การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

­

­

โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการกำหนดเป็น “วิสัยทัศน์” ของโรงเรียน ที่ผ่านมาโรงเรียนใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว แต่ไม่ได้โยงเข้าสู่หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ปัญหาของโรงเรียนคือ ครูโยกย้ายบ่อย เมื่อมีครูมาใหม่จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกครั้ง การขับเคลื่อนสู่ตัวเด็กจะเน้น “สร้างหลักคิด” ให้เด็กก่อน เน้นไปที่ “ทักษะชีวิต” เพราะเด็กที่นี่มาจากพื้นที่ฐานที่แตกต่างกันทั้งด้านวัฒนธรรม และครอบครัว

­

โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตากจะรับเด็กที่ค่อนข้างมีปัญหา ทั้งปัญหาความยากจน เป็นชนกลุ่มน้อย รวมไปถึงเด็กเร่รอนและถูกทอดทิ้ง หรือเป็นเด็กที่มูลนิธิต่างๆ ส่งเข้ามา โรงเรียนจึงเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 จึงต้องสร้างความเข้าใจให้กับเพื่อนครูก่อน โรงเรียนมีวิธีการรับเด็กเข้ามาเรียน 2 วิธีคือ 1.ไปดูเด็กตามหมูบ้านที่อยู่ชายแดน ตามภูเขา และถิ่นทุรกันดาร และ 2. ตั้งรับที่โรงเรียน โดยมีการประสานงานกับเขตพื้นที่ รวมถึงศิษย์เก่าที่ช่วยคัดกรองเด็กที่เป็นเป้าหมายของโรงเรียน หากยังไม่ได้รับสัญชาติ ครูต้องประสานกับกระทรวงมหาดไทยไปสืบว่าเด็กเกิดที่ไหน เด็กไร้สัญชาติส่วนใหญ่มาจาก 3 จังหวัดคือ ตาก กำแพงเพชร และสุโขทัย เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะบางคนระบายออกมาว่า “ผมไม่รู้จะเรียนไปทำไม เพราะว่าผมไม่มีสัญชาติ” ครูจึงต้องพยายามอธิบาย หากิจกรรมให้เขาทำ จนรู้สึกว่าพฤติกรรมเขาเปลี่ยนไป เช่น จากเด็กที่เครียดและไม่รู้ว่าตัวเองจะเรียนไปเพื่ออะไร คิดว่าเขาเรียนไปเขาก็ได้ความรู้ ยกตัวอย่างกรณีของเด็กคนหนึ่งซึ่งมาอยู่ในโครงการชีววิถีพอเพียง เขายังไม่มีนามสกุล แต่สามารถนำเสนอเรื่องชีววิถีพอเพียงจนคณะกรรมการบอกว่าเขานำเสนอได้ดี กรรมการถามว่าไม่มีนามสกุลเหรอ เขาบอกว่า ไม่มี โดยที่ไม่รู้สึกอะไร ทั้งที่ในตอนแรกก่อนที่โรงเรียนจะให้เขาทำกิจกรรม เขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า

­

โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งหมด 184 ไร่ มีหอนอนทั้งหมด 20 หอนอน บ้านพัก 8 หลัง ซึ่งเป็นของกลุ่มเด็กที่ต้องทำงานขับเคลื่อนเกษตรเพื่อชีวิต เปิดสอนตั้งแต่ ป1. - ม.6 ปีหนึ่งเด็กได้กลับบ้าน 2 ครั้ง เพราะโรงเรียนเกรงว่าเด็กจะไม่ปลอดภัยเนื่องจากเด็กอยู่ในความดูแลของโรงเรียน แต่ถ้าผู้ปกครองมีความจำเป็น เด็กก็จะกลับบ้านได้

­

โรงเรียนขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดเป็น “วิสัยทัศน์” ของโรงเรียน หากมองในแง่การจัดการเชิงระบบหรือลายลักษณ์อักษรแล้วพบว่า โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตากใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องสร้างให้เด็กนอกจากวิชาการตามหลักสูตร 51 และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ยังมีกิจกรรมที่ใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนให้เกิดประโยชน์ เพื่อเสริมทักษะของเด็กให้มากที่สุดและมีความต่อเนื่อง โดยเน้นไปที “ทักษะชีวิต” เพราะเด็กที่นี่มาจากพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งด้านวัฒนธรรม และครอบครัว

