นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างทักษะของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร

งานสานพลังการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน
การประชุมวิชาการสานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ : คืนความสุขสู่ผู้เรียน


วันที่ 2-3 เมษายน 2558 ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นนทบุรี

­

ถอดความบางช่วงจากการเสวนาหัวข้อ "นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างทักษะของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร"

­

­

พิธีกร : น้องชวนาทำโครงการสอนภาษาอังกฤษให้กับน้องต่างโรงเรียน และมีคุณครูตั้งคำถามให้เกิดความพอประมาณในสิ่งที่ตัวเองทำ

­

น้องชวนา สุทธินราธร (ลีน่า) แกนนำขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จังหวัดจันทบุรี : สำหรับตัวหนูได้รับโอกาสเมื่อตอนอยู่ชั้น ม.4 เมื่อเขียนเรื่องเล่าเข้าร่วมโครงการเรื่องเล่าเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียงของมูลนิธิสยามกัมมาจล และได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 37 นักเรียนจากทั่วทั้งประเทศที่ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้กระบวนการทำงานจิตอาสาโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนของการออกไปสำรวจพื้นที่ของชุมชนแล้วก็มานั่งคิดวิเคราะห์ว่ามันมีประเด็นอะไรบ้างที่เราต้องแก้ไขหรือพัฒนาชุมชนของเราให้ดีขึ้น หลังจากนั้นเราจะเลือกประเด็นอะไร ทำอะไร เหมาะกับเราหรือเปล่า เราสามารถทำได้ไหม โอกาสเสี่ยง หรือว่าจะสร้างประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน

­

สำหรับหนูก็ได้คิดร่วมกันกับน้องๆ อีก 5 คนซึ่งผ่านเข้ารอบมาด้วยกัน เป็นเยาวชนที่ได้ศึกษากระบวนการทำงานเหมือนกัน ก็คิดกับน้องๆ ว่าชุมชนของเรามันมีปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาอะไรที่เราแก้ได้ ปัญหาอะไรที่เราสามารถพัฒนาได้ ก็คิดโครงการสอนภาษาอังกฤษให้น้องโรงเรียนใกล้เคียงคือโรงเรียนวัดไผ่ล้อม เนื่องจากโรงเรียนวัดไผ่ล้อมเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ โรงเรียนของหนูคือโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ นักเรียนในโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ทุกคนจะได้รับการสนับสนุนจากคุณครูและผู้บริหารทุกคนให้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมจากสถาบันแทมบริด ซึ่งจะสอนการร้องเพลง การสนทนาภาษาอังกฤษ ทำให้เด็กๆ มีความสุข สนุกกับการเรียนมาก พอเรียนไปหนึ่งเทอมแล้ว ตอนปลายเทอมจะมีการทดสอบ เด็กก็จะได้ไปแสดงความสามารถพิเศษบนเวทีและมีการประเมินผลว่าจะได้รับคะแนนเท่าไหร่ๆ พอหนูเห็นว่าน้องๆในโรงเรียนรวมถึงตัวหนูเองได้เรียนภาษาอังกฤษ แล้วสนุก มีความสุข กล้าพูดกล้าทำกันมากขึ้น หนูก็เลยเห็นว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่น้องๆ โรงเรียนวัดไผ่ล้อมไม่มี เราเลยอยากแบ่งปันโอกาสที่เราได้รับจากทางโรงเรียนเอาไปให้น้องๆ ที่เขาไม่มีโอกาสบ้าง ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับที่โรงเรียนของเรา หนูได้ไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโรงเรียนของเราและโรงเรียนวัดไผ่ล้อม และหนูไปสำรวจข้อมูลว่าน้องๆ ชอบเรียนภาษาอังกฤษไหม และมีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษกับคุณครูต่างชาติเหมือนอย่างที่เราได้เรียนบ้างหรือเปล่า การสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนวัดไผ่ล้อมเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้ได้ข้อมูลว่าโรงเรียนของเราได้ส่งคุณครูต่างชาติที่เป็นจิตอาสาให้ไปที่โรงเรียนวัดไผ่ล้อม จะเรียกว่าทุกปีการศึกษาเลยก็ว่าได้ ปีการศึกษาละ 1-2 คน คุณครูต่างชาติก็ได้ไปสอนน้องๆ แต่พอคุณครูสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ น้องๆ ไม่รู้เรื่อง พอไม่รู้เรื่องก็เลยเกิดการไม่อยากเรียน เพราะไม่เข้าใจ ไม่มีความสุขในโรงเรียน

