เรื่องเล่า “ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตและนำเข้าสู่การเรียนการสอน ”

เรื่องเล่า “ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตและนำเข้าสู่การเรียนการสอน ”

­

โดย นางจุรี เพ็ชยะมาตร์ ครูโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

เริ่มรับราชการครูเมื่อปีพุทธศักราช 2526 ที่จังหวัดชัยภูมิ ตำบลตาเนิน อำเภอจัตุรัส โรงเรียนบ้านตาเนิน สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5, 6 วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) ทางเข้าไปในโรงเรียนเป็นป่าทั้ง 2 ข้างทาง บางช่วงก็เป็นนา บางช่วงก็เป็นไร่ปอ ระยะทาง 27 กิโลเมตร ในบริเวณโรงเรียนมีต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นก้ามปู ต้นยางอินเดีย ต้นมะขามเทศ ต้นสะเดา ต้นนุ่น ต้นมะม่วง ต้นน้อยหน่า ต้นพุทรา ต้นมะพร้าว และแปลงผัก อยู่บริเวณหน้าบ้านพักครู ซึ่งช่วงนั้นย่างเข้าฤดูหนาวแล้ว อยู่ที่นี่ 4 ปี ปีพุทธศักราช 2531 ย้ายมาเป็นครูที่จังหวัดนครสวรรค์ โรงเรียนบ้านคลองกำลัง ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว สอนชั้นเด็กเล็ก ทางไปโรงเรียนเป็นไร่ข้าวโพด ไร่ฝ้าย ตามหมู่บ้านจะปลูกไม้ใช้สอย ไม้ผลพวกมะม่วง มะพร้าว กล้วย และผักสวนครัว อยู่ที่นี่ 4 ปี ปีพุทธศักราช 2535 ย้ายมาอยู่โรงเรียนบ้านหนองไผ่ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ห่างจากโรงเรียนบ้านคลองกำลังประมาณ 13 กิโลเมตร อยู่ห่างถนนดำสายลำชีบน ประมาณ 200 เมตร บริเวณโรงเรียนมีต้นไม้อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะหลังโรงเรียนมีต้นยูคา เป็นจำนวนมาก อาจารย์อรนุช บุญโสภาค เล่าให้ฟังว่าพื้นที่ของโรงเรียนมีจำนวน 62 ไร่เศษ แต่พื้นดินเป็นดินเชิงเขาเป็นดินลูกรังส่วนใหญ่ซึ่งปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้น แต่ดินแบบนี้ต้นยูคาและต้นสะเดาชอบ ปีพุทธศักราช 2539 อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนเริ่มมีงานอาชีพของเด็กด้านการเกษตรขึ้น ที่ข้าพเจ้าเกริ่นมาตั้งแต่ต้นจะเห็นได้ว่าโรงเรียนแต่ละโรงเรียนที่ข้าพเจ้าไปดำรงตำแหน่งอยู่ล้วนมีวิถีชีวิตพื้นฐานของทำเกษตรพื้นบ้านทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน

­

“ พื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ”

จากการกล่าวข้างต้นทำให้นึกถึงวัยเด็กเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งพอจำความนำมาเล่าได้บ้าง ข้าพเจ้าเป็นลูกชาวสวน มีพี่น้อง 3 คน ข้าพเจ้าเป็นลูกคนโต บ้านอยู่จังหวัดนนทบุรี ตำบลบางกร่าง อำเภอเมือง หน้าบ้านอยู่ริมแม่น้ำ (เรียกคลองบางใหญ่ ซึ่งเชื่อมมาจากคลองบางกอกน้อย) หลังบ้านติดถนนทางเดินของหมู่บ้านซึ่งมีความกว้างประมาณ 50 เมตร ส่วนใหญ่ใช้ทางเรือในการสัญจรไปมาหาสู่ติดต่อค้าขาย ถ้าเดินทางไกลจะโดยสารเรือหางยาวจากท่าเรือบางใหญ่ ไปสุดปลายทางที่ท่าช้างเขตกรุงเทพมหานคร ถ้าติดต่อสื่อสารในหมู่บ้านจะใช้เรือพายเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะนั่งรถโดยสารต้องเดินไปถนนหลังบ้านประมาณ 1 กิโลเมตร เรียกว่า รถเมล์ มี 3 สาย สายที่ 1 บางบัวทองไปท่าน้ำนนท์ สายที่ 2 บางใหญ่ ไปท่าน้ำนนท์ สายที่ 3 บางกรวย ไปท่าน้ำนนท์ หน้าบ้านมีแพผักบุ้งลอยน้ำอยู่