­

อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตากเป็นโรงเรียนประจำ ครูทุกคนต้องเข้าใจและตระหนักร่วมกันว่า ตนมีบทบาทอะไรในโรงเรียน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเพื่อนครู เพราะแค่การเรียนการสอนก็เหนื่อยแล้ว ยังต้องมาช่วยกันดูแลเด็กตอนกลางคืนอีก ไม่มีวันหยุดวันเสาร์อาทิตย์ ด้วยเหตุนี้โรงเรียนจึงต้องมีระบบบริหารจัดการเด็กที่ดี โดยใน 1 หอนอน จะมีเด็กประมาณ 40 - 50 คน แยกชายหญิง เพื่อให้ดูแลกันง่าย มีครูประจำ 3 คนต่อ 1 หอนอน ถ้าเป็นครูที่อาวุโสแล้วไม่สะดวกจะเข้ามานอนกับเด็ก ก็จะให้เกียรติเป็นที่ปรึกษา ในโรงเรียนมีครู 80 คน แบ่งเป็นพนักงาน 40 คน ครูประจำการ 40 คน ช่วยดูแลเด็กในหอนอน ส่วนในกรณีเด็กที่อยู่บ้านพักจะมีครู 1 คนต่อบ้าน 1 หลัง เด็กจะอยู่คละกันตั้งแต่ ป.1 - ม.6 เด็ก ม. 6 จะช่วยครูดูแลรุ่นน้องด้วย

­

ครูนงค์นุชเป็นเพียงครูผู้สอน แต่บ้านอยู่ตรงนั้น และไม่คิดย้ายไปที่ไหนแล้ว จึงมาช่วยคิดกรอบใหญ่ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ ของโรงเรียน และช่วยดูทั้งระบบก่อนว่าทำอย่างไรให้เพื่อนครูเข้าใจ ตอนแรกที่เริ่มต้นทำมีครูเข้าร่วมเพียงแค่ 4 - 5 คน คิดว่าคงทำไม่ไหว จำเป็นต้องขยายออกไปในวงกว้าง จึงออกแบบสำรวจไปว่ามีครูท่านใดต้องการเป็นครูแกนนำบ้าง พบว่ามีครู 11 คนที่อยากเป็น ซึ่งก็ไม่ได้ เพราะตามเกณฑ์ต้องมีครู 25 เปอร์เซ็นต์ร่วมขับเคลื่อน ผู้อำนวยการจึงคิดว่าคุณครูอาจจะไม่เข้าใจเพราะว่าความจริงแล้วครูที่อยู่หอนอนกับเด็กก็เป็นครูแกนนำได้ เมื่อมีใครเข้ามาก็รับแขกกันอยู่ตลอด จึงสร้างความเข้าใจกับครูโดยนำนิยามคำว่า 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มาทำความเข้าใจกับครูก่อน หลังจากนั้นจึงตีโจทย์ของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าใจตรงกัน

­

หลังจากที่ ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ มาจัดอบรม มีครูเข้าร่วม 8 คน เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น ครู 8 คนนี้กลายเป็นกระบอกเสียงไปบอกต่อ และพูดคุยกันว่า ต่อจากนี้ไปโรงเรียนจะเป็นศูนย์การเรียนรู้แล้ว เราจะต้องมีความเข้าใจที่ตรงกันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

­

ด้านเด็กมีความร่วมมือที่ดี เพราะว่าเป็นโรงเรียนประจำ มีเวลาจัดกิจกรรมให้กับเด็กเต็มที่ ต้องยอมรับว่าเด็กพร้อมที่จะรับในสิ่งที่ครูมอบให้ โดยโรงเรียนจะ “สร้างหลักคิด” ให้เด็ก เพราะเด็กที่โรงเรียนเป็นเด็กมีปัญหาเนื่องจากพื้นฐานที่แตกต่างกัน ช่วงแรกโรงเรียนจัดให้มี 19 ฐานการเรียนรู้ ต่อมาปรับกลุ่มใหม่ เพราะมากเกินไป ให้จัดเป็นเถาปิ่นโต เริ่มจากเถาแรกชีววิถีพอเพียง มอง 4 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตร ด้านการประมง และด้านสัตว์ ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะว่าโรงเรียนมีพื้นที่อยู่แล้ว ให้นักเรียนปลูกแต่ต้องใช้ชีววิถี ไม่ใช้ใช้สารเคมี ตอนเริ่มต้นนั้นยังงงๆ กันอยู่ แต่ครูเกษตรเข้าใจ เช่น โครงการอาหารกลางวันจะจัดอยู่ในเถานี้ เพราะว่ามันไม่ได้หลุดจากเถานี้และเด็กได้ลงมือทำจริง

