Interview จากเวที TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย

­


Interview นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร

ปลัดเทศบาล ต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

“งานวิจัยเป็นการเก็บข้อมูลเชิงลึกในการหาคำตอบเพื่อพัฒนาชุมชน”

จากเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย 5 อปท.จ.สุรินทร์” (ภายใต้การดำเนินงานของ(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัยเฟส 2) ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฏาคม 2562สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น , มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีอปท. จังหวัดสุรินทร์เข้าร่วมได้แก่ ทต.เมืองแก , ทต.กันตวจระมวล , อบต.หนองอียอ , อบต.สลักได , อบต.หนองสนิท

บทบาทของตนเองในโครงการ

เทศบาลตำบลเมืองแกได้เข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ตั้งแต่ปี 2556 ตั้งแต่โครงการระยะแรก (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว) ที่มีงานพัฒนาร่วมกัน จนมาถึงงานวิจัยระยะที่ 2 (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย) ก็ร่วมกันมาประมาณ 4-5 ปีแล้ว บทบาทของผมทั้ง 2 ครั้ง ที่ผ่านมาผมทำหน้าที่เป็นนักวิจัยทำงานวิจัยโครงการเล็ก ๆ ทำงานอยู่ 2 ปี “โครงการสร้างแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กเยาวชน” เป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กและเยาวชนในบ้านเมืองแก สำหรับเฟสสองได้จัดทำโครงการหลักคือ “โครงพัฒนาระบบกลไกกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชนในระดับตำบล”

ความรู้ / ทักษะที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการวิจัย ในระยะที่ 1

สำหรับความรู้ที่ได้เพิ่มจากการเข้าร่วมโครงการวิจัย ซึ่งแตกต่างจากงานพัฒนา คือ ตั้งแต่การค้นหาข้อมูล ซึ่งในส่วนของท้องถิ่นอยู่กับข้อมูลก็จริง แต่ทำอย่างไรให้การค้นหาข้อมูลในเชิงลึกเพื่อทำงานในลักษณะงานวิจัย โดยข้อมูลที่ได้มาจะชวนพี่น้อง (ชาวบ้าน) คิดพี่น้อง (ชาวบ้าน) คุยเพื่อแก้ไขปัญหา หาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาของหมู่บ้านตนเอง ซึ่งแตกต่างของงานพัฒนาเดิม งานพัฒนามักทำตามหน่วยงานที่ให้ทำ ทำตามกรอบที่เจ้าหน้าที่ของรัฐคิด แต่พองานวิจัยนี่เป็นการเก็บข้อมูลเชิงลึกในการหาคำตอบเพื่อพัฒนาชุมชน

สิ่งที่สองที่ได้มาคือ ได้วิเคราะห์ทุนที่มีอยู่ในชุมชน มีทุนอะไรที่เข้ามาสนับสนุนแก้ไขปัญหาเรื่องนั้น ในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ประกอบด้วยกลุ่มองค์กร มีบริบท ในด้านวัฒนธรรม สังคม ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน มีทุนเรื่อง ดิน ป่า นา น้ำ ทรัพยากร มี 4 ด้าน มีทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทุนเหล่านี้โอบล้อมชุมชมที่เป็นหน่วยเล็ก ๆ อยู่ ทำให้ได้ทั้งส่วนที่เป็นปัญหาและส่วนของทุนที่จะมาแก้ไขปัญหาของงาน นี่เป็นมิติใหม่ของการทำงาน กลับไปหารากของชุมชน รากของตัวเองก่อนว่าจะนำมาแก้ไขปัญหาอย่างไร

ส่วนต่อมาคือ เรื่องการค้นหาบริบทชุมชน เหมือนการทบทวนอดีตว่า เดิมเคยแก้ไขปัญหาเยาวชนอย่างไร แก้ไขปัญหาโดยใช้เป็นสถาบันครอบครัวเป็นการแก้ไขปัญหา ย้อนดูวิธีของคนโบราณน่าจะใช้ได้ ได้ 2 ส่วนได้เรื่องเครื่องมือการทำงาน เรื่องการหาข้อมูลค้นหาทุนของชุมชนในการออกมาสนับสนุน ได้เรื่องวิเคราะห์ส่วนประเด็นในส่วนทุนว่าจะแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชนอย่างนั้น

