การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่  27  พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

 

โรงเรียน เชียงขวัญพิทยาคม นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโรงเรียนผ่าน “ฐานคิด” เรื่องหลักสูตรเป็นหลัก เน้นให้ครูวิเคราะห์หลักสูตรให้ชัดเจน ก่อนบูรณาการเข้าสู่แผนการเรียนการสอน  โดยให้ครูทุกคนเข้าใจ “คอนเซ็ปต์” คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดเจนก่อน  โดยใช้ “เทคนิคการถอดบทเรียน” แบบตาราง  6 ช่อง   คือ 1. ภาระงานและกิจกรรม  2.ความรู้  3. คุณธรรม 4.พอประมาณ 5. มีเหตุมีผล และ 6. มีภูมิคุ้มกัน ให้คุณครูเล่าเรื่องของตัวเองที่ประสบความสำเร็จ  อธิบายกระบวนการขั้นตอนในการทำงาน แล้วจับลงช่องต่างๆ เพื่อให้ครูใช้เป็นแบบอย่าง การขับเคลื่อนฯ สู่เด็กเน้นการตั้งคำถามให้เด็กรู้คิด และคิดได้ เมื่อเขาเจอปัญหา เขาต้องไปแสวงหาคำตอบ เมื่อเขาได้คำตอบนั่นคือเกิดความรู้
 

โรงเรียน เชียงขวัญพิทยาคม เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง ห่างจากเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดประมาณ 14 กิโลเมตร การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโรงเรียนทำผ่าน “ฐานคิด” ในเรื่องของหลักสูตรเป็นหลัก คือหลักสูตรแกนกลางปี 51 สิ่งสำคัญคือ ครูต้องวิเคราะห์หลักสูตรให้ชัดเจน และต้องอธิบายคนอื่นได้ด้วยว่า ความจำเป็นที่เราต้องนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่การเรียนการสอนนั้น ปรากฏอยู่ที่จุดหมายของหลักสูตรและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ข้อใด  ตัวนี้เป็นด่านแรก เพราะว่าวัฒนธรรมการทำงานของครู โดยเฉพาะครูมัธยมมักไม่ค่อยเชื่อฟังใครง่ายๆ  และไม่อยากทำตาม โดยเฉพาะโรงเรียนใหญ่และมีชื่อเสียง พอเราเสนอไปก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจ   โรงเรียนเลยกลับมาดูที่เรื่องหลักสูตรและวิเคราะห์หลักสูตรให้ชัดเจนว่าหลัก สูตรกำหนดไว้อย่างนี้ หลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่ในหลักสูตรทั้งหมด แล้วเรามาทำความเข้าใจกับครู ผมทำหน้าที่เป็นรักษาการรองฝ่ายวิชาการของโรงเรียน และช่วยงานฝ่ายบริหารด้วย ตั้งแต่การจัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษา แผนกลยุทธ์ของโรงเรียน แผนปฏิบัติการประจำทีม ซึ่งทำให้เกิดวิสัยทัศน์ ทำความเข้าใจกับคณะครูว่า เราจะต้องนำตัวนี้เข้ามาใช้ผ่านแผนของโรงเรียน  ซึ่งในแผนคณะกรรมการสถานศึกษามีส่วนรับรู้ด้วย
 

ใน ส่วนงานของครู คือ ครูจะต้องออกแบบจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้เด็กเกิดอุปนิสัยพอเพียง ปัญหาเบื้องต้นที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเราไปเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจากสื่อ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เราเรียนรู้อย่างนั้น เราเข้าใจว่า สำหรับโรงเรียนเราพื้นที่เรามี 48 ไร่ เราจะมาทำปลูกผักเลี้ยงปลา ทำบ่อกบ เรามีการวางแผนเหมือนกัน พอเราไปดูที่ไหนมาก็อยากจะทำ ผมมีข้อคิดจากเพื่อครูหลายคนว่า เด็กเราโตแล้วถ้าจะให้ไปคลุกอย่างนั้น เด็กผู้หญิงก็ไม่สะดวก หลายคนไม่อยากให้ทำอย่างนั้น
 