­

เหตุผลที่ส่งโรงเรียนเข้าประกวด เพราะอยากให้เด็กมีความมั่นใจในการนำเสนอ เพราะเป็นเด็กชนเผ่าต่างๆ เวลาพูดนำเสนอมักไม่ค่อยกล้า ครูจึงพยายามให้เด็กมีความกล้ามากขึ้น เพิ่มความมั่นใจให้กับเขา หลังจากนั้นเมื่อมีคณะเรียนรู้เข้ามา เขาก็มีความกล้ามากขึ้น ส่งผลให้ได้รับรางวัล

­

เถาที่ 2 อาชีพเพื่อการมีงานทำ เนื่องจากเด็กไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีฐานะยากจน ครูจึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนจบไปแล้วสามารถไปประกอบอาชีพได้ จึงจัดเป็นอาชีพเพื่อการมีงานทำ เมื่อเด็กจบ ม.6 จะมีโรงแรมระดับห้าดาว มารับเด็กเข้าไปต่อยอดทำงานในโรงแรมเลย เช่น โรงแรมเซนทาราแกรนด์ คนที่จบทางด้านสายอาชีพสามารถไปต่อยอดได้เลย เราต้องจัดการเรียนการสอนให้ชัด เพื่อให้เด็กได้เตรียมตัวก่อนเข้าไปอยู่ในสถานประกอบการ และช่วงปิดภาคเรียน เด็กนักเรียนได้เข้าไปฝึกทำงานตามที่ต่างๆ เช่น ร้านเซเว่น ห้างบิ๊กซี เป็นต้น

­

เถาที่ 3 ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม บางครั้งเด็กรู้สึกอายเพราะว่าพวกเขาเป็นชนเผ่า เช่น ม้ง กะเหรี่ยง ลีซอ ครูพยายามให้เขามีความกล้ามากขึ้น โดยทุกวันศุกร์จะให้เด็กแต่งกายชุดประจำเผ่า จากเดิมที่โรงเรียนมีพิพิธภัณฑ์จะกิจกรรมที่ฝึกให้เขาสามารถเป็นมักคุเทศน์น้อย เมื่อมีแขกมาก็ได้รับความชื่นชม ทัศนคติของพวกเขาก็เปลี่ยนไป จากที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ก็เริ่มมั่นใจมากขึ้น ส่วนไหนที่ไม่มั่นใจจะให้ข้อมูลก่อน เช่น เวลานำเสนอต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง จะมีค่ายให้เรียนรู้ประจำตามศูนย์ 5 เถา แล้วฝึกไปเรื่อยๆ อาจใช้วิธีให้รุ่นพี่ถ่ายทอดสู่รุ่นน้อง และกระจายไปให้คุณครูประจำฐานการเรียนรู้ต่างๆ ทุกครั้งที่มีแขกมาจะได้รับคำชมว่าเด็กที่นี่อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะและพูดจามีมารยาท เราจะชมเขาหน้าเสาธง ให้เขามีกำลังใจมากขึ้น ส่วนคนที่ยังหลงทางอยู่ เมื่อเห็นเพื่อนได้รับคำชมก็พยายามปรับเปลี่ยนตนเอง และสุดท้ายฝ่ายปกครองจะมาช่วยวิเคราะห์ สังเคราะห์ร่วมด้วย เพราะทุกคนเข้าใจแนวทางปฏิบัติร่วมกันแล้ว

­

เถาที่ 4 เพิ่มพูนปัญญา แม้พื้นฐานของเด็กจะแตกต่างกัน แต่เขาสามารถส่งโครงงานในระดับศิลปหัตถกรรมนักเรียนจนได้รับรางวัลระดับประเทศ มีโครงงานเกิดขึ้น เช่น โครงงานคณิตศาสตร์ โครงงานสังคมด้านคุณธรรม โครงงานอาชีพ และด้านคอมพิวเตอร์ก็ได้รับรางวัล เป็นเถาที่ 4 ที่ทิ้งไม่ได้ ในโรงเรียนจะมีสวนพฤษศาสตร์โรงเรียน ซึ่งเด็กจะต้องทำโครงงานนี้ให้เด่นชัด จึงจะตอบโจทย์เรื่องสวนพฤษศาสตร์โรงเรียนได้นอกเหนือจากการดูแลต้นไม้

­

เถาที่ 5 เน้นเรื่องใกล้ตัว คือ หอนอนพอเพียง กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เช้าครูจะตั้งคำถามกับเด็กว่า “หนูออกกำลังกายทำไม มีประโยชน์อย่างไร” ต้องถามคำถามอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งกิจกรรมในตอนเช้าที่เป็นภารกิจส่วนตัวจะพี่แกนนำและครูในหอนอนคอยดูแล