ในฐานะปลัดองค์กรส่วนท้องถิ่น พยายามหาเครือข่ายหาเครื่องมือทำงานมาช่วย เครือข่ายเข้ามาช่วยเป็นวิทยากรบ้าง และเราได้พัฒนาทีมด้วย เพราะว่าถ้าพอเครือข่ายออกไป เราก็จบ ถ้าเราไม่ได้สร้างทีมในการพัฒนาตนเอง ซึ่งงานวิจัยได้มาฝึกอบรมให้พัฒนาตัวเองเพื่อให้เราดำเนินการพัฒนาคนต่อ ในปีที่แล้วจึงตัดสินใจเป็นหัวหน้าทีมวิจัย ได้ฝึกงานวิจัยอย่างต่อเนื่องระยะยาวเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ในการค้นหาโจทย์จนจบกระบวนการ เป็นการฝึกฝนตนเอง ฝึกฝนชุมชน สำหรับในระยะสองมีเป้าหมายจะขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น ขยายผลสู่ประเด็นที่กว้างขึ้นแล้ว ในระยะ1 ทำโครงการในระดับหมู่บ้าน ในประเด็นแนวโน้มการลดช่องว่างระหว่างเด็กกับคนสูงวัยในครัวเรือนจะทำอย่างไร เป็นระดับหมู่บ้าน แต่ปีนี้ เฟส 2 คือ การขยายผลกับกลไกในระดับตำบลว่าควรจะทำอย่างไร จะต้องไปฝึกชุมชนที่นอกเหนือชุมชนนี้อีก 3-4 ชุมชน ก็เหมือนเป็นการฝึกฝนตนเอง เทรนตัวเองไปในตัว

ระยะที่ 2 ทำอะไรต่อ หลังจากค้นหาโจทย์วิจัยในระยะที่ 1 แล้ว

ระยะ 2 มีกิจกรรมขับเคลื่อนที่ลงไปสร้างทีมในระดับหมู่บ้าน โครงการ โรงเรียน ชุมชน เป็นการพัฒนาทีมทั้งหมดในระดับหมู่บ้าน พอทีมระดับหมู่บ้านได้รับการพัฒนา ก็เป็นการเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์เยาวชน และลดพื้นที่เสี่ยงของเยาวชนกลุ่มเป้าหมายเสี่ยง บางโครงการมีเป้าหมายไปถึงการสร้างรายได้ให้แก่เยาวชน สร้างแกนนำระดับอาชีพ ในระยะ 3 เป็นการฝึกคนไปทำงานเป็นทีมวิจัยแล้ว ต่างทางมูลนิธิสยามกัมมาจล อยากทำให้ลึกซึ้งขึ้น อยากพัฒนาคนที่ทำงานพัฒนา อยู่กับงานพัฒนามาต่อเนื่องแล้วให้สามารถทำงานไปได้อย่างต่อเนื่อง ในโครงการระยะ 2 จึงมีทางสก.สว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เข้ามาเป็นหน่วยงานสนับสนุนเริ่มเข้ามาดูพื้นที่บางตำบล ว่าน่าจะเข้ามาทำเป็นงานวิจัยได้ แต่ต้องทำต่อเนื่องนะ เป็นระยะยาว พอระยะ 3 เฟส 1 เริ่มมาทำงานวิจัยเต็มตัวแล้ว พอระยะที่ 3 เฟส 2 (ปัจจุบัน) ต้องไปฝึกอบรมให้บ้านอื่น ทำประเด็นใหญ่ขึ้น ประเด็นระดับตำบลแล้ว เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับโรงเรียนอย่างไร สร้างความสัมพันธ์กับหมู่บ้านอื่นที่ไม่ใช่หมู่บ้านเดิมอย่างไร เอาโจทย์กับทั้งเด็กในระบบและนอกระบบมาช่วยกันอย่างไร