เมื่อ มาวิเคราะห์หลักสูตรแล้วพบว่า หลักสูตรกำหนดให้ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ ครูจึงมีคำถามกลับมาว่า สอนพละจะสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร สอนคณิตศาสตร์ สอนฟิสิกส์ยากอยู่แล้ว จะให้เอาเวลาไหนไปสอนเศรษฐกิจพอเพียง แต่เมื่อเราวิเคราะห์หลักสูตรแล้วว่า มันอยู่ในหลักสูตร ซึ่งจะต้องจับไปวางไว้  โดยเริ่มตั้งแต่การจัดทำคำอธิบายรายวิชา ทุกรายวิชา ครูจะต้องเขียนคำอธิบายรายวิชา หลักการเขียนคำอธิบายรายวิชา มีอยู่ 3 ย่อหน้า ย่อหน้าที่ 1 ศึกษา ย่อหน้าที่ 2 โดยใช้ ย่อหน้าที่ 3 เพื่อให้เกิด ซึ่งย่อหน้าที่ 3 ที่นำมาใช้ เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะการคิดขั้นสูงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เราไปเติมไว้ที่คำอธิบายในทุกรายวิชา พอได้คำอธิบายรายวิชา จึงนำไปออกแบบหน่วยการเรียนการสอน แล้วกำหนดว่า ครูแต่ละรายวิชาอย่างน้อยต้องมี 1 หน่วยที่บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรูปแบบของการจัดการเรียนการสอนจะใช้รูปแบบของกระทรวงศึกษาธิการ แล้วไปฝึกฝนพัฒนาคนของเราให้เข้าใจ  
 

ประเด็น ที่สามารถไขข้อข้องใจได้ว่า สอนฟิสิกส์ เนื้อหายาก เวลาน้อย แล้วจะสอนเศรษฐกิจพอเพียงในวิชาได้อย่างไร กรณีนี้ต้องเคลียร์ “คอนเซ็ปต์” คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงก่อน ถ้าเมื่อไรที่คอนเซ็ปต์ ไม่ตรงกัน จะไปกันคนละเรื่อง เพราะถ้าครูสังคมพาเด็กไปออมทรัพย์  แล้วบอกว่า ทำเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ครูเกษตรพาเด็กปลูกมะละกอ แล้วบอกว่าทำแล้ว อย่างนี้ก็ไม่ใช่ โรงเรียนจึงได้เทคนิคการสร้างความเข้าใจในคอนเซ็ปต์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอ เพียงมาใช้ นั่นคือ “เทคนิคการถอดบทเรียน” โดยทำตารางออกมา  6 ช่อง   ช่องแรกพูดถึงภาระงานและกิจกรรม  ใช้ตัวย่อคือ  KM  ช่อง 2 เป็นความรู้  ช่อง 3  เป็นคุณธรรม ช่อง 4 คือ พอประมาณ ช่อง 5 คือมีเหตุมีผล และช่อง 6 มีภูมิคุ้มกัน แล้วให้คุณครูเล่าเรื่องของตัวเองที่ประสบความสำเร็จ  อธิบายกระบวนการขั้นตอนในการทำงานของเขาจนประสบความสำเร็จ  เช่น ครูพละศึกษา จัดกีฬาสีสำเร็จ ให้เล่าว่าตั้งแต่เขียนโครงการ เสนอโครงการ อนุมัติโครงการ ประชุม วางแผนร่วมกัน จนกระทั่งประมวลผลสุดท้าย แล้วมาดูแต่ละมิติว่ากิจกรรมที่ทำทั้งหมด ความรู้ที่ใช้ในการทำเรื่องนี้คืออะไร เขาสามารถวิเคราะห์ได้ รู้ระเบียบแบบแผน รู้หลักการและแนวคิด รู้หลักการเขียนเหตุผล เรื่องคุณธรรมก็ง่าย เช่น นำมากำกับให้งานสำเร็จ ความอดทน ความเสียสละ  เรื่องความพอประมาณคิดว่าเรามี 500 คน จัดงาน 2 วัน พอเหมาะพอดีหรือไม่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ สอดคล้องกับที่กระทรวงฯ ให้ไว้หรือไม่ ครูก็สามารถมองออกว่า ความพอประมาณคืออะไร  ส่วนเหตุผลมองว่า ทำไมถึงทำกิจกรรมนี้ เพื่ออะไร  สุดท้ายภูมิคุ้มกัน คือทำแล้วประสบความสำเร็จ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับตัวนักเรียน กับตัวครู กับชุมชน เช่น นักเรียนได้เรียนรู้ตามหลักสูตร นักเรียนมีสุขภาพที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น ครูสามารถอธิบายแต่ละช่องได้ หลังจากนั้นสรุปให้ฟังว่าที่พูดมาทั้งหมด ครบ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ทุกคนจะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของเศรษฐกิจพอเพียงที่ตรงกัน
 