­

การรับประทานอาหารมีทั้งหมด 3 มื้อ การบริโภคอาหาร เด็กต้องเข้าใจว่า รับประทานไปแล้วเขาได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่หรือไม่ มีประโยชน์อย่างไร ซึ่งจะเชื่อมโยงกับวิชาสุขศึกษาและโครงการอาหารกลางวัน ส่วนการเรียนการสอน สอนแบบเป็นปกติทั่วไป เช่น สื่อการเรียนรู้ที่ครูเตรียมไว้ให้ การฝึกถอดบทเรียนตามสาระของแต่ละรายวิชา ช่วงเย็นเด็กมีหน้าที่ช่วยกันพัฒนาส่วนกลาง เพราะมีพื้นที่มากถึง 184 ไร่ ถ้าไม่มีเด็ก คงทำไม่ได้ เพราะมีนักการภารโรงแค่ 10 กว่าท่าน และแต่ละท่านมีงานที่จะต้องทำในจุดอื่นด้วย

­

อีกส่วนหนึ่งที่เราปลูกฝังคือเรื่องของการดูแลหอนอน การใช้น้ำ ใช้ไฟ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นส่วนที่รัฐบาลจ่ายให้ก็จริง แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันประหยัดมันจะเกิดอะไรขึ้น ต้องตั้งคำถามกับเด็ก ส่วนเรื่องการเจ็บป่วยมีเรือนพยาบาลและการส่งต่อในกรณีต่างๆ ซึ่งพี่เลี้ยงต้องทำความเข้าใจด้วย

­

ปัญหาของโรงเรียนคือ ครูโยกย้ายบ่อย เมื่อมีครูมาใหม่จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกครั้ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดทักษะการคิด กิจกรรมนี้ต้องอาศัยจิตสาธารณะ เพราะครูต้องมีความเมตตากรุณา เอื้ออาทรต่อเด็ก และตอนนี้ครูต้องเริ่มตื่นตัวมากขึ้น เพราะเริ่มมีแขกเข้ามาที่โรงเรียนมากขึ้น ซึ่งจากการตอบคำถาม ครูเกิดการพัฒนาและเรียนรู้ไปโดยปริยาย พยายามช่วยกันสร้างให้เกิดความเข้มแข็ง

­

ด้านพฤติกรรมของเด็กคือ เมื่อเด็กเห็นรุ่นพี่ปฏิบัติอย่างไรก็จะเกิดการเลียนแบบ การอยู่โรงเรียนประจำหนีปัญหากรณีชู้สาวไม่ได้ แต่โรงเรียนได้มีการทำสถิติสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง นั่นคือ การได้เสียกันจนเกิดการตั้งครรภ์ปีหนึ่งมีเพียง 1 - 2 คู่เท่านั้น แต่ที่เป็นแฟนกันก็มี ซึ่งห้ามไม่ได้ เพราะเด็กมาจากพื้นฐานที่ขาดเป็นส่วนใหญ่ ครูต้องสอนเขา โดยจัดให้มีแกนนำห้องเรียนสีขาวคอยกำกับในเวลาเรียนอีกครั้งหนึ่ง เช่น เราในฐานะครูที่ปรึกษาจะบอกเขาว่า “ครูไม่ว่าเพราะว่าความรักเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข กระตือรือร้นต่อการเรียน แต่ถ้าสมมติว่าเราจะต้องมานั่งจูบกอดกันในที่สาธารณะ แล้วมีน้องๆ มาเห็น หนูคิดว่ามันเหมาะสมหรือไม่ และจะกล้าไปบอกน้องในห้องนอนให้ทำอย่างนี้ๆ เขาก็จะไม่ศรัทธาในตัวหนู ” ด้านปัญหาชกต่อยมีบ้าง แต่เป็นปัญหาที่ตัวบุคคล ไม่ใช่ระหว่างเผ่า วิธีแก้คือยกตัวอย่าง ชี้ให้เห็นโทษ เช่น มีพี่คนหนึ่งได้ทำงานที่หน่วยงานหนึ่งซึ่งดีมาก แต่ไม่มีใครกล้ารับรอง เพราะว่าเขาใจร้อน พยายามใช้ตัวอย่างที่เขาเห็นและรู้จัก จะช่วยได้ระดับหนึ่ง