­

พ่อกับแม่มีอาชีพทำสวนมีพื้นที่จำนวน 4 ร่อง ซึ่งระบุเป็นไร่หรือตารางวาไม่ได้ จะเรียกพื้นที่แปลงนั้นว่า 1 ขนัด ( 1 ขนัดอาจมีจำนวนร่องมากกว่า 4 ร่อง ) แต่ละร่องยาวประมาณ 100 เมตร ในแต่ละร่องจะมีน้ำขังอยู่มากน้อยตามลำดับน้ำจากแม่น้ำ ในสวน 1 ขนัด มีต้นไม้หลายชนิด เช่น ต้นทุเรียนปลูกเป็นไม้หลักของสวนจะมีจำนวนมากกว่าไม้ชนิดอื่น ซึ่งก็ไม่เคยนับว่ามีกี่ต้น ต้นส้ม ต้นมะม่วง ต้นกล้วยหอม กล้วยน้ำหว้า ต้นมังคุด ต้นชมพู่แขกดำ ต้นขนุน ต้นมะปราง ต้นมะไฟ ต้นทองหลางซึ่งปลูกสับหว่างกับต้นทุเรียน เพราะต้นทองหลางจะเป็นร่มและใบของมันเป็นปุ๋ยให้กับต้นทุเรียนได้อย่างดี ต้นพลูต้นพริกไทยและต้นดีปีเป็นไม้เลื้อยพ่อจะปลูกใต้ต้นทองหลางเพื่อให้มันเลื้อยขึ้นต้นทองหลาง ต้นหมาก ต้นขี้เหล็ก ต้นมะขวิด ต้นมะยม ต้นกะลิงปิง ( ปัจจุบันหาดูยากมาก ) มะละกอ สาเก มะนาว

­

ใบชักพลูพ่อปลูกใต้ต้นไม้ยืนต้นพ่อบอกว่ามันเป็นไม้ชอบอยู่ในร่มมันสำปะหลังหรือเรียกว่ามัน 5 นาที (เวลานำมาต้มใช้เวลา 5 นาที) ต้นมะพร้าวพ่อปลูกไว้รอบสวนทำเป็นอาณาเขตของคันที่สวนเรา และยังมีต้นไม้อื่นอีกซึ่งข้าพเจ้าจำไม่ได้หรือบางต้นไม่รู้จักชื่อเรียกก็มี ส่วนในร่องสวนมีสัตว์น้ำหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น ปลาดุก ปลาช่อน เต่า ตะพาบ หอยโข่ง หอยขม ปลาไหล ปู รวมทั้งงูกินปลา งูเห่า งูเหลือม สัตว์ที่อาศัยอยู่ในสวนตามต้นไม้ก็มีกระรอก กระแต ทั้ง 2 ตัวชอบกินผลไม้ในสวนถือว่าเป็นศัตรูกับชาวสวน นกชนิดต่างๆ นกที่มีจำนวนมากคือ อีกา กาเหว่า นกช้อนหอย นกเอี้ยง นกขุนทอง และอีกหลายชนิด ระหว่างร่องมีผักบุ้ง ผักแว่น สายบัว ผักหนามขึ้นริมท้องร่อง ช่วงหน้าฝนมีเห็ดโคนซึ่งมีราคาแพงมากๆ จะไม่ค่อยได้กิน แม่นำไปขายที่ตลาด มันชอบอากาศอบอ้าว ร้อนเหมือนฝนกำลังจะตก ชอบขึ้นตามจอมปลวก มีเห็ดตับเต่า นำมายำใส่กะทิหรือแกงเผ็ดอร่อยมาก แม่ทำให้กินบ่อย อ้อลืมไปว่าละแวกบ้านมีต้นฝรั่งขี้นก 1 ต้น ต้นใหญ่มาก (คนโตขึ้นพร้อมกัน 3 คนมันยังไม่หักเลย)