ที่ โรงเรียนทำอย่างนี้ทุกครั้งก่อนที่จะนำไปสอดแทรก บูรณาการ ใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขเป็นกรอบ เป็นหลักคิดหลักปฏิบัติในการทำเรื่องนี้ แล้วจึงไปมองที่ตัวแผนว่าจะออกแบบการเรียนการสอนอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรฐานและตัวชี้วัดของรายวิชานั้นๆ และสุดท้ายเมื่อเขาจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ให้นักเรียนเรียนตามจุดประสงค์ เมื่อเรียนจบแล้วก็ให้เขาทำแบบบันทึกถอดบทเรียน เด็กจะมาทำ KM กัน ให้เด็กลองถอดประสบการณ์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หากเด็กอธิบายได้ เราพออนุมานได้ว่าเขาสามารถคิดเชื่อมโยงหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขกับสิ่งที่เขาเรียน เป็นวิธีการที่ใช้ประเมินผลนักเรียนได้
 

ด้าน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ครูส่วนใหญ่มุ่งไปที่กิจกรรมในหลักสูตร เช่น ลูกเสือ ชุมชน แนะแนว เป็นต้น เราถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมในหลักสูตร แต่คำว่า “พัฒนาผู้เรียน” เมื่อเดินเข้ามาในโรงเรียนแล้วเดินออกไป เด็กต้องพัฒนา พัฒนาทุกอย่างไม่ใช่ว่ารอเฉพาะวันอังคารที่มีกิจกรรมลูกเสือ มีชุมชน เราจึงนำหลักคิดของวิถีพุทธเข้ามาร่วมกับหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมตอนเช้าของโรงเรียน เช่น เดิมนั้นให้เข้าแถวหน้าเสาธง ยืนกลางสนามฟุตบอล มีครูเวรประจำวันยืนคุม 6 – 7 คน กิจกรรมคือ เด็กเข้าแถว ร้องเพลงชาติ ครูเวรขึ้นพูดหน้าเสาธง เราพยายามบอกให้ครูพูดในเชิงบวก ครูเวรบอกว่าไม่รู้จะพูดอย่างไร เด็กแต่งตัวไม่เรียบร้อย เวรไม่ทำความสะอาด ไม่มีความรับผิดชอบ คุยกันในแถว ครูว่าออกมา บ่นในแถว ชาวบ้านใกล้ๆ ได้ยินหมด แสดงว่าวันนั้นไม่มีเรื่องดีเลย แต่เด็กที่มาสายยังไม่เข้ามา ยังอยู่หลังโรงเรียนไม่ได้ยิน เราจึงคุยกันว่า ลองเปลี่ยนรูปแบบดีไหม  จึงนำรูปแบบวิถีพุทธ สมาธิ 15 ท่าของหลวงพ่อเทียนมาใช้ตอนเข้าแถวตอนเช้า  ลองนำมาใช้กับโรงเรียน  ตอนแรกเกิดเสียงต่อต้านบ้างว่าจะทำได้ผลหรือ แต่ผมบอกว่าลองดูก่อน
 