ในระยะยาว 2-3 ปี น่าจะได้กรอบการทำงานว่า ถ้าจะทำงานกับเด็กในระบบทำแบบไหน กับเด็กนอกระบบทำแบบไหน ทั้งเครือข่ายในหมู่พี่น้อง (5 อปท.ที่เข้าร่วม) เรานี่ก็คนละประเด็นกัน มีประเด็นทำเรื่องอาชีพ ในส่วนของผมทำเรื่องกลไกระดับตำบล บางแห่งทำเรื่องขยายผลกับกลุ่มวัยรุ่น เฉพาะเรื่องอาชีพกับเด็กนอกระบบ โมเดลทั้ง 5 อปท. ของสุรินทร์ น่าจะเป็นความหลากหลายเป็นคำตอบให้ระดับประเทศได้อยู่

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา ในด้านการทำงาน (ยกตัวอย่างเหตุการณ์)

การเปลี่ยนแปลงในวิธีมอง เห็นงานไม่ใช่ภาระแต่เป็นเรื่องหน้าที่ของผม เดิมก็คือ ตอนยังไม่ได้ทำงานวิจัย จะหาทางออกอย่างไร เครื่องมือยังไม่พร้อม ทำให้เราได้ฝึกตัวเอง วิธีฝึกของผมคือ ลงไปทำด้วยตัวเอง และเก็บกลับมา สิ่งที่สอง ที่เห็นได้ พอฝึกตัวเองเสร็จ ฝึกชุมชนที่ทำงานร่วมกับเรา ผู้นำระดับหมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มนี้ รัฐบาลส่งงบประมาณมาแต่ยังไม่เคยฝึกเรื่องทีม เราจึงฝึกเรื่องทีมไปในตัว ทำให้เห็นเด็กเยาวชนที่เราเคยทำงานร่วมกับเรานี่ เค้าเป็นกลุ่มที่คอยรอรับคำสั่งจากข้างบนเพียงอย่างเดียว ทำอย่างไรให้เขามามีส่วนร่วมตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมออกแบบ จนเห็นแปลงผักของพี่น้องเกิดขึ้น เห็นความสัมพันธ์ของตากับยายช่วยกันทำงานบ้าน เห็นการอบรมสั่งสอนจากเดิมที่ไม่เคยเชื่อฟังกันเลย ผมเรียกว่า เป็นดอกไม้รายทาง ไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าใหญ่ เห็นกิจกรรมเล็ก ๆ เติมกำลังใจให้ผมได้ทำงานภาพใหญ่ต่อ และสิ่งที่เป็นประเด็นค้างคาอยู่ก็ถูกชวนคิดชวนคุยต่อ ผมว่า ได้ลงมือทำและได้เห็นผลลัพธ์ระยะสั้นเป็นระยะ น่าจะเป็นจุดที่เปลี่ยนวิธีคิดของผม

งานเยาวชนเป็นงานที่ทำยาก ต้องต่อเนื่อง ต้องเข้าใจทั้งผู้นำชุมชน ทั้งผู้ปกครอง เข้าใจพื้นบริบทของเยาวชน ต้องลงเข้าไปคลุกคลีตรงนั้น เป็นงานที่ท้าทาย เราพยายามทำให้เป็นผลลัพธ์ย่อย ๆ ปีที่ผ่านมาฝึกกับ 1 ชุมชนและมีโครงการย่อยกระจายไปทั้ง 14-15 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนานะ เอาเครื่องมือในงานวิจัยไปทำกับโครงการพัฒนาที่ทำอยู่ เห็นเด็กมาทำขนมขายด้วยกัน มันน่าจะเป็นความสุข

