อาจารย์จรรยา ธนะนิมิต หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

อาจารย์จรรยา ธนะนิมิต  หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5


การเข้าสู่จิตอาสา การทำกิจกรรมจิตอาสานั้น อาจารย์จรรยามีความเห็นว่าไม่ได้เป็นกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือไปจากหน้าที่ครูซะทีเดียว เพียงแต่ครูไม่ต้องทำก็ได้ แต่การที่อาจารย์ได้ลงมือดำเนินการในเรื่องกิจกรรมจิตอาสา เนื่องจากอาจารย์จรรยาได้สอนอยู่ที่โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัยมาเป็นเวลานานมากแล้ว อาจารย์จรรยารักเด็กนักเรียนทุกคน และไม่ต้องการที่จะเห็นเด็กมีปัญหา ดังนั้นวิธีการคิด หลักยึดของอาจารย์จรรยา รวมไปถึงกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของอาจารย์จะอยู่ที่การป้องกันปัญหามากกว่าการไปแก้ไขปัญหา เพราะให้ผลที่ดีกว่า

อาจารย์จรรยาได้รับผิดชอบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมานานกว่า 10 ปี อาจารย์จรรยาได้เป็นทั้งวิทยากรของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องออกไปตามต่างจังหวัด อีกทั้งยังเป็นวิทยากรภายในโรงเรียนสันติราษฎร์เองด้วย ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่เด็กนักเรียนเท่านั้น แม้แต่กับเพื่อนครูด้วยกันเองบางครั้งอาจารย์ก็จำเป็นต้องใช้ระบบดูแลช่วยเหลือ เป็นการช่วยให้ครูมีทักษะ สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ครูแบ่งเบาภาระงานได้น้อยลง เพราะการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนมีมากอยู่แล้ว อาจารย์จึงจำเป็นต้องมีหน้าที่ในการคิดฟอร์ม คิดรูปแบบ คิดวิธีการ ในส่วนของเด็กนักเรียน หากครูผู้สอนมีระบบการทำงานที่ดี มีระบบกิจกรรมที่ดี ก็สามารถช่วยทำให้เด็กนักเรียนมีปัญหาลดลง

หลักคิดของอาจารย์จรรยา อาจารย์ได้ยึดหลักการป้องกันปัญหาซึ่งถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกรูปแบบ เช่น ปัญหาเรื่องเพศ เรื่องการหนีเรียน เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจารย์ได้คิดมานานแล้วก่อนที่จะมาดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิกระจกเงาหรือองค์กรอื่น ๆ เพราะก่อนหน้าที่จะทำกิจกรรมจิตอาสานี้ อาจารย์จรรยาได้ทำมาแล้วหลายกิจกรรม ตัวอย่างเช่น กิจกรรมสายรัก สายใย สายสัมพันธ์ เพื่อเป็นการให้เด็กได้รู้จักกัน รูปแบบกิจกรรมในเรื่องนี้ต้องเป็นแบบละเอียดอ่อน การที่เด็กได้รู้จักกัน มีความสัมพันธ์กัน ทำให้เด็กได้ลดอุณหภูมิในเรื่องของความขัดแย้ง ทำให้เกิดความเกรงใจเพราะเด็กทุกคนรู้สึกว่าเป็นเพื่อนกัน และยังมีการทำกิจกรรมบั๊ดดี้เพื่อเป็นการลดความรุนแรงในวัยรุ่น ไม่ใช่เป็นแค่บั๊ดดี้ในห้องเรียน แต่เป็นบั๊ดดี้ทั้งระดับชั้น และบั๊ดดี้ต่างระดับชั้น เนื่องจากอาจารย์จรรยาได้เล็งเห็นปัญหาเด็กเรื่องการทะเลาะวิวาท

การที่อาจารย์จรรยาได้อาสาสมัครมาเป็นหัวหน้าระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (แต่ก่อนหน้านั้นอาจารย์จรรยาเป็นหัวหน้าระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จึงทำให้อาจารย์จรรยาได้รับรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของเด็กทั้งระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย) นั่นเป็นเพราะอาจารย์จรรยาต้องการนำเครื่องมือ (กิจกรรม) เหล่านี้มาใช้ เพราะหากอาจารย์จรรยาคิดกิจกรรมขึ้นมาแล้วไม่มีอาจารย์ท่านอื่นสนใจก็คงไม่เกิดประโยชน์ เพียงลำพังอาจารย์เองก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กทุกคนได้ แต่เมื่ออาจารย์จรรยาได้มาเป็นหัวหน้าระดับชั้นแล้ว อาจารย์จรรยาได้นำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มาเป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรมเพื่อที่จะจุดประกาย เป็นการให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้เป็นแกนนำ เพื่อไปทำกิจกรรมกับน้องต่อ หรือเป็นแกนนำเพื่อแสดงให้ครูในระดับชั้นอื่น ๆ ได้เห็นเป็นว่ากิจกรรมที่ได้ดำเนินการนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นการจุดประกายให้อาจารย์ท่านอื่น ๆ ในโรงเรียนได้ทำต่อ ๆ กันไป