หลัง จากนั้นพอเข้าแถวตอนเช้า ร้องเพลงเคารพธงชาติเสร็จ สวดมนต์ไหว้พระ ให้กราบเบญจางค์ประดิษฐ์ เพราะแต่ก่อนเวลายืนเข้าแถวแค่ไหว้เท่านั้น ลองให้เด็กได้กราบจริงๆ เสร็จแล้วให้บริหารจิต เจริญปัญญาด้วยสมาธิ เคลื่อนไหว 15 ท่าของหลวงพ่อเทียน โดยใช้สัญญาณระฆังเคาะ ทำประมาณ 2 - 3 รอบ ใช้เวลาประมาณ 4 นาที แล้วจะเปิดดนตรีที่เรียกว่า ดนตรีนิพพาน ซึ่งดาวน์โหลดมาจากยูทูป แล้วให้เด็กนั่งสมาธิ พอเด็กนั่งสมาธิเสร็จ เด็กผู้นำจะบอกว่า “ขอกราบเรียนเชิญครูเวรประจำวัน ให้โอวาทนักเรียน ” พอใช้คำว่ากราบเรียนเชิญ ครูเวรไม่มีคำด่าเลย เด็กจะเงียบและไม่ค่อยคุยกันในแถว ค่อยดีขึ้นมาเรื่อยๆ
 

จาก กิจกรรมนี้ทำให้เด็กนิ่งขึ้น จากเดิมที่เด็กมาสายวันละ 40 - 50 คน ตอนนี้ไม่มีแล้ว อย่างมากก็แค่ 1 - 2 คน  คนไหนมาสายจะให้นั่งข้างหลัง แล้วนำเอาหลักคิดไปถามเขา  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ เรื่องของจิตปัญญาศึกษา พัฒนาสู่ความพอเพียง  และส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาคือ เมื่อไปแข่งขันหรือมีการประกวด ครูวิทยาศาสตร์จะทะเลาะกับครูคณิตศาสตร์เพราะแย่งเด็กเก่งๆ  จึงแก้ปัญหาด้วยนำกระบวนการ KM มาใช้กับเด็กในห้องเรียน เมื่อสอนเสร็จแล้วก็ใช้กระบวนการถอดบทเรียนเข้ามา และฝึกทักษะการนำเสนอให้  ให้ครูเขาทำ เช่น เวลาถามเด็กให้อธิบายว่าข้อคิดเห็นของเราเป็นอย่างไร  แต่ก่อนเด็กยืนขึ้นมาก็พูดเลย แต่หลังจากนั้นก็ให้ทำเป็นขั้นตอน  เด็กจะรู้ว่าเวลาจะพูดจะต้องมีขั้นตอนอย่างไร  ทำให้เด็กกล้าขึ้น และนำสิ่งที่เด็กทำมาพูดตามตารางถอดบทเรียน  เขาสามารถพูดได้เพราะเขาทำเอง นี่คือการฝึกให้เด็กมีขั้นตอนในการพูด กล้าพูด กล้านำเสนอ ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา เด็กมีความกล้ามากขึ้น เพราะมีขั้นตอนมีลำดับของการพูดที่ดี
 

เนื่อง จากโรงเรียนเชียงขวัญเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้เทศบาล พ่อแม่ที่มีความพร้อมมักส่งลูกไปเรียนที่ตัวเมือง เด็กที่นี่จึงเป็นเด็กที่เหลือคัดจากโรงเรียนในจังหวัด  มีเด็กคนหนึ่งย้ายมาเรียนที่นี่ เพราะเขาไม่มีสิทธิสอบที่โรงเรียนเดิม คุณพ่อเขาเป็นตำรวจเลยมาปรึกษาเรื่องลูกมีปัญหาจะสามารถช่วยเหลือได้หรือไม่ ดูผลการเรียนพบว่ามีติด 0 ติด ร. ให้กลับไปแก้มา พอแก้แล้ว มาเริ่มเรียนที่เชียงขวัญตอนที่อยู่ ม.5 เราให้เด็กคนนี้มาร่วมเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ พอวันศุกร์หรือวันที่มีกิจกรรม เราให้เด็กพวกนี้มานำเสนอ ปรากฏว่าเขาอยู่และปรับตัวเองได้  ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะได้เป็นตัวแทนนักเรียน ม.ปลายไปแข่งขันมารยาท และได้รางวัลที่ 1 ของจังหวัดในการประกวด ซึ่งเป็นเด็กที่หนีจากโรงเรียนใหญ่ ซึ่งเรามาให้วิธีคิดกับเขา ให้สิ่งที่ดีที่ถูกต้องให้เขาเป็นหลักคิด มีเด็กกลับมาอยู่ที่โรงเรียนมากขึ้น
 

