การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบัวแดง


การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองบัวแดง
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี


โรงเรียนหนองบัวแดง ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งบุคลากรครู นักเรียน ชุมชน กรรมการสถานศึกษา ปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรและหน่วยงานราชการ ผู้บริหารเริ่มจากศึกษาหาความรู้ ทำความเข้าใจหลักคิดของหลักปรัชญาฯ  รวมถึงทำความเข้าใจตัวครูแต่ละคน มีการประชุมทำความเข้าใจการขับเคลื่อนงานของโรงเรียน จากนั้นจึงค่อยๆ หนุนให้ครูศึกษาและเข้ารับการอบรม ออกไปเรียนรู้ดูงาน และ ร่วมกันกำหนดนโยบายการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทชุมชนและวัยของผู้เรียน ส่งเสริมให้เด็กลงมือปฏิบัติ และถอดความรู้อย่างไม่เป็นทางการ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้เกิดการซึมซับ ผ่านฐานกิจกรรมการเรียนรู้ มีการดึงวิทยากรผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้กับนักเรียน จัดให้ชุมชน วัด มีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน โดยใช้หลัก “บ-ว-ร” ทุกกิจกรรมดำเนินการอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายพูดภาษาเดียวกันนั่นคือ ภาษาพอเพียง

บริบทโรงเรียนบ้านหนองบัวแดง เป็นโรงเรียนประถมขนาดเล็ก น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้โดยดึงการมีส่วนร่วมของครู  ชุมชน กรรมการสถานศึกษา นักเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน ศิษย์เก่า องค์กร และหน่วยงานต่างๆ เริ่มขับเคลื่อนโดยจัดให้ครูไปศึกษาเรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาฯ จากโรงเรียนข้างเคียง จนเกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดการซึมซับ หลังจากผอ. พาทำในลักษณะลองผิดลองถูก แบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เกิดฐานการเรียนรู้ 4 แบบ คือ  1.บูรณาการสอดคล้องกับโครงการของฮอนด้าที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม 2.ร่วมกับบริษัทเชฟรอนประเทศไทย จัดกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม  3. จัดกิจกรรมสอดคล้องกับ ปปช. เรื่องปลูกฝังคุณธรรม 4. ร่วมกับกับ ธ.ก.ส. เรื่องของการออมทรัพย์ และยังสอดคล้องกับหน่วยงานองค์กรของในพื้นที่ เช่น  อบต. ที่ต้องการโยงกิจกรรมให้เข้ากับวิถีชีวิตของชุมชนซึ่งเป็นวิถีชีวิตพอเพียง ผู้บริหารจึงระดมพลจากภาคี 4 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา ครู นักเรียน  หน่วยงานองค์กรเข้ามาร่วมกันศึกษา สร้างเป็นวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 - 10 ที่ทุกกระทรวง ทบวง กรมจะน้อมนำเอาเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปดำเนินกิจกรรม

นอกจากนี้โรงเรียนยังมีการเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานต่างๆ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูได้ โดยเฉพาะทีมงานของนักศึกษาฝึกประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายที่เข้ามาเป็นครูช่วยสอน ทำให้ปัญหาบุคคลากรสอนไม่ตรงตามวิชาเอกลดลง ทั้งนี้ผอ. จะเน้น การขับเคลื่อนงานที่ต้องลงสู่นักเรียนก่อน เพื่อจะให้ผู้ปกครองได้เข้าใจและซึมซับหลักปรัชญาฯ จากเด็กด้วย สำหรับเด็กประถมจะใช้เรื่องของทฤษฎีไม่ได้ เด็กจะไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นต้องสร้างการเรียนรู้ด้วยวิธีการปฏิบัติให้เกิดการซึมซับ จึงกำหนดให้มีหลักสูตรหน่วยพอเพียงตั้งแต่ชั้นอนุบาล เริ่มจากกิจกรรมง่ายๆ เช่น ให้เด็กรู้จักสถานที่หรือแหล่งเรียนรู้ว่ามีอะไรบ้าง  ได้แก่ ฐานสิ่งแวดล้อม ฐานพืช สัตว์ ประมง จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ส่วนชั้น ป.4 – ป.6 เริ่มใส่เรื่องของวิชาการเข้าไปด้วยเพราะเด็กจะเริ่มคิดวิเคราะห์ มีเหตุมีผล มีความพอประมาณและ มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถอธิบายได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นเด็กนักเรียนของโรงเรียนหนองบัวแดงจะทำกิจกรรมปฏิบัติก่อนในช่วงเด็กเล็ก และเพิ่มเติมด้านวิชาการหรือทฤษฎีในระดับชั้น ป.4 – ป.6  โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็นฐานการเรียนรู้คือ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ส่วนสิ่งแวดล้อมคือเรื่อง ระบบนิเวศในโรงเรียน การทำแก๊สชีวภาพ ทำปุ๋ยน้ำ ทำปุ๋ยอินทรี เป็นต้น  โดยทุกกิจกรรมมีความสอดคล้องและต้องให้นักเรียนเห็นความเชื่อมโยง เช่น เรื่องของการทำน้ำยาอเนกประสงค์ ทำแล้วนำมาใช้ที่โรงอาหารล้างถ้วยล้างจาน ถูห้อง แก๊สชีวภาพนำมาใช้หุงต้มในโรงเรียน เพราะฉะนั้นกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ก็จะเกิดเป็นวิถีซึ่งในชุมชนมีเป็นฐานอยู่แล้ว เป็นองค์ความรู้ที่ปราชญ์ชาวบ้านมีอยู่แล้ว แต่จะนำมาผนวกให้เกิดเป็นลักษณะของปราชญ์ที่มาให้ความรู้กับนักเรียน