­

พอพวกหนูได้ไปสำรวจแล้วก็กลับมาวางแผนกับน้องๆ อีก 4 คนที่ร่วมเป็นแกนนำจิตอาสาในโรงเรียนก็วางแผนกันว่า OK อย่างนั้นก็ทำโครงการนี้เพราะเรามีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะสอนน้องๆ โดยเลือกน้องๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 ทั้งหมดเกิดจากการที่เราได้ไปศึกษา สำรวจพื้นที่ เรียนรู้ความสามารถของเรา และเรียนรู้พื้นที่ที่เราจะไปทำโครงการก่อน หลังจากนั้น เราก็เอาข้อมูลพวกนี้มาประเมินความสามารถของตัวเอง ทั้งข้อดีข้อเด่นและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในการทำโครงการของเรา เราก็มาคิดกันว่าเราสอนน้องชั้น ป. 3-4 ดีกว่าเพราะเป็นช่วงวัยที่กำลังเปิดรับ โดยเฉพาะการที่หนูเคยทำงานกับพวกน้องๆ ป.3-4 จะเป็นช่วงที่พี่ๆ พูดอะไรจะฟังหมด ให้ทำอะไรทำ ขอความช่วยเหลืออะไรจะให้ความช่วยเหลืออย่างดี แล้วก็เป็นช่วงที่เป็นผ้าสะอาด พร้อมเปิดรับ เชื่อฟังพี่ๆ ก็เลยเลือก ป.3-4 ซึ่งความรู้ความสามารถของพวกเราที่จะสอนให้ตามหลักสูตร เราเรียนมาถึงชั้นมัธยมปลายแล้วเราสามารถสอนน้องได้อย่างแน่นอน แล้วอีกอย่างคือเราไม่ได้ไปสอนแกรมมาหรือไวยากรณ์ แต่เราสอนการสนทนา การร้องเพลง และการที่เราได้เรียนมาจากแทมบริด การสอนตรงนี้เราก็สามารถทำได้ เราก็วางแผนกันเลย รับสมัครจิตอาสาที่มีทักษะในการพูดภาษาอังกฤษแล้วก็อยู่กับน้องๆ ได้ รับสมัครและสัมภาษณ์จิตอาสาว่าผ่านการคัดเลือกแล้วนะ ต่อมาเราก็มาชี้แจงวัตถุประสงค์การทำงานของเรา วางแผนกันว่าเราจะสอนอะไรน้องบ้าง มีกิจกรรมอะไรบ้าง กิจกรรมนี้สอนวันนี้ภายในสองเดือน เราสอนอะไร ได้เนื้อหาเท่าไหร่ วางแผนทั้งหมดแล้วก็ไปลงมือทำกัน