­

มันเป็นที่หมายปองของบรรดาเด็กๆ ในรุ่นเดียวกัน ทั้งตัวเล็ก ทั้งตัวใหญ่ รวมทั้งพวกผู้ใหญ่ด้วย แถมยังมีนกชนิดต่างๆ ก็ชอบกินเจ้าฝรั่งขี้นก (ไม่รู้ว่าทำไมถึงเรียกฝรั่งขี้นก) เวลามันแก่จัดลูกจะออกกลมมีสีขาว (ที่จริงสีเขียวอ่อนมากกว่า แต่ทางบ้านเรียกว่าขาว) รสชาติหวานกรอบมีไส้สีออกชมพูจัด มันขึ้นอยู่ในเขตบ้านป้าหนอ แกจะปลูกหรือมันขึ้นเองข้าพเจ้าไม่รู้แต่เมื่ออยู่ในเขตบ้านของป้าหนอ มันก็ต้องเป็นของแก ข้างบ้านป้าหนอมีกอมะลิ 1 ก่อ ซึ่งกอใหญ่มากออกดอกตลอดปี ป้าแกสุดหวง ทุกเช้าแกจะมาเก็บดอกมะลิ พวกเราจะได้ดอกที่หลงเหลือจากที่แกเก็บไม่หมด แกจะสั่งห้ามผู้หญิงที่มีเมนส์ (ประจำเดือน) เก็บดอกมะลิเด็ดขาด แกบอกว่าเดี๋ยวต้นเฉาตาย เวลาข้าพเจ้ามีเมนส์ก็ไม่กล้าลอง ถ้าเกิดเป็นจริงกอมะลิตายขึ้นมาจะไม่มีดอกมะลิให้เก็บไปเสียบไม้บูชาพระและลอยในน้ำผสมน้ำยาอุทัยไว้ดื่มอีก

­

พูดถึงป้าหนอแกไม่มีผัว (เป็นภาษาพื้นบ้าน) ป้าหนอเลี้ยงหมากับแมวหลายตัว แมวกินข้าวคลุกกับปลาทู หมากินน้ำข้าวกับหัวปลาทู ปลาทูแกก็ไม่ต้องซื้อแม่ค้าปลาทูสั่งซื้อใบตองของแกเป็นประจำก็เลยเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันแบบคนในสมัยเก่า พูดถึงปลาทูปัจจุบันแมวไม่รู้จักปลาทูแล้วแมวเดี่ยวนี้กินแต่อาหารแมว ส่วนหมาปัจจุบันก็ไม่รู้จักน้ำข้าวแล้ว เพราะคนเดี่ยวนี้ใช้หม้อหุงข้าวกันหมด คนแต่ก่อนหุงข้าวด้วยหม้อดินหุงแบบเช็ดน้ำ (เช็ดน้ำคือเมื่อข้าวสุกได้ที่แล้วก็ปิดฝาหม้อเอาไม้ขัดแล้วรินน้ำออกจนหมด น้ำที่ออกมาเรียกน้ำข้าว แล้วนำมาดงที่เตาไฟโดยใช้ไฟอ่อนๆ ดงคือการนำหม้อข้าวขึ้นตั้งบนเตาไฟอ่อนๆ แล้วหมุนหม้อเอียงไปให้ครบรอบจนน้ำที่หลงเหลืออยู่แห้งจนหมด) หมากินน้ำข้าว เวลามันเดินหรือวิ่งในท้องมันเสียง คล็อดๆ แคล็ดๆ หมาทุกตัวอ้วนและดุมาก

