อาจารย์ยุพดี ขำดี หัวหน้างานพัฒนาผู้เรียน/อาจารย์ที่ปรึกษาชุมชน “Young Volunteer”

อาจารย์ยุพดี  ขำดี หัวหน้างานพัฒนาผู้เรียน/อาจารย์ที่ปรึกษาชุมชน “Young Volunteer”

อาจารย์ยุพดีได้กล่าวถึงสังคมครอบครัวในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะฉะนั้นปัญหา   ต่าง ๆ ก็มาจากทางครอบครัวของเด็กด้วยส่วนหนึ่ง จะเห็นได้ว่าปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่เอาเงินวางไว้บนโต๊ะให้กับเด็ก โดยที่คุณพ่อคุณแม่ได้สอนในเรื่องของการใช้จ่าย และไม่ได้สอนในเรื่องต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่คิดว่าตนเองให้กับลูกอย่างเต็มที่แล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้สอนให้เด็กได้รับรู้ว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ได้ให้คืออะไร ดังนั้นเด็กจึงมีความเคยชินกับการเป็นผู้รับ เมื่อเด็กออกสู่สังคมภายนอก ทุกคนจึงมีความเห็นแก่ตัว ทุกคนเรียกร้องสิทธิ แต่ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง เพราะเมื่อทุกคนมีสิทธิก็จำเป็นต้องมีหน้าที่ตามมา ในขณะที่ทุกคนเรียกร้องสิทธิ ทุกคนต้องรู้จักการใช้หน้าที่ด้วย
เด็กเมื่อออกสู่สังคมภายนอก เด็กจะแสดงพฤติกรรมเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา แต่เด็กไม่เคยหันกลับไปมองตนเองเลยว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ ตนเองมีหน้าที่อะไร สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นปัญหา

สิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมจิตอาสา นักเรียนคนใดที่ได้ผ่านกระบวนการของจิตอาสา ผ่านกระบวนการของการไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ส่งผลให้นักเรียนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้นกิจกรรมจิตอาสาจึงสามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งพฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่และทุกคนภายในครอบครัวสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน   

การเข้าสู่จิตอาสา อาจารย์ยุพดีได้ทำในส่วนกิจกรรมจิตอาสาตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่งหัวหน้ากิจกรรม ก่อนหน้านั้นอาจารย์ยุพดีได้พาเด็กไปตามสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ พาเด็กไปร่วมรณรงค์ปลูกป่า พาเด็กไปร่วมตามโครงการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ที่มีการเสนอเข้ามาในโรงเรียน เป็นโครงการที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม และมีหน่วยงานจากภายนอกที่รองรับในการทำกิจกรรมตรงส่วนนี้ ทางโรงเรียนจะเปิดรับ “อาสาสมัคร” รับสมัครเด็กที่ให้ความสนใจในการไปร่วมทำประโยชน์ให้แก่สังคม เพื่อไปเข้าร่วมโครงการ ไปร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีเข้ามา ซึ่งขณะนั้นกิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กได้ไปทำไม่มีผลต่อคะแนน ไม่มีผลต่อผลการเรียนใด ๆ ทั้งสิ้น
หลังจากที่อาจารย์ยุพดีได้มารับตำแหน่งหัวหน้ากิจกรรม อาจารย์ยุพดีก็ได้เปิดโอกาสให้กับ   เด็ก ๆ ได้จัดตั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กสนใจ จึงทำให้เกิดลักษณะกิจกรรมในรูปแบบจิตอาสาเกิดขึ้นมากมาย อาจเป็นเพราะลึก ๆ ภายในจิตใจของเด็กแล้วก็มีเรื่องของจิตอาสาอยู่ เพียงแต่ไม่มีใครไปกระตุ้น และไม่มีโอกาสได้ดึงเอาจิตอาสาออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะจริง ๆ แล้วเด็กทุกคนก็ต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ หากสามารถเปิดโอกาสให้แก่เด็ก สามารถหาช่องทาง หากเวทีให้เด็กได้แสดงออก ได้แสดงศักยภาพ ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มที่