ครอบครัวให้การสนับสนุนการทำงานอย่างไร

ครอบครัวก็รู้ว่า ผมทำค่อนข้างหลายด้านพอสมควรกับงานในหน้าที่ ก็ไปอธิบายว่า หน้าที่ผมมีอย่างนี้นะ ผมเป็นคนนำพาคนในชุมชนก้าวไปจุดที่ดีกว่าเดิม และเป็นคนทำงานทุ่มเทกับงานในหน้าที่ ครอบครัวก็เข้าใจผม เพราะภาระที่ผมทำ เข้าใจว่างานวิจัยต้องลงไปอยู่กับชุมชน มันต้องไปกินนอนอยู่กับเขา ไปทำงนสรุปกับเขา ไปทวนข้อมูล ไปสืบค้นกับเขา ก็โชคดีว่าครอบครัวยังเข้าใจเราอยู่ แต่เราก็ให้ครอบครัวสัมผัสกับผลสำเร็จเรื่อย ๆ ผลงานที่ผมได้ก็เอาให้เขาดู และเวลาที่ผมออกไปงาน ก็พยายามพาเขามาเรียนรู้ด้วยกัน

การเรียนรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ (หัวข้อต่าง ๆ ในการอบรม)

วันแรกให้เราทบทวนกระบวนการทำงานที่เราทำผ่านมาใน 1 ปี ถ้าเราจะไปทำต่อ ต้องตอบเวลาไปชวนพื้นที่ใหม่มา ต้องตอบได้ว่า ถ้าเราไปทำต่อ ชาวบ้านจะเป็นอย่างไร ท้องถิ่นจะได้อะไร ชุมชนจะได้อะไร ต่อมาก็ให้เราคลี่ 1 ปีที่ผ่านมาเหมือนถอดบทเรียน ที่ผ่านมา 1 ปี เราอ่อนตรงไหน 2 เราวิเคราะห์เรื่องทีมกันเมื่อวาน เราจะทำประเด็นใหญ่กว่าเดิม มีโครงการย่อยมาอีก ส่วนที่ 3 ขอให้วิเคราะห์ว่าในเครื่องมือ ในความมั่นใจตัวเองในการลงไปเคลื่อนเป็นผู้นำกระบวนกร เราขาดตรงไหน พยายามทำให้เราเป็นมืออาชีพในทุก ๆ ด้าน

เมื่อวานพยายามคลี่อยู่ใน 5 ประเด็น ในแต่ละประเด็นนี่ เรามีสิ่งที่มีอยู่อะไรบ้าง และต้องการการเติมเต็มอะไรบ้าง น่าจะเป็นการฝึกให้เราชำนาญเรื่องเครื่องมือให้มากที่สุด เวลาลงไปทำจะได้ไม่เก้อเขิน แต่ในการติดตามระดับทีม ในเรื่องการติดตามของมูลนิธิ ผมเชื่อว่ามีแน่นอน เพราะในปฏิทินกลางมูลนิธิ สรุปการใน 1 ปีต้องมีตามว่า ขับเคลื่อนอย่างไร ในฐานะหัวหน้าทีมมีความมั่นใจมากขึ้นว่า จะลงไปคลี่งานกับโครงการย่อยอย่างไร ลงไปทำอย่างมั่นใจอย่างไร เขาเติมความมั่นใจ เติมเครื่องมือ ฝึกความเป็นมืออาชีพในการทำงาน

ทั้ง 5 วันที่ฝึกให้คือ ผมเข้าใจว่าฝึกให้เมื่อกลับไปแล้วลุยงานต่อได้เลย วิทยากรอาจจะเครียดนิดหนึ่งว่า สิ่งที่ขาดอาจจะเยอะนิดหนึ่ง วันนี้จะเติมสิ่งที่ขาดให้เต็ม ส่วนที่สองก็คือ ถ้ามั่นใจกับเครื่องมือนี้ทั้งหมด จะทำให้ไม่พะวงกับงานประจำที่มีอยู่ เพราะส่วนใหญ่งานประจำที่มีก็บั่นทอนงานที่เรารับไปเหมือนกัน ก็ต้องฝึกเราให้แม่นก่อนแล้วเวลาลงปฏิทินงานนี่ แม้ปฏิทินงานจะทำให้ไม่ซ้ำซ้อนอย่างไร ผมเรียนว่า ผมจะเอาไปบูรณาการกับงานผมได้ ผมมีเงินบางส่วนมาสนับสนุนการทำโครงการย่อยนี้ เป็นแผนปฏิทินทำงาน เพื่อจะฝึกน้องที่มาด้วยกับผม 2-3 คน รวมทั้งท่าน ผอ. (นายถนอม บุญโต ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองแกพิทยาสรรค์) ก็เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ได้เครื่องมือใหม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมพลอยได้และน้องที่มาด้วยเป็นนักวิชาการบรรจุใหม่ สิ่งนี้จะติดตัวเขาไป กระบวนการจัดการอบรม กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ดีควรทำอย่างไร จนไปถึงทำอย่างไรในการจัดการเรียนรู้ให้ลงมือทำมากที่สุด ผมเชื่อว่า เขาให้เราออกจากตรงนี้ไปด้วยความรู้สึกมั่นใจ กลับไปทำได้เลย ไม่มีภาระที่ห่วงกังวล

