมาขับเคลื่อนโดยจัดตั้งเป็นกลุ่มธรรมชาติกับความพอเพียง เน้น 1 ห้องเรียน 1 ผลิตภัณฑ์ โดยให้นักเรียนแต่ละห้องเรียนรวมกลุ่มกันผลิต แชมพูสระผมมะกรูดสดใช้เองที่บ้าน ซึ่งจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดแรงกระตุ้นให้นักเรียนอยากแปรรูปพืชสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆบ้าง จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมที่กระตุ้นให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตนเองโดยใช้พืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้เอง ซึ่งปลอดภัยจากสารเคมีและไม่เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม

­

ในปีการศึกษา 2552 – 2553 ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสหวิทยาการบูรณาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้จัดทำแผนการเรียนรู้ร่วมกันภายใต้ กิจกรรม 1 ห้องเรียน 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้นักเรียนแต่ละห้องเรียนในทีมชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สามารถแปรรูปพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นผลิตภัณฑ์ใช้เอง เพิ่ม ขึ้นจาก 1 ผลิตภัณฑ์ เป็น 7 ผลิตภัณฑ์ คือ น้ำยาอเนกประสงค์ แชมพูสระผมมะกรูด ครีมนวดผมมะกรูด สบู่ก้อนสมุนไพร ครีมอาบน้ำสมุนไพร โลชั่นน้ำมันมะพร้าว และ น้ำยาปรับผ้านุ่มนอกจากนี้ได้ปรับปรุงสูตรของนักเรียนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพที่ดีต่อสุขภาพของผู้ใช้ ต่อมาได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยใช้เรือนมารดามารีย์ เป็นสถานที่ปฏิบัติการ สาธิต นำเสนอผลงานแก่คณะศึกษาดูงาน ผู้ปกครองและชุมชน โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มธรรมชาติกับความพอเพียง มีการจัดนักเรียนแต่ละห้องเป็นวิทยากรแนะนำหมุนเวียนกันลงมาให้ความรู้ทุกวัน จันทร์ – วันศุกร์

­

ผลจากความสำเร็จในการดำเนินงาน

ด้านนักเรียน

จากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนอกจากนักเรียนจะมีความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของพืชสมุนไพรที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้เองแล้วแล้วกิจกรรมนี้ยังปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ ตามมาอีกมาก มายคือนักเรียนเป็นผู้ที่มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ รู้จักการแบ่งปันให้กับผู้อื่น มีความรอบคอบในการทำงาน รู้จักการวางแผนการทำงาน รับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานมีมีความเป็นผู้นำ และสามารถพัฒนางานผลงานของตน ต่อยอดผลิตภัณฑ์จนสามารถทำโครงงานทดลองเกี่ยวกับน้ำยาเอนกประสงค์สูตรใบแทนสูตรผลไม้รสเปรี้ยว เข้าประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปีการศึกษา 2554

ด้านโรงเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน ชุมชน และหน่วยงานทั่วไปที่มาศึกษาดูงาน

ด้านชุมชน เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูล แหล่งเรียนรู้ในการดำเนินงานโครงการชุมชนพอเพียง ตำบลบ้านลุ่ม อ.เมือง จ.จันทบุรี