­

ป้าหนอแกชอบทำบุญ ถ้าวันธรรมดาแกใส่บาตร หน้าบ้านพระท่านพายเรือมารับบาตร วันพระหรือบุญใหญ่แกจะไปทำบุญที่วัดเป็นประจำ ข้าพเจ้าก็ไปทำบุญที่วัดกับแกบ่อยๆ การไปทำบุญที่วัดนอกจากต้องมีข้าว กับข้าว ขนม ต้องมีกระทงใส่ของด้วย ในสมัยนั้น แกง ขนม ต้องใส่กระทงนำไปวางในถาดที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ แกเย็บกระทงได้สวยจับมุมได้เสมอกันทั้งสี่มุม คนในหมู่บ้านยอมรับฝีมือการเย็บกระทงของแกรวมทั้งการห่อข้าวต้มมัด การห่อข้าวต้มน้ำวุ้นหรือเรียกอีกชื่อว่าข้าวต้มสามเหลี่ยมหรือกระจับ เสียดายที่ไม่มีใครได้เรียนรู้จากแกเลย

­

พ่อกับแม่มีรายได้จากการเก็บของในสวนมีรายได้ตลอดปี ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่ามากน้อยแค่ไหน รู้แต่เพียงว่าเวลามีงานบุญที่วัดหรืองานมงคลในหมู่บ้านแม่จะเอาสร้อยทองมาให้เราทุกคนใส่ ที่บ้านมีเรือพายใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปไหนมาไหนในระยะใกล้ พ่อจะเป็นฝ่ายทำกับข้าวมากกว่าแม่ เพราะแม่จะนำของในสวนไปขายที่ตลาดเกือบทุกวัน (ไม่ใช่ทุกวัน) พ่อจะเป็นคนดูแลหุงหาอาหาร กับข้าวที่พ่อทำส่วนใหญ่ได้มาจากในสวนของเราเอง เช่น ต้มยำปลาช่อนใส่กะทิ ต้มจืดตำลึง ผัดผักบุ้งไฟแดงหรือเต้าเจี้ยว ปลาไหลผัดเผ็ด ปลาดุกย่าง แกงส้ม แกงฉู่ฉี่ เวลาแกงพ่อจะแกงเผื่อเพื่อนบ้านด้วยแล้วก็จะได้แกงของเพื่อนบ้านกลับมาด้วยเป็นการแลกเปลี่ยนกัน กับข้าวในบ้านเราจะไม่ค่อยได้ซื้อ

­

นอกจากหอม กระเทียม กะปิ เกลือ น้ำปลา ข้าวสาร น้ำมันก๊าดเอาใส่ตะเกียง ช่วงนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีตู้เย็น กับข้าวได้มาจากผลผลิตในสวน น้ำพริกแกง พ่อตำเองในสวนมีพืชผักสวนครัว เช่น กอตะไคร้ (ที่เรียกว่ากอมันมีมากกว่า 1 , 2 ต้น) กอข่า กอขิง กอกะเพรา กอโหระพา กอกระชาย กอผักชีใบเลื่อย บริเวณบ้านยังมีพวกไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะสองข้างถนนจะมีต้นชบาและพู่ระหงขึ้นเต็มสองข้างทางเดิน ข้าพเจ้าชอบไม้ดอก เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดาวกระจาย บานชื่น เอาไว้ประดับกระทงในวันลอยกระทง เอาไว้บูชาพระ

­

พูดถึงน้ำพริกแกงของพ่อ ข้าพเจ้าก็ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น จำความได้ว่าตอนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิชาคหกรรมทำอาหาร ข้าพเจ้าเลือกแกงเนื้อใส่มะเขือพวง ตำพริกแกงเอง โดยนำเครื่องปรุง มะเขือพวงจากสวนทั้งหมด ข้าพเจ้าได้รับคำชมจากครูนาถฤดี ว่าน้ำพริกแกงหอมรสชาติดี และเมื่อตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แกะสลักมังคุด คุณครูชมว่าเลือกลูกมังคุดได้สวยเหมาะกับงานแกะสลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าภูมิใจมากๆ ที่ไม่เสียชาติเกิดเป็นลูกชาวสวนและมีพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี แม่เป็นคนที่กำพลู (ใบพลูที่คนแก่กินกับหมาก) และใบบัวบกได้สวย พ่อก็ขึ้นต้นมะพร้าว ต้นหมากซึ่งต้นสูงมากได้อย่างสบายมาก วันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ หรือปิดเทอม ข้าพเจ้าและน้อง 2 คน จะช่วยพ่อกับแม่รดน้ำต้นไม้ในสวนโดยใช้ขนาด และแคลง ในการรดน้ำต้นไม้ โดยยืนอยู่ริมท้องร่องตักน้ำขึ้นมารดต้นละ 10 แคลง โดยแบ่งกันคนละร่องสวน ปุ๋ยที่ใช้ใส่ต้นไม้ในสวนก็เป็นดินขี้เลนที่เกิดจากการเน่าเปื่อยของใบไม้ใบหญ้าและมูลสัตว์ในสวนเรียกว่าการลอกท้องร่อง