­

แต่มีปัญหาตรงที่ว่ามีความแตกต่างระหว่างสังคมของโรงเรียนวัดไผ่ล้อมและโรงเรียนของหนู ก็คือโรงเรียนของพวกหนู พวกเราจะเป็นคนที่ค่อนข้างมีฐานะ เพียบพร้อมไปหมดทุกอย่างทั้งด้านครอบครัว การศึกษา พฤติกรรม เราอยู่ในสังคมแบบนี้มาตลอด แต่พอวันหนึ่งเราต้องออกไปทำโครงการสองเดือนร่วมกับอีกสังคมหนึ่งเลย เดินเข้าไปมีเด็กพิเศษ 4-5 คนอยู่ในชั้น ป. 3-4 ที่เราไปสอน เข้าไปคุยเขาไม่สนใจเราเลย บางคนตอนแรกก็พี่คะพี่ขาสนุกสนานกับการเรียนดี พอไปๆ มาๆ เริ่มสนิทกับพี่แล้วก็เริ่มเล่นหัว เริ่มหยิบไม้มาเล่นมาตีกัน โดยเฉพาะเด็กพิเศษคุมยากมาก ถึงตอนนั้นหนูก็รับรู้ถึงภาระที่หนักหนาของการเป็นครูเลยว่าเป็นอย่างไร พวกหนูก็มีปัญหาว่าน้องๆ เริ่มไม่สนใจ ทำอย่างไรดี จะเอาขนมไปแจกน้องเมื่อน้องทำตามพี่ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ เพราะว่าวันต่อมาน้องจะเรียกร้องมาขึ้น น้องจะบอกว่าพี่วันนี้ทำเสร็จแล้วขอขนมสองห่อนะ ได้ไหม เราก็เลยคิดว่าไม่ได้แล้วต้องเปลี่ยนใหม่กับวิธีการสอนของเรา เราเลยมาคิดว่าปัญหาที่สำคัญของน้องๆ คืออะไร ที่น้องๆ ไม่สนใจ น้องเล่น ทั้งหมดเพราะน้องๆ ต้องการความใส่ใจจากพวกเราเพิ่มมากขึ้น เราก็เลยใส่ใจ สนใจ น้องๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะน้องที่เป็นเด็กพิเศษ เราจะจัดพี่เลี้ยงที่เป็นจิตอาสาเข้ากับน้องได้เข้าไปประกบไปดูแลเลย ปรากฏว่าน้องๆ ตั้งใจและสนุกกับการทำกิจกรรม และนอกเหนือจากที่น้องๆ มีความสุขกับการเรียนภาษาอังกฤษแล้ว เรายังได้เรียนรู้การเข้าสู่สังคมใหม่ และเรียนรู้วิธีการที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แก้ที่ตัวน้อง ไม่ใช่แก้ที่ตัวอุปกรณ์หรือสิ่งของที่เราใช้ แต่แก้ให้เรากับน้องมีความผูกพันกันมากขึ้น กลายเป็นว่าน้องที่เป็นเด็กพิเศษที่ไม่คุยกับใครเลย วันแรกปลีกตัวอออกจากกิจกรรม หันหลังให้กับทุกคน เขามีความผูกพันกับพี่เลี้ยงที่ดูแลเขามากขึ้น คือคุยกันรู้เรื่องอยู่สองคน เพราะเวลาพี่เลี้ยงไม่มา เขาจะ พี่เปาไปไหน ร้องหาพี่คนนี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เอา ไม่คุยกับเราเลย แล้วโครงการก็ประสบความสำเร็จค่ะ เหนือความคาดหมาย เพราะปัจจุบันนี้เราก็ยังเห็นน้องๆ กลุ่มนี้อยู่ พอเขาเห็นเราก็จะเข้ามาคุยมาทักทาย ทำให้คิดว่าจริงๆ แล้วเราไม่ควรมองโรงเรียน หรือสังคมอื่นแค่เพียงภายนอกแต่เพียงผิวเผินที่เราเห็น เมื่อเราได้ไปเรียนรู้อยู่กับเขา ได้ไปทำงาน ได้ไปทำจิตอาสาภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้เรียนรู้ได้แก้ปัญหาร่วมกันมันทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น และได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วน้องๆ เขาก็มีความบริสุทธิ์ มีความน่ารักในวัยของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะอยู่ในสังคมไหนก็ตาม


พิธีกร : คุณครูที่นั่งอยู่ในห้องนี้อยากได้เด็กแบบนี้ไหมค่ะ เด็กอย่างนี้สร้างได้ค่ะหากว่าคุณครูใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นี่แหละที่น้องเล่ามาเป็นชุดๆ นี่เป็นชุดของภูมิคุ้มกันที่น้องเขาใช้ในการเลือกรับแล้วก็หาแผนที่ 1 แผนที่ 2 ไปแผนที่ 3 แล้วก็ปรับไปเรื่อยๆ จนโครงการประสบความสำเร็จ นอกจากพื้นที่ของชุมนุมของการทำงานที่เป็นพื้นที่ของเด็กนักเรียนปกติแล้ว หลักคิดหลักปรัชญาก็เข้าไปถึงชีวิตของน้องด้วย ตอนที่อยู่ ม.6 แล้วต้องเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย น้องชวนาได้นำหลักคิดหลักปรัชญาฯ ไปใช้กับการคิด การตัดสินในชีวิตด้วย อยากให้น้องเล่าหน่อยค่ะ