เมื่ออาจารย์จรรยาได้เป็นหัวหน้าระดับชั้น นอกจากสามารถทำในระดับชั้นแล้ว ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่อาจารย์ได้คิดขึ้นมานั้น ก็สามารถเป็นนโยบายของโรงเรียนสันติราษฎร์ได้ด้วย เพราะหัวหน้าระดับเป็นผู้คิด เป็นผู้ที่ออกแบบ และเมื่อมีการส่งต่อ ๆ ไปกัน อาจารย์ทุกท่านภายในโรงเรียนก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม บางครั้งก็ให้อาจารย์แต่ละท่านไปทำกิจกรรมในชั่วโมง Homeroom เช่น กิจกรรมกระปุกบุญ ออมบุญ เก็บออมการทำความดี เก็บใส่กระปุกสะสมไว้ แทนที่จะเก็บเป็นเงิน คล้าย ๆ กับธนาคารความดี แต่เป็นอีกในรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้เด็กสามารถทำดีได้ง่ายขึ้น สิ่งนี้อาจารย์จรรยาได้คิดขึ้นมาเพื่อรองรับเด็กที่ทำกิจกรรมจิตอาสาบางคนที่ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมจิตอาสาภายนอกโรงเรียนได้ หรือเด็กบางคนขี้เกียจออกไปภายนอกโรงเรียน หรือมีเด็กบางคนมีความอายในการทำความดี

เพียงแค่เด็กทำความดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เด็ก สามารถนำความดีเหล่านั้นไปหยอดกระปุกทำความดีได้ เช่น เพียงแค่ช่วยจูงคนตาบอดข้ามถนน หรือหากนั่งรถประจำทางแล้วลุกให้ผู้อื่นนั่ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ได้ถือว่าเป็นการทำความดีแล้ว เพราะบางครั้งการทำความดีเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เด็กจะมองข้ามความดีที่ได้ทำไป เด็กอาจไม่ให้ความสำคัญ แต่อาจารย์จรรยาต้องการปลุกกระตุ้นให้เด็กเล็งเห็นถึงความสำคัญตรงส่วนนั้น อาจารย์จรรยาต้องการให้เด็กมีความรู้สึกว่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นเพาะภูมิ อาจารย์จรรยาจึงให้เด็กเขียนในเรื่องของการที่ตนเองได้ทำความดีเข้าไป  ทุก ๆ ครั้ง

เมื่ออาจารย์จรรยาได้คิดกิจกรรมที่มีลักษณะของจิตอาสาออกมาแล้ว ก็จำเป็นต้องแจกจ่าย ถ่ายทอดไปให้กับอาจารย์ท่านอื่น ๆ  ภายในโรงเรียน ทำให้เป็นนโยบายของโรงเรียน และโรงเรียนมีความเห็นด้วย ก็สั่งการต่อให้อาจารย์ทุกท่านภายในโรงเรียนต้องทำในฐานะเป็นอาจารย์ประจำชั้น และนำไปทำในกิจกรรม Home room กับเด็กนักเรียนของตนเองในตอนเช้าแทนที่ Homeroom เพราะอาจารย์ประจำชั้นเองก็ไม่มีกิจกรรมอะไรพูดกับเด็ก นอกจากเก็บกระดาษ กวาดห้อง เช็ดกระจก เช็ดหน้าต่าง แล้วก็อบรมสั่งสอนนักเรียน บ่นนักเรียน ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย และเด็กไม่ได้รับการพัฒนา เพราะอาจารย์ได้แต่พูดเรื่องในทางลบ

อาจารย์จรรยาได้อธิบายให้ฟังเกี่ยวกับชั่วโมง Home room เพิ่มเติมว่า คือชั่วโมงที่อาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์ประจำชั้นต้องพบปะพูดคุยกับเด็กนักเรียนของตนเอง โดยระบบของ Homeroom เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลช่วยเหลือพัฒนาเด็กในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน คืออาจารย์ประจำชั้นมีโอกาสได้เจอกับเด็กในตอนเช้าหรือตอนเย็นก่อนกลับบ้านขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน แต่เป็นการพบเด็กเพื่อที่จะพูดคุยหรือพัฒนาเด็กในเรื่องต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น อาจารย์ที่ปรึกษาเห็นว่าที่ผ่านมาเด็กนักเรียนในห้องขาดความสามัคคีกัน อาจารย์จึงนำเอาชั่วโมง Homeroom มาจัดกิจกรรมให้เด็กเกิดความสามัคคี คล้าย ๆ กับเป็นอาจารย์แนะแนว แต่อาจารย์ทุกคนไม่ใช่อาจารย์แนะแนว เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากที่อาจารย์เหล่านั้นจะทำกิจกรรมให้เหมือนกับอาจารย์แนะแนว

ดังนั้นอาจารย์จรรยาย์จึงจำเป็นต้องสร้างเครื่องมือขึ้นมาเป็นเล่ม และแจกจ่ายให้อาจารย์แต่ละท่านได้นำไปใช้ โดยจัดเป็นกิจกรรม Homeroom ให้กับอาจารย์ท่านอื่น ๆ เพื่อเป็นการชี้แนะให้อาจารย์ท่านอื่น ๆ เห็นว่าภายในสัปดาห์นี้ กิจกรรม Homeroom ประมาณ 20 นาที ต้องการให้เด็กนักเรียนทำกิจกรรมอะไร เช่น ต้องการให้เด็กได้ทำความรู้จักกัน สอนให้เด็กได้รู้จักประหยัด เพราะต้องทำความเข้าใจด้วยว่าอาจารย์แต่ละท่านไม่ค่อยมีเวลา ทางโรงเรียนจึงจำเป็นต้องยื่นเครื่องมือให้ คล้ายกับเป็นเครื่องมือสำเร็จรูป เพราะหากให้อาจารย์แต่ละท่านมาคิดคงไม่สามารถทำได้

อาจารย์จรรยาจึงได้จัดทำเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมาในรูปของคู่มือ เอกสาร เพื่อส่งเสริมให้อาจารย์แต่ละท่านสามารถทำกิจกรรมได้เช่นเดียวกับอาจารย์แนะแนว แต่อาจารย์แนะแนวอาจไปดำเนินกิจกรรมในกรณีที่ใหญ่ ๆ มากกว่านี้ และเปรียบเสมือนกับว่าอาจารย์ทุกคนภายในโรงเรียนสันติราษฎร์ต้องเป็นอาจารย์แนะแนวทั้งโรงเรียน ดังนั้นกิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมการทำความดีต่าง ๆ สามารถเข้าไปอยู่ในชั่วโมง Homeroom ได้ทั้งสิ้น เช่น กิจกรรมกระปุกบุญ อาจารย์ที่ปรึกษาก็สามารถให้คำแนะนำแก่เด็กได้ อีกทั้งยังเป็นการให้เด็กได้ทำ AAR คือเป็นการให้เด็กออกมาสะท้อนว่าแต่ละสัปดาห์ที่ผ่านมาเด็ก ๆ ได้ทำความดี ได้ทำกิจกรรมจิตอาสาอะไรไปบ้าง เป็นการ “ทุบกระปุกบุญ” โดยการนำกระดาษที่เขียนใส่ลงไปแกะออกมาอ่าน หลังจากนั้นนำไปเขียนใส่ไว้ในบัญชีออมบุญ

เมื่อเด็กเขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจารย์ที่ปรึกษาก็ทำการสุ่มให้เด็กออกมาแสดงความรู้สึกหน้าชั้นเรียน ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทำไปนั้น เด็กเกิดความรู้สึกอย่างไร เด็กอาจจะตอบว่ารู้สึกสบายใจ รู้สึกภูมิใจ รู้สึกปลื้มใจ และสามารถสะท้อนให้เด็กคนอื่น ๆ ที่มีความรู้สึกเฉย ๆ ไม่เคยทำความดีเลย ลุกขึ้นมาทำความดีตามอย่างเพื่อนคนอื่น ๆ ในห้อง หรือไม่ไปสร้างปัญหาให้กับสังคม ถึงแม้ว่าจะไม่ทำความดี เด็กก็ไม่ทำความชั่ว แม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมเล็ก ๆ แต่ก็มีคุณค่าและมีประโยชน์หากได้ทำอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมเหล่านี้สามารถเข้าไปได้ลึกถึงเด็กเป็นจำนวนมาก เพราะเด็กบางคนอายไม่กล้าทำความดี จึงได้ไปแอบทำ และนำไปหยอดกระปุกทำความดีไว้



กิจกรรมการเรียนการสอนกับจิตอาสา อาจารย์จรรยามีความคิเห็นว่ากิจกรรมจิตอาสาไม่ได้ไปเบียดเบียนในเรื่องของวิชาการ ยกตัวอย่างเช่น ในชั่วโมง Homeroom อาจารย์ประจำชั้นต้องรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ต้องรู้จักประวัติพื้นฐานของนักเรียนตนเอง และหากเด็กนักเรียนของเด็กตนเอง อาจารย์ประจำชั้นก็จำเป็นต้องไปหากิจกรรมเพื่อมาแก้ไขปัญหาให้กับเด็กนักเรียนของตนเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจารย์แต่ละท่านก็ไม่ได้มีเวลาว่างมากมายขนาดนั้น จึงเป็นหน้าที่โรงเรียนที่มีหัวหน้างานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นหน้าที่ของอาจารย์จรรยากับทีมงานที่ต้องคิดออกแบบเครื่องมือกิจกรรมต่าง ๆ และแจกจ่ายไปให้กับอาจารย์ประจำชั้นได้ใช้กันต่อไปเพื่อเป็นการทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องการทำกิจกรรมจิตอาสาในโรงพยาบาลนั้น เด็กนักเรียนได้มาสมัครด้วยตนเอง ตอนที่ทางเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกระจกเงามาทำการประชาสัมพันธ์ แต่ก็ไม่พ้นอาจารย์แต่ละท่านภายในโรงเรียนที่เป็นผู้ผลักดัน เพราะอาจารย์แต่ละท่านจะคอยเน้นย้ำนักเรียนอยู่ทุกวันว่าเมื่อไปทำกิจกรรมจิตอาสาแล้ว นักเรียนจะได้พบแต่คนดี ๆ จะได้ไปพบเจอสิ่งดี ๆ เพราะว่าคนที่ทำกิจกรรมจิตอาสาเหมือนกันก็ต้องเป็นคนที่มีความคิดดี ๆ เช่นเดียวกัน

เมื่อไปทำกิจกรรมจิตอาสาแล้วนั้น เท่ากับเป็นการทำให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นการสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้อื่น และนักเรียนจะได้รับความสุข และได้รับสิ่งดี ๆ กลับมา อีกทั้งกิจกรรมจิตอาสาที่นักเรียนได้ไปทำความดีนั้น นักเรียนสามารถนำไปเก็บรวบรวมไว้ใน Portfolio ได้ และในอนาคต Portfolio ชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนต่อไป ไม่ว่านักเรียนจะไปศึกษาต่อ หรือไปทำงานที่ใดก็ตามแต่ สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ สาระวิชาต่าง ๆ นักเรียนก็เรียนไปตามปกติ กิจกรรมจิตอาสาเหล่านี้ไม่ได้ไปเบียดเบียนแต่อย่างใด เพราะว่าวิชา Homeroom นี้ก็มีชั่วโมงต่างหากอยู่แล้ว ประมาณ 20 นาที

การที่เด็กสามารถไปเรียนรู้จากภายนอกได้นั้น พื้นฐานต้องมาจากทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือก่อนที่เจ้าหน้าที่ทางมูลนิธิกระจกเงาจะให้เด็กทำกิจกรรมอะไร เด็กต้องมีพื้นฐานในเรื่องนั้น ๆ มาก่อน จึงเป็นเหมือนกับการต่อยอดกัน เป็นเหมือนกับการนำพื้นฐานทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้มาต่อยอดกัน เช่น วิชาวิทยาศาสตร์สอนให้เด็กมีเหตุ มีผล หรือการไปทำกิจกรรมจิตอาสาที่โรงพยาบาลก็คือวิชาสุขศึกษา เพราะเด็กได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อนหน้าแล้ว จึงเท่ากับเป็นการต่อยอดให้กับเด็ก ทำให้เด็กสามารถสิ่งที่ได้เรียนรู้จากภายนอกได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้เด็กได้ไปพบเจอกับของจริง เหตุการณ์จริง เป็นการสอนให้เด็กได้รู้จักการนำไปปรับประยุกต์ใช้

ดังนั้นพื้นฐานเด็กต้องมาจากทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตอนแรกแม้ว่าเด็กจะไม่ทราบ แต่เมื่อเด็กได้ไปทำกิจกรรมจิตอาสาแล้ว เด็กสามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ตนเองได้เรียนรู้มาก่อนหน้านี้แล้ว เด็กสามารถที่จะเชื่อมโยงได้เอง เด็กสามารถตระหนักได้ตนเองได้ว่าเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เด็กได้เคยเรียนมาก่อนแล้ว เด็กสามารถเห็นภาพได้เพราะว่าตอนเรียนในห้องเรียนเด็กอาจคิดภาพไม่ออก จึงสามารถทำให้สื่อสารกันได้ชัดขึ้น



บทบาทหน้าที่ของครูต่อจิตอาสา อาจารย์จรรยาได้กล่าวถึงความมั่นคงของเด็กในการออกไปทำกิจกรรมจิตอาสาภายนอกโรงเรียน ทั้งเรื่องของเวลาเรียน ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบต่าง ๆ และเด็กที่ทำกิจกรรมจิตอาสาด้วยความสม่ำเสมอ เด็กต้องทำด้วยใจ แต่ถึงแม้ว่าเด็กจะทำด้วยใจอย่างไรก็ตาม ไม่พ้นหน้าที่ของครูที่ต้องเป็นผู้ผลักดัน ต้องคอยเป็นผู้กระตุ้น ต้องคอยแนะนำเด็ก ๆ ว่าสถานที่ใดจัดกิจกรรมอะไร เพราะบางครั้งเด็กเมื่อได้เข้ากลุ่มของเด็ก ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในกลุ่ม บางครั้งเด็กอาจเกิดการลืม และอาจารย์ต้องคอยชี้แนะเด็กด้วยว่ากิจกรรมจิตอาสานั้นไม่ได้สร้างภาระใด ๆ ให้กับเด็กเลย เพราะหากเด็กมีเวลาว่างไม่ว่าจะเป็นวันใดหรือแม้แต่วันเสาร์วันอาทิตย์เพียงแค่สัก 1-2 ชั่วโมงก็มีประโยชน์มากแล้ว

ขณะนี้ที่โรงเรียนมีเด็กอยู่หนึ่งกลุ่ม “หน้ากากเปลือย” ซึ่งอาจารย์จรรยานับถือเด็กกลุ่มนี้มาก เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจารย์จรรยาไม่ค่อยมีเวลาไปดูการฝึกซ้อมเท่าใด เพราะเด็กกลุ่มนี้จะไปฝึกซ้อมกันที่ตึกพญาไทเกือบทุกเย็น เพราะงานจิตอาสาด้วยกระบวนการของ “หน้ากากเปลือย” แตกต่างจากกิจกรรมรูปแบบอื่น คือต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องมีการซ้อม ต้องมีการเขียนบทเป็นทีม ก็ไม่สามารถนำมาแสดงได้ แตกต่างจากเด็กกลุ่มอื่นที่เพียงแค่ไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล สามารถไปเยี่ยมได้ทันที ไม่ต้องมีการซักซ้อมเพราะว่าเด็กเหล่านั้นมีทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่ทำกิจกรรมจิตอาสาเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องเพศก็จำเป็นต้องไปเรียนรู้เพื่อให้สามารถนำไปถ่ายทอดต่อได้

อาจารย์จรรยาเน้นย้ำว่าเด็กจึงจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานจากทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และเด็กจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานขององค์กรที่เด็กได้ไปร่วมทำกิจกรรมด้วย เด็กต้องได้รับการผลักดันจากครูเป็นระยะ ๆ ซึ่งอาจารย์จรรยาถือว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญในการทำกิจกรรมจิตอาสา



แรงบันดาลใจ อาจารย์จรรยามีความปลื้มใจอยู่แล้ว เพราะอาจารย์จรรยาได้สังเกตเห็นเด็กพัฒนาขึ้นทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มหน้ากากเปลือย เข้ามาทำกิจกรรมจิตอาสาหลังกลุ่มอื่น แต่สามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะว่าเด็ก ๆ ภายในกลุ่มมีความขยันขันแข็งมาก มีการฝึกซ้อมกันอย่างเป็นประจำ เด็กมีความรับผิดชอบ ไปแสดงตามสวนสาธารณะเป็นประจำ ทำให้เด็กกล้าแสดงออก และเด็กได้ไปทำประโยชน์ให้แก่สังคม

โรงเรียนสันติราษฎร์มีเด็กที่ทำกิจกรรมจิตอาสาอยู่หลายกลุ่ม คือ กลุ่มหน้ากากเปลือย กลุ่มจิตอาสาในโรงพยาบาล และกลุ่มอื่น ๆ ทางอาจารย์ได้มีความพยายามในการจะเชื่อมโยงให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเครือข่าย เช่น ในการจัดกิจกรรมในเรื่องของยาเสพติด หากเพียงแค่ไปยืนบอกให้กับบุคคลอื่นคงไม่มีใครสนใจฟัง ดังนั้นอาจารย์จรรยาจึงเสนอให้ไปเชื่อมประสานงานกับกลุ่มหน้ากากเปลือย โดยขอความร่วมมือจากกลุ่มหน้ากากเปลือยให้ช่วยในการคิดบทเรื่องปัญหายาเสพติด ก็เท่ากับเป็นการทำงานพร้อมกัน 2 กลุ่ม เป็นการบูรณาการในการทำงานร่วมกันตามวัตถุประสงค์ที่ทางกลุ่มหน้ากากเปลือยได้ตั้งไว้ ขณะนี้ทางโรงเรียนสันติราษฎร์มีการทำงานเป็นเครือข่าย เพราะหากกลุ่มใดทำกิจกรรมโดดเดี่ยวเพียงลำพังอาจไม่ประสบผลสำเร็จ ต่างกลุ่มต่างทำอาจไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ที่ผ่านมากิจกรรมโรงพยาบาลมีสุข มีหลายโรงพยาบาลที่ให้เด็กได้มีโอกาสได้ไปร่วมทำกิจกรรม หรือตามชุมชนต่าง ๆ บางครั้งเด็กอาจเกิดความเบื่อหน่ายในงานของตนเอง และหากมีเครือข่ายเกิดขึ้นมา เด็กสามารถไปช่วยเหลืองานกลุ่มอื่น ๆ ได้ จึงต้องการให้มีการนำทุกกิจกรรมมาเป็นเครือข่าย เป็นการร่วมมือกันทำกิจกรรม เป็นการเชื่อมโยงการทำกิจกรรม ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานในการทำงาน ไม่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเบื่อที่ทำงานอยู่ด้านเดียวซ้ำ ๆ กัน

หน้าที่ของอาจารย์จรรยาอีกอย่างหนึ่งก็คือการหาพื้นที่ให้กับเด็ก ๆ เป็นการจัดพื้นที่ให้กับเด็กได้ลงไปทำกิจกรรม อย่างเช่น เด็กบางกลุ่มทำการฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่ได้เล่นเพียงแค่หนเดียวเท่านั้น ซึ่งโจทย์ของอาจารย์ต้องรับผิดชอบคือเด็ก ๆ ซ้อมละครมาเพียงครั้งเดียว แต่สามารถนำไปแสดงได้ถึง 6 ครั้ง เป็นการหาพื้นที่ให้กับเด็กในการแสดงออก เพราะเด็กอุตสาห์ไปเรียนรู้มาแล้ว สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวิธีการต่าง ๆ ของครูในการที่จะหาพื้นที่ให้กับเด็ก โดยอาจขอความร่วมมือจากอาจารย์ท่าน ๆ อื่นภายในโรงเรียนได้ให้โอกาสเด็กกลุ่มนี้ได้แสดงออก หากอาจารย์วิชาสุขศึกษาทำการเรียนการสอนในเรื่องของปัญหายาเสพติด ก็ให้เด็กกลุ่มหน้ากากเปลือยและอีกกลุ่มหนึ่งได้ไปแสดงละครให้เด็กนักเรียนได้ชมในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหายาเสพติด เพียงแค่นี้เด็กก็มีพื้นที่ในการแสดงออก



จิตอาสากับวัยรุ่น ความจริงแล้วกิจกรรมจิตอาสาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวัยรุ่น เพราะการทำกิจกรรมจิตอาสาเป็นการปูพื้นฐานความคิดให้กับเด็ก เพราะหากให้เด็กตระหนักถึงเรื่องจิตอาสาด้วยตนเอง เด็กคงไม่สามารถคิดด้วยตนเองได้และอาจต้องอาศัยระยะเวลานาน แรก ๆ อาจต้องอาศัยการกำหนดหรือการบังคับให้กับเด็ก แต่หลังจากกำหนดเด็กก็จะเกิดจิตอาสาขึ้นมาเองภายหลัง ครั้งแรกที่ไปนั้นเด็กอาจจะฝืน แต่เมื่อได้ไปแล้วเด็กจะเกิดความรู้สึกประทับใจและอยากไปอีก แต่ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้เด็กได้มีโอกาสไป

อาจารย์จรรยาจึงต้องพยายามทำกิจกรรมอย่างอื่นมารองรับ เพราะเด็กที่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นก่อนแล้ว หรือเด็กที่เคยไปโรงพยาบาลแล้วก็ต้องการชวนเพื่อนคนอื่น ๆ ให้ไปร่วมด้วย เป็นการหาเครือข่ายไปเรื่อย ๆ จึงเป็นเครือข่ายจิตอาสาขึ้นมา แต่ถึงอย่างไรก็ตามการทำงานจิตอาสาบางครั้งเด็กเกิดการท้อแท้เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องหาวิธีการให้เด็กเกิดกำลังใจ สร้างกำลังใจให้แก่เด็ก ฉะนั้นอาจารย์จรรยาจึงต้องให้เด็กเชื่อมประสานกัน ร่วมมือกันทำงานหลายกลุ่ม ๆ ไปช่วยกลุ่มนั้นบ้างกลุ่มนี้บ้าง อาจารย์จรรยาพยายามค้นหารูปแบบวิธีการที่ทำให้เด็กไม่เบื่อหน่ายกับการทำกิจกรรมด้านจิตอาสา เพราะตามปกติพื้นฐานของเด็กแต่ละคนนั้นจะเบื่อง่าย เมื่อเบื่อแล้วก็ไม่ต้องการที่จะดำเนินการกิจกรรมต่อไป ดังนั้นจึงต้องทำให้นักเรียนเกิดความสนุก ทำให้นักเรียนได้รู้จักกับเพื่อนกลุ่มจิตอาสาร่วมกันมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าอาจารย์จรรยาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเครือข่ายการเรียนรู้ของเด็กภายในโรงเรียน



จิตอาสากับการปฏิรูปการเรียนรู้  เมื่อเด็กได้มีโอกาสลงมือทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านใดก็ตามแม่ ทั้งกิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมชมรมภายในโรงเรียน และกิจกรรมทุกรูปแบบที่ทางโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัยได้จัดไว้ให้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือการสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็ก ทักษะชีวิตเหล่านี้เด็กจะได้พบเมื่อเด็กมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ภายในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เด็กต้องเผชิญ เด็กจะมีข้อมูลอยู่มาก (เนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่ได้เรียนมา) และจะพบกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย และเมื่อเด็กได้ลงไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เด็กสามารถใช้ข้อมูลที่อยู่นั้นได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

ตัวอย่างเช่น คุณก้านได้นำเสนอในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา ในเรื่องของการใช้สื่อเพื่อให้บุคคลอื่นได้รู้จักการปฏิรูป คุณก้านได้พูดถึงมุมมองของเด็ก และสามารถบอกได้ว่าเด็กต้องการอะไร สามารถหาวิธีการที่จะสื่อสารเรื่องการปฏิรูปการศึกษาได้ เพราะการพูดคุยถึงเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษากับเด็กวัยรุ่นนั้นคงไม่สามารถไปบรรยายให้เด็กได้ อีกทั้งปัจจุบันเด็กส่วนมากชอบใช้วิธีการสืบค้นแบบด้วยระบบ Internet ดังนั้นก็จำเป็นต้องสอนเด็กวัยเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาผ่านทางระบบ Internet คุณก้านยังได้กล่าวเสริมอีกว่าธรรมชาติของคนมักต้องการรับทราบปัญหา คนมักชอบอยากรู้อยากเห็นในเรื่องที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมเสนอว่าการปฏิรูปการศึกษาไม่ดีอย่างไร ต้องกล้าเสนอว่าที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษามีปัญหาอะไรบ้าง เนื่องจากโดยปกติแล้วเมื่อเข้าดูใน Internet คนจะค้นหาดูปัญหาก่อน และถึงจะนำปัญหานั้น ๆ มาเป็นการเรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง เป็นการจับเอาประเด็นปัญหามาเป็นการเรียนรู้อีกขั้นหนึ่ง  

อาจารย์จรรยาได้นำเอาวิธีการคิดข้างต้นมาจัดรูปแบบการเรียนการสอนของตนเองในวิชาเกษตร อาจารย์จรรยาได้เรียนรู้ว่าเด็กสามารถเรียนรู้จากปัญหาได้ และยังเป็นการสร้างทักษะต่าง ๆ ของเด็กได้มากยิ่งขึ้นด้วย โดยอาจารย์จรรยาได้ให้นักเรียนไปค้นหาใน Internet และตั้งกระทู้ถามในเรื่องต่าง ๆ ที่อาจารย์จรรยาได้สอนไป สามารถตั้งกระทู้ในเรื่องใดก็ได้ เพราะว่าเด็กได้เอกสารเกี่ยวกับเรื่องที่สอนไป ได้รับชม VDO แล้ว ก็เท่ากับว่าเด็กได้รับความรู้ได้พื้นฐานไปแล้ว แต่หากครูผู้สอนเป็นผู้ถามเด็กจะเป็นผู้ไปค้นหาคำตอบ แต่หากให้เด็กเป็นผู้ถามก็เท่ากับว่าเด็กเป็นผู้หาคำถามเอง และเป็นผู้ค้นคว้าเอง เพราะว่าเด็กต้องได้อ่านและต้องได้รับทราบเรื่องราวพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มาก่อน เด็กจึงสามารถตั้งคำถามได้ และผู้ที่ตอบกระทู้ก็ยินดีให้คำตอบ อีกทั้งยังเป็นคำตอบที่ได้มาจากประสบการณ์ ความจริงแล้วเด็กก็ทราบคำตอบอยู่ก่อนแล้ว แต่การที่ไปถามซ้ำอีกครั้งหนึ่งเป็นการให้แน่ใจในคำตอบที่ถูกต้อง อาจารย์จรรยาจึงคิดว่าเด็กควรเรียนรู้จากคำถาม เช่นเดียวกันคุณก้านที่ได้เรียนรู้จากคำถามที่มี พอมีผู้ตอบ คุณก้านก็ได้นำคำตอบเหล่านั้นไปนำเสนอในระบบใหญ่ของสภาการศึกษา



จิตอาสาในโรงพยาบาลกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เมื่อเด็กได้ไปทำกิจกรรมจิตอาสาในโรงพยาบาล และได้เห็นสภาพความเป็นจริงภายในโรงพยาบาล ทำให้เด็กเกิดความตระหนัก ส่งผลต่อความคิดต่อมุมมองของเด็ก ตัวอย่างเช่น กรณีของการไปเยี่ยมพี่ ๆ ทหารที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ เด็กสามารถสะท้อนกลับมาได้ว่าชีวิตของตนเองยังคุณค่า เพราะฉะนั้นควรทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้ดีที่สุด ไม่ควรทำตัวไร้ค่า ไร้สาระไปวัน ๆ และไม่ควรไปถูกใครทำร้ายร่างกายกลับมาเพราะความเกเรของตนเอง เนื่องจากคงไม่คุ้มค่า ซึ่งต่างกับพี่ ๆ ทหารที่ต้องได้รับบาดเจ็บเนื่องจากปกป้องประเทศชาติ ดูแล้วคุ้มค่ามากกว่า สมศักดิ์ศรี ได้รับการยกย่องจากบุคคลทั่วไป และเมื่อเด็กได้ไปพบเห็นพี่ ๆ ทหาร เด็กเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ จึงสะท้อนให้เด็กไม่อยากสร้างความเดือดร้อนให้กับคุณพ่อคุณแม่ หรือให้กับผู้ปกครอง

การได้ไปเรียนรู้โลกภายนอก ทำให้เด็กมีโอกาสศึกษาชีวิตจริงได้เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าเด็กอาจไปทำกิจกรรมจิตอาสาในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่ครั้ง แต่เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ กลับมาได้มากและสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ไม่ต้องมาอ่านในตำรา เด็กไม่จำเป็นต้องมาท่องจำ เพราะเด็กได้เกิดความประทับใจ เกิดความคิดต่อยอดที่จะทำความดีต่าง ๆ ต่อยอดไปเรื่อย ๆ เพราะหากเพียงแค่ลำพังเรียนภายในห้องเรียน เรียนความรู้พื้นฐาน เรียนแต่เฉพาะในหนังสือ นักเรียนก็ได้รับความรู้เพียงเท่านั้น แต่หากได้ไปเจอกับประสบการณ์จริง ก็สามารถนำความรู้ต่าง ๆ ที่ได้เรียนมาในโรงเรียนนั้นไปใช้ต่อยอดความคิดในการลงมือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เด็กสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่ได้เรียนมากับประสบการณ์ที่ได้พบเห็นได้ เด็กสามารถนำความรู้ต่าง ๆ ที่ได้เรียนมาไปทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมต่อไป และเมื่อเด็กมีความรู้พื้นฐานมาบ้าง เด็กก็เกิดความกล้าที่จะเข้าไปอาสาสมัครด้วยตนเอง ซึ่งความกล้านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะคงไม่มีประโยชน์หากมีความรู้ต่าง ๆ ไม่กล้านำไปใช้ ไม่กล้านำไปปฏิบัติก็คงไม่เกิดประโยชน์

อาจารย์จรรยายังได้กล่าวต่อว่าในเรื่องของบุคลิกภาพของเด็กก็เปลี่ยนแปลงไป เด็กมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น โดยเฉพาะหากได้มีโอกาสอาสาไปทำกิจกรรมเพื่อช่วยสังคม เด็กจะกล้าทำความดีมากขึ้น เด็กมีความมั่นใจในตนเองสูงขึ้น การพูดจามีสัมมาคารวะมากขึ้น การแต่งกายสุภาพเรียบร้อยมากขึ้น (ถึงแม้ว่าบางครั้งการแต่งกายของวัยรุ่นจะมีอิทธิพลมากกว่า) แต่การมาทำในเรื่องของกิจกรรมจิตอาสานั้นบางครั้งก็จำเป็นต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่บ้าง คงจะไปบังคับเด็กมากไม่ได้

อย่างไรก็ตามยังมีเด็กวัยรุ่นอีกส่วนหนึ่งที่มีความอายต่อการทำความดี เพราะบางครั้งทำความดีแล้วเพื่อนล้อเลียน หรือเพื่อนเห็นว่าเป็นการทำความดีเพื่อเอาหน้า ดังนั้นอาจารย์จรรยาจึงส่งเสริมในเรื่องการทำความดีให้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้กิจกรรมกระปุกบุญที่ได้กล่าวไปข้างต้น เพื่อให้เด็กสามารถทำได้ทั้งโรงเรียน มาเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กต้องการทำความดี เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กได้กล้าแสดงออกในการทำความดีได้อีกในระดับหนึ่ง

อย่างน้อยเมื่อเด็กได้ทำความดีเพียงเล็ก ๆ น้อย ก็นำมาเขียนใส่ไว้ในกระปุกบุญ หลังจากนั้นอาจารย์จรรยาก็มาทำการกระตุ้นต่อด้วยการให้อาจารย์ที่ปรึกษาจับเด็กมาถอดบทเรียนในห้องเรียนเป็นระยะ ๆ หากมีการทุบกระปุกบุญแต่ละครั้ง อาจารย์ที่ปรึกษาก็ให้เด็กออกมาคุยเรื่องการทำความดีครั้งละ 1-2 คน เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กกล้าที่จะทำความดี แสดงให้เด็กได้เห็นว่าการทำความดีเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้เห็นเด็กได้เห็นว่า “ทำดี ทำง่าย ทำได้ทุกวัน” หากเด็กทุกคนทำความดีได้ทุกวัน อาจารย์จรรยามีความเชื่อว่าปัญหาภายในโรงเรียนจะลดลง แต่ปัจจุบันที่มีปัญหาภายในโรงเรียนเนื่องจากเด็กทุกคนไม่ค่อยได้ทำความดีกันสักเท่าไหร่ แต่จะมีเด็กเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ทำ