­

หลังจากที่เด็กเรียนจบ ม.6 แล้ว จะมีลู่วิ่งหลายลู่ให้เลือก เช่น ถ้าเด็กที่ได้ทุนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเราเรียกว่าเป็นนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ จะสามารถเรียนต่อได้จนถึงปริญญาตรี และล่าสุดต้องขอบคุณมูลนิธิฯ มาก เพราะเด็กเขาไม่ได้เป็นเด็กในพระราชานุเคราะห์ แต่เขาเป็นเด็กที่เรียนเก่งและช่วยงานโรงเรียนมาโดยตลอด สอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ แต่เขามาบอกว่าคงไม่ได้เรียนต่อ เพราะไม่มีเงิน พอปิดเทอมเขาพยายามเข้ามาช่วยงานโรงเรียนโดยตลอด เด็กคนอื่นเมื่อกลับบ้านกลับดอยแล้วจะติดต่อค่อนข้างยาก เขาจึงได้ทุนของมูลนิธิฯ ไป เขาคิดว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อไป สำหรับคนอื่นที่ไม่เรียนต่อก็เข้าสู่สถานประกอบการ

­

การเปิดแผนการเรียนรู้ต้องดูว่า เรามีบริบทอย่างไรเพื่อที่จะได้รองรับตลาดได้ ม.ปลาย จะเน้นแผนธุรกิจและการโรงแรมเข้าไปด้วย เพราะสามารถมาช่วยทำบัญชีต่างๆ ในโรงเรียนได้ สำหรับปีนี้จะไปทำ MOU กับโรงแรมเซนทาราแกรนด์ ที่มาเปิดที่แม่สอด เพื่อให้เด็กไปฝึกประสบการณ์จริง เพราะเด็กบางคนถ้าไม่เห็นหน้าตาของการโรงแรม จะนึกภาพไม่ออก จึงขอให้เขามาเป็นวิทยากร และในช่วงปิดเทอมให้เด็กนักเรียนได้ฝึกงาน ในส่วนของอุตสาหกรรม จะมีสถานประกอบการให้เด็กไปฝึก เรื่องยาเสพติด มีเพียงแค่ยาเส้น เพราะว่าเขาเห็นตัวอย่างจาก พ่อ แม่ แต่ไม่มีอะไรที่รุนแรงกว่านี้ ส่วนเด็กที่หนีเที่ยว จะมีตำรวจช่วยจับมาส่งโรงเรียน

­

การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการสอน ที่โรงเรียนสอนหลายวิชา ยกตัวอย่างวิชาภาษาไทย ม.ปลาย ที่พบว่าสถิติเด็กจะอ่านหนังสือจำนวนน้อย เพราะด้วยพื้นฐานของพ่อแม่ที่ไม่ได้กระตุ้นมากนัก ถือว่าเป็นโรงเรียนประจำที่ต้องเริ่มอ่านก่อน โดยจะมีหลักสูตรแกนกลางที่มีตัวชี้วัดอยู่ โดยให้เด็กมีหนังสือเล่มโปรดของตัวเอง 1 เรื่อง ในคาบเรียนจะให้เด็กนั่งกลุ่มละ 4-5 คนเล่าเรื่องโปรดของตัวเอง ลองวิเคราะห์ว่าได้เรียนรู้อะไร สรุปออกมาว่าพฤติกรรมอย่างนี้ดีหรือไม่ คิดว่าจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร หลังจากนั้นเมื่อเขาได้รู้เรื่องภายในกลุ่มแล้ว แต่เพื่อนกลุ่มอื่นยังไม่รู้ ก็จัดกิจกรรมตลาดนัดนักอ่านขึ้นในห้องเรียน ให้แต่ละกลุ่มวางผังว่ากลุ่มของตัวเองจะอยู่ตรงไหน แล้วจะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่อย่างไร ใครจะมาเป็นคนเชียร์ให้คนเข้าร้าน หลังจากนั้นให้เด็กประจำกลุ่มเล่าเรื่องราวแต่ละเรื่องภายในกลุ่ม ถ่ายทอดสู่เพื่อนคนอื่น เด็กก็ได้รู้เรื่องราวอื่นๆ มากขึ้นด้วย ส่วนในหอนอนให้เด็กคิดว่า ถ้าการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ แล้วเรายังมีคนที่อ่านไม่คล่องในหอนอน เราไปทำกิจกรรมกลุ่มภายในหอนอน แล้วไปเล่าเรื่องราวให้น้องฟัง โดยบอกเด็กว่าต้องดูก่อนว่าเรื่องราวนั้นเหมาะกับน้องหรือไม่ เป็นการกระตุ้นให้เด็กไปอ่านเรื่องอื่นเพิ่มเติม และให้สอบถามน้องด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง เป็นการประเมินทั้งรุ่นพี่และประเมินความพึงพอใจของน้องด้วย ทำให้เกิดพฤติกรรมการอ่านดีขึ้น

­

­