นอกจากนี้ โรงเรียนยังทำกิจกรรมร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย น้อมนำเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในเรื่องของโครงการชีววิถี เรื่องการพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน โดย ผอ. มีความเห็นว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”  ใช้ได้กับอีกหลายเรื่อง อาจใช้ชื่อต่างกัน แต่แนวทางการดำเนินกิจกรรม ก็คือการน้อมนำเอาพระราชดำรัสของในหลวงมาปฏิบัตินั่นคือเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งที่สำคัญคือเน้นให้ครูในโรงเรียนต้องรู้เหมือนกัน  รู้เท่ากัน เวลาพูดออกไปก็จะได้ความที่เหมือนๆ กัน คือ พูดภาษาพอเพียง

ด้านการเรียนการสอน ใช้สังคมเป็นแม่บท แล้วผนวกกับ 5 สาระคือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ โดยโรงเรียนจะเน้นวิชาภาษาไทย การพูด และการคิดวิเคราะห์ ทำให้เด็กอ่านได้ก่อน เมื่ออ่านได้ อ่านออก เขียนคล่อง ก็เริ่มวิเคราะห์ได้ พูดเป็น คิดแบบมีเหตุมีผล รู้ว่าความพอประมาณตรงไหน มีภูมิคุ้มกันอย่างไร เงื่อนไขที่เกิดขึ้นก็คือความรู้และคุณธรรม ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้อาศัยหลัก “บ-ว-ร” มาช่วย โดยโรงเรียนได้ทำความร่วมมือกับวัด ทำ MOU กับวัดนำเด็กที่บวชเป็นเณรมาเรียนที่โรงเรียน โดยไม่ได้ออกวุฒิ แต่เรียนเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ และเรียนเพื่อให้เกิดทักษะในด้านความคิด วัดก็จะช่วยเหลือ สนับสนุนโรงเรียนในเรื่องงบประมาณ ข้าวสาร อาหาร เป็นต้น ในทางกลับกันโรงเรียนก็จะส่งนักเรียนไปเรียนเรื่องคุณธรรมที่วัดด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือนักเรียนได้รับรางวัล นักเรียนคุณธรรมดีเด่น โรงเรียนคุณธรรมดีเด่น ซึ่งเป็นผลพวงที่เป็นวัฎจักร นอกจากนี้โรงเรียนได้ทำความร่วมมือกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายในเรื่องของการให้บริการสังคม โดยนักศึกษาจะมาให้ความรู้กับเด็กและจัดความร่วมมือให้เด็กกับนักศึกษาไปทำกับกิจกรรมในชุมชน เช่น เรื่องการรณรงค์สิ่งแวดล้อม มีการโครงการขยะทองคำ มีการคัดแยกขยะอันตราย ขยะมีพิษ ขยะรีไซเคิล ด้านงบประมาณ ส่วนใหญ่ได้รับจากชุมชนคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ทุนหมุนเวียนดำเนินกิจกรรม โรงเรียนเป็นศูนย์กลางที่รับแลกเปลี่ยนขยะ เด็กนักเรียนก็ได้ความรู้ไปด้วย และเป็นตัวอย่างต้นแบบให้หลายๆ ที่ไปศึกษาดูงาน

ผลที่เกิด จากการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นักเรียนมีคะแนนประเมินผล O-Net พัฒนาขึ้น สูงขึ้น อยู่เกินขีดจำกัดล่าง ครูได้รับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษแล้วประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลพวงจากเรื่องของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปทำงานวิจัย

สิ่งที่จะทำต่อ คือ การสนับสนุนให้ครูเป็นแกนนำ เป็นวิทยากร โดยให้ทุกคนสลับกันทำหน้าที่ให้เกิดความชำนาญ มีประสบการณ์ โดยมอบหมายงานให้รับผิดชอบ ให้แต่ละคนไปศึกษาในเรื่องที่เขาจะพูด แต่ละคนจะต้องไปหาภูมิรู้ ก่อนที่จะนำเสนอให้คนอื่นได้รับรู้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้ครู  เมื่อผอ.ออกมาแล้ว ครูยืนอยู่ได้ ชุมชนยืนอยู่ได้  นี่คือปัจจัยสำคัญในการสร้างความยั่งยืน




 ความสำเร็จที่เริ่มต้นด้วย
"การมองหาทุนเดิม  เติมต่อความคิดโดยใช้วิสัยทัศน์ร่วม" : ทำให้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหล่อเลี้ยงสุขภาวะกายจิต

­

ผอ. สมนึก จันทร์แดง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองบัวแดง เล่าถึงก้าวแรกเมื่อปีพ.ศ.2549 ที่ได้ย่างเหยียบเข้ามาในพื้นที่ที่กว้างขวางของโรงเรียนว่า ความคิดแวบแรกที่เกิดขึ้นคือ “เราจะทำอะไรให้กับที่นี่ดี เพื่อให้พื้นที่ทุกตารางนิ้วมีความหมาย”


เมื่อได้วิสัยทัศน์ร่วมคือ “โรงเรียนบ้านหนองบัวแดงจัดการศึกษาได้คุณภาพมาตรฐาน นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมไทย โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา” แล้ว จึงได้จัดโครงการไถ่คืนชีวิตโค-กระบือในวันแม่แห่งชาติปีเดียวกัน ผลคือโรงเรียนได้รับโค- กระบือ จำนวน 9 ตัว มาให้นักเรียนดูแลรับผิดชอบ ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น สนุกสนาน มีความสุขจากการได้ปฏิบัติจริง ในเวลาต่อมาจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ

การได้ลงมือปฏิบัติจริงทุกกิจกรรมตามกลุ่มความสนใจ ทำให้ทั้งครูและนักเรียนรับผิดชอบงานตามที่ได้รับมอบหมายอย่างมีความสุข เกิดเป็นความภาคภูมิใจ ที่ก่อให้เกิดผลคือการเติบโตของแหล่งอาหารการกินเต็มพื้นที่ที่เคยว่างเปล่า ความรู้จากการลงมือปฏิบัติและความรู้จากตัววิชาจึงเดินคู่ขนานกันไปอย่างไม่หยุดยั้ง


ก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ที่เรียนกันอยู่ในตำรา กลายเป็นพลังงานที่โรงเรียนบ้านหนองบัวแดงนำมาใช้หุงต้มอาหารทุกวัน ชุมชนก็ได้แหล่งเรียนรู้ และได้ครูวิทยากรไปสอนวิธีการทำก๊าซจากมูลสัตว์ให้แก่ผู้ที่สนใจ ทุกวันนี้โรงเรียนจึงเข้มแข็งและพอเพียงไปพร้อมๆ กับชุมชนรอบข้าง เพราะต่างก็กลายเป็นกำลังของกันและกัน


 
"อยากจะบอกให้รู้  สู่โรงเรียนแบบอย่างเศรษฐกิจพอเพียง"

โดย  นายสมนึก  จันทร์แดง


พลิกวิกฤติเป็นโอกาส คำพูดนี้สามารถใช้ได้ในสถานการการณ์ที่คับขันและมีความเพียรพยายาม และความตั้งใจอย่างยิ่ง จึงจะทำให้วิกฤตินั้นเป็นโอกาสทอง


โรงเรียนหนองบัวแดง จังหวัดเชียงราย เป็นสถานศึกษาโนเนม เอ่ยชื่อนี้แล้วไม่มีใครรู้จัก เป็นโรงเรียนขนาดเล็กๆที่ ใหญ่โตไปด้วยอาคารสถานที่ พื้นที่กว่า 40 ไร่ ในภูมิทัศน์ที่เหี่ยวเฉา มาดูแล้วห่อเหี่ยวใจ ใครเข้าไปไม่อยากอยู่ ครูมีแต่ขอย้ายคล้ายว่าไปไม่รอด