ปัญหา อุปสรรคการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของเชียงขวัญอยู่ที่ตัวครูและบุคลากร คือ ครูไม่เข้าใจแต่บอกว่าตัวเองเข้าใจ ไม่ยอมรับ บางครั้งต้องไปเชิญวิทยากรที่อื่นมาให้ความรู้จึงจะเชื่อ
 

โรงเรียน เราจะเป็นโรงเรียนที่รับเด็กที่เหลือจากที่อื่นมาและมาพัฒนา โดยใช้หลักสูตรแกนกลางปี 51 เป็น “ฐานคิด” ในการออกแบบการเรียนการสอน การขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่สถานศึกษาเราใช้ตัวนี้เป็น ฐาน บางคนสงสัยว่าทำทำไม โรงเรียนอื่นไม่เห็นทำเลย หลักสูตรของเราจะแตกต่างจากที่อื่น
 

การ ขยายผลจะใช้ 3 เวที คือ ผู้บริหาร ครู และนักเรียน เพราะฉะนั้นเวลามีคนมีดูงานกับเรา ขอให้มา 3 ส่วนนี้ ไม่อยากให้มาเฉพาะแกนนำ หรือจะมาขอให้มีฝ่ายบริหาร ครู และนักเรียน แยกเวทีกันเลย ขอให้มีนักเรียนมาด้วย เพราะส่วนใหญ่เราจะเน้นไปที่ตัวนักเรียน ให้นักเรียนของเราเป็นวิทยากร สิ่งที่เขามาเรียนรู้กับเราคือหลักสูตรแกนกลาง ปี 51
 

โรงเรียน เชียงขวัญมีพื้นที่  48 ไร่  แบ่งพื้นที่ให้ทั้งหมด 16 ห้องๆ ละ 1 แปลง ไม่ให้มีที่ว่าง แล้วแต่ว่าแต่ละห้องจะปลูกอะไรก็ได้ นักเรียนปลูกทั้งกล้วย อ้อย มะนาว ฝรั่ง โดยเฉพาะกล้วยซึ่งมีประโยชน์มากที่สุด เพราะว่ากลุ่มสาระสังคมเอามาใช้ เช่น กิจกรรมวันเข้าพรรษา  ให้เด็กทำข้าวต้มมัดไปถวายพระ โดยนำใบตองที่ปลูกไว้ที่โรงเรียน ส่วนเด็กสายวิทย์-คณิต ให้นำน้ำส้มควันไม้ที่เขาทดลองในห้องเรียนมาทดลองใช้ที่แปลง เด็กนักเรียนที่นี่ก่อนจบ ม.6 สามารถทำนาได้ เพราะที่โรงเรียนมีแปลงนาให้เด็กได้ทดลองทำ
 

สำหรับ บุคลากรโรงเรียนเชียงขวัญทั้งผู้บริหาร ครู นักเรียน มีใจพร้อมอยู่ตลอดเวลา การต่อยอดการขับเคลื่อนมี 2 ทางคือ ขยายผลโดยให้โรงเรียนอื่นเข้ามาเรียนรู้ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนใหญ่ซึ่งมีจำนวนคนมาก หากให้เขาเดินทางมาจะมีค่าใช้จ่ายสูง เราไปหาเขาเพราะประหยัดกว่า โรงเรียนส่วนใหญ่มักมีปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะให้ครูเข้าใจและทำเรื่องนี้ ทำอย่างไรให้นักเรียนเข้าใจ เราก็ค่อยๆ ช่วย พูดทำความเข้าใจ สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ นั้นโรงเรียนไม่มีส่วนไหนเข้ามาช่วยเลย ถ้าอยากจะให้มีความเข้มแข็งกว่านี้ ควรมีเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาช่วยศูนย์มากกว่านี้
 

การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการสอน เช่น วิชาการงานอาชีพให้โจทย์เด็กว่า สมการความรู้ของครูคือ ความรู้ = ความรู้คิด ความรู้คิด = การตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นจะสอนเด็กด้วยการตั้งคำถาม ถ้าเราอยากให้เกิดความรู้ เราก็หันมาดูที่ความคิดและการตั้งคำถาม เราต้องหันกลับไปมองที่หลักสูตรว่ามาตรฐานตัวชี้วัดต้องการอะไร แล้วเอาตัวนั้นมาเป็นตัวตั้ง และออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้ตรงมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้  นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการตั้งคำ ถามให้เด็กรู้คิด และคิดได้ เมื่อเขาเจอปัญหา เขาต้องไปแสวงหาคำตอบ เมื่อเขาได้คำตอบนั้นคือเกิดความรู้ ผมจะเน้นตัวนี้มากกว่า จะไม่เน้นเรื่องการบอก การให้ 

..................................................

 

 

 

 

อาจารย์ฉลาด ปาโส

             กล่าวถึง หลักสูตรการศึกษา ที่ใช้ในโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม

             บทบาทและภารกิจของโรงเรียนก็คือเรื่องของหลักสูตร  เพราะฉะนั้นเราจะเอาหลักสูตรเป็นตัววางเลย  สิ่งที่โรงเรียนเคยทำคือหลักสูตรที่จะจัดการเรียนการสอน บริหารจัดการการศึกษา เราใช้หลักสูตรเป็นแผนแม่บทของโรงเรียน 

 

             ในหลักสูตรจะกำหนดไว้ ม.ต้นเรียนระดับนี้ ม.ปลายเรียนระดับนี้ ตามแต่ละชั้น  โรงเรียนส่วนใหญ่เห็นว่าเด็กสามารถทำได้ตามที่กำหนดไว้ก็ถือว่าบรรลุเป้า หมายแล้ว แต่ว่าเราเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ เราจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มศักยภาพนักเรียนให้สูงกว่าที่กำหนดแต่ละระดับ เช่น หลักสูตรกำหนดว่าเด็กสามารถซ่อมแซมคอมพิวเตอร์ประกอบอาชีพได้ ซึ่งความจริงการเรียนในระดับนั้นยังไม่ถึงหรอก แต่ว่าเราก็เติมให้ได้ โดยจากวิธีที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอน อย่างเรื่องทักษะทางด้านเทคโนโลยี ก็ไม่เฉพาะวิชาคอมพิวเตอร์จึงจะมาสอนเรื่องเทคโนโลยี เรียนวิชาอื่นก็สามารถสอนได้ ผมสอน ม.4-5 ผมจะใช้วิธีการให้โจทย์แก่นักเรียน เช่น  ผมเล่าให้เด็กฟังว่า ครูไปประชุมที่จังหวัดชลบุรีมา มีครูที่โรงเรียนห้วยยอดมาถามว่าโรงเรียนมีพื้นที่เท่าไร ครูก็ตอบไปว่ามีพื้นที่ 48  ไร่  มีอาคารประกอบอะไรบ้าง เขาก็ถามต่อว่า “มีการวางแผนผังโรงเรียนอย่างไร” ผมจึงให้นักเรียนลองช่วยกันเขียนแผนผังเพื่อส่งไปให้ครูที่โรงเรียนห้วยยอด ดู บางคนก็เป็น บางคนก็ไม่เป็น ครูจึงสอนวิธีการเขียนแผนผังให้นักเรียน  เขียนเสร็จแล้วจะส่งอย่างไร  นักเรียนเสนอให้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ซึ่งใช้เวลา 5 วัน  บางคนเสนอให้ส่งแฟกซ์  ใช้เวลา 5 นาที  ครูจึงถามต่อว่ามีวิธีไหนอีกหรือไม่ มีนักเรียนตอบให้ส่งอีเมลล์ ครูจึงถามต่อว่าส่งอีเมล์จะทำอย่างไร  จึงให้นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์ ถ้าเราเขียนลงกระดาษ เราจะเอาแผ่นกระดาษอันนี้ส่งทางอีเมลล์อย่างไร  เราต้องแสกนและส่งเป็นไฟล์ทางอีเมลล์ ใช้เวลา 5  วินาที นี่ก็แสดงถึงทักษะวิธีการคิดของนักเรียน จากแบบเดิมใช้เวลา 5 วัน แล้วลดลงเหลือ  5 นาที และสุดท้ายใช้เวลาเพียง 5 วินาที  แล้วเราก็ต่อยอดกับนักเรียนอีกว่ายังพอมีวิธีไหนบ้าง  นักเรียนคิดว่ายังพอจะมีอีกหรือไม่