­

การลอกท้องร่องทำให้ท้องร่องลึกไม่ตื้นเขินมีน้ำใส่สะอาด ทำการลอกปีละครั้งหลังเก็บเกี่ยวไม้ผลที่ปลูกเป็นไม้หลักของสวน เพื่อเป็นการเพิ่มปุ๋ยให้กับต้นไม้ ช่วงปิดเทอมใหญ่เดือนเมษายน น้ำในแม่น้ำไหลลงปากอ่าวไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำในแม่น้ำแห้งเกือบหมด ช่วงที่ระดับน้ำลดน้อยจะมีพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ลอยขึ้นมา พวกเราก็สนุกกับการจับกุ้ง หอย ปู ปลา นำไปเป็นปลาเกลือ ปลาแห้ง ปลาย่าง เก็บไว้กินได้หลายวันและเป็นของฝากพี่ป้าน้าอา เล่ามาทั้งหมดดูเหมือนไม่ได้ใช้สตางค์เลย ที่จริงพ่อกับแม่ก็มีรายจ่ายกับลูกในเรื่องการเรียน ค่าเรือรับส่งนักเรียน ค่าขนมไปโรงเรียนลูกๆ ค่าเสื้อผ้า ค่าใช้จ่ายต่างๆ แม่กับพ่อใช้แต่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ คิดทบทวนก่อนการใช้เงินทอง

­

จากเรื่องเล่าข้างต้น ข้าพเจ้าเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูพระนคร เขตบางเขน จนจบวุฒิประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง (ปกศ.สูง) เอกพลศึกษา สอบบรรจุได้ที่จังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนบ้านตาเนิน ตำบลตาเนิน อำเภอจัตุรัส และได้แต่งงานกับครูประมวล เพ็ชยะมาตร์ ลูกชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นคนรักการทำเกษตร หลังจากแต่งงานพ่อกับแม่ทั้งสองฝ่ายไปมาหาสู่กันตลอดและได้นำพืชผลที่ได้ทำมาฝากซึ่งกันและกัน

­

“ สัมผัสปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การดำรงชีวิตปัจจุบัน ”

เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนเห็นความสำคัญของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโรงเรียน และพอได้สัมผัสทำให้รู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ของใหม่ ข้าพเจ้าได้เคยสัมผัสและเติบโตอยู่กับสิ่งนี้มานานแล้วจากพ่อแม่ แต่ไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่เราสัมผัสและใช้ชีวิตอยู่เป็นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พ่อกับแม่อยู่อย่างพอประมาณ มีบ้านไม่ใหญ่โต ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกที่จะทำให้เปลืองเงินทอง มีสิ่งของที่จำเป็นในการทำมาหากิน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มีเหตุผล ในครอบครัวเรามีเรื่องอะไรจะนำมาพูดคุยกันให้เข้าใจโดยการรับฟังเหตุผลของทุกคนแล้วแม่กับพ่อชี้แนะข้อถูกต้อง มีภูมิคุ้มกัน พ่อกับแม่เฝ้าอบรบสั่งสอนและส่งเสริมให้ลุกๆ เรียนหนังสือสูงๆ เพื่ออนาคตข้างหน้าของเรา เป็นตัวอย่างในการเก็บออม พ่อกับแม่มีความรู้ดีในเรื่องการทำมาหากินในสวนเกษตร รู้ความต้องการของตลาด แสวงหาความรู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่รู้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พ่อกับแม่เป็นคนซื่อสัตย์ มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต เมื่อข้าพเจ้ามีต้นแบบในการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบเกษตรกร ข้าพเจ้าก็นำมาปรับใช้ในรูปแบบของมนุษย์เงินเดือน การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับตนเองและครอบครัว คงมิใช่เรื่องยุ่งยาก หากแต่ว่าเราต้องเชื่อมั่นในตนเอง รู้สภาพรายรับรายจ่ายรู้จักใช้เงินที่หามาได้อย่างคุ้มค่าและมีเหตุผลตามฐานะของตนเอง ดังนั้นการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ข้าพเจ้ายึดหลักการตามทฤษฎีดังนี้