น้องชวนา : สำหรับหนูตอนแรกยังไม่รู้ว่าเมื่อจบไปแล้วจะเรียนอะไร ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนคณะอะไร แต่ก็เรียนสายวิทย์ - คณิตไปก่อนเพราะว่าจะสามารถเลือกคณะได้ทุกคณะ พอขึ้น ม. 4 เราก็มีความคิดว่าเราอยากเรียนหมอเพราะว่าอยากไปช่วยผู้คนโดยเฉพาะคนที่อยู่ในชนบทถิ่นทุรกันดารที่เขาต้องการความช่วยเหลือ หมอมีไม่พอ เราก็อยากออกไปช่วย พอดีว่าคุณแม่เป็นห่วง เพราะทราบว่าหนูเป็นคนที่มีนิสัยจะทำอะไรต้องทำให้ได้ มีความมุ่งมั่นพยายาม พยายามมากที่จะประสบความสำเร็จ คุณแม่ก็มีความกังวลว่าถ้าเป็นหมอหนูต้องตั้งใจอ่านหนังสือ สอบเข้าก็ยากแล้วแต่พอเข้าไปเรียนแล้วยากกว่า เขาไม่อยากให้หนูเครียดหรือมุ่งมั่นพยายามอ่านหนังสือ วันๆ ก้มหน้าอ่านหนังสือมากจนเกินไป คุณแม่ก็พยายามโน้มน้าวให้หนูเรียนอย่างอื่น เพราะด้วยเห็นว่าหนูทำกิจกรรมแข่งขัน มีความมุ่งมั่น คุณแม่ก็อยากให้เรียนนิเทศ หนูก็สนใจด้านนี้เหมือนกัน หนูจึงตัดสินใจว่าเรียนนิเทศก็ได้ เพราะหนูคิดว่าการทำงานไหนๆ ก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้ทั้งนั้นพอเราหันเหมาทางด้านนี้แล้ว เราก็วางแผนเลยว่าถ้าจะเรียนนิเทศต้องเรียนพิเศษอะไร ต้องอ่านหนังสือวิชาไหนให้หนัก ปรากฏว่าอ่านไปอ่านมาสอบติดอักษรก่อนที่นิเทศจะรับตรง ก็เลยตัดสินใจว่าเราติดอักษรแล้ว และโครงการนี้ก็ได้รับทุนด้วย จะทิ้งทุนนี้เพื่อไปเรียนคณะที่เราอยากเรียนไหม หรือว่าจะเลือกทุนนี้แล้วก็เรียนในคณะอักษร ก็เข้าไปศึกษาหาข้อมูลเลย คือสร้างเงื่อนไขความรู้ให้กับตัวเองเลยว่าเรียนอักษรเข้าไปเรียนอะไร จบไปแล้วทำงานอะไร ปรากฏว่าสายงานค่อนข้างจะใกล้เคียงกับนิเทศ และเราเข้าโครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทยซึ่งเป็นโครงการที่ใช้ความรู้ความสามารถด้านภาษาไทยของเราได้อย่างเต็มที่ เราคิดว่าถ้าตัวเองเรียนในคณะนี้หนูคงมีความสุขในการเรียนเพราะเป็นภาควิชาที่ถนัดแล้วเราจะประสบความสำเร็จในวิชาที่เราถนัด และมีความสุขกับมัน น่าจะพบในชีวิตมหาวิทยาลัย อีกอย่างคงได้ใช้ความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของการเรียน และเมื่อเรียนจบแล้ว ในสายอาชีพในอนาคต สุดท้ายจึงได้เลือกในคณะอักษรค่ะ


พิธีกร : น้องชวนาไม่ต้องมีครูแนะแนวเพราะมีหลักคิดหลักปรัชญาอยู่ในใจ สามารถแนะแนวตัวเองได้ ลองฟังเสียงคุณแม่ดูคะ ว่าตั้งแต่น้องชวนาเริ่มเรียนรู้ที่จะรู้จักหลักคิดปรัชญาตั้งแต่ชั้น ม.1 จน 6 ปีผ่านมา น้องมีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่คุณแม่สังเกตเห็นได้ และเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการสั่งสมที่ประกอบกัน จนในที่สุดบางครั้งก็แนะนำคุณแม่ได้ด้วย


