การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาลจามเทวี

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่  27  พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

 

ครู วิภาสอนวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ ป.3 หลักการสอนคือเน้นให้เด็กได้ลงมือทำ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่ม หลังเรียนจบจะให้เด็กเขียนหรือออกมาพูดหน้าห้องเรียน เพื่อฝึกทักษะการพูดการเขียนไปในตัว ครูวิภาจะทำตัว “แบบอย่างที่ดี” ให้เด็กเห็นก่อน เพื่อให้เด็กเชื่อในสิ่งที่ครูบอก การสอนเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนจะขึ้นอยู่กับผู้เรียนเป็นสำคัญ หากไม่ตรงกับแผนที่วางไว้ก็ต้องมีการปรับแก้ไข
 

ออกแบบการเรียนรู้: ความ โดดเด่นของโรงเรียนจามเทวีอยู่ที่เรื่องการทำหลักสูตรบูรณาการความรู้ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยตอนแรกจะเป็นหลักสูตรธรรมดาในรายวิชาที่เรียนก่อน จากนั้นบูรณาการหลักสูตรขึ้นมาเป็นวิชาเพิ่มเติม วิชาปกติจะเรียน 9 วิชา แต่ที่นี่เรียน 10 วิชา เป็นวิชาเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง เพราะบริบทของโรงเรียนเป็นกึ่งชนบท  จึงเพิ่มวิชาเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมา
 

โรงเรียน เปิดสอนระดับประถม ป.1 - ป.6 นักเรียน 100 กว่าคน ครู 14 คน การออกแบบการเรียนรู้มีศึกษานิเทศเข้ามาเป็นครูพี่เลี้ยง  ตอนนั้นใช้หลักสูตรปี 44 มาวิเคราะห์เลือกหน่วยเรียนรู้เป็น 5 หน่วย “พืชผักรักไทย ไร่นาสาธิต ชีวิตจิ้งหรีดน้อย สับซอยหมักเพิ่มคุณค่า เลี้ยงปลาได้ประโยชน์”  เป็น การทำร่วมกันทั้ง ป.1- ป.6  โดยวิเคราะห์จากมาตรฐาน หลังจากนั้นนำมาจัดทำเป็นหน่วยสาระ ใช้เวลาชุมนุมในวันอังคาร 1 ชั่วโมงให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติพร้อมกัน หรือบางครั้งลง 2 คาบพร้อมกัน  แต่ในเรื่องทฤษฎีจะให้ใบงานที่แตกต่างกันไป เช่น ป.1 เรียนเรื่องข้าวจะเริ่มจากการเพาะเมล็ดข้าว ส่วน ป.4 - 6 จะลงลึกถึงขั้นหว่านและเก็บเกี่ยว น้องๆ สามารถลงไปได้ แต่ไม่ถึงขั้นเขียนอะไรที่ลึกลงไปเหมือนพี่ๆ  เพราะตัวชี้วัดและประเมินผลจะแตกต่างกันไป
 

วิชา นี้ครูทุกท่านสามารถสอนได้หมด โดยครูจะสอนคู่ 2 คนประกบกัน หากครูคนใดคนหนึ่งขาด อีกคนสามารถสอนแทนได้ แต่หากขาดทั้ง 2 คน ครูคนอื่นก็สามารถเข้ามาสอนแทนได้ โดยการอ่านแผนการสอน เพราะเป็นแผนที่คิดร่วมกัน เมื่อปิดภาคเรียนเด็กได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับทักษะปฏิบัติเป็นงานปิดท้ายที่ เรียกว่า “แอ่วกาดง่าย จ่ายกาดมั่ว ซื้อครัวเกษตร เทศบาลจามเทวี”  ให้ เด็กๆ นำผลผลิตที่เด็กนักเรียนทำมาวางขาย และเชิญผู้ปกครองมาร่วมงาน เด็กจะได้เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการปฏิบัติ ทักษะชีวิต พืชผักที่นำมาขายในแต่ละระดับชั้นจะไม่ซ้ำกัน ไร่นาสาธิตก็จะเป็นจิ้งหรีด สับซอยหมักเพิ่มคุณค่าจะเป็นน้ำปุ๋ยหมัก EM การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เน้นไปที่กิจกรรมของอุทยานการเรียนรู้ที่มีมากถึง 20 อุทยาน ให้เด็กได้ปฏิบัติ ได้ลงมือทำ แต่เลือกเอามาเป็นหน่วยการเรียนรู้ 5 อุทยาน ให้เป็นบทเรียน เป็นวิชาเรียน อาทิ ไร่นา ถ้าเด็กทำเหมือนคนอื่นก็จะเหมือนชาวนาทั่วไป แต่ของเราจะมีใบงาน เขียนขั้นตอนกระบวนการ หรือการปลูกผักบุ้งที่ในอินเทอร์เน็ตจะมีวิธีการปลูกมากมาย แต่เด็กจะปลูกอย่างไร ให้เขาเขียนของเขาออกมา เมื่อลงมือปลูกเด็กจะได้เรียนรู้ทฤษฎีก่อนปฏิบัติจริง
 

ส่วน ตัวเอง รับผิดชอบรายวิชาภาษาไทย และคณิตศาสตร์ ชั้น ป.3 โดยวิชาภาษไทยเราจะไม่บอกเขาว่าเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร เช่น ในชั่วโมงเรียนจะมีการต้มปลา ซึ่งจะไม่ต้มในวิชาเกษตร แต่จะมาต้มในรายวิชาภาษาไทย เด็กจะสนุกมากที่ได้กินต้มปลาวันนี้ แล้วเราจะบอกเด็กว่าเมื่อกินเสร็จแล้วจะต้องเขียน เด็กจะเขียนได้ดี เพราะเด็กลงมือทำเอง แบ่งกลุ่มชาย หญิง ให้เด็กได้เรียนรู้ร่วมกัน เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความถนัดแตกต่างกัน บางคนถนัดการหั่นผัก บางคนถนัดการจับตะหลิว ครูจะเตรียมอุปกรณ์มาให้เด็กๆ เราพยายามให้คนที่ทำไม่เป็นได้ลงมือทำ ให้คนที่ทำเป็นแลกเปลี่ยนกัน บางครั้งอาจจะไม่ต้องเขียนแต่ให้เขาออกมาพูด เป็นการฝึกทักษะทางด้านการพูดไปด้วย เด็กจะสามารถพูดได้ เพราะเขาลงมือทำกันเอง
 

กิจกรรม วันปีใหม่ ให้เด็กทำปลานึ่งมะนาว ทอดลูกชิ้นกันเอง ไม่สั่งซื้อของมากินกัน บางทีเราจะแกล้งไม่รู้แล้วตั้งคำถามให้เขาตอบ เด็กจะสามารถตอบได้ว่าเราใช้วิธีการสอนหรือกิจกรรมอะไรบ้างที่เป็นเศรษฐกิจ พอเพียง ทั้งที่ตลอดเวลาเราจะไม่ค่อยพูดคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงกับเด็กเท่าไร เช่น เวลาทำน้ำมะนาว เด็กจะกลับไปทำที่บ้านให้พ่อกับแม่ชิม สอนภาษาไทยก็ไม่ต้องเล่าเรื่องวิชาภาษาไทย แต่ให้เด็กสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตแทน
 

สำหรับ เรื่องการศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน  เนื่องจากมีคนมาดูงานบ่อย เขาจะถามเด็กว่ารู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจริงหรือ  เราจะออกแบบข้อสอบเศรษฐกิจพอเพียง คิดข้อสอบเอง 15 ข้อ เป็นการวัดผลก่อน แล้วให้เขาค้นคว้าตามโจทย์คือ “ค้น คว้าหาเว็บไซต์ ใส่ใจความหมายเศรษฐกิจพอเพียงเรียงถ้อยร้อยคำจากพระราชดำรัส แจ่มชัดความคิดเห็น ซ่อนเร้นในความรู้ มุ่งสู่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  นั่น คือใบงานของเด็กหลังจากการทดสอบปลายภาค เช่น การค้นคว้าหาเว็บไซต์  เป็นการค้นหาเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เขียนชื่อเว็บ และหน่วยงาน ใส่ใจความหมายเศรษฐกิจพอเพียง คือ ให้เขาหาความหมายของคำว่า พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน และความรู้คู่คุณธรรม เรียงถ้อยร้อยคำ เป็นการหาพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาฯ แล้วเลือกอันที่ชอบที่สุด พร้อมบอกเหตุผลที่ชอบว่าเพราะอะไร และจะปฏิบัติตามพระราชดำรัสของในหลวงได้อย่างไรบ้าง แจ่มชัดในความคิดเห็น ให้นำเอาพระราชดำรัสมา  1 พระราชดำรัส และแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ซ่อนเร้นในความรู้ เป็นคำถามของเราให้เขากา ถูกผิด 15 ข้อ ส่วนมากเด็กเขาจะทำได้ โดยที่เราไม่ต้องสอนเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข
 

การ ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่เด็ก เราเองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กก่อน แล้วเด็กจึงจะเชื่อในสิ่งที่เราสอน เชื่อในสิ่งที่เราให้ทำ วิธีการสอนเด็กโตจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เด็กเล็กก็เป็นอีกแบบหนึ่ง  การสอนเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเราจะขึ้นอยู่กับตัวนักเรียนก่อน แม้จะไม่ตรงกับแผนที่เราวางไว้ก็ตาม ปีนี้ผู้อำนวยการท่านจัดให้มี “ชุมนุมทักษะชีวิต”  ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ โดยการเชิญท่านผู้อำนวยการวิเชียร ชัยบัง และทีมงานจากโรงเรียนลำปลายมาศมาอบรมที่โรงเรียน โดยการออกแบบจะไม่ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนเป็นหลัก การให้การบ้านจะให้ก็ต่อเมื่อเด็กได้เรียน และครูต้องการอยากจะเสริมให้เขาได้ทำต่อ หรือครูเห็นว่าเขาทำไม่ได้จึงจะมอบการบ้านให้เด็กนักเรียนทำ
 

แรงบันดาลใจในการทำเศรษฐกิจพอเพียง: จุดเริ่มต้นเกิดจากการได้ดูพระราชกรณียกิจเมื่อครั้งยังเด็ก  จึงเริ่มศึกษาทฤษฎีใหม่ โรงเรียนจะไม่พูดเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่มีการทำแปลงนา  เลี้ยงปลา โดยไม่รู้ว่านี่คือเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อมาทำโครงการกับ ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ ทำให้รู้ว่านี่แหละคือโครงการเศรษฐกิจพอเพียง การทำแบบนี้นอกจากจะได้กับเด็กแล้ว ตัวเราเองก็ได้ด้วย สร้างพื้นฐานที่ดีในวัยเด็ก เราต้องเป็นแบบที่ดีให้กับเด็ก เราจะนำคลิปวิดีโอของในหลวงมาให้เด็กๆ ดูว่าพระองค์ท่านได้ทำจริงๆ  ทำเป็นพื้นฐาน ปลูกฝังแนวความคิดให้เด็กก่อน หลังจากนั้นกระบวนการมันจะไปเอง เน้นให้เด็กดูในหลวงเป็นแบบอย่าง
 

ที่ โรงเรียนจะเน้นสอนให้เด็กปฏิบัติมากๆ เช่น สอนให้เด็กเรียนรู้การทอดไข่ นอกจากจะสอนให้เด็กได้ลงมือทำแล้ว ยังให้เขาเขียนวิธีการจับตะหลิวหรือการทอดไข่ด้วย  ในหลวงท่านจะสอนให้ลูกปฏิบัติ หลักการทรงงานของพระองค์ท่านคือ ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง แล้วเขาจะรู้และเข้าใจกระบวนการง่ายขึ้น อยากสร้างแรงจูงใจพื้นฐานให้กับเด็กเขา เหมือที่เราเป็น
 

ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากเด็กนักเรียน: เมื่อเด็กได้ลงมือปลูกข้าวเอง ตั้งแต่นำข้าวแช่น้ำ นำไปหว่าน คัดเมล็ดข้าวออก ไปจนจึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เด็กจะเห็นคุณค่าของข้าว แม่ครัวไม่ต้องตักข้าวให้  เด็ก ป.4 - 6 จะตักเอง และตักให้น้องๆ ด้วย เมื่อทานเสร็จก็นำไปล้าง สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเด็กทานข้าวหมดไม่เหลือเป็นเศษอาหาร หรือเด็กในห้องจะใช้กล่องที่เป็นกระดาษเก่าๆ มาใช้แทนพลาสติก เช่น ที่ตักผง เด็กจะใช้ปี๊ปขนมปังมาทำเป็นที่ตักผงแทน แล้วเขาจะถามเราว่าอันนี้เป็นเศรษฐกิจพอเพียงใช่ไหม เขาจะคอยถามเราตลอด