กิจกรรมเหล่านี้ก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี เพียงแค่ขอให้มีผู้ใหญ่ใจดี มีคณะครู มีหน่วยงานภายนอกที่คอยสนับสนุน คอยให้ความช่วยเหลือเพียงเท่านั้น กิจกรรมทุกกิจกรรม การดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับกิจกรรม ผู้ที่ออกความคิด แสดงความคิดเห็นคือเด็กทั้งหมด ส่วนคณะครู สถานศึกษา เป็นเพียงแค่ผู้คอยช่วยเหลือ เป็นผู้คอยประคับประคอง เป็นผู้คอยชี้แนะให้เด็กก้าวเดินไปอย่างถูกทิศทาง เป็นเพียงแค่การให้ความร่วมมือกับเด็ก ๆ เพียงเท่านั้น อีกทั้งตัวเด็กเองก็ต้องการเพียงเท่านั้น เพราะความเป็นจริงแล้วเด็กก็ไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่เข้าไปก้าวก่ายกับการดำเนินกิจกรรมของพวกเขามากสักเท่าไหร่ ไม่ต้องการให้ครูเข้าไปสั่ง แต่เด็กต้องการทำด้วยตัวของเด็กเอง
อาจเป็นเพราะเมื่อก่อนครูหรือผู้ใหญ่คอยไปจำกัดความคิดของเด็ก เพราะต้องการให้กิจกรรมเป็นอย่างที่ตนเองอยากให้เป็น ดังนั้นความคิดของเด็กจึงไม่เกิด เด็กไม่ได้ดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ แต่หากเมื่อใดที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดของตนเอง เด็กก็จะสามารถเปลี่ยนเป็นการกระทำต่าง ๆ ได้อย่างเต็มความสามารถที่เด็กมี เด็กเกิดความรู้สึกรัก มีความรู้สึกหวงแหน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ เพราะเป็นความคิดของเด็กเอง
แต่ละกิจกรรมที่เด็กได้คิดขึ้นมา จะมีกระบวนการของจิตอาสาแทรกซึมอยู่ในหลากหลายชุมนุม ไม่ใช่เฉพาะแค่ใน “ชุมนุมกิจกรรมจิตอาสา” เพียงเท่านั้น สามารถสังเกตเห็นจิตอาสาในชื่อเรียกอย่างอื่น ในรูปแบบอื่น ๆ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือต้องการทำประโยชน์เพื่อบุคคลอื่น เพื่อชุมชน เพื่อสังคม เช่น ชุมนุมขบวนการปลูกป่า นักเรียนในชุมนุมได้ชวนกันไปทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลนร่วมกันในวันอาทิตย์

การขยายสู่เพื่อนครูในโรงเรียน เริ่มแรกอาจารย์ยุพดีได้ชักชวนเด็กก่อน หลังจากที่เด็กได้มาสมัครแล้ว และเมื่อเพื่อนครูทั้งหลายในโรงเรียนทราบเรื่องก็ต้องการไปร่วมด้วย ฉะนั้นจากการที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการเพียงคนเดียว จึงเริ่มเป็นเครือข่ายขึ้น ฉะนั้นหากจัดกิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ บรรดาเพื่อนครูก็ให้ความสนใจ โดยไม่ต้องไปเกณฑ์ให้ครูคนนั้นคนนี้ไปช่วยเหลือ แต่บรรดาครูเหล่านั้นอาสาไปกันด้วยตนเอง แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทุกคนต้องการคือ “ต้องการคนนำ” หรือต้องการแกนนำ ต้องการจุดเริ่ม เพราะว่าทุกคนมีจิตอาสา มีจิตสาธารณะอยู่ภายในตัวของทุกคนอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อมีจุดเริ่มทุกคนก็สามารถมารวมตัวกันและสามารถดำเนินงานต่อไปได้

จิตอาสากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครู  เมื่อก่อนอาจารย์ในโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์จะต่างคนต่างอยู่ อาจารย์จะสนิทกันแต่เพียงกลุ่มสาระการเรียนรู้ของตนเองเท่านั้น แต่หลังจากได้ทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกัน ในเรื่องเนื้อหาวิชาการก็ต่างคนต่างสอน แต่หากมีงานอาจารย์ทุกคนก็จะมาร่วมงานกัน เช่น เมื่อมีงานของมูลนิธิกระจกเงาเข้ามา อาจารย์แต่ละท่านจะช่วยไปประสานงานกับเด็กนักเรียนของตนเอง เท่ากับว่าอาจารย์แต่ละท่านเป็นแกนประสานในเบื้องต้น
สามารถสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อได้ทำกิจกรรมที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม  พลังของความดีสามารถถูกนำออกมาได้ เพราะว่าทุกคนต้องการทำความดี กิจกรรมจิตอาสาไม่ว่าทั้งเด็กหรือทั้งครู และทุก ๆ คนมี “พลังในการทำความดี” แต่ว่าพวกเขาไม่มีโอกาสที่จะแสดงพลังนั้นออกมา ตัวครูเองก็เช่นเดียวกัน แต่หากว่าสามารถหาจุดเริ่มต้นให้ครูเหล่านั้นได้ ครูก็จะออกมาช่วยกันดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ ยิ่งหากมีองค์กรจากภายนอกเข้ามากระตุ้นหรือเข้ามาช่วยกิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ เหล่านี้ก็สามารถก้าวต่อไปได้เรื่อย ๆ และที่สำคัญได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายผู้บริหารในโรงเรียนก็ยิ่งทำให้กิจกรรมจิตอาสาประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นไป
ทางโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ไม่มีการปิดกั้นกิจกรรมจิตอาสา ไม่ว่าองค์กรหรือหน่วยงานใดเข้ามาขอความร่วมมือ ทางโรงเรียนยินดีเป็นอย่างยิ่ง และหากมีโครงการต่าง ๆ เข้ามา ทางโรงเรียนจะทำการประชาสัมพันธ์ให้กับเด็กนักเรียนได้รับทราบ
อาจารย์ยุพดีถือว่าการสอนนักเรียนให้เรียนรู้เกี่ยวกับจิตอาสาถือว่าเป็น “หน้าที่” ของอาจารย์ที่ต้องทำ เพราะหน้าที่ของครูจริง ๆ แล้วก็ต้องสอนในเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าอาจารย์แต่ละท่านอาจสอนมากหรือน้อยแตกต่างกัน อาจเป็นเพราะในสมัยก่อนหากเป็นเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ก็ต้องสอนให้เด็กเก่ง สอนเด็กแต่ในเรื่องของตัวเลข หากเป็นวิชาสังคมศึกษาก็สอนแต่เรื่องของเนื้อหาวิชา แต่อาจารย์ไม่ได้เน้นหรือไม่ได้สอดแทรกในเรื่องของคุณธรรมเข้าไป แต่เมื่อภายหลังมีสิ่งจากภายนอกเข้ามากระทบมากขึ้น อาจารย์ทุกท่านจึงมีความเห็นตรงกันว่าต้องเน้นในเรื่องคุณธรรมของเด็กด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่อาจารย์แต่ละท่านไปสอนจึงไม่ได้ให้แต่ในเรื่องของเนื้อหาวิชาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาจารย์ต้องให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเด็กด้วย ดังนั้นจิตวิญญาณของจิตอาสาไม่ว่าจะเป็นของครูหรือของเด็กก็ตาม เมื่อได้มารวมกันแล้วก็เป็นพลังอย่างหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กจากจิตอาสา  ลักษณะของจิตอาสา เมื่อเวลาที่ครูคุยกับเด็ก ความใกล้ชิดระหว่างครูกับเด็กเกิดขึ้น และเมื่อความใกล้ชิดเกิดขึ้นทำให้เด็กกล้าพูดคุยกับครูมากขึ้น เด็กหลาย ๆ กลุ่มในโรงเรียนกล้าคุยกับครูในฐานะเหมือนเพื่อน เหมือนญาติ เหมือนคุณพ่อคุณแม่ เด็กบางกลุ่มเรียกครูว่า “ป้า” บางกลุ่มเรียกครูว่า “แม่” เพราะฉะนั้นหากเด็กมีปัญหา เด็กก็จะเกิดความไว้วางใจกับครู ถึงแม้ว่าเด็กบางคนอาจารย์ยุพดีไม่ได้สอน แต่อาจารย์มีความสนิทสนมกับเด็กกลุ่มนั้น เด็ก ๆ ได้มาขอคำปรึกษาหรือมาขอความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ  เนื่องจากได้ร่วมทำกิจกรรมมาด้วยกัน ทำให้เด็ก ๆ กล้าที่จะเข้ามาปรึกษามากขึ้น
อาจารย์ยุพดีสังเกตเห็นได้ว่าเด็กกลุ่มที่ทำกิจกรรมแล้วนั้นไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเด็กที่ทำกิจกรรมจะรู้จักการตัดสินใจ รู้จักการวางแผนก่อนที่จะลงมือทำอะไร แต่ส่วนมากเด็กที่มีปัญหาคือเด็กกลุ่มที่เป็นส่วนน้อยของโรงเรียน เนื่องจากเด็กทุกคนในโรงเรียนมีโอกาสที่จะออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงเรียนเกือบทุกคน ทำให้เด็กสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เพราะเด็กได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสิ่งที่เด็กคิดเอง

สิ่งที่ภาคภูมิใจ ในฐานะที่อาจารย์ยุพดีเป็นหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จึงได้คลุกคลีอยู่กับเด็ก ๆ พอสมควร ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของชุมนุมจิตอาสาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเด็กที่จบการศึกษาออกไปแล้ว เมื่อถึงวันครู เด็กเหล่านี้กลับมาขอบคุณที่ทำให้เด็กได้มีโอกาสในการออกไปพบกับสิ่งดี ๆ  เด็กจะนำพวงมาลัย นำช่อดอกไม้เล็ก ๆ มาให้อาจารย์ยุพดีจึงได้บอกกับเด็กไปว่าเวลาที่คิดถึงอาจารย์ ไม่ต้องมีดอกไม้ ไม่ต้องมีสิ่งของมาให้ก็ได้ แค่มาหาอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว
มีเด็กกลุ่มที่จบการศึกษาออกไปแล้ว และอาจารย์ยุพดีได้ฝึกเรื่องของการเป็นผู้นำ และฝึกในเรื่องของการเสียสละ เมื่อเด็กกลุ่มนี้ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย เด็กเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้นำในอีกระดับหนึ่ง และเด็กกลุ่มนี้ก็ได้กลับมาเล่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทำในมหาวิทยาลัยให้กับอาจารย์ยุพดีได้ฟัง  และยังคอยแสดงความเป็นห่วงเป็นใยอาจารย์ยุพดีอย่างสม่ำเสมอ คล้าย ๆ กับว่าความรักที่อาจารย์ได้ให้กับเด็กไป เด็กเหล่านั้นก็ได้ให้ความรักตอบกลับมา แสดงให้เห็นถึงความผูกพันที่ต่อกัน เพราะถ้าเป็นเพียงครูที่ทำหน้าที่เป็น “คนสอนหนังสือ” เท่านั้นคงไม่ได้เห็นภาพเหล่านี้ เป็นครูต้องทำหน้าที่เป็น “คนสอนคน” จึงจะทำให้ความผูกพันเหล่านี้ดำเนินไปได้ตลอดไป
ต่อไปในภายภาคหน้าหากครูทุกคนเป็นเช่นนี้ เด็กทุกคนเป็นชี้สังคมก็จะดีขึ้น และยังทำให้เด็กมีความผูกพันกับครอบครัวมากยิ่งขึ้น และหากเด็กได้ไปมีครอบครัวของตนเองความผูกพันเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นจากการให้ เพราะคนในครอบครัวจะไม่มีการเอาแต่ใจตนเอง แต่มีการที่จะเข้ใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย เป็นการสร้างให้เด็กเป็นคนที่สมบูรณ์ การให้ครอบครัวของตนเอง การดูแลครอบครัวของตนเอง ทำให้ครอบครัวของตนเองเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์และมีความสุข
ขณะนี้เด็กที่ได้ทำกิจกรรมจิตอาสาไม่ได้ทำอยู่เพียงคนเดียว แต่ยังชวนผู้ปกครอง ชวนคุณพ่อคุณแม่ให้ไปทำกิจกรรมร่วมกันด้วย แสดงให้เห็นการส่งผลต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เป็นการไปทำกิจกรรมกันทั้งครอบครัว ทำให้สังคมครอบครัวแข็งแกร่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่ผ่านมาเด็กนักเรียนได้มีกิจกรรมนำอาหารไปให้แก่ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราช แผนกเด็กอ่อน โดยไปของบประมาณ ขอทุนอาหารจากผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง คุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นอาจารย์ยุพดีจึงแนะนำให้เชิญชวนผู้ที่ร่วมบริจาคไปร่วมในกิจกรรมในครั้งนั้นด้วย เพราะฉะนั้นกิจกรรมนี้ได้กลายเป็นกิจกรรมของครอบครัวไปพร้อมกัน เปิดโอกาสให้ครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้ไปร่วมบริจาค ร่วมช่วยเหลือเด็ก เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้ครอบครัวได้มีโอกาสใกล้ชิดกันมากขึ้น ถือเป็นกิจกรรมที่สานความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้ครอบครัวเกิดความอบอุ่นมากขึ้น  

จิตอาสากับวัยรุ่น ลักษณะของวัยรุ่นปัจจุบัน วัยรุ่นได้รับสิ่งยั่วยุจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเป็นอย่างมาก ครั้งแรกที่เริ่มมีโครงการของจิตอาสาเข้ามานั้น อาจารย์ยุพดีได้คิดว่าจะเกิดการสวนทางกันหรือไม่ อาจารย์เกิดความไม่แน่ใจว่าสามารถเข้ากันกับวัยรุ่นได้หรือไม่ แต่เมื่ออาจารย์ได้นำเสนอกิจกรรมจิตอาสานี้ออกไป ปรากฏว่าเด็กวัยรุ่นให้ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ หลังจากนั้นเด็กจะเป็นผู้เสนอแนะอาจารย์ด้วยตนเองว่าสนใจกิจกรรมจิตอาสาในรูปแบบใด ต้องการไปทำกิจกรรมที่ใด เช่น ไปโรงพยาบาล ไปมูลนิธิบ้านสานรัก
เด็ก ๆ ก็ได้เสนอในรูปแบบของโครงการเพื่อนำเสนอให้กับทางอาจารย์ยุพดีต่อไป ปรากฏว่าเด็ก ๆ ให้ความสนใจเขียนโครงการกันเข้ามามาก อาจารย์ยุพดีจึงมีคำถามกลับไปว่านักเรียนจะหาทุนมาสนับสนุนกิจกรรมนั้น ๆ ได้อย่างไร เด็ก ๆ ได้ตอบกลับมาว่าไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องทุน นักเรียนจะจัดการหาทุนกันเอง เพราะเมื่อมีการจัดกิจกรรม Open House ของโรงเรียน นักเรียนเหล่านั้นได้ร่วมกันขายของเพื่อนำเงินรายได้ไปบำเพ็ญประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไป หรือบางชุมนุมมีการไปทำกิจกรรมเปิดหมวกที่ตลาดนัดจตุจักร
สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนให้อาจารย์ยุพดีได้เล็งเห็นว่ากิจกรรมจิตอาสาสามารถควบคู่ไปกับวัยรุ่นได้ ไม่ได้แปลกแยกออกจากวัยรุ่น เพราะลักษณะของจิตอาสาได้แฝงฝังอยู่ในตัวเด็กวัยรุ่นทุกคน ขึ้นอยู่กับว่ามีวิธีการอย่างไรที่จะกระตุ้นให้คำว่า “จิตอาสา” ออกมา คือต้องทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจ มีความปลื้มปิติกับกิจกรรมจิตอาสา กระตุ้นให้เด็กสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ และทำให้เด็กเห็นว่าการทำกิจกรรมจิตอาสาได้รับการยกย่องจากสังคม โดยผู้ใหญ่ต้องให้การสนับสนุน ให้กำลังใจในการที่เด็กได้ทำความดีในเรื่องต่าง ๆ
หน้าที่ครูคือต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดการยอมรับ ทำให้กิจกรรมจิตอาสากลายเป็นที่ยอมรับ เป็นที่น่าชื่นชม เช่น อาจให้ในรูปแบบของเกียรติบัตรเพื่อเป็นการชื่นชมเด็ก ให้การยกย่องเด็กที่ทำความดี เพื่อเป็นแรงบันดาลใดให้กับเพื่อน ๆ คนอื่นในโรงเรียน ในเมื่อครูให้การชื่นชม ดังนั้นเพื่อน ๆ พี่ ๆ รุ่นน้องก็จะเกิดความชื่นชมตามมา เพื่อให้เด็ก ๆ คนอื่นภายในโรงเรียนมีความคิดที่ต้องการอยู่ในชุมนุมประเภทจิตอาสา ทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าหากได้มีโอกาสทำกิจกรรมเกี่ยวกับจิตอาสาแล้วมีความภูมิใจ เป็นที่น่าชื่นชมของบุคคลทั่วไป ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่าคุณประโยชน์ของการทำกิจกรรมจิตอาสามีมาก มีประโยชน์ต่อตนเอง มีประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่ มีประโยชน์ต่อครอบครัว และมีประโยชน์ต่อสังคมภายนอก เปรียบเสมือนกับเป็นการ “สร้างคน” ทำให้สมองของเด็กเกิดการพัฒนา รู้จักการวางแผน รู้จักคิด รู้จักการเผชิญหน้ากับปัญหา รู้จักการแก้ไขปัญหา รู้จักการใช้ชีวิตมากขึ้น
เมื่อมีการประชุมระดับชั้น อาจารย์ยุพดีได้นำเด็ก ๆ กลุ่มจิตอาสามาเป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนในระดับเดียวกัน เพื่อแสดงให้เพื่อน ๆ ได้เห็นความดีที่กลุ่มเด็กจิตอาสาทำ เป็นการแสดงให้เห็นความถึงสามารถในอีกด้านหนึ่งที่ไม่ต้องไปแก่งแย่งแข่งขันหรือชิงดีชิงเด่นกับใครที่ไหน แต่สามารถนำเอาคุณความดีที่มีอยู่ในตนเองให้เป็นที่ยอมรับจากบุคคลอื่น และหากมีการทำเช่นนี้มาก ๆ สังคมก็จะดีขึ้นได้ด้วย
เด็กทุกคนมีความสามารถแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นครูต้องทำหน้าที่ในการดึงความสามารถของเด็กแต่ละคนที่มีอยู่ออกมาให้มากที่สุด ดึงความสามารถทุกด้านของเด็กออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เด็กได้เกิดการพัฒนาให้มากที่สุด หากเด็กคนใดที่เรียนหนังสือไม่ค่อยเก่ง ก็ให้หันมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้มากขึ้น เพื่อเป็นการทำให้เด็กได้รู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน ๆ จากครู จากสังคม และเด็กเหล่านั้นก็จะเกิดความภาคภูมิใจเพราะแม้ว่าตนเองเรียนไม่เก่ง แต่ก็มีความสามารถด้านอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับจากบุคคลอื่น

สิ่งที่ต้องการ หากองค์กรต่าง ๆ จากภายนอกสามารถมารองรับให้หน่วยงานภายในต่าง ๆ เช่น โรงเรียนมีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนกับสังคมภายนอกมากยิ่งขึ้น ทางโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ก็ยินดีเปิดรับ เพราะเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับองค์กรภายนอก เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุน ช่วยส่งเสริมและช่วยเอื้อให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายนอกโรงเรียนได้มากยิ่งขึ้น หากลำพังเพียงแค่โรงเรียนคงไม่สามารถไปประสานงานติดต่อกับหน่วยงานภายนอกได้ง่ายนัก คงต้องอาศัยองค์กรหรือมูลนิธิต่าง ๆ มาสนับสนุนเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก ๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องการองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้เข้ามาให้การสนับสนุนให้มาก ๆ ยิ่งขึ้นไป
อาจารย์ยุพดีต้องขอขอบคุณองค์กรและหน่วยงานจากภายนอกที่ได้ร่วมมือกันทำให้งานออกมาประสบผลสำเร็จ เพราะงานในที่นี้คือ “การสร้างคน” เป็นการสร้างคนนอกเหนือจากบทเรียน แต่ต้องสร้างให้เด็กเป็น “คนโดยสมบูรณ์” คือต้องการรู้จักการวางแผน ต้องรู้จักคิด ต้องรู้จักการทำประโยชน์ให้แก่สังคม ต้องรู้จักการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ไม่ใช่เรียกร้องเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่เรียกร้องแต่สิทธิของตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เด็กต้องทราบด้วยว่าเมื่อตนเองมี “สิทธิ” ก็ต้องมี “หน้าที่” ตามมาควบคู่กันไป