คุณแม่ : ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มันเหมือนกับว่าเราจะไม่ค่อยรู้ตัวแต่พอไประยะเวลาหนึ่ง การที่เขาใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับชีวิตเขาและนำมาใช้ที่บ้านจะเป็นการซึมซับไปโดยที่เราไม่รู้ตัวจนกระทั่งวันหนึ่งเราไปเห็นลูกคนอื่น อันนี้ก็ต้องแม่ อันนั้นก็ต้องแม่ จะไปทำกิจกรรมหรือไปเข้าค่าย แม่ก็ต้องเตรียมกระเป๋า แม่ก็ต้องเตรียมเอกสาร แต่ของเราไม่เห็นเราต้องเตรียมให้ลูก ลูกเราทำเองหมด เราไม่ได้ยุ่งอะไรเลย เราก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง โดยพื้นฐานของครอบครัวจะสอนให้เขาพึ่งตัวเอง การเรียนรู้ตรงนี้ก็เป็นการสร้างภูมิ เสริมความแข็งแรงให้ตัวเขา จากการที่คุณครูได้สอน โรงเรียนได้บ่มเพาะเขามา ทำให้เขาเป็นคนที่มีความรอบคอบทั้งความคิดและการกระทำ ทำอะไรมีเหตุผลตลอด คิดก่อนทำเสมอ ทำแบบมีเหตุผล คิดทบทวน การกระทำที่ออกมาจึงเป็นการกระทำที่ดี ดีทั้งตัวเขาเอง ครอบครัว สังคมที่เขาอยู่ทั้งโรงเรียนและชุมชน โดยกิจกรรมที่ทำก็ไม่ได้เบียดเบียนการเรียนเลย เพราะการที่เขาคิดก่อนทำ มีความรอบคอบ ทำให้เขามีการแบ่งเวลาเรียน เวลาทำกิจกรรม เพราะฉะนั้นการเรียนและการทำกิจกรรมของเขามันจะดีพร้อมไปด้วยกันทั้งสองอย่าง เด็กบางคนอาจจะกิจกรรมดี แต่การเรียนไม่ค่อยดี เด็กบางคนจะการเรียนดีแต่กิจกรรมไม่ค่อยดี แต่ชวนาเขาจะรู้จักการแบ่งเวลาได้ดี มีความสมดุล เขาจะเป็นเด็กที่มีเหตุผลการคิด รอบคอบ เขาจะบอกแค่ว่าเขาจะไปทำโน้นทำนี่ ที่นั่นที่นี่ เขาคิดและตัดสินใจเอง เราทำหน้าที่แค่คอยดูอยู่ห่างๆ แล้วเราก็ทำหน้าที่แม่ ส่วนเขาก็ทำหน้าที่ของเขาไป เราหาเงินให้เขาเรียน คือเขาจะทำอย่างไรให้คุ้มค่ากับเงินที่เราหามาเหนื่อยเพื่อส่งให้เขาเรียน ในการที่เขาตัดสินใจอะไรเราก็เห็นแล้วว่าผลมันออกมาดีตลอด คิดเอง ทำเองหมดเลย เราก็จะเคารพในการตัดสินของเขา แม้กระทั่งการที่เขาเรียนจนเข้าสู่มหาวิทยาลัย เราก็ถามเขาอย่างนั้นอย่างนี้ไหม แต่เราจะไม่บังคับ เราก็จะเนียนๆ แทรกๆ ความคิดไปทีละหน่อย


พิธีกร : ปัจจัยความสำเร็จก็จะเป็นเรื่องของความไว้วางใจ ทำให้เด็กได้มีโอกาสลงมือคิด ลงมือทำ ที่บ้านกับที่โรงเรียนเหมือนกันเลยคือเปิดพื้นที่ให้เด็กลองคิดลองทำและเชื่อมั่นเขาให้ถึงที่สุด ขณะเดียวกันครูมีหน้าที่เสริมความมั่นใจด้วยการตั้งคำถาม ที่จริงคุณแม่ก็เลี้ยงน้องชวนาด้วยวิธีนั้นแต่อาจไม่รู้ตัว เสนอเขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ดีไหม แต่ไม่ได้บอกว่าแม่อยากให้... ไม่ไปคาดคั้นไปคาดหวังกับผลลัพธ์แต่เชื่อว่าเขาจะดูแลตัวเองได้ เมื่อเด็กได้รับความไว้วางใจให้ดูแลตัวเองได้ เมื่อนั้นเขาจะเข้มแข็ง และความคิดของเขาจะงอกงาม