­

ความพอประมาณ ข้าพเจ้ามีการวางแผนเรื่องรายจ่ายของตนเอง จากรายได้ในแต่ละเดือน ข้าพเจ้าได้จัดแบ่งเป็นส่วนๆ ว่า ใน 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน หรือทั้งปี ควรจะใช้จ่ายเป็นค่าอุปโภคบริโภค สังคม การจุนเจือผู้มีพระคุณ การศึกษาของบุตร การเก็บออม ประมาณเท่าไร เมื่อรู้รายจ่ายแล้วต้องปฏิบัติให้ได้ตามนั้น คือรู้สภาพรายจ่ายของตนเอง การใช้สิ่งของในครัวเรือน หรือส่วนตัว ต้องคุ้มค่าและเหมาะสมไม่เกินฐานะของตนเอง

­

ความมีเหตุผล ไม่สุรุ่ยสุร่ายกับการใช้จ่ายสิ่งของตามสื่อต่างๆ การซื้อข้าวของแต่ละอย่างต้องมองว่าใช้ได้คุ้มค่ากับการดำรงชีวิตหรือไม่ ต้องนึกถึงประโยชน์การใช้สอยเป็นสำคัญ

­

ความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ข้าพเจ้าเห็นความสำคัญกับการออม ส่วนหนึ่งของรายได้จากการทำงาน ต้องแบ่งส่วนเก็บออมไว้ เพื่อรอการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า ยามเดือดร้อนยังนำเงินที่ออมไว้มาบรรเทาความเดือดร้อนได้ การออมนั้นเปรียบเสมือนเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับตนเองและครอบครัว

­

เงื่อนไขความรู้ ต้องรู้จักวางแผนการดำเนินชีวิตที่ดี ไม่ขาดสติ ต้องรู้จักยับยั้ง ต้องรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าจะเป็นเช่นไร

­

เงื่อนไขคุณธรรม จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วนั้น ข้าพเจ้าต้องยึดหลักความมีสติ มีวินัยในตนเอง ความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติ ผลทำให้ครอบครัวของข้าพเจ้าอยู่อย่างเป็นสุข

­

“ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอน ”

การที่ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติกับตัวเอง การทำงานและในชีวิตประจำวันก็เริ่มมีความศรัทธาและเชื่อมั่นว่าเป็นหลักยึดปฏิบัติที่ดี การเริ่มต้นจากตัวเองไปสู่นักเรียนในความรับผิดชอบโดยกระทำเป็นตัวอย่างให้นักเรียนได้เห็นจริง เช่น การมีสัมมาคารวะกับผู้อาวุโสกว่า การประหยัดเก็บออมร่วมกับนักเรียน ขยันทำงานในหน้าที่ การทำความสะอาด การแก้ปัญหาโดยรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน การรู้จักเลือกซื้อสิ่งของที่จำเป็น โดยค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เริ่มจนกลายเป็นนิสัยที่ฝังลึกในจิตใจ ทำให้ได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่และมีคุณค่า ได้ศึกษาดูงานที่โรงเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะครูอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา มีโอกาสได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้มีประสบการณ์ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ในกิจกรรมการเรียนการสอนใน 8 กลุ่มสาระ โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนต่างเขตพื้นที่ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้ข้าพเจ้าได้ประสบการณ์ที่ดี ได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง และเห็นคุณค่าของการทำงาน การที่เรามุ่งมั่นตั้งใจทำก็สำเร็จผลสามารถเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตให้กับตัวเองแล้วถ่ายถอดความรู้และประสบการณ์ให้ผู้อื่นนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้ซึ่งเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขบนวิถีชีวิตที่พอเพียง