หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ตลอดระยะเวลา 8 ปี ฉันเติบโตมาพร้อมกับการปลูกฝังว่าตนมีบ้านสองหลัง บ้านที่ให้ความรัก ความรู้และความอบอุ่น บ้านที่สอนให้ฉันเป็นคนดี มีคุณธรรม รู้ในสิ่งผิดและสิ่งถูก บ้านที่คอยดูแลให้ฉันเติบโตขึ้นมาเป็นเยาวชนที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งกายใจและสติปัญญา บ้านหลังแรกนั้น คือ บ้านที่แท้จริงที่ฉันเติบโตมาในครอบครัว และบ้านหลังที่สอง คือ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ สถานศึกษาที่ฉันภาคภูมิใจ

­

โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ เป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัลสถานศึกษาพอเพียง ในปี พ.ศ. 2550 ได้รับรางวัลสถานศึกษาต้นแบบภาคกลางและภาคตะวันออก ในปี พ.ศ. 2552 และล่าสุด ได้รับรางวัลศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ในปี พ.ศ. 2554 นั่นก็หมายความว่า เป็นเวลามากกว่า 5 ปีที่ฉันได้รับการสั่งสอนและปลูกฝังให้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากการมีโครงการ “หนึ่งทีมชั้น หนึ่งนวัตกรรม” ที่เปิดโอกาสให้แต่ทีมชั้นภายในโรงเรียนคิดค้นนวัตกรรมภายในทีมชั้นของตนเองขึ้นมา เกิดเป็นฐานการเรียนรู้ประจำทีมชั้นนั้นๆ ให้กับนักเรียนได้มาศึกษา ในตอนแรกนั้นนักเรียนทุกคนเข้ามาศึกษา แต่ยังไม่ทราบว่าตนเองได้อะไร คุณครูกำลังปลูกฝังอะไรและยังไม่รู้ว่าวิธีการ “ถอดบทเรียน” นั้นต้องทำอย่างไร ทุกคนทำไปเพราะความสนุกและสนใจที่ตนเองกำลังได้เรียนรู้วิชาชีพและวิชาชีวิต ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน กระทั่งคุณครูสอนให้พวกเรารู้จักการเขียนความรู้ ทักษะและเจตคติที่ได้จากการทำกิจกรรม อันเป็นจุดเริ่มต้นของการ “ถอดบทเรียน” ที่โรงเรียนได้สอนให้กับนักเรียน ต่อมาเมื่อนักเรียนได้ฝึกถอดบทเรียนบ่อยๆ คุณครูก็เริ่มพัฒนาให้นักเรียนได้รู้จัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง แล้วนำนักเรียนให้เข้าสู่การบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับฐานการเรียนรู้ในทีมชั้นของตนเอง ในขณะนั้นการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ดูเป็นกระแสภายในโรงเรียน เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่นักเรียนไม่เคยได้เรียนรู้อย่างจริงจังมาก่อน เมื่อนักเรียนสามารถถอดหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ออกมาได้จากฐานการเรียนรู้แล้ว การบูรณาการก็ดำเนินไปอย่างเต็มรูปแบบ คือ มีการบูรณาการฐานการเรียนรู้เข้ากับ 8 กลุ่มสาระวิชา สอนหลัก 4 มิติให้กับนักเรียนและให้นักเรียนถอดบทเรียนที่ได้จากการทำกิจกรรมใน 8 กลุ่มสาระวิชา ให้ครบทั้ง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และ 4 มิติ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้นักเรียน “บันทึกพอเพียงของฉัน” ภายในห้องและรายบุคคล และมีการถอดบทเรียนทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมมากมายภายในโรงเรียนทั้งวันวิชาการ วันครู หรือกิจกรรมตลาดนัดพอเพียง เคียงคู่การแบ่งปัน ที่ให้คุณครูและนักเรียนได้นำของที่ตนเองไม่ใช้แล้ว มาแบ่งปันให้กับนักเรียนคนอื่น และนำรายได้ทั้งหมดไปบริจาคให้กับผู้ขาดแคลน อันเป็นกิจกรรมที่สอนให้นักเรียนรู้จักแบ่งปันและรู้จักการบริหารจัดการร้านค้าภายในทีมชั้นของตนเองอย่าง “พอเพียง”

­

หากถามฉันว่าได้รับอะไรจากโรงเรียนแห่งนี้ ในฐานะนักเรียนแกนนำเศรษฐกิจพอเพียงคนหนึ่งที่ได้ร่วมขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมานานกว่า 5 ปี สิ่งที่ฉันจะตอบคือ ก่อนสิ่งอื่นใดนั้น ฉันได้รับโอกาส จากการได้รับการอบรมเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์คุณชยุต อินทร์พรม และทีมงานจากสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุขอยู่หลายครั้งในช่วงที่โรงเรียนกำลังเริ่มขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาในโรงเรียน ฉันได้รู้ว่าหลักคิด หลักปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น และในขณะนี้ฉันกำลังได้รับโอกาสในเข้าแข่งขันประกวดภาพยนตร์สั้นภายใต้โครงการ “ถอดรหัสกำจัดขยะ แบบพอเพียง สู่ความยั่งยืน” ซึ่งก่อนที่จะสร้างผลงานออกมานั้น นักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนจะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการจากพี่ต๋อง พี่น้อง จากบริษัทคลับ ครีเอทีฟ จำกัด คุณพัฒนะและกลุ่มตีลังกาคิดเซ่ ในการให้ความรู้และทักษะในการสร้างภาพยนตร์สั้น ก่อนผลิตผลงานส่งเข้าแข่งขัน นอกจากนี้ฉันยังได้รับโอกาสเข้าร่วมงานตลาดนัดความรู้ ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 โอกาสทั้งหมดนี้สร้างประสบการณ์ ความรู้ ความคิดและความสามารถให้กับฉันอย่างมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ฉันได้รับคือ หลักคิด การเรียนรู้และใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ฉันรู้จักความพอประมาณกับตนเอง พอดีกับฐานะ พอดีกับความสามารถ พอดีกับวัยและพอดีให้กับใจ ทุกวันนี้ฉันมีความสุข สุขที่ไม่ต้องคิดกระวนกระวาย อยากได้สิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ทำทุกอย่างอย่างมีเหตุผล คิดถึงความเป็นไปได้ คิดถึงความเหมาะสมและมีภูมิคุ้มกัน ไม่เกินตัว ไม่สร้างความเดือดร้อนและการกระทำนั้นๆ สามารถสำเร็จไปได้ด้วยดี จะทำอะไรต้องรู้ในสิ่งนั้นอย่างละเอียด ลึกและรอบคอบ ที่สำคัญคือต้องส่งผลที่ดีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทั้งหมดนี้คือ “หลักคิด” ที่ฉันได้จากการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภายในโรงเรียน หลักคิดที่สามารถใช้ได้กับทุกการกระทำ ใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ และเมื่อใช้ในการกระทำนั้นๆ แล้ว มั่นใจได้ว่าทุกอย่างจะสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด