การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาลจามเทวี “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเทศบาลจามเทวี

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี


โรงเรียนเทศบาลจามเทวีใช้ “ฐานทุนเดิม” เรื่องเกษตรมาขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “อุทยานการศึกษา” ประกอบไปด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การทำน้ำยา EM การเลี้ยงปลา การทำปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ กำหนดให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านฐานกิจกรรมเหล่านี้ เน้นให้ครูวิเคราะห์หลักสูตรและทำวิจัย มีการติดตามงานและแผนการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง มีการบูรณาการครบ 8 กลุ่มสาระ ครูได้มีการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน จึงช่วยลดความซ้ำซ้อนของการเรียนลงได้  นักเรียนสามารถคิดเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบมากขึ้น

บริบทโรงเรียนเทศบาลจามเทวี เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง - ป. 6 มีครู 45 คน มีนักเรียน 200 คน ที่โรงเรียนไม่มีรองผู้อำนวยการ ผอ. มารับตำแหน่งผู้บริหารเมื่อปี 2546 พบว่าเดิมโรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ 4 อย่าง คือ บ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกผัก ซึ่งครูเข้าใจว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงขับเคลื่อนด้วยการใช้ฐานทุนเดิม พัฒนาแหล่งเรียนรู้ขึ้นใหม่ พร้อมๆ กับให้ความรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่ครู เพื่อเปลี่ยนความคิดของครูควบคู่ไปด้วย ในระยะแรกมีเทศบาล ผู้ปกครองมาช่วยสร้างแหล่งเรียนรู้ เช่น ไร่นาสาธิต ต่อมาในปี 2547 โรงเรียนส่งเสริมให้เด็กเขียนเรียงความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ข้าพเจ้ารู้จัก จนได้รับรางวัลชมเชย 3 - 4 รางวัล โรงเรียนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น กระทั่งได้รับทุนสนับสนุนจาก NIDA จึงจัดให้มีการทำหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง โดยเลือก 5 หน่วยการเรียนรู้ที่มี เช่น หน่วยพืชผักรักไทย ไร่นาสาธิตปลูกวันแม่เกี่ยววันพ่อ ระบบชีวิตจิ้งหรีดน้อยฯ ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี ใช้วิชาเทคโนโลยีเป็นแกนบูรณาการตั้งอนุบาล - ป.6 พัฒนาเรื่อยมา โดยมีคุณครูเป็นผู้วิเคราะห์หลักสูตร และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

ผอ. บอกว่า การจัดการหลักสูตร แบบเก่าถ้าบูรณาการ 8 กลุ่มสาระ ก็มีใบงาน 8 ใบ ปัจจุบันให้บูรณาการ 8 กลุ่มสาระด้วยกัน จะลดภาระการทำงานลง ไม่ต้องไปทำซ้ำซ้อน สิ้นปีจัดกิจกรรมที่เด็กเรียนมาตลอดปี นำผลิตผลที่เด็กทำมาประมวลผล ออกแบบใบงาน ให้เด็กวิเคราะห์ออกมา มีการออกร้านขายของ เด็กๆ จะนำของมาขาย ตรงนี้ใครจะขายอะไรก็ได้ มีทุนเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ให้เขาบริหารตัวเขาเอง เด็กได้มีเวทีแสดงออก แสดงผลงาน  เกิดความสนุกสนาน ผู้ปกครองมาร่วมชื่นชม มีส่วนร่วม กิจกรรมนี้ทำมาตั้งแต่ ปี 2546 ครูเกิดการพัฒนามาเรื่อยๆ พร้อมกับไปเรียนรู้ดูงานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียนลำปลายมาศ เป็นต้น


ด้านการบริหารจัดการศูนย์ จัดวันให้คนมาดูงานโดยไม่ให้กระทบต่อการเรียนของเด็ก โดยโรงเรียนจะจัดให้มีทีมขับเคลื่อนในการบริหารจัดการ

ผลที่เกิด เด็กเรียนดีขึ้นมีเด็กสอบได้ที่ 1 ในเขต และโรงเรียนประจำจังหวัด การเรียนผ่านเกณฑ์ผ่านการชี้วัดในระดับที่ดี