น้องชวนา : การที่คนทั่วไปยังไม่ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็เพราะว่าหลายๆ คน รวมถึงตัวหนูเองตอนเด็กๆ ก่อนที่จะได้เข้าร่วมโครงการ ก่อนที่โรงเรียนจะขับเคลื่อน เป็นเพราะว่ารู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรา พอเราได้มาเรียนรู้ทำความเข้าใจจึงรู้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นธรรมชาติในชีวิตของเรา เราจะทำอะไรก็ตามแต่ ตื่นเช้ามาอาบน้ำกินข้าวก็ต้องคิดก่อนว่าเราทำอะไร ทำทำไม ทำอย่างไร ไม่มีใครที่คิดหรือทำอะไรเกินตัวอยู่แล้วเพราะว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในฐานะที่หนูเป็นนักเรียนผ่านการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมาหลายรูปแบบมาก เพราะโรงเรียนก็จะมีฐานการเรียนรู้ให้นักเรียนถอดบทเรียน ให้นักเรียนทำโครงการจิตอาสา

­

สิ่งเหล่านี้ หนูก็อยากสะท้อนให้กับคุณครูแต่ละท่านว่าสิ่งที่ได้ผลมากที่สุดที่ทำให้พวกหนูเข้าใจหลักปรัชญามากที่สุดคือ การที่ได้คิดและได้ทำด้วยตัวเอง อย่างที่ได้ทำโครงการจิตอาสา ก่อนหน้านี้หนูก็เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เข้าใจว่าเราใช้ เข้าใจว่าเมื่อเราถอดบทเรียนเราต้องดึงหลักปรัชญาให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราทำ แต่จริงๆ แล้วพอเราได้คิดเองทำเอง วางแผนเอง แก้ปัญหาเอง โดยที่คุณครูให้ความเชื่อใจและให้โอกาสเราทำ มันทำให้เราเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น เข้าใจว่าการถอดบทเรียนไม่ใช่การดึงหลักปรัชญาให้เข้ากับสิ่งที่เราทำ แต่คือการดึงสิ่งที่เราทำออกมาว่าหลักปรัชญาที่เราทำอยู่ใช้อยู่แสดงออกมาให้เห็น เชื่อมโยง รู้ตัวว่าเราทำอะไร และทำอย่างไร อยากบอกคุณครูว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาสำหรับหนูในฐานะที่เป็นนักเรียนก็คือการที่คุณครูให้โอกาสและความเชื่อมั่นให้เราได้คิดได้ทำเองค่ะ


คุณแม่ : ขอเสริมจากน้องชวนาว่าเราเป็นผู้สร้างแต่สถาบันเป็นผู้เสริม เสริมให้ลูกเราได้มีความรู้ความเข้าใจ การที่ลูกเราได้เรียนรู้จากสถาบันการศึกษา ที่คุณครูผลักดันจนเข้าเป็นแกนนำ เราอย่าคิดแค่ว่าการที่ลูกเราเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมันจะอยู่แค่ในโรงเรียน แต่การที่ลูกเราได้เรียนรู้ได้ทำความเข้าใจสิ่งที่ครูได้มอบหมายมานั้น สามารถที่จะนำมาใช้ในครอบครัว ในสังคมได้ ทำอย่างไรที่คุณครูจะทำให้นักเรียนเข้าใจตรงนี้เหมือนกับชวนา และเมื่อนักเรียนเข้าใจแล้วทำอย่างไรให้เขานำไปใช้ที่บ้าน ที่ครอบครัว และคนรอบข้างในสังคม เพราะการเรียนรู้ตรงนี้มันไม่เกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับการนำความรู้ตรงนี้ไปพัฒนาสังคมด้วย #