เราเป็นผู้บริหารที่มาอยู่ใหม่ ทำอย่างไรที่จะพัฒนาสู่แนวหน้า เมื่อพูดถึงแล้วทุกคนร้อง อ๋อ ทันที มีอย่างเดียวที่จะทำได้คือ ให้วัคซีนเข้มข้น รวมพลสรรพกำลัง สร้างพลังให้เข้มแข็ง แทงใจดำที่เป็นปัญหา โดยต้องอาศัยหลักการ


ขั้นแรกคิดวิเคราะห์เพื่อรวมปัญญา สรรหาชื่อครูเป็นมงคลเริ่มต้นด้วย ครูเพิ่มพูน ครูประทีปทอง ครูประสงค์ ครูพนมพร ครูจันทร์ฉาย ครูฉกาจ ครูประมวล ชวนคิดถึงภารโรงคุณบุญทรง และสุดท้ายนายสมนึกผู้อำนวยการ และเมื่อทำการตกผลึกได้รวมชื่อเป็นมงคล เสริมส่งให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษามาดีแน่ๆ จึงน้อมนำวิถีชีวิตความพอเพียงเข้ามาใช้ โดยต้องอาศัยหลักการ หลักคิดเพื่อพิชิตวิกฤติที่เกิดขึ้น สุดท้ายคือการร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมพัฒนาการศึกษา โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ณ เวลานั้นเราต้องอาศัยหลัก 4 หลัก เพื่อเป็นกรอบสร้างแนวทางไปสู่เส้นชัย ประกอบด้วย


1. หลักยึด เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยอาศัยพระราชดำรัสในพระองค์ท่านเป็นหลักยึดให้เกิดความมั่นคงในจิตใจ

2. หลักมัด คือมัดใจ เพื่อให้ครูเกิดการรวมพลังผสานสร้างความรู้ ความผูกพันการอยู่ร่วมกัน การทำงานด้วยกันอย่างพี่น้องสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน

3. หลักปฏิบัติ คือทำให้ดู ชูให้เห็น เค้นให้ได้ นั่นคือลงสู่การปฏิบัติกิจกรรม
4. หลักธรรม คือความมีจิตสำนึกที่ดีในหน้าที่ของตนเอง โดยยึดหลัก ธรรมะคือหน้าที่ ทำดีคือน่าทำ


กิจกรรมต่างๆ ที่เราคิด มาจากความร่วมมือของภาคีสี่ฝ่าย ประกอบด้วย ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน กิจกรรมที่ย้ำบ่งบอกถึงความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงที่ชัดเจน คือกิจกรรมการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่หต์ ดูแล้วเท่ระเบิด แต่เกิดความพอประมาณ มีเหตุผล และภูมิคุ้มกันอย่างดียิ่ง ซึ่งเงื่อนไขคุณธรรมและความรู้นั้นแน่นปึก นักเรียนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ ตักอาหารแต่พอประมาณ เชี่ยวชาญเรื่องส่วนประกอบอาหารว่ามีอะไร ให้ประโยชน์อย่างไร มากแค่ไหน โดยใช้วินัยและความระมัดระวังในการรับประทาน พร้อมล้างจานให้สะอาด เสร็จกระบวนการรับประทานอาหารอย่างพอเพียง


การย้ำคิดย้ำทำใน 4 หลัก ให้มีใจรักและจิตอาสา ทุกคนเริ่มการพัฒนา และเห็นคุณค่า ประมาณผลงานตน เกิดการร่วมชื่นชมผลของการทำงานที่สามารถสานต่อกันลงไปถึงชุมชน สร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งเสริมแรงด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้ามาเยี่ยมชม นำผลมาพัฒนาปรับปรุง สร้างเด็ก สร้างคน สร้างชุมชน ผลคือสุขถ้วนหน้าทั้งสถานศึกษาและชุมชน


คณะครูทุกคนของผมมีส่วนร่วมคิดร่วมทำด้วยใจ พวกเราน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้นักเรียนได้ปฏิบัติ โดยครูทุกคนต้องมีความรู้ ความเข้าใจในหลักพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยมีเงื่อนไขความรู้และคุณธรรมที่ดี เลยมีเรื่องเล่าว่า คุณธรรมตัวนี้ ถ้าเขียนเป็นคำอ่านก็จะเขียนได้ว่า คุน-นะ-ทำ แปลตามตัวคือ ฉันต้องทำนั่นเอง

เราทำงานกันเป็นทีม มีทั้งบู๊และบุ๋น คำว่าบู๊คือการทำงานภาคสนาม บุ๋นคือการทำงานวิชาการ งานจึงไปได้ดี โดยเฉพาะครูผู้ชายซึ่งมีอยู่ 6 คน ต้องลุยในงานภาคสนามด้วยความอดทน เสียสละ และ รับผิดชอบ ส่วนครูผู้หญิงของเรามีอยู่ 4 คน ต้องช่วยกันระดมสมอง กลั่นกรองความคิด ทุกคนร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันสกัดเป็นองค์ความรู้