เมื่อเด็กได้มาทำกิจกรรมจิตอาสา เด็กได้พัฒนาในเรื่องของพฤติกรรมอย่างแน่นอน  ไม่ว่าจะเป็นจิตอาสาในเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องใหญ่ บางครั้งอาจมีเวลาในการทำกิจกรรมจิตอาสาไม่มากนัก แต่อย่างน้อยเด็กก็สามารถได้ความรู้สึก ได้ความตระหนัก และปัญหาต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ ลดลง ทางโรงเรียนเองก็ได้รับผลประโยชน์เช่นเดียวกัน เนื่องจากครูผู้สอนไม่ต้องมาคอยดูแลเด็กที่มีปัญหา หรือคอยตามแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่เด็ก ครูผู้สอนเองก็ได้มีเวลาไปจัดเตรียมการเรียนการสอนต่อไป และหากลดปัญหาต่าง ๆ ของเด็กลงได้ ครูผู้สอนเองก็สบายขึ้น ครูมีความสะดวกสบายมากขึ้นในการจัดกระบวนการเรียนรู้ นักเรียนเองก็จะได้รับความรู้อย่างเต็มที่ สิ่งนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยในการจัดการเรียนการสอนให้พัฒนาไปได้อีกในระดับหนึ่ง



ฝากฝัง อาจารย์จรรยาต้องการฝากถึงโรงเรียนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทำกิจกรรมจิตอาสา จะมีวิธีการเริ่มต้นอย่างไรให้โรงเรียนอื่น ๆ กล้าที่จะทำในเรื่องของจิตอาสา เพราะบางครั้งก็กลาย ๆ กับเด็กคือทางโรงเรียนอื่น ๆ ไม่ทราบวิธีการที่จะเริ่มต้น หรือยังไม่มีความกล้าในการเริ่มต้น เพราะบางโรงเรียนอาจพบกับปัญหาและอุปสรรคในการที่จะทำกิจกรรมจิตอาสาคือครูกลัวปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก เพราะเมื่อเด็กออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายนอกโรงเรียน หากเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมา ครูผู้นั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งในส่วนนี้ทางโรงเรียนต้องหาวิธีการแก้ไข เพราะหากให้ครูแก้ไขปัญหาเพียงลำพังคงเป็นไปไม่ได้

ทางโรงเรียนสันติราษฎร์เองที่ทำในเรื่องของกิจกรรมจิตอาสาอยู่นั้น บางครั้งก็ต้องพบกับปัญหาเช่นเดียวกัน เพียงแต่ทางโรงเรียนต้องพยายามหาวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีการติดตามผลการดำเนินกิจกรรมของเด็กอยู่เป็นระยะ ๆ เป็นการคอยตรวจสอบการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็กโดยไม่ให้เด็กรู้ตัว สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาต่าง ๆ ที่ครูผู้สอนไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยว ดังนั้นจึงไม่ต้องการทำในเรื่องของกิจกรรมจิตอาสา ไม่ต้องการเข้าไปรับผิดชอบชีวิตของเด็ก เพราะครูบางท่านคิดว่าแค่สอนหนังสือแต่เพียงในห้องเรียนก็ลำบากมากพอแล้ว

อาจารย์จรรยาขอขอบคุณทางมูลนิธิกระจกเงาที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับทางโรงเรียน และถือเป็นความโชคดีของโรงเรียน เพราะหากทางมูลนิธิกระจกเงาไม่มาให้การสนับสนุน ไม่คอยให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ลำพังเพียงแค่ทางอาจารย์จรรยาเองก็คงไม่มีความสามารถในการจัดกิจกรรมจิตอาสาภายนอกโรงเรียนได้ เพราะทางอาจารย์จรรยาเองก็คงไม่สามารถออกไปภายนอกโรงเรียนได้ เนื่องจากก็ต้องสอนหนังสือเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นทางมูลนิธิกระจกเงาสามารถดูแลเด็ก ๆ แทนอาจารย์จรรยาได้ อีกทั้งครูผู้สอนไม่สามารถปล่อยเด็กออกไปภายนอกโรงเรียนได้ หากไม่มีครูคอยไปกำกับดูแลเด็ก ๆและทางโรงเรียนคงไม่ยอมให้ปล่อยเด็กออกไปเพียงลำพัง

ดังนั้นโรงเรียนแต่ละโรงเรียนควรหาตัวช่วย เพื่อประสานงานงานกับองค์กรภายนอกต่าง ๆ ให้คอยช่วยเหลือและสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมูลนิธิ แต่อาจเป็นวัดต่าง ๆ ก็ได้ เช่น ฝากพระให้ดูแลเด็ก ๆ แทนครู สิ่งที่ทางโรงเรียนควรทำคือต้องหาวิธีการให้ครูหมดความกังวลเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากทางโรงเรียนต้องการได้ครูที่มีจิตอาสามาก ๆ และอาจารย์จรรยายังได้กล่าวเสริมต่อไปว่าสิ่งที่ครูทุกคนต้องตระหนักคือถ้าหากครูทุกคนเสียสละเวลามาทำกิจกรรมจิตอาสากับเด็กเพียงแค่ 10-20 คนเท่านั้น เมื่อมองภาพรวมทั้งโรงเรียนแล้ว เด็กเหล่านั้นก็ถูกรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เด็กมีความดีเท่าเทียมกัน และเมื่อเด็กส่วนใหญ่ของโรงเรียนดีขึ้นแล้ว ครูเองก็จะเหนื่อยน้อยลง แต่หากครูไม่มีการเสียสละเลย ครูเองก็ต้องเหนื่อยอยู่อย่างนี้ตลอดไป เหนื่อยกับการแก้ไขปัญหาของเด็ก ๆ เหนื่อยกับการแก้ปัญหาพฤติกรรม เหนื่อยอยู่กับปัญหาเดิม ๆ แต่หากครูทุกคนลองเสียสละเวลามาดูแลเด็กสักกลุ่ม หรือสองกลุ่ม ทำให้เกิดการรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่และเท่ากับเป็นการลดปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของโรงเรียนคือปัญหาพฤติกรรมเด็ก