สิ่งที่อยากให้เพิ่มเติม

ตรงที่พูดไปแล้วในส่วน 5 ประเด็น เราต้องไปชวนชุมชนให้วิเคราะห์ให้เป็นว่า เขาขาดอะไร มีสองคำคือ Want กับ Need ข้อนี้มันเป็นความจำเป็นนะที่คุณจะต้องทำ คุณละเลยเรื่องนี้ไม่ได้ ข้อที่ 2 คือการสรุปข้อมูลที่มีพลัง ทำอย่างไรเหมือนท่านอาจารย์ว่า ข้อมูลนั้นถึงจะมีพลังชวนชุมชนว่าเราจะกลับไปแก้ด้วยกัน ตรงนี้น่าจะเป็นการเติมเทคนิคใหม่ ๆ ข้อ 3 พอลงไปพื้นที่แล้วจะสังเคราะห์อย่างไร ให้เป็นแนวทางที่ขยายผลต่อพื้นที่อื่นได้ อันนี้เป็นเทคนิค น้อยโอกาสที่จะมีโครงการดี ๆ ฝึกยาว ๆ ที่เน้นฝึกเทคนิค ตัวต่อตัว เป็นกลุ่มต่อกลุ่ม แบ่งกลุ่มปฏิบัติงานที่จะเอามาต่อเชื่อมกับงานประจำได้

ในอบรมนี้ หัวข้อที่อยากให้วิทยากรเพิ่มเติมเป็นพิเศษ

เมื่อผมได้วิเคราะห์ข้อมูลบริบททั้งหมด ข้อมูลเฉพาะด้านทั้งหมด การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกแบบกิจกรรมให้ตรงกับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเป็นเรื่องสำคัญ ออกแบบอย่างไรให้เหมาะกับจริต ดึงความสนใจให้เหมาะกับพฤติกรรมของคนที่จะทำการวิจัยร่วมด้วย จะดึงข้อมูลส่วนไหนมา ออกแบบอย่างไรให้ตรงกับชุมชน ออกแบบอย่างไรให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่จะลงมือปฏิบัติ ผมว่าขั้นตอนนี้สำคัญ ขั้นตอนปฏิบัตินี่ผมเคยทดลองแล้ว ถ้าออกแบบดีนี่มันไปได้ ออกแบบอย่างไรให้ละเอียด และทดลองปฏิบัติให้ได้ตามกรอบ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเติม คือเรื่องวิเคราะห์ข้อมูลและออกแบบกิจกรรมอย่างไรให้ได้ ตรงนี้มีเรื่องวิธีคิด ส่วนใหญ่ข้าราชการติดรูปแบบเดิม ตำบลข้างเคียง พื้นที่ประสบความสำเร็จบ้าง วิเคราะห์ตามสามัญสำนึกตัวเองบ้าง สนิทกับแกนนำที่อยากทำบ้าง แต่มันก็ไม่ตรงกันกับคือไม่ได้ใช้ข้อมูลออกแบบ ทีนี้ตามที่เรียนในห้อง ข้อมูลมันเป็นกองจะสกัดอย่างไรเพื่อการออกแบบ

////////////////////////////////////////////////////////