 

             วิธี การของผม รูปแบบการสอนของผม จากที่ผมได้อ่านหนังสือ จากการจัดการเรียนการสอน ผมก็ได้แนวทางสมการความรู้ เราต้องการให้เด็กมีความรู้จะต้องทำอย่างไร ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อเขียนของใคร เขาบอกว่า  “สมการความรู้ ความรู้เท่ากับรู้คิด รู้คิดเท่ากับการตั้งคำถาม” ผมเอาสามตัวนี้มาเป็นแนวทางในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน แล้วก็ไปลงที่เด็กด้วย ลองเอาไปถามเด็ก “ความรู้คืออะไร สมการความรู้เป็นไง”  เด็กก็จะตอบผมว่า  “เท่ากับรู้คิดครับ”  ผมก็จะถามต่อ  “ทำยังไงถึงจะคิดได้” เด็กก็จะตอบว่า “ตั้งคำถามครับ” คือ เราต้องเติมสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กก่อนเลย แต่ก่อนอยากให้เด็กเกิดความรู้ก็ต้องใช้วิธีบอก ครูทนไม่ได้ก็ต้องบอก นี่คือปมปัญหาของการจัดการศึกษาของไทย

 

             การ สอนของผมจะโยนสถานการณ์ให้เด็กคิดซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  เขาจะใช้วิธีการปกป้องตัวเอง  เขาจะปกป้องตัวเองได้  เขาจะต้องมีความรู้  ต้องไปหา  ต้องไปแสวง  อย่างเช่นสถานการณ์ในปี 58 ถ้าอาเซียนเข้ามา จะมีอะไรเกิดขึ้น  เราลองโยนคำถามไปให้เด็ก ให้เขาคิด ๆ ไป เขาก็คิดออกว่าปัญหามันน่าจะเป็นแบบนี้  มีการแก่งแย่งการช่วงชิงกัน  อะไรต่าง ๆ มันต้องต่อสู้ ตัวเองต้องเข้มแข็งขึ้นมา เราไม่ต้องไปบอกเขา  สถานการณ์มันทำให้มองเห็นภาพ  ชวนเขามองสถานการณ์ล่วงหน้าไปพร้อมกับเรา ถามไล่ไปให้เขารู้ พอเขารู้แล้วเขาจะฉุกคิดว่ามีบางเรื่องที่ยังไม่รู้ แม้แต่ภายในโรงเรียนผม เขียนแผนผังออกมา  มีพระพุทธรูปปางห้ามญาติ  “ห้ามทำไม  ปางห้ามญาติมีหมายความว่าอย่างไร”  คำถามอย่างนี้จะทำให้เด็กได้เปลี่ยนมิติให้เขาต้องไปเรียนรู้เรื่องสังคม ศึกษา  เพราะฉะนั้นจากสถานการณ์เดียว มันทำให้เขาต้องปกป้องตัวเองหลาย ๆ ด้าน มันก็สนุกดี  เด็กก็สนุก