นักเรียนบ้านหนองบัวแดงได้ลงมือปฏิบัติจริงทุกกิจกรรม เพราะเราแบ่งเป็นกลุ่มสนใจรับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมายอย่างมีความสุข วิถีชีวิตและลมหายใจเล็กๆ โดยเด็กๆ ที่คลุกคลีอยู่กับธรรมชาติอันเขียวขจี ต้นไม้ สระน้ำ สัตว์เลี้ยงประเภทต่างๆ เช่น ไก่ หมู วัว ควาย กบ จิ้งหรีด ฯลฯ กับห้องเรียนธรรมชาติที่เด็กๆ ส่งเสียงเจื้อยแจ้ว ยื่นอาหารให้หมู ยื่นกล้วยให้ควาย สองมือน้อยๆ บรรจงปลูกพืชผักสวนครัว รดน้ำพรวนดินเติมปุ๋ยธรรมชาติ ขี้ไก่ ขี้วัว ดูความเจริญของต้นไม้และพืชผักที่ตนเองปลูกอย่างประคบประหงมด้วยความภาคภูมิใจ อิ่มเอิบกับบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียนเคียงคู่กับการสร้างแหล่งอาหารการกิน การอยู่ร่วมกัน รู้จักประหยัดและอดออมอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองบัวแดงใกล้ชิดกับคุณธรรมความพอเพียงอันจะนำไปเป็นทุนในการดำเนินชีวิตต่อไปในภายภาคหน้า


สิ่งหนึ่งที่เราได้จากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาที่ไม่ต้องอธิบายว่าคืออะไร นั่นคือ กิจกรรมการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟต์ของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1-6 อันบ่งบอกถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นหลัก แม่ครัวเป็นผู้ประกอบอาหาร ลูกหลานเดินเท้าเข้ามาเป็นระเบียบ ตักอาหารรับประทานเอง ครื้นเครงกับเพลงเบาๆ ทานเสร็จเรียบร้อยพากันไปล้างถ้วยจานคว่ำเก็บไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย


ส่วนก๊าซที่ใช้หุงต้มประกอบอาหารให้กับนักเรียนนั้นก็ได้มาจากมูลของหมู วัว ควาย ไก่ ที่นักเรียนเลี้ยงเอาไว้ โรงเรียนได้รวบรวมมูลสัตว์เหล่านั้นไปพักเอาไว้เป็นถุงก๊าซชีวภาพ หมักบ่มไว้จนเกิดปริมาณมากๆ แล้วต่อท่อก๊าซไปยังโรงอาหารของโรงเรียน เป็นการใช้พลังงานทดแทนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน สร้างมูลค่าเพิ่มให้มูลสัตว์กลายเป็นเชื้อเพลิงโดยไม่ต้องเสียเงินไปซื้อก๊าซหุงต้ม นอกจากนี้เรายังได้ขยายผลให้กับชุมชน ผู้มาศึกษาดูงาน และเป็นวิทยากรรับเชิญในการจัดทำก๊าซมูลสัตว์ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย


ฐานการเรียนรู้ต่างๆ ที่นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ เช่น ฐานการทำปุ๊ยหมักชีวภาพ ฐานทำน้ำยาอเนกประสงค์ ฐานการเลี้ยงสัตว์ ฐานการปลูกผัก ฯลฯ ล้วนเป็นฐานกิจกรรมที่นักเรียนสามารถนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังได้ที่บ้าน และสามารถที่จะขอยืมเงินออมทรัพย์ของนักเรียนไปเป็นทุนในการฝึกอาชีพ เป็นการหารายได้ระหว่างเรียน ดังนั้น นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนบ้านหนองบัวแดงจึงมีเงินออมไว้เป็นทุนการศึกษาก่อนอำลาสถาบันกันทุกคน


ภาพแห่งความสำเร็จที่ได้รับจากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา จากการบริหารจัดการต้องยกให้แก่คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชน ที่ให้ความร่วมมือกับคณะครูอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของตำบลที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักเรียนจนบังเกิดผล ทำให้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนขยายผลจากเด็กนักเรียนไปสู่ผู้ใหญ่ในชุมชน เป็นเครือข่ายชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน ซึ่งชุมชนผู้ปกครองมีการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การแบ่งปันผลผลิตที่มีให้กันและกัน โดยเป็นส่วนที่เหลือจากการบริโภคและการจำหน่ายอย่างลงตัว